29 เม.ย. 2022 เวลา 14:02 • ธุรกิจ
โรงงานผลิตโปรตีนจากพืชที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์มีแผนเปิดภายในอีกสองปี
บริษัทสตาร์ทอัพของสหรัฐฯ Eat Just มีแผนที่จะเปิดโรงงานผลิตโปรตีนจากพืชที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ภายในอีกสองปีข้างหน้า โดยส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกของโรงงานจะมาจากถั่วเขียว เพราะว่าถั่วเขียวสามารถเปลี่ยนเป็น Protein Isolate หรือโปรตีน ที่ผ่านการสกัดจากอาหารที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่ว หรือไข่ เพื่อให้ได้กรดอะมิโนบริสุทธิ์ที่จำเป็น สินค้าหลักของโรงงาน ได้แก่ ไข่แดงโปรตีนจากพืชบรรจุขวด และ เนื้อสัตว์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องทดลอง (Cell Grown Meat) ซึ่งในปัจจุบันมีการผลิตในสิงคโปร์
นาย Josh Tetrick ซีอีโอบริษัท Eat Just กล่าวว่า การตัดสินใจตั้งโรงงานในสิงคโปร์ เนื่องจาก สิงคโปร์เป็นประเทศผู้นำด้านโปรตีนทางเลือก นวัตกรรมการเปลี่ยนโปรตีนจากสัตว์เป็นสิ่งที่จำเป็นในทศวรรษหน้า ไม่ว่าจะเป็นเพราะจากความมั่นคงด้านอาหาร การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ หรือสุขภาพส่วนบุคคล สิงคโปร์ได้แสดงจุดยืนในฐานะผู้นำในการดึงดูดและเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมเหล่านี้
1
โรงงานผลิตแห่งใหม่นี้เกิดจากการลงทุนร่วมมูลค่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (4,023 ล้านบาท)ระหว่างบริษัท Eat Just และบริษัท Proterra Investment Partners Asia บริษัทลงทุนที่เน้นภาคธุรกิจอาหารและการเกษตร โดยโรงงานมีขนาดพื้นที่ 2.7 เฮกเตอร์ (27,000 ตาราง เมตร) และสามารถผลิตโปรตีนจากพืชหลายพันตันต่อปี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 บริษัทได้มีพิธีเปิด และมีการเชิญสื่อมวลชน ข้าราชการ และนักลงทุนให้ทดลองผลิตภัณฑ์ไข่แดง Eat Just ‘s Just Egg ซึ่งทำมาจากโปรตีนถั่วเขียวและขมิ้นเป็นหลัก โดยต่างให้ความเห็นว่าไข่ที่ทำจากโปรตีนถั่วเขียวนั้น รสชาติแทบไม่ต่างจากไข่ไก่และมีความคล้ายกับไข่หวาน (Tamago) ในซูชิญี่ปุ่น
1
นาง Low Yen Ling รัฐมนตรีแห่งรัฐของกระทรวง การค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (Ministry of State for Trade and Industry) ได้เข้าร่วมงานเปิดตัวในฐานะแขกผู้มีเกียรติ กล่าวว่า โรงงานผลิตแห่งนี้จะช่วยผลักดันเป้าหมายในการพัฒนาความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานสินค้าจำเป็นของสิงคโปร์ และเป็นการเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารในประเทศ เพื่อส่งเสริมการสำรองเสบียงอาหาร (Stockpiling) และนโยบายกระจายความหลากหลายของแหล่งผลิตและนำเข้า
สิงคโปร์ได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตอาหารในประเทศให้ได้ 30% ของความต้องการบริโภคในประเทศ ภายในปี 2573 (2030) หรือนโยบาย 30X30 โดยส่งเสริมการลงทุนด้านอาหารทางการเกษตรหลายแห่งเพื่อที่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดสรรงบประมาณ 60 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (1,482 ล้าน บาท2) ภายใต้การประกาศแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ให้แก่กองทุน Agri-Food Cluster Transformation Fund เพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยีไปใช้ในภาคเกษตรของสิงคโปร์ ในขณะเดียวกัน บริษัทลงทุนสิงคโปร์ Temasek ได้เปิดตัว Asia Sustainable Foods Platform ในปี 2564 ที่ขับเคลื่อนความยั่งยืนของ อาหารและสร้างระบบนิเวศเทคโนโลยีอาหารทั่วเอเชียผ่านการลงทุนดังกล่าว
สิงคโปร์เป็นประเทศแรกๆ ในการทำให้โปรตีนทางเลือกถูกกฎหมาย โดยสิงคโปร์เป็นประเทศแรกในโลกที่อนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องทดลอง จากการสนับสนุนดังกล่าวส่งผลให้สิงคโปร์ได้รับเงินลงทุนในประเทศเป็นมูลค่า 11.8 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ (291.5 พันล้านเหรียญสิงคโปร์) โดยโครงการต่างๆ คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิงคโปร์ต่อปีที่ 16.8 พันล้านเหรียญ สิงคโปร์ (415 พันล้านเหรียญสิงคโปร์) เมื่อดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ
ความนิยมโปรตีนทางเลือก หรือโปรตีนเพาะจากเนื้อเยื่อกำลังเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอาหารโลกมากขึ้นเรื่อยๆ สิงคโปร์เป็นประเทศมีพื้นที่ทางการเกษตรขนาดเล็ก และนำเข้าอาหารเป็นหลัก รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อการเกษตรและอาหาร เช่น การทำฟาร์มผักแนวตั้ง เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่จำกัด หรือฟาร์มไข่ไก่ไฮเทคที่มีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการดำเนินการกระบวนต่างๆ อัตโนมัติครบวงจร ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์พยายามผลักดันนโยบายต่างๆ ในการดึงดูดนักลงทุน หรือ กองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพสิงคโปร์ในการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร และ ก่อให้เกิดความยั่งยืนในการผลิตอาหารในอนาคต
สำหรับประเทศไทย ในฐานะที่ไทยเป็นครัวโลก ผู้ประกอบการไทยและบริษัทสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ ต่างมีศักยภาพในการผลิตอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือกเช่นกัน โดยมีทุนสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานต่างๆ เช่น จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตรต่างๆ ในขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก เพื่อให้ทราบถึงเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ และสามารถเตรียมความพร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อีกด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เดินหน้าผลักดันส่งเสริมสินค้าและผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจด้วยโมเดล “BCG : Bio Circular Green Economy” หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทย และตอบสนองแนวโน้มความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับประเด็น Global Warming และใส่ใจต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสร้างเวทีที่สำคัญให้เกิดการพบปะสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ และเจรจาการค้ากับบรรดานักธุรกิจเจ้าของกิจการ ผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่ายผ่านงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ
โฆษณา