28 เม.ย. 2022 เวลา 01:08 • ธุรกิจ
“อาหารไทย” อยู่ตรงไหนของโลก?
“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” วลีฮิตติดปากที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของอาหารไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ
1
นอกจากนี้ อาหารไทยยังมีรสชาติถูกปาก ถูกใจคนไปทั่วโลก จนแกงมัสมั่นได้ชื่อว่าเป็น อาหารที่อร่อยที่สุดในโลก
ซึ่งความอร่อยและความอุดมสมบูรณ์นี่เอง ที่ทำให้ไทย อยากไปเป็นครัวของโลก
แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาหารไทย อยู่ตรงไหนของโลกใบนี้ ?
📌 ภาพรวมสถานการณ์ การส่งออกอาหารไทยในปี 2564
ในปี 2564 ที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่า 34,890 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.5%
ถ้าคิดเป็นมูลค่าในรูปเงินบาทจะอยู่ที่ 1,107,450 ล้านบาท ขยายตัว 11.8% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้
โดยไทยยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาดโลกที่ 2.3% ลดลงจากปีก่อน 2.32%
ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย ก็คือ ประเทศจีน โดยมีสัดส่วนส่งออก 24.5% มูลค่าการส่งออก 271,674 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 50.0% จากปีก่อน และ เพิ่มขึ้นจากการส่งออกผลไม้สดและแป้งมันสำปะหลังเป็นหลัก
ตลาดส่งออกอาหารที่สำคัญรองลงมา คือ กลุ่มประเทศ CLMV และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 และ 3 มีสัดส่วนส่งออก 12.4% และ 11.5% ตามลำดับ
นอกจากนี้การส่งออกอาหารไปประเทศอินเดียที่ขยายตัวสูงถึง 219.7% จากการส่งออกน้ำมันปาล์มเป็นหลัก ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และแอฟริกาลดลงจากสินค้าประเภททูน่ากระป๋องและข้าวเป็นหลัก
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การส่งออกอาหารในภาพรวมขยายตัวดี คือ ราคาสินค้าเกษตรวัตถุดิบอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น
โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มสินค้าเกษตรวัตถุดิบอาหารมีมูลค่าส่งออก 506,970 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 25.5% หรือมีสัดส่วน 45.8% ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม
ขณะที่กลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปมีมูลค่าส่งออก 600,480 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% หรือมีสัดส่วนส่งออก 54.2%ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม
โดย สินค้าหลักที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง, กุ้ง, ผลิตภัณฑ์มะพร้าว , เครื่องปรุงรส, อาหารพร้อมรับประทาน และสับปะรด
ซึ่งสินค้าดังกล่าวได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของธุรกิจบริการร้านอาหาร หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด 19 ในหลายประเทศ ทำให้ประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านได้มากยิ่งขึ้น
 
ในขณะที่กลุ่มสินค้าหลักที่การส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว, ไก่, ปลาทูน่ากระป๋อง, และน้ำตาลทราย
ผลักดันความเป็นเลิศของอาหารไทย ด้วย นโยบาย ครัวไทยไปครัวโลก
นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก ( Thai Kitchen to the World ) มีมาตั้งแต่ปี 2548 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้สินค้าเกษตรของไทย มีมูลค่าที่สูงขึ้น
โดยในปัจจุบัน ทางกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการสนับสนุนนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านร้านอาหาร Thai SELECT
โดยโครงการ Thai SELECT เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอาหารอันดับ 1 ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยคำนึงถึงมาตรฐานสากลเป็นหลัก โดย ไม่ว่าจะอยู่ต่างประเทศหรือในประเทศไทยก็สามารถหาอาหารไทยที่มีคุณภาพได้มาตรฐานทานได้
ซึ่งกลยุทธ์สำคัญ ก็คือ การใช้ “ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ” เป็นตัวสำคัญในการโปรโมตภาพลักษณ์อาหารไทยให้คนทั่วโลกได้รู้จัก ทำให้ต่างประเทศหันมานำเข้าอาหารจากประเทศไทยมากขึ้น และกลายเป็นครัวของโลก ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งใจไว้
📌 คาดการณ์ การส่งออกอาหารไทยปี 2565
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ประเมินแนวโน้มการส่งออกสินค้า อาหารไทย ในปี 2565 ว่า มูลค่าส่งออกสินค้าอาหารไทยจะมีมูลค่า 1,200,000 ล้านบาท ขยายตัว 8.4% ซึ่งหากเป็นไปตามคาดจะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ ของการส่งออกอาหาร
โดยปัจจัยที่จะหนุนการเติบโต ก็คือ ความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง ทั้งร้านอาหารและโรงแรมค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังความกังวลโควิด 19 และเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ความสามารถการแข่งขันด้านราคาดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ได้แก่ เงินเฟ้อ ทั้งที่มาจากราคาสินค้าเกษตร ราคาพลังงาน และค่าขนส่ง ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ต้นทุนสินค้าปรับตัวสูงขึ้น
ก็ต้องรอดูกันว่า ในอนาคตไทยจะสามารถก้าวไปเป็นครัวของโลก อย่างที่ฝันไว้ได้หรือไม่
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา