26 เม.ย. 2022 เวลา 01:52 • การศึกษา
ลูกหนี้ขายที่ดินติดจำนองแล้วนำเงินมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง เจ้าหนี้รายอื่น ๆ จะฟ้องเพิกถอนการขายที่ดินดังกล่าวเพราะทำให้ตนเสียเปรียบได้หรือไม่ (ฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล)
ตามกฎหมายแพ่งนั้น ถ้าลูกหนี้ได้โอนทรัพย์สินให้แก่บุคคลอื่น ไม่ว่าจะด้วยวิธีการขายหรือให้เปล่า ถ้าได้ทำไปโดยรู้ว่าจะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้สามารถใช้สิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้น ๆ เพื่อทำให้ทรัพย์สินกลับคืนสู่ลูกหนี้ตามเดิมได้
ซึ่งภาษากฎหมายเรียกวิธีนี้ว่า “เพิกถอนการฉ้อฉล”
ส่วนการพิจารณาว่านิติกรรมใดที่ลูกหนี้ทำมีผลทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ จะต้องดูว่านิติกรรมนั้นมีผลกระทบทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดน้อยลงจนไม่พอใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้หรือไม่
1
ถ้ามีผลทำให้ลูกหนี้มีทรัพย์สินลดน้อยลงหรือเสื่อมค่าลงจนไม่พอใช้หนี้ ย่อมถือว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
แต่ในบางกรณี แม้ลูกหนี้จะขายทรัพย์สินของตนเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายหนึ่ง ซึ่งมีผลทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงจนเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้ได้
แต่กฎหมายก็ไม่ถือว่าการกระทำดังกล่าวของลูกหนี้ได้ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบอันจะเป็นความผิดฐานการฉ้อฉลแต่อย่างใด
ลองดูตัวอย่างจากคดีนี้กันครับ..
มีลูกหนี้รายหนึ่งสมมติว่าชื่อนายดินเหนียว โดยนายดินเหนียวเป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่หลายราย
นายดินเหนียวมีที่ดินอยู่แปลงหนึ่งและได้นำไปจำนองไว้กับนายดินร่วน ซึ่งต่อมานายดินเหนียวได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายดินสอพองและนำเงินมาชำระหนี้ให้กับนายดินร่วนซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าว
เมื่อเจ้าหนี้รายอื่นได้ทราบเรื่อง จึงได้ยื่นฟ้องนายดินเหนียวกับนายดินสอพองเพื่อขอเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าว และทำให้ที่ดินกลับมาสู่กองทรัพย์สินของนายดินเหนียวผู้เป็นลูกหนี้ตามเดิม
ซึ่งคดีนี้ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า นายดินร่วนเป็นเจ้าหนี้จำนองซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญรวมทั้งโจทก์ในคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง
และถึงแม้โจทก์จะบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาด นายดินร่วนซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองและเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิก็ยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญ
โจทก์จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวก็ต่อเมื่อมีเงินเหลือจากการชำระหนี้จำนองให้แก่นายดินร่วนจนครบถ้วนแล้ว
อีกทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นได้ว่าหากมีการขายทอดตลาดแล้วที่ดินแล้วจะได้ราคาสูงและมีเงินเหลือพอชำระหนี้ให้โจทก์แต่อย่างใด
ดังนั้น การที่นายดินเหนียวขายที่ดินให้แก่นายดินสอพอง แล้วนำเงินมาชำระหนี้จำนองให้แก่นายดินร่วนซึ่งเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิก่อน จึงเป็นการชำระหนี้ที่เป็นไปตามลำดับของกฎหมาย
ไม่เป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบและไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างนายดินเหนียวกับนายดินสอพองแต่อย่างใด
- อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3658/2560
#กฎหมายย่อยง่าย #เพิกถอนการฉ้อฉล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา