28 เม.ย. 2022 เวลา 00:30 • คริปโทเคอร์เรนซี
Risk of Ruin อีกหนึ่งการบริหารความเสี่ยงที่ “ดีย์” 🤗
ถ้าถามว่าลงทุนอย่างไรถึงจะอยู่รอดได้ แน่นอนว่าต้องมีเรื่อง Money Management (MM) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะรักษาเงินของเราให้อยู่รอดปลอดภัยแม้จะขาดทุน 🤔
วันนี้เรามาทำความรู้จัก “Risk of Ruin” อีกหนึ่งเรื่องที่สามารถนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงและการบริหารพอร์ตได้
🎯 Risk of Ruin คืออะไร ?
Risk of Ruin (ROR) หากแปลแบบง่าย ๆ เลยก็คือ “โอกาสที่จะหมดตัว” โดยดูจากความเสี่ยงที่มาจากขนาดการลงทุน (Position Size) ประกอบกับรูปแบบหรือระบบการลงทุนของตัวคุณเอง
📓 คุณอาจสนใจ “Money Management แบบบ้าน ๆ” อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ 👇
คุณจำเป็นต้องเข้าใจ Position Sizing ก่อนเนื่องจาก Risk of Ruin นั้นจะต้องนำจำนวนครั้งที่เสียได้มาคำนวณด้วย นั้นหมายความว่าคนที่สนใจ Risk of Ruin จะต้องมีการ MM มาในระดับนึงแล้วซึ่งเป็นเรื่องที่ดี นอกจากนี้ยังต้องทำการจดบันทึกการเทรดด้วย หากคุณเริ่มลงทุนแต่ยังไม่ได้จดบันทึกอะไรเลย รีบทำซะ!
📓 คุณอาจสนใจ “จดบันทึกการเทรดแบบง่าย ๆ” อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ 👇
📓 จดบันทึกการเทรด หรือ Portfolio ง่ายๆด้วย CoinMarketCap ! อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ 👇
ก่อนจะลงลึกไปมากกว่านี้ ย้ำอีกครั้ง! หากคุณยังไม่เคยจดบันทึกการเทรดและยังไม่รู้จัก Position Sizing ควรกลับไปศึกษาให้เข้าใจเบื้องต้นก่อนนะ 🤗
🎯 ตาราง Risk of Ruin ของ Professor Nauzer Balsara
จากการทดลองของ Professor Nauzer Balsara ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือ Trader Money Management System ด้วยความเสี่ยง 10% จะได้ผลลัพธ์ตามตารางดังรูป
หากเราต้องการเปรียบเทียบผลที่ได้ สามารถคำนวณได้ดังนี้
👉 1. Wining Ratio - ความแม่นยำ
คำนวณจาก จำนวนครั้งที่กำไร หารด้วย จำนวนครั้งที่ซื้อขายทั้งหมด
เช่น กำไร 50 ครั้ง จากการเทรดทั้งหมด 100 ครั้ง = 50/100 = 0.5 หรือ 50%
👉 2. Payoff Ratio - ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงในการซื้อขายโดยเฉลี่ย
คำนวณได้จาก กำไรเฉลี่ยต่อครั้ง หารด้วย ขาดทุนเฉลี่ยต่อครั้ง
เช่น เทรดทั้งหมด 100 ครั้ง
เทรดชนะ 50 ครั้ง กำไรทั้งหมด 1,500 บาท (กำไรโดยเฉลี่ย = 1,500/50 = 30 บาท)
เทรดแพ้ 50 ครั้ง ขาดทุนทั้งหมด 1,300 บาท (ขาดทุนโดยเฉลี่ย = 1,300/50 = 26 บาท)
Payoff Ratio = 30/26 = 1.15
💡 ระบบซื้อขายที่ค่า Payoff Ratio ต่ำกว่า 1 ถือว่าเป็นระบบซื้อขายที่ไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง
👉 3. Percent of Capital Exposed to Trading - ความเสี่ยงแต่ละครั้งที่ซื้อขาย
จำนวนเงินที่จะเสียไปถ้าผลการเทรดครั้งนั้นออกมาเป็นขาดทุน เช่น ถ้ามีเงินทุน 100,000 บาท และถ้าเราเสี่ยงที่จะขาดทุนได้ที่ 5,000 บาท จากการเทรดในแต่ละครั้ง แปลว่าค่า Percent of Capital Risk Exposure = 5%
💡 การเพิ่ม Capital Risk Exposure จะส่งผลให้ ROR เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการคิดจะเพิ่มความเสี่ยงที่ยอมรับได้นั้นอาจเป็นตัวเลือกที่ไม่น่าจะดีเท่าไหร่
หากใครยังไม่แน่ใจว่าตัวเองยอมรับความเสี่ยงได้ที่เท่าไหร่ อาจจะลองใช้กฎ 2% ก็คือขาดทุนได้ไม่เกิน 2% นั่นเอง ซึ่งเป็นตัวเลขที่หลาย ๆ คนแนะนำ
ค่า Risk of Ruin จะมีค่าระหว่าง 0 - 1 (0% -100%) ถ้าผลออกมาได้ 1 หรือ 100% ก็แปลว่ารูปแบบการเทรดของคุณมีโอกาสหมดตัวอย่างแน่นอน 😂 สิ่งที่ต้องทำคือ ลองปรับลดค่าต่าง ๆ ให้มี ROR ที่น้อยลงมากที่สุดเพื่อความปลอดภัย เช่น ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งน่าจะเป็นตัวที่ปรับได้ง่ายที่สุด จบปิ้ง!
🎯 สูตรคำนวณหา Risk of Ruin
อย่างที่บอกไปว่า ถ้าค่า Risk of Ruin ออกมาได้ 100% แปลว่ามีโอกาสหมดตัว นอกจากตามผลการทดลองก่อนหน้านี้แล้ว เราสามารถคำนวณได้ด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ แล้วมันคำนวณยังไง ? ไปดู!
Risk of Ruin = [Count - (% Win - % Loss) / Count + (% Win - % Loss) ]^Uint
👉 Count คือ จำนวนครั้งที่เทรด
👉 % Win คือ เปอร์เซ็นต์ที่เทรดแล้วชนะ
👉 % Loss คือ เปอร์เซ็นต์ที่เทรดแล้วแพ้
👉 Unit คือ จำนวนครั้งที่เสี่ยงได้ทั้งหมด (เสียติดกันกี่ครั้งถึงเจ๊ง)
ตัวอย่าง
เราเทรดไปทั้งหมด 100 ครั้ง เทรดได้กำไร 55 ครั้ง (Win 55%) เทรดขาดทุน 45 ครั้ง (Loss 45%)
เราใช้ความเสี่ยงต่อการเทรด 1 ครั้ง ที่ 10 % หมายความว่าเราเสียได้ทั้งหมด 10 ครั้ง
เข้าสูตร
ROR = [100 - (55 - 45) / 100 + (55 - 45) ]^10
ROR = [90 / 110 ]^10
ROR = 0.12 หรือ 12%
จากผลลัพธ์ที่ได้ถึง 12% ถือเป็นตัวเลขกลาง ๆ หากคุณอยากเทรดแบบปลอดภัย ควรทำให้ค่า ROR ออกมาเป็น 0% หรือเข้าใกล้ 0 มากที่สุด…มันทำได้จริงหรือ ? ไหนลองดูหน่อย
เอาแบบง่ายที่สุด เราลองลดความเสี่ยงที่รับได้เหมือนเดิมนั้นแหล่ะ ลองลดมาเหลือสัก 5% หมายความว่าเราจะเสียได้ทั้งหมด 20 ครั้ง พอเข้าสูตร ROR เหมือนเดิม เราจะได้ ROR = [90 / 110 ]^20 = 0.01 หรือ 1% ว้าว! ลดมาตั้งเยอะ
แล้วค่าอื่น ๆ ล่ะจะลดอย่างไร? อย่าง % Win % Loss อันนี้ก็อาจขึ้นอยู่กับความสามารถของคุณแล้วหล่ะว่าใช้เทคนิคอะไร แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงตัวเลขสถิติเท่านั้น ในสถานการณ์จริงเราอจสติหลุดหรือใช้อารมณ์จนเสียระบบที่เราวางไว้ก็เป็นได้ ยังไงก็ต้องระวังตัวเองไว้ด้วย
Risk of Ruin ถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เราเห็นภาพรวมว่า ที่ผ่านมาระบบการเทรดและการบริหารพอร์ตของเรานั้นมีประสิทธิภาพแค่ไหน เสี่ยงแค่ไหน เพื่อที่จะได้ปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นและอยู่รอดในตบาดได้แบบไม่หมดตัว !
โฆษณา