27 เม.ย. 2022 เวลา 11:30 • สุขภาพ
น้ำยาฆ่าเชื้อมีกี่แบบกันนะ?
ทุกวันนี้สเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ถือได้ว่าเป็นไอเทมคู่กายสำหรับยุค New Normal แต่รู้มั้ยคะว่าผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์หากฉีดมือทั้งวันอาจทำให้มือเราแห้ง ลอกเป็นขุยและมีอาการแสบได้ หรือหากฉีดข้าวของเครื่องใช้ไปนานๆ ก็อาจจะทำลายพื้นผิวได้เช่นกัน วันนี้ Chivit-D by SCG จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับน้ำยาฆ่าเชื้อแบบอื่นๆ นอกจากแอลกอฮอล์กันค่ะ
Chemical-Based Sanitizer
น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบสำคัญในการฆ่าเชื้อโรค มีอยู่มากมายและใช้กันอย่างแพร่หลาย ที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดี โดยใช้กันมายาวนานทั้งในทางการแพทย์และครัวเรือน ซึ่งสารเหล่านี้เราสามารถมองหาตามฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ของน้ำยาฆ่าเชื้อได้เลย ตัวอย่างสารเคมีที่พบได้บ่อย เช่น
แอลกอฮฮล์ (Alcohols)
แบบที่นิยมใช้กันทั้งแบบเจลและแบบสเปรย์ มักจะเป็น Ethanol 60% ขึ้นไป หรือ Isopropanol 70% ขึ้นไป เป็นปริมาณที่ฆ่าเชื้อโรคได้ โดยแอลกอฮอลล์จะไปละลายไขมันที่เป็นผนังเซลล์ของเชื้อโรค
Quaternary Ammonium Compounds หรือเรียกสั้นๆ ว่า QUAT
ตัวที่นิยมใช้และถือว่าปลอดภัย อ่อนโยนต่อผิว เช่น Benzalkonium Chloride หรือ BKC, Benzethonium Chloride มีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อเทียบเท่าแอลกอฮอล์ ที่สำคัญคือไม่มีกลิ่น โดยทาง FDA จัดให้ Benzalkonium Chloride และ Alchohols เป็น Hand Sanitizer ที่มีความปลอดภัยและอ่อนโยนต่อผิวหนัง
สารประกอบคลอรีน (Chlorine)
จำพวก Hypochlorite ก็คือ น้ำยาฆ่าเชื้อที่เรารู้จักกันในน้ำยาฟอกขาว (Bleach) น้ำยาล้างห้องน้ำ ในไฮเตอร์ สังเกตเวลาใช้จะมีกลิ่นคลอรีน เราสามารถใช้ไฮเตอร์เจือจางผสมน้ำสำหรับใช้เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อบนพื้นผิวภายในบ้านแบบประหยัดได้ด้วย
สารประกอบเปอร์ออกไซด์ (Peroxides)
เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ H2O2 สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา ถือว่ามีความปลอดภัยต่อการใช้งาน เจือจางเพียง 3% ก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้เทียบเท่าน้ำยาฆ่าเชื้อทางการแพทย์แล้ว เหมาะสำหรับใช้ทำความสะอาดพื้นผิว
สารประกอบกรดซิตริก (Citric Acid)
มีความเป็นกรดอ่อนๆ สามารถทำลายเซลล์ของเชื้อโรคได้เช่นเดียวกัน มีทั้งผลิตจากอุตสาหกรรมและผลิตจากธรรมชาติ
น้ำยาฆ่าเชื้อแบบ Chemical-Based ยังมีอีกหลากหลายชนิด ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นถือว่าเป็นที่นิยมและใช้กันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งยังมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อเกือบ 100% แต่มีข้อควรระวังคือ หากใช้สารเคมีเหล่านี้ไปนานๆ ไม่ว่าจะใช้เช็ดพื้นผิวต่างๆ หรือใช้ทำความสะอาดมือ อาจทำให้ร่างกายเกิดอาการแพ้ และหลายท่านอาจกังวลในเรื่องของการสัมผัสสารเคมีอยู่ดี ซึ่งในปัจจุบันได้มีน้ำยาฆ่าเชื้อแบบอื่นๆ เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคอีกมากมายที่รักษ์โลก เป็นมิตรต่อตัวเราและสิ่งแวดล้อมด้วย
Bio-Based Sanitizer
ชื่อก็บอกแล้วว่ามาจากธรรมชาติแน่นอน น้ำยาฆ่าเชื้อประเภทนี้เป็นสารที่สกัดจากธรรมชาติ ซึ่งมีโครงสร้างเคมีที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สารสกัดจากส้ม Citrus มีความเป็นกรดอ่อนๆ สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ จุดเด่นของน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่ม Bio-Based คือ เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีมากมายหลากหลายแบรนด์ในตลาด หากสังเกตจากฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำยาที่ใช้กับพื้นผิว สเปรย์พ่นลดกลิ่นอับชื้นและลดเชื้อโรคในอากาศ
แล้วแอลกอฮอล์ Food Grade ถือว่าเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อแบบ Bio-Based หรือไม่?
