5 พ.ค. 2022 เวลา 03:00
ไม่ลืมไม่มีหรอก มีแต่ลืมช้ากับลืมเร็ว :
หากวันหนึ่ง..เราต้องอยู่กับคนที่เราอาจลืมเขา
ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง และได้ทราบถึงอาการภาวะสมองเสื่อมระยะเริ่มต้นในช่วงวัยของท่าน ทำให้ผมหาข้อมูลเรื่องสมองเสื่อมเพื่อทำความเข้าใจและได้เจอกับภาพยนต์มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงวัยหลายเรื่อง ขอเริ่มต้นบทความเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมจากภาพยนต์รักสองเรื่องครับ
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ความจำสั้น แต่รักฉันยาว : Best of Times
2
หนังเรื่องแรกเป็นหนึ่งในภาพยนต์รักในความทรงจำของหลายๆ คน จากจุดเริ่มต้นการเมาแล้วขับรถที่นำพาให้หนุ่มสาวคู่หนึ่งกลับมาพบกัน แล้วยังนำให้ไปพบกับ ลุงจำรัสและป้าสมพิศ คนต่างวัยอีกหนึ่งคู่
การกลับมาพบกันของคนคู่แรกช่วยฟื้นความจำความรักครั้งแรกของเก่งที่แอบรักฝ้ายเพื่อนในวัยเรียน ประจวบกับเหตุการณ์ต่อมาที่ฝ้ายช่วยชีวิตลูกสุนัขตัวหนึ่ง ทำให้เก่งที่เป็นสัตว์แพทย์ได้มีโอกาสสานต่อความสัมพันธ์กับฝ้ายอีกครั้ง
ขณะที่เรื่องราวของป้าสมพิศและลุงจำรัสกลับเป็นด้านตรงกันข้าม เพราะลุงจำรัสกำลังเผชิญสภาวะสมองเริ่มเสื่อมและจะลืมความรักครั้งสุดท้ายของตัวเองกับป้าสมพิศ
เมื่อดูหนังเรื่องนี้จบลงบางคนจดจำเรื่องราวของลุงจำรัสและป้าสมพิศและรู้สึกอ่อนไหวไปกับการที่ลุงจำรัสจะต้องสูญเสียความทรงจำจากความเสื่อมของสมอง เรื่องราวของลุงจำรัสและป้าสมพิศจบลงด้วยการบอกลาของทั้งคู่เพื่อแยกย้ายไปใช้ชีวิตของตนเอง ทิ้งให้คนดูต้องจินตนาการเรื่องราวต่อไปด้วยตนเอง
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
The Notebook : รักเธอหมดใจ ขีดไว้ให้โลกจารึก
ขณะที่เรื่องราวของ ความจำสั้น แต่รักฉันยาว จบลงด้วยการจากลาของลุงจำรัสและป้าสมพิศ ภาพยนต์รักระดับขึ้นหิ้งอีกหนึ่งเรื่องที่ผมอยากพูดถึงกลับมีวิธีการเล่าเรื่องในทางตรงกันข้ามกับหนังเรื่องแรก
The Notebook เริ่มเรื่องจากช่วงเวลาของแอลลี่ที่มีอาการสมองเสื่อมแล้ว แล้วย้อนพาคนดูกลับไปพบกับเรื่องราวของ แอลลี่ และ โนอา ในช่วงที่ทั้งคู่เริ่มตกหลุมรักซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง และนำพวกเราไปสัมผัสเรื่องราวปัญหาที่ทั้งคู่ต้องเผชิญและต้องฟันผ่าอุปสรรคมากมายกว่าจะได้มาใช้ชีวิตร่วมกันผ่านสมุดบันทึกของเธอ แต่แทนที่แอลลี่และโนอาจะมีชีวิตคู่ที่มีความสุขร่วมกันไปตลอดช่วงเวลาที่เหลือของชีวิต การป่วยของเธอกลับทำให้ทั้งสองคนต้องมีชีวิตที่ห่างกันอีกครั้ง
แอลลี่ ในช่วงสูงวัยเผชิญภาวะสมองเสื่อม ลืมความทรงจำของตนเอง ลืมโนอา ลืมครอบครัวลูกและหลานของตน แอลลี่พักอาศัยอยู่ในศูนย์พักฟื้นแห่งหนึ่งเพื่อการดูแลรักษาและการใช้ชีวิตประจำวันของเธอ
โนอาเลือกที่จะอยู่กับแอลลี่และใช้เวลากับเธอด้วยการอ่านเรื่องราวที่แอลลี่จดบันทึกไว้ในโน๊ตบุ๊กของเธอ ด้วยข้อความที่แอลลี่เขียนบอกเขาบนสมุดว่า “Read this to me, and I’ll come back to you.” โนอาหวังว่าเรื่องราวที่ทั้งสองคนก้าวข้ามผ่านปัญหาอุปสรรคของความรัก การอดทนรอคอย และสู้เพื่อความรักจนสำเร็จ จะช่วยให้แอลลี่คืนความทรงจำระหว่างเขาและเธอได้บ้าง แม้ว่าลูกหลานของพวกเขาจะมาชวนพ่อให้กลับไปอยู่ที่บ้านและบอกว่าวิธีนี้ไม่ได้ผลอะไร
Daddy, come home. Mama doesn't know us. She doesn't recognize you. She'll never understand. ~Mary Allen
(The Notebook)
ความที่เป็นของหนังรักจึงเน้นไปที่เรื่องราวของทั้งสองคนในอดีต เพียงในบางฉากของหนังที่สลับเป็นเหตุการณ์ปัจจุบันให้เห็นถึงความรักที่แสนมั่นคงของโนอาต่อแอลลี่ บางฉากสื่อให้เรารับรู้ถึงความรู้สึกของลูกและหลานกับการที่คนที่ตนรักต้องมีอาการสมองเสี่อมจนจำทุกคนไม่ได้ แม้อยากพูดคุยกับแม่ อยากโอบกอดยาย ก็ไม่สามารถทำได้
ภาวะสมองเสื่อมจึงไม่เพียงส่งผลต่อคนป่วยเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อคนใกล้ชิดในครอบครัวอีกด้วย
1
ไม่ลืม... ไม่มีหรอก มีแต่ "ลืมช้า" กับ "ลืมเร็ว"
(ความจำสั้น แต่รักฉันยาว)
คำพูดประโยคสุดท้ายที่ลุงจำรัสพูดกับป้าสมพิศก่อนแยกจากกัน เป็นประโยคหนึ่งในหนังที่คนดูหนังจำกันได้ ประโยคที่สะท้อนถึงสิ่งที่ลุงจำรัสและผู้สูงอายุส่วนหนึ่งจะเผชิญยามที่มีอายุมากขึ้น ก็คือ ภาวะสมองเสื่อมนั่นเอง
ภาวะสมองเสื่อม เป็นภาวะที่สมองเกิดการสูญเสียหน้าที่ในการทำงานหลายๆ ด้านพร้อมกันอย่างช้าๆ ทำให้เกิดปัญหาด้านความจำ การรู้คิด การตัดสินใจ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ด้านพฤติกรรมและอารมณ์ร่วม ภาวะสมองเสื่อมที่พบได้มากที่สุดคือ อัลไซเมอร์และพาร์กินสัน
ภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ เป็นภาวะสมองเสื่อมชนิดที่พบมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จากข้อมูลสถิติ พบว่า
  • 1 ใน 9 ของผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์
  • 1 ใน 3 ของผู้มีอายุ 85 ปีขึ้นไป มีภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์
  • 2 ใน 3 ของผู้ป่วยภาวะสองเสือมอัลไซเมอร์ เป็นผู้หญิง
การศึกษาทางการแพทย์พบว่าปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ แต่การตรวจพบและรักษาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นสามารถช่วยชะลอการดำเนินของโรคได้ ด้วยวิธีการรักษาที่ประกอบไปด้วยยาและการดูแลผู้ป่วยในการใช้ชีวิตประจำวัน
เพราะการเสื่อมของสมองเกิดขึ้นตามวัย และปัจจุบันคนเรามีอายุที่ยืนยาวขึ้น โอกาสที่เราจะประสบปัญหาด้านสมองเมื่อเข้าวัยสูงอายุจึงมีมากขึ้น เราจะต้องพยายามดูแลสมองของเราให้เกิดปัญหาช้าที่สุดด้วยการดูแลสุขภาพ และให้สมองได้ทำงานอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ เพื่อป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่นำเลือดไปสู่สมอง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี
  • ฝึกสมอง หางานอดิเรกทำ เช่น การอ่านหนังสือ หรือเล่นเกมเสริมทักษะความรู้ต่าง ๆ การอ่านหรือโพสต์บทความใน BD ก็เป็นวิธีการที่ดีครับ
  • ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่อสมอง โดยเฉพาะการหกล้ม
  • ตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจหาความผิดปกติของสมอง
เตรียมการ "เงิน" เพื่อลดภาระการดูแลของครอบครัว
แม้ว่าภาวะสมองเสื่อมไม่ได้เกิดกับผู้สูงวัยทุกคน แต่ถ้าผู้ใหญ่ในครอบครัวเกิดภาวะสมองเสื่อม จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ป่วยและครอบครัว การเลือกแนวทางการดูแลขึ้นกับความพร้อมด้านต่างๆ ของแต่ละครอบครัว ขณะที่ครอบครัวลุงจำรัสเลือกพาลุงจำรัสไปอยู่กับครอบครัวและดูแลกันเอง แต่ครอบครัวของแอลลี่เลือกให้แอลลี่พักอยู่ที่ศูนย์ดูแลพักฟื้น เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ดี
การศึกษาปัญหาด้านภาระในการดูแลผู้ป่วยของครอบครัว พบว่ากว่า 45% ของครอบครัวที่มีผู้ใหญ่เกิดภาวะสมองเสื่อมมักมีปัญหาทางด้านการเงินเนื่องจากการที่มีค่าใช้จ่ายในการดูแลเป็นประจำและต่อเนื่องที่อาจจะนานถึง 10-20ปี
ค่าใช้จ่ายต่างๆ อาจแปรไปตามรูปแบบการดูแลผู้ป่วย โดยปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายแต่ละด้าน โดยประมาณดังนี้
  • ค่ายาเพื่อชะลออาการ เฉลี่ยวันละ 200 บาท หรือประมาณเดือนละ 6,000 บาท
  • ค่า Day Service หากครอบครัวดูแลผู้ป่วยเอง แต่ใช้บริการ Day Service ในการหาผู้ช่วยดูแลผู้ป่วยเฉพาะบางช่วงเวลา ค่า Day Service ประมาณ 2,000 - 10,000 บาท ต่อเดือ
  • ค่า Nursing Care. เมื่อตัดสินใจเลือกให้ผู้ป่วยพักและดูแลกับศูนย์พักฟื้น ค่า Nursing Care โดยศูนย์ดูแลผู้สูงอายุอาจเริ่มต้นจากเดือนละ 20,000 บาทขึ้นไป
เห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลเริ่มตั้งแต่เดือนละ 6,000 บาท จนถึงระดับหลายหมื่นต่อเดือน ในระยะยาวค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
ผู้ที่ป่วยด้วยภาวะสมองเสื่อมยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น จากผลข้างเคียงของสมองที่เสื่อมลง เช่นโรคติดเชื้อ โรคปอด หลอดเลือดสมอง เป็นต้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอาการเหล่านี้จึงเป็นภาระอีกส่วนของคนในครอบครัว
ดังนั้นเราจึงควรคิดถึงการเตรียมเงินสำหรับรองรับภาระที่จะเกิดขึ้นหากวันหนึ่งเราต้องเผชิญภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้ครอบครัวไม่ต้องมีภาระมากนักในการดูแล
หลายคนคิดว่าได้มีการทำประกันชีวิตเอาไว้รองรับแล้ว แต่ประกันชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้คุ้มครองครอบคลุมช่วงที่ผู้ทำประกันมีปัญหาด้านสมองเสื่อม ประกันชีวิตส่วนใหญ่จะมีการจ่ายเงินเอาประกันภัยแก่ผู้เอาประกันภัยที่ระบุในกรมธรรม์ตามเงื่อนไขเมื่อเราเสียชีวิต หรือตกเป็นบุคคลทุพพลภาพตามที่ระบุในกรมธรรม์ ซึ่งนิยามของการทุพพลภาพอาจไม่ได้ครอบคลุมถึงสาเหตุจากภาวะสมองเสื่อมเสมอไป
เมื่อเราทราบว่าภาวะสมองเสื่อมเป็นสิ่งที่เรามีโอกาสต้องเผชิญ การเลือกแบบประกันที่ครอบคลุมภาวะสมองเสื่อมด้วยจึงเป็นแนวทางที่ดี
นอกจากนี้เมื่อเราเผชิญภาวะสมองเสื่อม ในทางกฎหมายอาจถึอว่าเราเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือ คนไร้ความสามารถ ส่งผลให้มีแนวทางปฎิบัติทางกฎหมายที่แตกต่างจากคนปกติ เช่นไม่สามารถจัดทำพินัยกรรมด้วยตัวเองได้เป็นต้น หากเราไม่ต้องการให้มรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามลำดับขั้นในกฎหมายมรดก เราต้องเตรียมพินัยกรรมเพื่อให้ทรัพย์สินและมรดกตกทอดแก่ผู้ที่เราตั้งใจจะมอบมรดก สำหรับผู้สูงวัยกระบวนการทำพินัยกรรมอาจต้องมีผลรับรองทางการแพทย์และทำมรดกกับเจ้าหน้าที่เขตหรืออำเภอเพื่อให้มีผลตามกฎหมาย จึงควรเตรียมไว้แต่เนิ่นเช่นกัน
I’m not leaving her. This is my home now. Your mother is my home.”
The Notebook
หากเราคิดว่าวันหนึ่งเราอาจต้องเผชิญกับปัญหาด้านความจำ เราก็ควรจะดูแลตัวเราตั้งแต่วันนี้เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น พร้อมเตรียมการด้านต่างๆ เอาไว้บ้าง เพื่อให้คนที่อยู่กับเราไม่ต้องมีภาระมากจนเกินไปและมีความสุขอย่างที่ควรจะเป็น
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ท้ายบทความ ขอขอบคุณที่อ่านมาจนจบ และขอบคุณถ้าหากยังไม่ลืมกันครับ
โฆษณา