26 เม.ย. 2022 เวลา 11:49 • ข่าวรอบโลก
พร้อมหรือยังกับ ยุคของการรื้อสร้าง ซัพพลายเชนใหม่
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
1
ช่วงเวลาห้าปีที่ผ่านมา เราเผชิญมรสุมเขย่าโลกสามลูกซ้อน ตั้งแต่สงครามการค้าของทรัมป์ ตามมาด้วยวิกฤตการระบาดของโควิด และล่าสุดกับสงครามยูเครน
3
ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ มรสุมทั้งสามลูกล้วนซ้ำเติมให้เกิดเทรนด์เดียวกัน นั่นก็คือ การรื้อสร้างซัพพลายเชนการผลิตรอบใหม่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์
2
โลกกำลังเปลี่ยนจากยุค “โลกาภิวัตน์” ใครถนัดอะไรก็ผลิตสิ่งนั้นแล้วมาค้าขายกัน มาสู่ยุคสร้าง “ความมั่นคงของซัพพลายเชน” ต่างคนต่างต้องมั่นใจให้ได้ว่าซัพพลายเชนการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญอยู่เฉพาะในกลุ่มเพื่อนที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้
3
เจเน็ต เยลเลน รมว.กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เพิ่งออกมากล่าวเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาว่า ต่อจากนี้การค้าของสหรัฐฯ จะเข้าสู่ยุค “Friend-shoring” หรือการย้ายฐานการผลิตกลับสู่บ้านเพื่อน ถ้าคิดเช่นนี้ก็ต้องแบ่งแยกก่อนว่าใครพวกฉัน ใครไม่ใช่พวกฉัน จากนั้นก็สร้างห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญให้อยู่ในกลุ่มเพื่อนพ้องที่ฉันไว้ใจเท่านั้น
3
ตั้งแต่สงครามการค้าของทรัมป์ ธุรกิจระดับโลกต่างก็เริ่มกระจายความเสี่ยงเรื่องซัพพลายเชน เพราะมองกันว่าจีนกับสหรัฐฯ ทะเลาะกันยาวนานแน่ เพราะเป็นเรื่องเบอร์สองขึ้นมาท้าชิงเบอร์หนึ่ง แนวโน้มที่จะกลับมาญาติดีกันนั้นยากมาก
5
ตามมาด้วยวิกฤตโควิด ก็ยิ่งเขย่าซัพพลายเชนโลกซ้ำอีกรอบ เพราะถ้าเกิดใครมีฐานการผลิตกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่เดียว แล้วพื้นที่นั้นเกิดการระบาด หรือถ้ากระจุกอยู่ในจีนที่เดียว แล้วจีนเกิดล็อกเมือง ก็จะเป็นความเสี่ยงมหาศาล ทุกคนหันมาคิดเรื่องความมั่นคงของซัพพลายเชนมากยิ่งขึ้นอีก
1
แต่ตอนนี้สงครามยูเครนกลายเป็นตัวเร่งกระบวนการนี้ชนิดยกกำลังสาม เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจของประเทศตะวันตกต่อรัสเซียและจีนหมดลงทันที ยุโรปมองว่าตนผิดพลาดที่พึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมากเกินไป ส่วนชนชั้นนำในสหรัฐฯ ก็ระแวงเช้าเย็นว่าต่อไปจีนจะเป็นเหมือนรัสเซีย และไต้หวันจะกลายเป็นสมรภูมิรบเหมือนยูเครน ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับตะวันตกหรือไม่ว่ารัสเซียและจีนเป็นผู้ร้าย แต่ข้อเท็จจริงก็คือในตะวันตกเขาคิดกันแพร่หลายอย่างนี้จริงๆ
โฮวาร์ด มาร์ค นักกลยุทธ์การลงทุนชื่อดังของสหรัฐฯ บอกว่าเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนโลกทัศน์เรื่องความมั่นคงของทั้งยุโรป ตอนนี้ชนชั้นนำในยุโรปต่างหันมาพยายามสร้างซัพพลายเชนด้านพลังงานขึ้นใหม่ ปัจจัยเรื่องต้นทุนและปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังหายไปจากสมการ กลายมาเป็นปัจจัยเรื่องความมั่นคงกลับขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งแทน แนวคิดก็คือต้องหันกลับมาพึ่งพาตัวเองและพึ่งพาเพื่อนที่ใจคอเดียวกัน (กลุ่มประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย) มากขึ้น
1
เดิมนั้น ในยุโรป น้ำมันปริมาณถึงหนึ่งในสาม และก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเกือบครึ่งหนึ่งนำเข้ามาจากรัสเซีย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เยอรมนีได้ลดการผลิตไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม และพึ่งพาแหล่งพลังงานจากรัสเซียสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่นับจากนี้ เยอรมนีได้กลับลำชัดเจนว่าจะกลับมาพึ่งพาโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในมากยิ่งขึ้น รวมทั้งวางแผนเร่งหาแหล่งพลังงานอื่นมาแทนที่พลังงานจากรัสเซีย
หลายคนบอกว่าเป็นไปได้ยาก ใช่ครับ เป็นไปได้ยากในระยะสั้น แต่ในระยะยาวเกิดขึ้นได้แน่นอน การเปลี่ยนผ่านจะค่อยๆ เปลี่ยน ถึงจุดหนึ่งซัพพลายเชนพลังงานในยุโรปจะถูกรื้อและสร้างใหม่ ยุโรปและสหรัฐฯ จะพึ่งพาภายในระหว่างกันมากขึ้น ระยะสั้นเฉพาะหน้าจะหันกลับมาผลิตพลังงานดั้งเดิม (น้ำมัน ก๊าซธรรมขาติ ถ่านหิน) ด้วยตนเองมากขึ้น โดยลดความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมลง เพราะความมั่นคงมาก่อนอากาศที่ดี ในขณะเดียวกันในระยะยาว การเดินหน้าขยายอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดก็จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในยุโรป
4
โฮวาร์ด มาร์ค ยังชวนคิดต่อว่า สำหรับสหรัฐฯ แล้ว เรื่องที่กังวลใจไม่ใช่เรื่องการพึ่งพาพลังงานจากข้างนอก เพราะสหรัฐฯ มีแหล่งพลังงานภายในประเทศมหาศาล แต่เป็นเรื่องการพึ่งพา “ชิป” จากข้างนอกมากกว่า อุตสาหกรรมที่ตอนนี้สหรัฐฯ ให้ความสนใจมากที่สุดในเชิงยุทธศาสตร์ก็คือ อุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ ซึ่งสหรัฐฯ พยายามจะให้กลับมาผลิตในสหรัฐฯ หรือในกลุ่มประเทศที่เป็นพวกสหรัฐฯ เท่านั้น
ข่าวใหญ่ในวงการเทคโนโลยีช่วงที่ผ่านมาก็คือ แผนการลงทุนมหึมาของอินเทลในสหรัฐฯ และยุโรป ภายใต้นโยบายการอุดหนุนและสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐฯ ส่วน TSMC บริษัทไต้หวันที่ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์อันดับ 1 ของโลก ก็เริ่มขยายการลงทุนในสหรัฐฯ
4
มอร์ริส ชาง เจ้าของ TSMC ยอมรับเองอย่างตรงไปตรงมาว่า ต้นทุนในสหรัฐฯ แพงกว่าในไต้หวันมาก แต่ที่ต้องขยายการลงทุนและการผลิตในสหรัฐฯ เพราะแรงกดดันของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่ง TSMC ย่อมต้องโอนอ่อนผ่อนตาม เพราะสหรัฐฯ ที่ผ่านมานั้น แม้จะผลิตชิปเองในประเทศเกือบไม่ได้แล้ว แต่สหรัฐฯ ยังคงผูกขาดในเทคโนโลยีการออกแบบและในซอฟแวร์ที่ใช้ในการผลิตเกือบทั้งหมด
2
เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ในการเปิดประชุม Boao Forum for Asia ซึ่งเป็นงานประชุมวงเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ริเริ่มโดยจีน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงไม่ได้กล่าวถึงสหรัฐฯ ยุโรป รัสเซีย หรือยูเครนแม้แต่น้อย แต่กลับพูดย้ำถึงเอเชียว่าต้องผนึกกำลังกันสร้างห่วงโซ่ซัพพลายเชนของเอเชียเอง เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียให้ได้ท่ามกลางความผันผวนของการเมืองโลก
5
สะท้อนมุมมองของจีนที่จะสร้างห่วงโซ่จีนเชื่อมเอเชีย จีนไม่หวังจะญาติดีกับสหรัฐฯ และยุโรปได้อีกต่อไป ตอนนี้ได้เข้าสู่ยุคการแข่งขันกับโลกตะวันตกที่จะกินเวลายาวนาน ยุทธศาสตร์การค้าของจีนกลายมาเน้นการรุกเชื่อมภูมิภาคเอเชีย ทั้งเอเชียกลางและอาเซียน เพื่อสร้างห่วงโซ่จีนเชื่อมเอเชีย สร้างซัพพลายเชนของจีนในกลุ่มเพื่อนจีนขึ้นมาแข่งขันกับห่วงโซ่ยุโรปเชื่อมสหรัฐฯ
8
จีนคงหวังยิงนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะถ้าซัพพลายเชนจีนเชื่อมเข้ากับเอเชีย นอกจากจะสลายวงล้อมสหรัฐฯ แล้ว ตัวสหรัฐฯ เองก็จะตัดจีนออกจากสมการการค้าโลกได้ยากขึ้น เพราะสหรัฐฯ เองไม่สามารถจะตัดเอเชียจากซัพพลายเชนของสหรัฐฯ ได้
1
ฟังแล้วซัพพลายเชนใหม่ของโลกดูปั่นป่วนน่าดูใช่ไหมครับ ซัพพลายเชนใหม่ไม่ได้วางแผนกันด้วยตรรกะเดิมว่าที่ใดต้นทุนถูกที่สุด ที่ใดถนัดผลิตอะไร หรือมีทรัพยากรใด แต่กลายมาเป็นคำถามใหม่ว่าใครเป็นพวกเรา ใครพอไว้ใจได้ แล้วจะวางฐานการผลิตและกระจายความเสี่ยงอย่างไรเพื่อรับประกันความมั่นคง โดยเฉพาะเวลาทะเลาะกับอีกขั้ว จะได้เจ็บตัวน้อยลง แต่ในขณะเดียวกัน ซัพพลายเชนเดิมที่เชื่อมกันอยู่อย่างซับซ้อนก็ไม่ใช่ว่าจะถอดรื้อกันได้ทันทีหรือง่ายๆ สุดท้ายจึงยุ่งเหยิงเช่นนี้แหละครับ
6
แต่มรสุมสามลูกซ้อนในรอบ 5 ปี ได้ผลักโลกทัศน์ของมหาอำนาจทั้งหลายให้เปลี่ยนไปแบบกู่ไม่กลับอีกแล้ว จากที่เคยคิดวางแผนซัพพลายเชนด้วยเศรษฐศาสตร์ เปลี่ยนมาคิดบวกลบคูณหารด้วยปัจจัยทางการเมืองแทน จากที่เคยคิดปัจจัยเรื่องต้นทุนถูกและเรื่องสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนมาคำนึงเรื่องความมั่นคงเป็นอันดับ 1 ภายใต้บริบทโลกที่ทุกฝ่ายเชื่อว่าจะผันผวนและแตกขั้วยาวนาน
1
โฆษณา