คำตอบคือเป็น เพราะ Food Grade ใช้จำแนกแอลกอฮอล์ที่มีคุณภาพระดับสูง (Extra Neutral Alcohol) เป็นเกรดที่ผลิตขึ้นมาสำหรับใช้ในการผลิตอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงเวชสำอางค์ที่สามารถนำเข้าปากได้ มักผลิตจากการหมักน้ำตาล จะมีกลิ่นฉุนน้อยกว่าแอลกอฮอล์ที่ใช้ล้างแผล และเกรดที่ใช้ทางการแพทย์
Water-Based Sanitizer
เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อที่ผลิตจากน้ำเลย โดยการผ่านกระแสไฟฟ้าลงไปในน้ำผ่านขั้วอิเล็กโทรด จนได้สารละลายไอออนที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค เรียกว่า Electrolyzed Water น้ำที่ใช้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อนอกจาก H2O แล้วยังมีสารละลายแร่ธาตุอื่นๆ ปนอยู่ด้วย เช่น คลอรีน (Cl) นอกจากนี้ยังมีการเติมเกลือแกง (NaCl) ลงไปในเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตน้ำไอออนให้เข้มข้นขึ้น ได้แก่ HOCl, OCl, NaOCl, OH, H2O2 โดยไอออนสำคัญที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค คือ ไฮโปคลอรัส (HOCl-) ซึ่งเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อที่เก่าแก่ที่สุด เพราะเป็นชนิดเดียวกันกับที่เม็ดเลือดขาวในร่างกายเราผลิตเพื่อมาจัดการกับเชื้อโรคตามธรรมชาติอยู่แล้ว จึงถือว่าปลอดภัยต่อร่างกาย ไร้สารเคมี มีประสิทธิภาพในกำจัดเชื้อโรคได้ทันที ปัจจุบันมีจำหน่ายทั้งแบบที่เป็นน้ำยาขวดแกลลอน และแบบเครื่องผลิต Electrolyzed Water สามารถผลิตใช้ครั้งละน้อยๆ ข้อดีคือ ปลอดภัยต่อร่างกาย แต่อาจมีราคาสูง
นอกจากจะแบ่งประเภทตามส่วนประกอบพื้นฐานแล้ว รูปแบบการใช้งาน ทั้งแบบน้ำสเปรย์ แบบเจล แบบผ้าเช็ดหรือทิชชู่เปียก ก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน เนื่องจากสารบางชนิด เมื่อพ่นเป็นละอองฝอยในอากาศ จะระเหยเป็นไอได้ง่าย เมื่อเข้าไปในทางเดินหายใจอาจเกิดอาการระคายเคืองได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้ และไวต่อสิ่งหรือสารกระตุ้น
สรุป
หากกำลังมองหาน้ำยาฆ่าเชื้อที่ปลอดภัยต่อผิว รักษ์โลก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนะนำให้เลือกน้ำยาฆ่าเชื้อที่เป็น Benzalkonium Chloride หรือไฮโปคลอรัส (HOCl) เพราะไม่มีกลิ่นฉุน อ่อนโยนต่อผิวหนัง และยังคงประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อสูง หากเน้นไปที่การทำความสะอาดพื้นผิวภายนอก หรือทำความสะอาดสิ่งของต่างๆ สามารถเลือกน้ำยาฆ่าเชื้อแบบ Bio-Based ที่ผลิตจากธรรมชาติได้ เพียงเท่านี้เราก็จะได้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ตอบโจทย์การใช้งานของเราแล้วค่ะ
ด้วยรักและห่วงใยจาก Chivit-D by SCG
#ปกป้องอย่างมั่นใจเพื่อคุณและครอบครัว
โฆษณา