29 เม.ย. 2022 เวลา 05:30 • สุขภาพ
“เชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่นที่ผิวหนัง” กับประโยชน์และโทษที่คุณอาจไม่เคยรู้
รู้หรือไม่? ว่าร่างกายเรามีเชื้อจุลินทรีย์จำนวนมาก โดยเฉพาะที่ผิวหนัง
พอรู้แบบนี้แล้วไม่ต้องตกใจไปนะคะ เพราะว่าเชื้อจุลินทรีย์ที่บอกนี้เป็นเชื้อประจำถิ่นของร่างกายค่ะ เชื้อเหล่านี้สามารถพบได้ทั่วไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณผิวหนัง ตา หรือในช่องปาก ก็ต่างมีเชื้อประจำถิ่นหลากหลายชนิดค่ะ และเราเคยสงสัยไหมคะว่าเชื้อประจำถิ่นที่ผิวหนังนี้คืออะไร และมีประโยชน์หรือโทษอะไรบ้าง มาทำความรู้จักเชื้อประจำถิ่นที่ผิวหนังให้มากขึ้นกันค่ะ
เชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่น มีหน้าที่อะไร
เชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่น (normal flora) คือจุลินทรีย์ที่สามารถพบทั่วไปได้ที่ร่างกายของเรา และมักมีประโยชน์ต่อคนในสภาวะปกติ เราสามารถพบเชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่นได้ที่บริเวณผิวหนัง ในช่องปาก ทางเดินหายใจ ลำไส้ ระบบขับถ่าย รวมถึงอวัยวะสืบพันธุ์ แต่จะไม่พบเชื้อประจำถิ่นในระบบเลือดหรือระบบน้ำเหลือง
ชนิดของเชื้อประจำถิ่นส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อแบคทีเรีย และอาจเป็นเชื้อรา เชื้อไวรัส ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งชนิดและจำนวนเชื้อในแต่ละราย ปัจจัยที่ทำให้คนเรามีเชื้อจุลินทรีย์ที่่แตกต่างกัน ได้แก่ อายุ เพศ โรคประจำตัว กิจวัตรประจำวัน คุณสมบัติทางกายภาพของผิวหนัง สารเคมีที่สัมผัสกับผิวหนัง เป็นต้น
ผิวหนังของคนเรา มีเชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่นอะไรบ้าง
แม้ผิวหนังของเราจะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนและมีความแห้ง ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการอาศัยอยู่ของเชื้อจุลินทรีย์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังพบจำนวนของเชื้อจุลินทรีย์บนผิวหนังมีมากถึงหนึ่งล้านล้านเซลล์ โดยเชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้มักจะอยู่บนผิวหนัง และไม่สามารถผ่านทะลุผิวหนังเข้าสู่ร่างกายได้ ยกเว้นเมื่อมีบาดแผลหรือรอยถลอกเกิดขึ้น นอกจากนี้เราพบว่าสภาพแวดล้อมภายนอกอาจสามารถเปลี่ยนแปลงสภาวะของเชื้อบนผิวหนังได้ เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือเครื่องสำอางต่างๆ จะมีผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของเชื้อบริเวณผิวหนัง และเชื้อเหล่านั้นจะคงอยู่บนผิวหนังได้นานถึง 1 สัปดาห์
ตัวอย่างของเชื้อจุลินทรีย์บนผิวหนังที่มักพบ มีดังนี้
แบคทีเรียสแตฟิโลคอกคัส อีพิเดอร์มิดิส (Staphylococcus Epidermidis)
เป็นแบคทีเรียแกรมบวก และเป็นเชื้อตัวหลักบนผิวหนังเพราะสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับเซลล์ของร่างกายได้ โดยเชื้อนี้จะสร้างฟิล์มชีวภาพที่มีคุณสมบัติล้างออกยาก และทำหน้าที่เสมือนเป็นเกราะป้องกันการแทรกซึมของสารเคมีได้ด้วย และบางสายพันธุ์ยังสามารถผลิตสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคชนิดอื่นๆ เช่นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอและคออักเสบได้
แบคทีเรียโพรพิโอนิแบคทีเรียม แอกเนส (Propionibacterium Acnes)
เป็นแบคทีเรียแกรมบวกที่ไม่ใช้ออกซิเจน เชื้อนี้จึงมักอยู่บริเวณรูขุมขนและต่อมต่างๆ ที่อยู่ลึกลงไปในผิวหนังที่มีออกซิเจนต่ำ แบคทีเรียนี้เป็นตัวการสำคัญในการเกิดสิวบนใบหน้า โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ต่อมไขมันใต้ผิวหนังจะเริ่มขับไขมันออกมา ส่งผลให้มีจำนวนเชื้อมากขึ้น
เชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia)
เป็นเชื้อราก่อโรคที่พบทั่วไปบนผิวหนัง แต่หากมีการเพิ่มจำนวนมากของเชื้อผิดปกติ จะก่อให้เกิดโรคผิวหนังต่างๆ เช่น สิวเชื้อรา เกลื้อน รังแคอักเสบ รูขุมขนอักเสบ เป็นต้น โดยบุคคลที่เสี่ยงต่อการเป็นรูขุมขนอักเสบ ได้แก่ คนที่เหงื่อออกง่าย มีการใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันระยะเวลานาน หรือใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหลายขั้นตอนจะเสี่ยงต่อการรูขุมขนอุดตัน หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
ประโยชน์ของเชื้อจุลินทรีย์บนผิวหนังมีอะไรบ้าง
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเชื้อจุลินทรีย์แล้ว นอกจากจะมีโทษต่อร่างกาย หากเชื้อประจำถิ่นบนผิวหนังอยู่ในสภาวะสมดุลก็จะมีประโยชน์ต่อคนเรา เพราะทำให้เรามีสุขภาพผิวที่ดี และยังมีประโยชน์ต่อผิวของคนเราหลายอย่าง ดังนี้
  • มีผลต่อการจดจำเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอมต่างๆ ทำให้ผิวหนังสามารถตอบสนองอย่างรวดเร็วและควบคุมเชื้อโรคที่ผิวหนังได้
  • สร้างกรด ทำให้ผิวมีสภาวะเป็นกรดอ่อน จึงช่วยลดเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่ผิวหนังบางชนิดได้
  • สร้างสารปฏิชีวนะทำลายแบคทีเรียกลุ่มอื่น ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้แบคทีเรียบนผิวหนังเกิดความสมดุล
  • ปกป้องผิวจากรังสียูวี จากงานวิจัยทดสอบกับหนูทดลอง ในวารสาร Science Advances พบว่ามีแนวโน้มสูงที่แบคทีเรียประจำถิ่นชนิดหนึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติให้กับเรา และช่วยต่อต้านการเกิดมะเร็งผิวหนังและมะเร็งชนิดอื่นๆ
เชื้อจุลินทรีย์บนผิวหนังก่อโทษอะไรได้บ้าง
เมื่อใดก็ตามที่เกิดภาวะไม่สมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ในร่างกาย เช่น การกินยาปฏิชีวนะ การเปลี่ยนแปลงการกินอาหาร ภาวะติดเชื้อ อาจทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลงไปและเป็นสาเหตุของโรคผิวหนังต่างๆ เช่น สิว โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น โดยเชื้อประจำถิ่นบางชนิดจะมีคุณสมบัติเป็นเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค หรือเรียกว่าเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic organism) ดังนั้นเราทุกคนควรรักษาสุขภาพและสภาวะของจุลินทรีย์ให้มีความสมดุล เพื่อปกป้องผิวให้มีสุขภาพดีไปนานๆ
ตัวอย่างของการก่อโรคจากการติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น แบคทีเรียสแตฟิโลคอกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) จัดเป็นแบคทีเรียที่เป็นจุลินทรีย์กึ่งถาวร ที่สามารถเปลี่ยนเป็นแบคทีเรียก่อโรคได้ทันทีเมื่อพบว่าจุลินทรีย์กลุ่มอื่นๆ มีปริมาณลดลง หากร่างกายเราอ่อนแออาจทำให้เป็นฝี มีอาการปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือเกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อได้ โดยปกติจะมักพบแบคทีเรียชนิดนี้บริเวณรอยพับของผิวหนังที่เปียกชื้น เช่น บริเวณรักแร้ เนื่องจากเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ชอบความชื้น
สรุป
บนผิวหนังของคนเราจะมีเชื้อจุลินทรีย์กว่าหนึ่งล้านล้านเซลล์ โดยเชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้มีทั้งประโยชน์และโทษต่อร่างกาย ประโยชน์ของเชื้อจุลินทรีย์คือ นอกจากทำหน้าที่ปกป้องผิวหนังทำให้มีสุขภาพผิวที่ดีแล้ว ยังสามารถช่วยในกระบวนการตอบสนองต่อเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมอีกด้วย ทั้งนี้เชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่นบนผิวหนังก็มีโทษต่อร่างกายเช่นกัน เนื่องจากสามารถทำให้เกิดโรคผิวหนังได้หลายอย่าง เมื่อเกิดความไม่สมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ ดังนั้นการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ดูแลผิวกายเราให้สะอาด รวมถึงการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อรักษาสภาวะของจุลินทรีย์บนผิวหนังให้มีความสมดุล
ด้วยรักและห่วงใยจาก Chivit-D by SCG
#ปกป้องอย่างมั่นใจเพื่อคุณและครอบครัว
โฆษณา