Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Chivit-D by SCG
•
ติดตาม
2 พ.ค. 2022 เวลา 05:30 • สุขภาพ
มาสู้ไวรัสด้วยแบคทีเรียโพรไบโอติกกันเถอะ
ในร่างกายคนเรานั้นมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณลำไส้ โดยมีทั้งจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ จุลินทรีย์ที่ไม่ก่อประโยชน์ และจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย จุลินทรีย์เหล่านี้อาจเป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส รา หรือจุลชีพชนิดอื่นๆ ซึ่งล้วนมีผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย และหน้าที่ของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ไม่เพียงแค่ช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น แต่สามารถบ่งบอกถึงสภาวะของสุขภาพของเราได้ด้วย
โพรไบโอติกคืออะไร?
โพรไบโอติก (Probiotics) จัดเป็นจุลินทรีย์ชนิดดี เรียกได้ว่าเป็นแบคทีเรียประจำถิ่นหรือ Normal Flora อย่างหนึ่งในลำไส้ ที่ก่อประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ กลุ่มแบคทีเรียที่สร้างกรดแลคติก (Lactic Acid) เช่น แล็กโตบาซิลลัส (Lactobacilli) และไบฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria)
บทบาทของโพรไบโอติก
●
ป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคจับที่ผิวเยื่อบุลำไส้ โดยการสร้างเกราะป้องกันบริเวณเยื่อบุลำไส้
●
ช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย
●
ลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล
●
ช่วยย่อยและดูดซึมสารอาหาร โดยการสร้างเอนไซม์หลายชนิด
●
ช่วยในการทำงานของลำไส้ ปรับสมดุลระบบขับถ่าย
●
สามารถผลิตวิตามินต่างๆ เช่น วิตามินบี 1, วิตามินบี 2, วิตามินบี 6, วิตามินบี 12, ไบโอติน และกรดโฟลิก
●
กระตุ้นการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน ให้เข้าสู่ภาวะสมดุลได้ จากการศึกษาพบว่าโพรไบโอติกมีประโยชน์ในการบรรเทาความผิดปกติของร่างกาย ดังนี้
1.
อาการลำไส้แปรปรวน, กรดไหลย้อน, ท้องผูก, ท้องร่วงจากการติดเชื้อ
2.
ผื่นแพ้ผิวหนัง, ภูมิแพ้อากาศ
3.
ภาวะติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ
แหล่งอาหารที่มีโพรไบโอติก
แบคทีเรียกลุ่มนี้มักพบในผลิตภัณฑ์อาหารหมัก เช่น โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ แหนม นมเปรี้ยว เป็นต้น
บางท่านเคยได้ยินคำว่าพรีไบโอติกมาบ้างแล้ว มาดูกันว่าพรีไบโอติกคืออะไร
พรีไบโอติก (Prebiotics) คืออาหารของโพรไบโอติก เป็นใยอาหารชนิดละลายน้ำได้และร่างกายไม่สามารถย่อยได้ แต่จะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียโพรไบโอติกบริเวณลำไส้ใหญ่ โดยจะกระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรีย หรือเสริมฤทธิ์โพรไบโอติก เช่น กลุ่มโอลิโกแซ็กคาไรด์ (Oligosaccharide) อินูลิน เพกทิน เป็นต้น พบได้ในอาหาร เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง กระเทียม หัวหอมใหญ่ กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง ผักและผลไม้ต่างๆ เป็นต้น
งานวิจัยเกี่ยวกับไมโครไบโอต้า
จุลินทรีย์ทั้งหมดที่อยู่ในร่างกายรวมเรียกว่า ไมโครไบโอต้า (Microbiota) เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าไมโครไบโอต้าในแต่ละอวัยวะของแต่ละบุคคลมีจุลินทรีย์ชนิดอะไรบ้าง และจำนวนเท่าใด ให้ประโยชน์หรือโทษต่อร่างกาย โดยจุลินทรีย์ที่อยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกายนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันแต่ตัวละบุคคลมากถึง 99.9% และมีความแตกต่างของยีนจุลินทรีย์ของแต่ละบุคคลมากถึง 80-90%
ไมโครไบโอต้า สัมพันธ์กับสุขภาพของคน
การศึกษาไมโครไบโอม (Microbiome หรือยีนทั้งหมดของจุลินทรีย์) ร่วมกับจีโนม (ยีนทั้งหมดของมนุษย์) อาจมีประโยชน์ต่อการดูแลรักษาสุขภาพ ทั้งในแง่ของการทำนายโรคที่อาจเกิดขึ้น การเลือกวิธีหรือเลือกใช้ยาที่จำเพาะต่อตัวบุคคลเพื่อการรักษาในอนาคต เช่น
●
ไมโครไบโอต้าที่ผิวหนังมีผลต่อโรคผิวหนัง เช่น การเกิดสิว, โรคสะเก็ดเงินชนิดเรื้อรัง, โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังชนิดเรื้อรัง
●
ไมโครไบโอต้าที่ระบบทางเดินทางอาหาร พบว่าบุคคลที่มีจุลินทรีย์ในกระเพาะอาหารชื่อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) มีโอกาสเป็นโรคแผลกระเพาะอาหาร มากกว่าคนที่ไม่พบเชื้อนี้
จุลินทรีย์สามารถสู้กับไวรัสโคโรนาได้หรือไม่?
นักวิจัยส่วนหนึ่งเชื่อว่าจุลินทรีย์สามารถสู้กับไวรัสโคโรนาได้ แม้จะยังไม่มีหลักฐานชัดเจน จากผลการศึกษาในประเทศจีนยืนยันว่า การติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลต่อความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ของมนุษย์ โดยสังเกตจากผู้ป่วยโควิด-19 พบว่ามีจุลินทรีย์ Bifidobacterium spp. และ Lactobacillus spp. ในลำไส้ลดลง รวมถึงสัดส่วนของผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นโรคอุจจาระร่วงสูงถึง 36% นอกจากนี้ยังทดลองในผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศจีน ให้รับประทานโพรไบโอติกบางตัว พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับภูมิคุ้มกันจากโพรไบโอติกจะมีอาการทุเลาลงมากกว่า รวมถึงการติดเชื้อในกระแสเลือดลดลง ปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในอุจจาระเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามบทบาทในการยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรนาของโพรไบโอติกยังคงต้องได้รับการศึกษาต่อไป เพราะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนที่จะสามารถสรุปได้ว่าโพรไบโอติกจะป้องกันหรือรักษาโควิด-19 ได้
ทำไมเราถึงควรได้รับโพรไบโอติกเสริม?
ถึงแม้ว่าร่างกายของเราจะมีจุลินทรีย์ชนิดดีอยู่แล้ว เมื่อเราเจอปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้จุลินทรีย์ชนิดดีลดน้อยลงได้ ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะน้อยลงไปด้วย เช่น อายุที่มากขึ้น, การกินอาหารไม่มีประโยชน์หรือกินอาหารไม่หลากหลาย, พักผ่อนน้อย, ความเครียด และการกินยาปฏิชีวนะติดต่อกันนาน ดังนั้นการสร้างสภาวะความสมดุลของจุลินทรีย์ชนิดดีในร่างกายจึงมีความสำคัญ การรับประทานโพรไบโอติกจึงเป็นอีกทางเลือกอย่างหนึ่งในการเสริมจุลินทรีย์ชนิดดีและช่วยรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย
ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกในท้องตลาดมีรูปแบบใดบ้าง?
โพรไบโอติกที่เราพบเห็นกันได้ในท้องตลาดมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบผงแป้ง รูปแบบแคปซูล รูปแบบยาเม็ดเคี้ยว รูปแบบสารละลาย หรือรูปแบบยาเหน็บช่องคลอด โดยส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบผงแป้ง ซึ่งบางผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจทำในรูปแบบสูตรโพรไบโอติกเดี่ยวๆ หรือสูตรผสมที่ประกอบด้วยโพรไบโอติกและพรีไบโอติกในผลิตภัณฑ์เดียวกัน
อาการข้างเคียงที่อาจพบได้หลังจากรับประทานโพรไบโอติก
ส่วนใหญ่มักพบอาการข้างเคียงเมื่อมีการรับประทานในขนาดที่สูงเกินไป โดยอาจจะทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือแน่นท้องได้
สรุป
การรักษาสมดุลของไมโครไบโอต้าหรือจุลินทรีย์ภายในร่างกายมนุษย์ มีความสำคัญ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงและลดความความเสี่ยงของโรคต่างๆ แล้ว ยังเป็นวิธีสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ดีในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาหารที่มีโพรไบโอติกหรือพรีไบโอติกสูง เช่น ชีส กิมจิ นมเปรี้ยว โยเกิร์ต หรือเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกทดแทนในปริมาณที่เหมาะสม
สุขภาพ
ดูแลสุขภาพ
covid19
1 บันทึก
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย