27 เม.ย. 2022 เวลา 10:05 • ธุรกิจ
EP:1….Fright Forwarder, Carrier, Co-loader, Shipping, Transport คือ?
สวัสดีค่ะ หนูซันมาล้าวววว ตามสัญญาค่ะ หนูซันจะมาเล่าให้ฟังต่อนะคะว่า ชื่อแต่ละชื่อในวงการ logistics บ้านเรามีชื่ออะไรกันบ้าง ใครทำอะไร ศักดิ์ศรีของแต่ละคนต่างกันยังไง พร้อมจะมึนกันยังค่ะ มาค่ะเริ่ม…
1).Freight Forwarder : ส่วนใหญ่เราก็จะเรียกทับศัพท์กันค่ะว่า เฟรท ฟอร์เวิร์ดเดอร์ หรือ ฟอร์เวิร์ดเดอร์ โดยส่วนใหญ่เลยพวกเขาจะให้บริการในการเป็นตัวแทน นำเข้า-ส่งออก ซึ่งจะมีบริการครบวงจรทุกภาคส่วนตั้งแต่
*Pick up: รับสินค้าที่โรงงานลูกค้า
*Booking: ทำการบุคเรือ บุคแอร์ (ไฟลท์) บุครถ
*Shipping: ทำการเดินพิธิการศุลกากรแทนลูกค้า
*Transport: จัดหารถไปรับสินค้า หรือ ไปรับตู้คอนเทนเนอร์ (container)
*Coordinate: ประสานงานกับสายเรือ ชิปปิ้ง และ เอเย่นต์ปลายทาง
*Etc: อื่นๆตามแต่จะมีบริการให้ลูกค้า (as per customer’s inquiry)
Freight forwarder จะไม่ใช่ “เจ้าของเรือ” และ ไม่ใช่ “เจ้าของตู้ container” แต่มีหน้าที่ในการเป็น “ตัวแทน” ดูและชิปเม้นท์ (shipment)นั้นๆให้เสมือนเป็น “เจ้าของสินค้า” นั่นเอง
2). Co-loader: จะเรียกทับศัพท์กันว่า โค-โหลดเดอร์ หน้าที่ของ Co-loader เรียกว่าเกือบจะเหมือนกับ Freight Forwarder ในปัจจุบัน ทั้ง Co-loader + Freight Forwarder นั้นมีบริการ (service) ไม่ต่างกันนักและหากมองในเชิงธุรกิจ การแข่งขันในตลาดบ้านเรา ก็ต้องบอกว่าทั้งคู่มีบริการที่เหมือนกันเกือบ 100% อ้าว...แล้วอะไรที่ต่าง  จุดที่ต่างกันก็คือ Co-loader จะมีการบริการและจัดการรวมสินค้าเข้าตู้เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าที่มีสินค้าจำนวนน้อยๆหรือที่เรียกกันว่า Console อ่ะ แล้วอะไรคือจำนวนน้อยๆ เท่าไหร่ถึงบอกว่าน้อยล่ะ
สมมุติว่า บริษัท ดีดี๊ดี อยากส่งออกเคสมือถือจำนวน 3 กล่อง ประมาณ 250 kg หรือ ประมาณ 1 Cbm.(คิว) / บริษัท หมูกระทะ อยากส่งออกพัดลมมือถือจำนวน 10 กล่อง ประมาณ 1,500 kg หรือ ประมาณ 4 Cbm.
สองบริษัทนี้ก็ต้องติดต่อกับ Co-loader or Freight Forwarder เพื่อให้ดำเนินการส่งออกให้ ด้วยความที่จำนวนสินค้านั้นน้อยคือมีอย่างละนิดหน่อย 1 Cbm / 4 Cbm. Co-loader or Freight Forwarder ก็จะทำการรวบรวม นำสินค้าของทุกเจ้าที่จะไปปลายทางเดียวกัน (Destination) มารวมไว้ใน 1 container มองภาพง่ายๆให้เหมือนว่าเพื่อนๆกำลัง “ต่อจิกซอว์” แผ่นเล็กๆ มีมุมแต่ละแผ่นไม่เท่ากัน แต่พอเอามาต่อครบลงตัวหมดแล้วก็จะได้รูปภาพนึงมาเต็มแผ่น เช่นเดียวกันค่ะ รูปภาพเต็มแผ่นนั้นก็เปรียบเหมือนตู้ container ส่วนตัวจิ๊กซอว์เล็กๆก็เปรียบเหมือนสินค้าของลูกค้าที่มีจำนวนน้อยๆหลายๆเจ้ามารวมกัน คนที่ทำการต่อจิ๊กซอว์ก็คือ Co-loader or Forwarder นั้นเองค่ะ
ตย.การนำจำนวนของน้อยๆมารวมในตู้คอนเทนเนอร์
3).Carrier: สายเรือ ชื่อก็บอกชัดแล้วว่าเป็น สายเรือและศักดิ์ศรีเขาใหญ่คับมหาสมุทรมาก (พูดจริงค่ะ ไม่ได้ประชดแต่อย่างใด) เพราะอะไรถึงบอกว่าศักดิ์ศรีเขาใหญ่มาก
* ก็เขาเป็นสายเรือ เป็นเจ้าของเรือ และ เป็นเจ้าของตู้ container
* เวลาเรือ delay (วิ่งไปปลายทางช้ากว่ากำหนด) ก็ต้องยอมรับสภาพตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพิ่มเติมคือ claim เขาไม่ได้ค่ะ
*เวลาตู้ container ไปถึงปลายทาง แล้วมี “ค่าซ่อมตู้” ส่วนใหญ่ สายเรือก็เก็บค่ะ เก็บลูกค้าค่ะ
*เวลาโหลดสินค้าแล้วเอาตู้กลับเข้าท่าเพื่อขึ้นเรือ แล้วเลย Free time ที่เรือเขาให้ไว้ ก็ต้องจ่ายตามเรือแจ้งค่ะ
*เวลา book เรือแล้ว แล้วจะไม่ไปและจะ cancel หรือ postpone เรือก็เก็บค่าใช้จ่าย (ในช่วง covid นี่เจอตลอดค่ะ)
*สายเรือ จะไม่มีบริการเรื่องของชิปปิ้ง หรือ incoterm อื่นๆที่นอกเหนือไปจาก CIF / FOB
ฟังแบบนี้อาจจะมีคนเอ๊ะ ในใจว่า หูย ทำไมสายเรือโหดจัง คือถ้าเรามองในแง่ของธุรกิจ สายเรือเองเขาก็มีค่าใช้จ่าย หรือ มีต้นทุนในหลายๆส่วน ดังนั้น ถ้าผู้ส่งออก หรือ ผู้นำเข้า ทำตามกฎของสายเรือ ก็จะไม่เจอค่าใช้จ่ายเหล่านั้นค่ะ
4).Shipping: ส่วนใหญ่ก็เรียกทับศัพท์กันว่า “ชิปปิ้ง” หน้าที่หลักๆเลย ก็จะมี
*ส่ง paperless ให้กรมศุลกากร
*เดินพิธีการศุลกากรแทนลูกค้า
*ยื่นเอกสาร ใบอนุญาต ต่างๆแทนลูกค้า (ส่วนนี้ก็แล้วแต่ว่า บริษัทไหนจะมีบริการแบบไหนนะคะ)
*ให้คำปรึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายศุลกากร เช่นจะนำเข้าต้องมีใบอนุญาตไหม พิกัดศุลกากรตัวนี้ใช้ได้ไหม เป็นต้น
ส่วนใหญ่แล้วชิปปิ้ง จะวิ่งเข้า วิ่งออกอยู่ในท่าเรือ แอร์พอร์ต จะไม่ค่อยได้อยู่ติดบนออฟฟิศเท่าไหร่นัก เพราะแต่ละชิปเม้นท์กว่าจะดำเนินการตรวจปล่อยสินค้าเสร็จสิ้นก็ใช้เวลามากอยู่ ยิ่งในช่วง covid ด้วยแล้วยิ่งนานกว่าเดิมค่ะ
5).Transport: บริษัทขนส่ง บริษัทรถในบ้านเราก็มีทั้งรถ 4 ล้อ 6 ล้อ 10 ล้อ รถหัวลาก และ อีกหลายประเภท บริษัทรถพวกนี้เขาจะให้บริการตามลักษณะงาน ตามระยะทางจากจุดที่รับ-ส่งสินค้า ไปยัง ปลายทาง หน้าที่อีกอย่างของบริษัทรถเวลารับสินค้าของลูกค้าไปแล้ว ก็จะต้อง...
*ระมัดระวังในการขับรถ เช่น ถ้ารับสินค้าที่ซุ่มเสี่ยงต่อการแตกหักง่าย ก็ต้องขับระวังหลุม ขับนิ่มนวลสักหน่อยเพื่อระวังสินค้าของลูกค้า
*เป็นตัวกลางในการจ่ายค่าธรรมเนียมล่วงหน้า เมื่อเข้าไปยัง Gate ในท่าเรือ ลานตู้ หรือ แอร์พอร์ต
ไม่ว่าใครจะอยู่ในหมวดของคำไหนในข้างต้น แต่สิ่งที่ทุกบริษัทมีเหมือนกันเลยก็คือ “การบริการ (service)” ในที่นี้หมายถึงการให้บริการ การให้ข้อมูลลูกค้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ที่เขาเป็นอยู่ค่ะ แล้วพบกัน EP หน้านะคะ😉🤗
โฆษณา