27 เม.ย. 2022 เวลา 02:00 • การเกษตร
ถอดรหัสความสำเร็จของบ้านสวนเกษตรผสมผสานฯ โครงการเกษตรจัดสรรแห่งแรกในไทย!!
นี่คือ “บ้านสวนเกษตรผสมผสานสำเร็จรูป” ในจังหวัดนครนายก หมู่บ้านเกษตรจัดสรรแห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย (ในตอนนี้) จำนวน 9 ยูนิต ที่ไม่มีชื่อเรียกสั้นๆ ไม่มีพื้นที่ส่วนกลาง ไม่มีรถติด ไม่มีห้างสรรพสินค้า อยู่ห่างไกลชุมชนเมืองที่วุ่นวาย แต่มีอากาศบริสุทธิ์ มีอาหารปลอดภัย ได้ออกกำลังกาย ซึ่งจะทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกอารมณ์ดี
อาจเรียกได้ว่านี่คือมิติใหม่ของหมู่บ้านจัดสรรในรูปแบบบ้านสวนเกษตรผสมผสานสำเร็จรูป ซึ่งเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวของเมืองไทยในตอนนี้ที่บอกกับทุกคนว่า “การพึ่งพาตนเอง สร้างแหล่งอาหารได้เอง จะเป็นเรื่องง่ายขึ้น” เพราะคอนเซ็ปต์ของโครงการจัดสรรแห่งนี้ได้ออกแบบมาเพื่อคนทำเกษตร รักสงบ และอยากใช้ชีวิตในแต่ละวันให้เป็นวันธรรมดา อยู่กับธรรมชาติ ด้วยการจัดสรรพื้นที่ทำเกษตรผสมผสานที่แบ่งเป็นพื้นที่ของที่อยู่อาศัย พรรณไม้ เลี้ยงสัตว์ และกักเก็บน้ำ สิ่งจำเป็นในการทำเกษตรไว้ให้พร้อมสรรพ แค่ยกกระเป๋าใบเดียวก็ทำเกษตรต่อได้
9 ยูนิต กับระยะเวลาในการขายเพียงแค่ 4 วัน เป็นกระแสตอบรับที่เกินความคาดหมายของ คุณจุ๊น - สมเกียรติ์ นาคโสภานนท์ วิศวกรหนุ่มเจ้าของเพจ เกษตร สไตล์วิศวะ ที่คิดริเริ่มสร้างโปรเจ็กต์ “บ้านสวนเกษตรผสมผสานสำเร็จรูป” แห่งนี้ ซึ่งจุดประสงค์แรกแค่เพียงอยากทำโครงการเกษตรผสมผสานที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น
อะไรคือแนวคิดหลักและหัวใจสำคัญในการสร้างหมู่บ้านเกษตรฯแห่งนี้ เราไปทำความรู้จักพร้อมๆ กัน
คุณจุ๊น - สมเกียรติ์ นาคโสภานนท์ วิศวกรหนุ่มเจ้าของโปรเจ็กต์ “บ้านสวนเกษตรผสมผสานสำเร็จรูป”
#อาหารต้องสร้างเองได้
“ผมว่าชีวิตคนเราแค่มี 4 อ ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ประกอบด้วยอาหาร อากาศ ออกกำลังกาย และอารมณ์ดี ที่โครงการแห่งนี้จึงออกแบบให้เจ้าของบ้านที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการได้สัมผัสกับทั้ง 4 อ แน่นอนว่าอย่างแรกที่ได้คือได้อาหารแน่ๆ ตามรูปแบบของโครงการที่แบ่งพื้นที่จัดสรรให้เจ้าของบ้านได้ทำเกษตร ปลูกไม้ผล ปลูกผัก เก็บไข่ไก่ เลี้ยงปลาในทุกๆ ยูนิต” คุณจุ๊นกล่าว
ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการปลูกไม้ผล ซึ่งมาจากพื้นฐานของครอบครัวคุณจุ๊นที่เป็นชาวสวนผลไม้ และคลุกคลีกับการทำสวนเกษตรมานานกว่า 20 ปี การคัดเลือกพรรณไม้เพื่อปลูกในสวนแต่ละยูนิตเต็มไปด้วยความพิถีพิถัน คละกันหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงแก้วขมิ้น มะพร้าวน้ำหอม มะขามหวาน มะขามเทศมัน มะนาวแป้น ฝรั่งกิมจู ชมพู่ทับทิมจันทร์ ส้มโอทับทิมสยาม ขนุนทองประเสริฐ มะยงชิด กระท้อนปุยฝ้าย กล้วยน้ำว้า เชอร์รี่หวานญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งจำนวนต้นไม้จะลดหลั่นแตกต่างตามขนาดที่ดินในแต่ละแปลง
“ทักษะการปลูกอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน ผมเลยร่วมมือกับ VIP Organic Farm ฟาร์มผักออร์แกนิกที่เชี่ยวชาญด้านการปลูกผัก ให้เจ้าของบ้านได้เข้าอบรมเรียนรู้การปลูกที่ถูกต้อง ทำเป็น แล้วกลับมาทำรอบบ้านของตนเองได้ น่าจะเป็นวิธีการหนึ่งที่สร้างความยั่งยืนได้”
#บ้านวิถีไทย รับลมเย็น ระบายความร้อน
บ้านไม้ยกใต้ถุนสูง ชั้นล่างโปร่งโล่งใช้เป็นลานอเนกประสงค์ จะเป็นมุมนั่งรับประทานอาหาร หรือนั่งเล่นรับแขกท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ รูปแบบบ้านดีไซน์ตามวิถีดั้งเดิม ใช้ไม้แท้จากบ้านเก่าผสมกับไม้ใหม่ตามฟังก์ชันที่เหมาะ
ชานบ้านไม้เปิดรับลม ระบายความร้อน
ระเบียงไม้ริมน้ำ อีกหนึ่งมุมนั่งพักผ่อนสบายๆ
“ด้วยพื้นฐานที่เป็นวิศวกรโยธา เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากๆ เช่นกันครับ บ้านสำเร็จรูปทุกหลังลงเสาเข็มทำตอม่อ ตัวพื้นบ้านจะเป็นไม้เนื้อแข็งไสใหม่ เป็นไม้เนื้อแข็งจากบ้านเก่าผสมกับไม้ใหม่ ซึ่งไม้เนื้อแข็งมีข้อดีคือมันจะอยู่ตัว ไม่หดบวม ส่วนผนังเป็นไม้ใหม่ที่ไร้ร่องรอยตะปูไม่ให้เกิดรูหรือรอยที่ซ่อมไม่ได้ แบบบ้านมีให้เลือก 2 ขนาด คือ 6 x 6 เมตร จะมีห้องน้ำและครัวอยู่ข้างล่าง อีกรูปแบบขนาด 6 x 7.50 เมตร ห้องน้ำและครัวจะอยู่ข้างบน ทั้งนี้สามารถปรับเพิ่มตามความต้องการได้ อย่างบางแปลงก็เลือกแค่ที่ดินเปล่าแต่แบบบ้านที่สร้างใหม่จะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่อยากให้หลุดคอนเซ็ปต์ภาพรวมครับ”
#น้ำปัจจัยสำคัญในการทำเกษตร
หัวใจสำคัญของการทำเกษตรคือน้ำ ทุกแปลงจึงมีสระน้ำเป็นส่วนประกอบ โดยแบ่งสัดส่วนให้มีขนาดสมดุลกับแปลงที่ดิน
 
“รูปทรงของสระน้ำแต่ละแปลงก็แตกต่างกันครับ ตั้งใจให้เป็นลูกเล่นของงานดีไซน์ แต่มีระดับความลึก 3 เมตรตามมาตรฐาน สามารถกักเก็บน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อการทำเกษตรอย่างแน่นอน ตรงนี้ผู้ออกแบบมาสเตอร์แปลนมีความเชี่ยวชาญในการทำโคกหนองนาเป็นพิเศษ ก่อนขุดสระได้มีการคำนวณปริมาณน้ำฝนของพื้นที่ตรงนี้ และยังมีการวางระบบผันน้ำจากบึงพระอาจารย์เข้าสู่หมู่บ้าน โดยต่อคลองหลอดเชื่อมกับคลองใหญ่ ผันน้ำมาใช้ในช่วงฤดูร้อนหรือฝนขาดช่วง”
มุมแปลงผักสวนครัว และเล้าไก่ ติดตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติ
ไข่ไก่เก็บสดๆ ในเล้า
คลองหลอดเชื่อมกับสระเก็บน้ำ เพิ่มความสวยงามให้สระด้วยบัวหลากหลายสายพันธุ์ ปลูกหญ้าน้ำพุช่วยยึดแนวหน้าดินริมสระ
นอกจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่วางแผนกักเก็บให้มีใช้ตลอดปี ที่นี่ยังนำระบบ IoT (Internet of Things) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำเกษตร โดยติดตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติให้ทุกแปลง ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และควบคุมผ่านแอปพลิเคชั่น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถดูแลสวนได้
ระบบ IoT ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้ในระบบรดน้ำอัตโนมัติ
แปลงไม้ผล คลุมดินด้วยฟางข้าว เพื่อเก็บความชุ่มชื้นในดิน
แนวคันดินกั้นคลองหลอดเชื่อมกับบึงพระอาจารย์ เป็นอีกหนึ่งกำแพงดินป้องกันบ้านหากเกิดน้ำท่วม
#ทำเกษตรไม่ให้เฟลต้องลงมือ
“ผมว่าการทำเกษตรต้องใช้ประสบการณ์มากกว่าวิชาการ คนที่มาซื้อบ้านสวนนี้จะต้องสร้างประสบการณ์ของตัวเองด้วย เสิร์ชแค่อินเทอร์เน็ตอาจไม่เพียงพอ ชีวิตมันไม่รอด ต้องลองปลูก จะได้รู้ว่าเกิดปัญหาอะไรแล้วนำปัญหานั้นมาแก้ไขปรับปรุง เรียนรู้ต่อไป
“แม้ที่นี่แค่ยกกระเป๋าเข้าอยู่ก็ทำเกษตรต่อจากที่วางระบบไว้ได้ก็จริง แต่ผมอยากให้ที่นี่เป็นโมเดลที่ยั่งยืน ทุกอย่างในโครงการมีการวางแผนมานานครับ ใช้เวลาเป็นปีๆ แต่หลังจากนี้แค่คาดหวังให้ทุกแปลงรักษาสภาพบ้านสวนของตัวเองไม่ให้รกร้างจนเกินไป ระยะเวลา 2-3 ปีได้กินพืชผลที่ปลูกแน่นอน ที่สำคัญอยากให้ทุกแปลงต่อยอดจากที่ผมทำ เราไม่มีส่วนกลางดูแลให้ ‘ทุกคนต้องตั้งใจ’ มีความคิดคล้ายๆ กัน ไปในแนวทางเดียวกัน ถ้าตั้งต้นว่าจะมาทำสวนทำไร่ให้สำเร็จหรือใช้ชีวิตสงบ ที่นี่ตอบโจทย์แน่นอน” คุณจุ๊นเล่าทิ้งท้าย
อ่านเรื่องเต็มได้ที่ >> https://www.baanlaesuan.com/261885/garden-farm/farming-101/agriculture_mix
เรื่อง: JOMM YB
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา