Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Anontawong's Musings
•
ติดตาม
23 เม.ย. 2022 เวลา 10:08 • ความคิดเห็น
[Classic Post]: กฎสิบเต็มสิบ
เชื่อว่าในชีวิตนักเรียนของเรา น่าจะเคยได้คะแนนสิบเต็มสิบกันมาบ้าง
2
อาจจะเป็นการบ้านวิชาเลข หรือภาพวาดศิลปะ หรืองานเย็บปักถักร้อย
การได้สิบเต็มสิบมันเป็นความรู้สึกที่ดีมาก เพราะนานๆ จะได้ทีนึง และมันช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่า ถ้าเราทำอะไรบางอย่างอย่างตั้งใจ เราก็สามารถสร้างผลลัพธ์ที่เยี่ยมยอดได้
1
หลักการของกฎสิบเต็มสิบนั้นง่ายมากครับ คือก่อนที่เราจะทำ (หรือไม่ทำ) อะไรก็แล้วแต่ ลองถามตัวเองว่า เราให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่กับสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้
และถ้ามันยังไม่ใช่คะแนนสิบเต็มสิบ เราจะทำอะไรให้แตกต่างออกไปเพื่อให้ได้คะแนนมากกว่านี้มั้ย?
1
ยกตัวอย่างเช่นมีคนขับรถตัดหน้าเรา สิ่งที่เรามักจะทำเพื่อเป็นการตอบโต้คืออะไร?
– บ่นให้แฟนฟัง
– บีบแตรใส่
– ปาดหน้าคืน
คราวนี้คุณผู้อ่านก็ลองให้คะแนนดูว่า การกระทำแต่ละข้อข้างบน ได้กี่คะแนนกันบ้าง?
1
สำหรับผม
บ่นให้แฟนฟัง – 6/10
บีบแตรใส่ – 4/10
ปาดหน้าคืน – 0/10
1
แล้วทำยังไงถึงจะได้สิบเต็มสิบ?
ดูใจเราที่โกรธ คิดเสียว่าเขาคงรีบ และขับรถต่อไปอย่างระมัดระวัง – 10/10
3
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ขอยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้กฎสิบเต็มสิบในช่วงเจ็ดวันที่ผ่านมาของผมแล้วกันนะครับ
2
ตัวอย่างที่ 1 – เจอคนที่เราเคยมีปัญหาด้วย
ที่ออฟฟิศมีพี่คนหนึ่งที่เคยมีเรื่องให้ผิดใจกันตั้งแต่สองปีที่แล้ว จนเดี๋ยวนี้เวลาเจอหน้าก็จะไม่คุยกันหรือถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็จะคุยให้น้อยที่สุด
เมื่อวันพฤหัสฯ ที่แล้วผมมีธุระ จึงไปกินข้าวคนเดียวที่ร้านก๋วยเตี๋ยวรถเข็นที่มีโต๊ะอยู่แค่สี่โต๊ะ ตอนไปถึงมีโต๊ะว่างเหลืออยู่โต๊ะนึงพอดี ผมสั่งอาหารเสร็จแล้วหันไปจึงเห็นพี่คนนั้นกำลังนั่งกินก๋วยเตี๋ยวอยู่โต๊ะถัดไป
ความคิดแรกของผมก็คือ นั่งหันหลังให้พี่เขาแล้วก็กินก๋วยเตี๋ยวของเราไป
แล้วกฎสิบเต็มสิบก็ทำงาน ผมบอกว่าถ้าทำอย่างนี้ผมคงให้คะแนนตัวเองแค่ 5/10
ผมก็เลยเปลี่ยนไปนั่งโต๊ะเดียวกับเขาแทน และเราก็ได้คุยกันนานกว่าทุกครั้งในรอบสองปีที่ผ่านมา
1
กฎสิบเต็มสิบทำให้เราได้กลับมาคุยกันอีกครั้ง
ตัวอย่างที่ 2 – เข้าคิวจ่ายเงินที่โลตัส
เมื่อวานนี้ผมไปช้อปปิ้งที่โลตัสกับแฟน ซื้อของมาเกือบเต็มรถเข็น พอเดินมาที่ตรงช่องจ่ายเงินก็สังเกตเห็นว่ามีน้องผู้หญิงอีกคนหนึ่งถือของหนึ่งชิ้น กำลังเดินสวนมา ท่าทางกำลังจะจ่ายเงินเหมือนกัน
ผมรู้ตัวว่าเดินเร็วขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้เอารถเข็นเข้าจอดคิวถัดไป (คิวก่อนหน้านี้กำลังจะเสร็จพอดี) น้องผู้หญิงคนนั้นก็มายืนต่อท้ายผม
แล้วผมก็ถามตัวเองว่า การที่เราเดินเร็วขึ้นเล็กน้อยเพื่อมาให้ถึงก่อนน้องคนนั้น จะให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่
ผมให้คะแนนตัวเอง 7/10 เพราะเราก็มาถึงก่อนจริงๆ ก็ไม่ผิดอะไรที่เขาจะต่อคิวเรา
แต่ทำยังไงถึงจะได้ 10/10?
ผมหันไปบอกน้องเค้าว่า เชิญน้องก่อนเลยครับ มีของชิ้นเดียวเอง
น้องเขามองหน้าผมแบบงงๆ ปนดีใจ แล้วพูดว่าขอบคุณค่ะ จ่ายเงินเสร็จแล้วก็หันมาพูดว่าขอบคุณนะคะอีกรอบ
กฎสิบเต็มสิบทำให้ผมได้รับคำขอบคุณถึงสองครั้ง
ตัวอย่างที่ 3 – ซื้อขนมฝากแฟน
ที่ออฟฟิศผมมักจะไปทานข้าวเที่ยงที่ร้านป้าหยวก
1
นอกจากข้าวแกงและตามสั่งแล้ว ร้านป้าหยวกยังทำขนมหวานอร่อยมาก แต่ละวันจะทำแค่อย่างสองอย่าง
วันนี้ป้าหยวกทำข้าวเหนียวลำไยกับกล้วยบวชชีมา ทั้งสองเมนูนี้นานๆ ถึงจะทำครั้ง
ผมสองจิตสองใจ เพราะวันนี้จะกลับบ้านค่ำ ซื้อกลับไปอาจไม่ทันได้กิน และถ้าซื้อก็ไม่แน่ใจว่าเธอจะอยากกินเมนูไหนมากกว่ากัน
ผมมีอยู่สี่ทางเลือก
– ไม่ซื้อ เอาไว้ซื้อวันหลัง
– ซื้อแต่กล้วยบวชชีไป เพราะรู้ว่าเธอชอบกินแน่ๆ
– ซื้อแต่ข้าวเหนียวลำไย เพราะหากินยากกว่ากล้วยบวชชี
– ซื้อไปทั้งสองอย่าง
1
ซึ่งแต่ละทางก็มีข้อดีข้อเสียไม่เหมือนกัน
แล้วผมก็ถามอีกว่า ถ้าอยากได้ 10/10 ควรจะทำยังไง?
ถามตัวเองเสร็จก็ยกหูโทรหาแฟน บอกว่าวันนี้มีกล้วยบวชชีที่เธอชอบ และมีข้าวเหนียวลำไยด้วยนะ แฟนบอกว่าเอากล้วยบวชชี เพราะกินข้าวเหนียวลำไยไม่เป็น
ผมก็เลยซื้อแต่กล้วยบวชชีไป โดยแฟนก็รู้ตัวว่าวันนี้อาจได้กินค่ำหน่อย
สิบเต็มสิบอีกหนึ่งเรื่อง
หลังจากสังเกตตัวเองมาหนึ่งสัปดาห์ ผมรู้สึกว่าการใช้ชีวิตแบบสิบเต็มสิบ สร้างรอยยิ้มให้คนอื่นได้มากขึ้น ทะเลาะกับคนใกล้ตัวน้อยลง และรู้สึกดีกับตัวเองวันละหลายหน
เราใช้กฎสิบเต็มสิบไม่ใช่เพื่อจะทำตัวเป็นเพอร์เฟ็คชั่นนิสต์นะครับ
เพราะเราให้คะแนนที่การกระทำและสภาพจิตใจของเรา ไม่ได้ให้คะแนนที่ผลลัพธ์
2
ความเจ๋งของกฎสิบเต็มสิบก็คือ เราเป็นคนนิยามเองว่า อะไรคือเต็มสิบสำหรับเรา
ดังนั้นการจะทำคะแนน 10/10 จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่เราจะทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องออกแรงเพิ่มขึ้นอีกนิด เสียสละมากขึ้นอีกหน่อย
2
อีกหนึ่งความเจ๋งหนึ่งคือกฎนี้ใช้ได้กับทุกๆ สถานการณ์ในชีวิตไม่ว่าจะเป็นเป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน
ความท้าทายของการใช้กฎนี้ คือต้องอาศัยความรู้เนื้อรู้ตัวระดับหนึ่ง แต่ก็เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ฝึกกันได้ไม่ยาก
ลองเอาไปปรับใช้ดูนะครับ
Anontawong's Musings Classic Post from May 2016
11 บันทึก
30
1
15
11
30
1
15
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย