Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Is Life
•
ติดตาม
27 เม.ย. 2022 เวลา 23:58 • สิ่งแวดล้อม
‘สัตว์เลื้อยคลาน’ เป็นอีกกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการสูญพันธุ์ในยุคสมัยแอนโทรโปซีน (Anthropocene)
โดยในงานวิจัยล่าสุดขององค์กรธรรมชาติระดับนานาชาติ ‘NatureServe’ ระบุว่า หนึ่งในห้าสปีชีส์สัตว์เลื้อยคลานทั่วโลกกำลังถูกคุกคามด้วยการสูญพันธุ์
ผลการศึกษา สามารถแจกแจงรายละเอียดโดยสรุปได้ว่า
21 เปอร์เซ็นต์ ของสัตว์เลื้อยคลานกำลังถูกคุกคาม อัตรานี้สูงกว่านก แต่น้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
จระเข้มากกว่าครึ่งและเต่าเกือบสองในสามกำลังถูกคุกคามด้วยการสูญพันธุ์
สัตว์เลื้อยคลานถูกคุกคามทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกาตะวันตก มาดากัสการ์ตอนเหนือ แอนดีสตอนเหนือ และแคริบเบียน
การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยจากการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูก การพัฒนาเมือง และการตัดไม้เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้สัตว์เลื้อยคลานใกล้สูญพันธุ์ จระเข้และเต่ายังเผชิญกับการคุกคามจากการล่า
สัตว์เลื้อยคลานที่พบในป่ามีความเสี่ยงมากกว่าสัตว์เลื้อยคลานในทะเลทรายและทุ่งหญ้าสะวันนา
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์เลื้อยคลานโดยเฉพาะสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามเกาะ
หากเราสูญเสียสัตว์เลื้อยคลานทุกสายพันธุ์ (ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อยู่ ณ ตอนนี้) นั่นหมายความว่าวิวัฒนาการที่ดำเนินมากว่า 15.6 พันล้านปีจะถูกลบออกจากสารบบโลก
นอกจากปัจจัยคุกคามโดยสรุปด้านบนแล้ว นักวิจัยยังกล่าวด้วยว่า สายพันธุ์เหล่านี้มักถูกละเลยจากการอนุรักษ์ และความสนใจของประชาชน เนื่องจากพวกมันไม่น่ารักอย่างบรรดาสัตว์ที่ขนปุกปุยแลดูน่ากอด
โดย ‘NatureServe’ ต้องใช้เวลาทำการศึกษาเรื่องการสูญพันธุ์ของสัตว์เลื้อยคลานนานถึง 15 ปี เพราะไม่ค่อยมีใครสนใจให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยสัตว์กลุ่มนี้
ไม่มีใครอยากกอดกับจระเข้ (ยกเว้นสตีฟ เออร์วิน) และผู้คนมองว่างูจงอางเป็นภัยมากกว่ามิตร
แต่ในทางตรงกันข้าม สัตว์เลื้อยคลานเองก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ
ตัวอย่างเช่น จระเข้ถือเป็นสิ่งมีชีวิตอีกชนิดที่ช่วยบ่งชี้คุณภาพความอุดมสมบูรณ์ของนิเวศของป่า แม่น้ำ เป็นตัวควบคุมและคัดพันธุกรรมสัตว์ป่าที่อ่อนแอออกจากระบบนิเวศ
พวกมันเป็นนักล่าที่มีการเปลี่ยนอาหารไปเรื่อยๆ ตามขนาดตัว ไล่มาตั้งแต่ ปลา กบ นก รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ช่วยกำจัดซากทำให้แหล่งน้ำมีความสะอาด
นอกจากนี้ กองดินที่พวกมันขุดเพื่อวางไข่กลายเป็นเนินและเกาะขนาดย่อมๆ ในฤดูแล้งหลุมที่จระเข้ขุดขึ้น กลายเป็นแหล่งกักเก็บนํ้าที่ช่วยให้พืชและสัตว์หลายชนิดอยู่รอด
งู มีหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู ช่วยลดการกระจายพาหะของโรค สัตว์เลื้อยคลานอย่างพวกกิ่งก่า อีกัวนา ช่วยกำจัดแมลง
ทั้งหมดทั้งมวลเป็นการสร้างสมดุลของชีวิต ไม่ต่างจากการทำหน้าที่ในธรรมชาติของเสือโคร่ง นกเงือก หรือหมีขั้วโลก
นักวิจัยมองว่าความหวังในการปกป้องสายพันธุ์สัตว์เลื้อยคลานอาจอยู่การประชุมสุดยอดด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่จะเกิดขึ้นในเมืองคุนหมิง ประเทศจีน COP15 ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2022
ซึ่งช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมนำร่องที่เจนีวา ก่อนนำไปสรุปและหาผลลัพธ์ต่อในการประชุมที่คุนหมิง
ในการประชุมเจนีวา ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นตรงกันว่า ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีชี้ให้เห็นถึงเวลาที่เหลืออยู่ไม่มากนัก และจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเสียแต่ตอนนี้
อย่างไรก็ตาม ในบริบทที่เป็นอยู่ การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพยังเป็นไปอย่างล่าช้า ราวกับการเคลื่อนไหวของหอยทาก
อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุน ที่ยังไม่มีใครเสนอตัว ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง 200,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อเปลี่ยนเส้นทาง จัดสรรใหม่ ปฏิรูป หรือขจัดสิ่งจูงใจที่เป็นอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
ความทะเยอทะยานที่สำคัญประการหนึ่งคือการเปลี่ยน 30 เปอร์เซ็นต์ ของแผ่นดินและทะเลของโลกให้เป็นพื้นที่คุ้มครองภายในปี 2030 จึงจะบรรลุเป้าหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพภูมิอากาศ
และอีกเป้าหมายใหญ่ที่สำคัญคือ มนุษย์กับธรรมชาติจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนให้ได้ภายในปี 2050
นักวิทยาศาสตร์ได้ออกคำเตือนซ้ำๆ เกี่ยวกับภัยคุกคามต่อธรรมชาติซึ่งขับเคลื่อนโดยการกระทำของมนุษย์ ซึ่งรวมถึงการตัดไม้ทำลายป่าและเปลี่ยนพื้นที่ธรรมชาติเป็นเกษตรกรรม และการใช้ประโยชน์แบบอื่นๆ
การประเมินสถานะที่สำคัญในปี 2019 เตือนว่าธรรมชาติกำลังลดลงทั่วโลกในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตหนึ่งล้านชนิดกำลังใกล้สูญพันธุ์
#IsLIFE #Extinction #COP15 #GlobalBiodiversityFramework #CBD #NatureServe
อ้างอิง
BBC :
https://shorturl.asia/zxldZ
BBC :
https://shorturl.asia/qF1t5
Photo : ตะโขงอินเดีย เพศเมีย สถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ l wikipedia
สิ่งแวดล้อม
สัตว์ป่า
บันทึก
1
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย