27 เม.ย. 2022 เวลา 10:56 • คริปโทเคอร์เรนซี
“ซื้อปุ๊ปตกปั๊ป ขายปั๊ปขึ้นปุ๊ป” หลีกเลี่ยงเหตุการณ์นี้อย่างไรดีในตลาดคริปโต
“ซื้อปุ๊ปตกปั๊ป ขายปั๊ปขึ้นปุ๊ป”
เหตุการณ์นี้คงจะเกิดขึ้นกับใครหลายๆคน ที่เพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุนแรกๆ ในตลาดคริปโต (หรืออยู่มานานแล้วก็ตาม) เรามักจะเกิดอาการตีอกชกหัว หรืออุทานคำยอดฮิตอย่าง “รู้งี้” ออกมากันแทบทั้งนั้น เพราะดูท่าฟ้าฝน หรือดวงชะตาของเรามันช่างไม่เป็นใจเสียจริง ทำไมพอเราซื้อเหรียญx ในราคาหนึ่งแล้ว ราคาของเหรียญนั้นดันมีมูลค่าลดลงหลังเราซื้อ กลับกัน เมื่อเราขายอีกเหรียญหนึ่งที่เราถือเอาไว้ ทันทีที่ขายออกไป ราคาของเหรียญก็ดันทะยานพุ่งขึ้นสูงเป็นแท่งเขียวยาวแปดเมตรกระแทกหน้าอย่างจัง จนแทบจะกลั้นเสียงกรี๊ดที่เต็มไปด้วยความคับแค้นใจเอาไว้ไม่อยู่
1
พิธีรับน้องใหม่เช่นนี้ ยังคงคอยขุดหลุมดักคนหน้าใหม่ๆที่เข้ามาในตลาด และถึงบางคนที่อยู่มานานสักพักแล้ว ก็ยังคงตกม้าตาย เผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เสมือนเกมตะลุยด่าน ที่ต้องวิเคราะห์ถึงวิธีเอาชนะ และฝ่ามันไปให้ได้ ไม่อย่างนั้นแล้ว เราก็ต้องกลับมาเริ่มต้นในด่านที่ยังไม่ผ่านต่อไปเรื่อยๆ เหตุที่เปรียบแบบนี้ เพราะการลงทุนในคริปโตนั้น ไม่ได้พ่วงมากับศาสตร์ของโชคลาภ หรือดวงชะตาใดๆ แต่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกิดขึ้นในตลาด และการวางแผน หรือก็คือการอ่านเกมให้ออก ในบทความนี้ AC News จึงอยากแนะนำทริคที่เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ เพื่อนำมาพิจารณาในการลงทุนซื้อ หรือขายทำกำไรเหรียญคริปโต ดังนี้
1
  • ศึกษาข้อมูลของเหรียญก่อนลงทุน
ช่วงปีน2022 นี้ เป็นปีที่เหรียญคริปโตกำลังบูมอย่างมาก โดยเฉพาะในไทย เพราะจากข้อมูล Digital 2022 Global Overview Report รายงานพฤติกรรมคนไทยในยุคดิจิทัล ที่จัดทำโดย We Are Social และ Hootsuite ประจำปี2022 เปิดเผยว่าคนไทยมีสัดส่วนการถือครองคริปโตมากที่สุดเป็นอันดับ1ของโลก หรือก็คือมีสัดส่วนประชากรในการถือครองเป็น 20.1% เลยทีเดียว (ในขณะที่ค่าเฉลี่ยการถือครองคริปโตของโลกอยู่แค่ 10.2% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเป็นเท่าตัว)
ซึ่งบางคนได้เข้ามาลงทุนในช่วงที่คริปโตกำลังบูมนี้ ในลักษณะของการเก็งกำไรแบบที่ไม่รู้ถึงพื้นฐานของเหรียญที่ลงทุน หรือก็คือซื้อไปก่อนแต่ยังไม่ได้ศึกษา ซึ่งใครที่ลงทุนในลักษณะเช่นนี้ จะทำให้ถือเหรียญนั้นๆไม่ยาว เพราะไม่รู้ถึงข้อมูลเบื้องหลัง ความสามารถ หรือUtility ของเหรียญคริปโตสกุลนั้นๆว่ามันมีขึ้นเพื่ออะไร ทำให้เราอาจจะขายทำกำไรออกไปก่อน แล้วมีการกระชากราคาที่สูงขึ้นในเวลาต่อมาให้เราเจ็บใจเล่น หากเหรียญนั้นเป็นเหรียญที่โปรเจคดีมีอนาคต หรือเราถือเหรียญไม่ดีจากการสุ่มเลือก แล้วถูกทิ้งให้เราอยู่บนดอย จากราคาที่ตกต่ำลง ฉะนั้นก่อนการลงทุน ควรศึกษาถึงตัวโปรเจคเสียก่อน เพื่อพิจารณาเอาเงินไปลงได้อย่างรอบคอบมากขึ้น
  • พิจารณาข้อมูลจาก CDC Action Zone
รูปจาก tradingview.com
หากใครที่สนใจข้อมูลเชิงเทคนิค หรือสายกราฟ นอกเหนือจากข้อมูลพื้นฐานของเหรียญ ก็อาจพิจารณาใช้ Indicator ที่เรียกว่า “CDC Action Zone V.3” ในเว็บไซต์ Tradingview.com เพื่อไกด์ช่วงเวลาการซื้อหรือการขายที่เป็นระบบ ปราศจากการตัดสินใจทางอารมณ์ เพราะIndicator นี้จะใช้การคำนวณโดยทางสถิติ แล้วบอกจุดที่ควรซื้อหรือขาย หลายๆคนที่อยู่ในสังคมคริปโตอาจเคยได้ยินคำว่า “ซื้อเขียวขายแดง” ที่ดูท่าว่าไม่ Make senseเลย
แต่จริงๆแล้วเป็นสัญญาณสีของ Indicator ดังกล่าว โดยที่หากแท่งกราฟกลายเป็นสีเขียว ก็แปลว่าช่วงขาขึ้นมาแล้ว ควรพิจารณาซื้อ หากแท่งกราฟกลายเป็นสีแดง ก็แปลว่าขาลงกำลังมาให้กระโดดขายออกไป และรอสัญญาณเข้าซื้ออีกครั้งหนึ่ง แต่ Indicator นี้ไม่ได้ไกด์ทางที่ถูกต้องแบบ100% แต่เป็นเพียงข้อมูลทางสถิติเท่านั้น เราอาจพิจารณาเลือกใช้ Indicator นี้เป็นหลัก และทำตามระบบ (เนื่องจากมีWin rate ที่สูงพอ) หรือใช้เพียงข้อมูลพิจารณาประกอบกับข้อมูลอื่นๆก็ย่อมได้
  • พิจารณาข้อมูลจาก Fear & Greed Index
“Crypto Fear and Greed Index” หรือ ดัชนีวัดความกลัวและความโลภในตลาดคริปโต เป็นเครื่องมือที่แสดงถึงอารมณ์ของคนในตลาดว่ามี “ ความกลัว” หรือ “ความโลภ” อยู่ในระดับเท่าใดตามตัวเลขตั้งแต่กลัวมาก ไปจนถึงโลภมาก
โดยแบ่งออกเป็น Extreme Fear(20-25), Fear(26-29), Neutral(50), Greed(51-74) และ Extreme Greed(75-100)
ซึ่งเราควรทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่คนในตลาดส่วนมากทำ อ้างอิงจากคำแนะนำของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกอย่าง Warren Buffet ว่า “จงกลัวในเวลาคนอื่นโลภ และจงโลภในเวลาที่คนอื่นกลัว” เพราะในตลาดนั้นยังมีบุคคลที่เรียกว่า “Whale” ซึ่งสามารถ Manipulate ตลาด ชักจูงราคาขึ้นลงได้ โดยจับอารมณ์และการกระทำของคนส่วนมากในตลาดที่แสดงออกมาในFear & Greed Index นี้
หากเราเป็น 1 ในคนที่ใช้อารมณ์มาตัดสินการเทรด มีพฤติกรรมเหมือนคนส่วนใหญ่ เราก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความมั่งคั่งให้กับWhale เหมือนกับยื่นเงินของเราไปให้เขาเอง ฉะนั้นทางที่ดีที่จะรักษาเงินในพอร์ตของเราให้ปลอดภัย ก็อาจจะพิจารณาใช้ดัชนีชี้วัดดังกล่าว ซึ่งเราสามารถเข้าไปดูได้ทางเว็บไซต์ alternative.me/crypto/fear-and-greed-index หากตลาดเข้าสู่สภาวะ Extreme Greed เกิดการFOMO แย่งเข้าซื้อเพราะกลัวการตกรถ เราอาจพิจารณาทำสิ่งตรงกันข้าม นั้นก็คือการหาจุดขายเหรียญของเราที่มูลค่าของมันกำลังทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือ Take Profit เพื่อรักษากำไรของเราไว้ก่อน
  • ตรวจสอบสภาวะทางอารมณ์ของตัวเองก่อนการตัดสินใจ
“รู้อะไรก็ไม่สู้รู้ตัวเอง”
วลีนี้ยังเป็นวลีที่ใช้ได้ในแทบจะทุกสถานการณ์ รวมถึงเรื่องของการลงทุน เพราะทุกการตัดสินใจ ย่อมมีผลกับตัวเราเองตามมา การเข้าใจตัวเองในเรื่องของสภาวะทางอารมณ์ จะทำให้เราตัดสินใจเลือกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างชาญฉลาดและรอบคอบมากขึ้น โดยในด้านของการลงทุน หากเราเคยเลือกทางผิด ซื้อเหรียญใดเหรียญหนึ่งในอดีตที่มูลค่ามันลดลงกว่าตอนที่เราซื้อไว้ ในเวลาต่อมา เมื่อราคาไต่ขึ้นถึงจุดราคาเก่าที่เราเคยเข้า หลายๆคนอาจเกิดความกลัวแล้วกระโดดขายออกทันที แล้วเหตุการณ์ต่อมาก็ดันเข้ากับวลีฮิตอย่าง “ขายปุ๊ปขึ้นปั๊ป” เสียโอกาสในการทำกำไร
สิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ก็คือ “ความกลัวจากประสบการณ์ในอดีต” ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเรา เหนือเหตุผลตามข้อ 1 ที่เป็นเรื่องของข้อมูลพื้นฐาน Utility ของเหรียญ หรือข้อมูลจากข่าว (ปัจจัยในการวิเคราะห์) ว่าเหรียญนี้มีทุนกลับเข้ามาเพราะอะไร? หรือเราอาจจะเคยขายเหรียญหนึ่งในอดีตแล้วมันทะยานพุ่งสูงขึ้นต่อทันทีจนเราจำฝังใจ เมื่อต่อมา เห็นเหรียญในตลาดอีกเหรียญมีราคาพุ่งสูงขึ้น เราก็ต้องการชนะเพื่อชดเชยครั้งที่แล้ว FOMO เข้าทันที ทันใดนั้นเหรียญก็ดันมูลค่าลดลงเสียอย่างนั้น ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์ที่มีผลมาจากอิทธิพลของอารมณ์อยู่เหนือกว่าเหตุผลทั้งสิ้น
  • ระวังการปั่นราคาของ Whale
รูปจาก tradingview.com
จากที่กล่าวถึงไปว่า Whale สามารถชักจูงราคาขึ้นลง และเสกให้พอร์ตของเรามีมูลค่าลดลงได้ จากการอ่านพฤติกรรมของตลาด ด้วยความที่มีเงินทุนที่เยอะจนสามารถManipulate ตลาดได้ (ถึงได้เรียกว่าWhale)
พวกเขาสามารถเทขายเหรียญที่มี ในช่วงที่มีการFOMO แย่งกันเข้าซื้อเหรียญดังกล่าวจนราคาพุ่งสูงไปไกล และใช้เงินอีกก้อน เข้าช้อนซื้อเหรียญในราคาที่ต่ำลง หลังการเทขายก่อนหน้านี้ ที่ทำให้คนส่วนมากในตลาดหนีตาย แย่งขายเหรียญเพื่อ Cut Loss ออกไป ซึ่งกลยุทธ์ของWhale ในลักษณะนี้เรียกว่า “การสลัดเม่า” หรือทำให้คนที่มีอารมณ์และการกระทำในทิศทางเดียวกับตลาด “คายของออกมา” ซึ่งยังมีกลยุทธ์อยู่อีกมากมาย
อย่างในประเทศไทยของเราก็เคยเกิดเหตุการณ์ปั่นราคาเหรียญที่ชื่อว่า Zilliqa ($Zil) มาแล้ว ในวันที่ 29 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา โดยWhale ได้อาศัยช่วงที่กระดานเทรดปิดการฝาก-ถอนเหรียญดังกล่าวในช่วงเวลานั้น ทำการเข้าซื้อดันราคาจากช่วงราวๆ 3 บาท ไปสูงสุดอยู่ที่ 7.9 บาท ก่อนเทขายในวันเดียวกันนั้น กลับมาแตะที่ระดับ 3 บาทอีกครั้ง หากเราเป็นคนส่วนมาก ก็คงFOMO เข้าซื้อจนติดดอย และเพิ่งมาหลุดพ้นในช่วงเดือนนี้ของปี 2565 แต่หากเราระวังตัว และอ่านสถานการณ์แวดล้อม ตั้งคำถามว่ามันขึ้นเพราะอะไร เมื่อเราจับสังเกตได้ (รู้ว่ากระดานเทรดปิดการฝาก ถอน และราคาพุ่งสูงแค่กระดานเทรดในไทย) เราก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการเป็นเหยื่อของWhale ได้
และทั้ง5 ข้อนี้ก็เป็นทริควิเคราะห์เล็กๆน้อยๆ ในการนำทางนักลงทุนมือใหม่ที่สนใจอยากเข้ามาลงทุนในคริปโต ให้ปลอดภัยจากกับดักมีอยู่ทั่วตลาด หากเราระวังดีแล้ว แต่ยังคงเจอเหตุการณ์ “ซื้อปุ๊ปตกปั๊ป ขายปั๊ปขึ้นปุ๊ป” อยู่บ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร เพราะในการลงทุนที่เต็มไปด้วยผู้คนเข้ามาทำกำไรมากมาย หลายสิ่งหลายอย่าง ก็ไม่สามารถเป็นไปได้ดั่งใจเราทั้งหมด แต่การสร้างระบบความปลอดภัยต่อวิธีการลงทุนของเรา ด้วยการวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในตลาด ไม่เอาอารมณ์ชั่ววูบมามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ จะเป็นเกราะที่ปกป้อง และลดค่าความเสียหายของพอร์ตเราให้ยังยืนอยู่ได้ในตลาดต่อไป
โฆษณา