30 เม.ย. 2022 เวลา 02:50 • การเกษตร
ญี่ปุ่น ทำนาอย่างไร ให้ขายข้าวได้ 100 บาทต่อกิโลกรัม
1
เราคงจะเคยได้ยินว่าชาวนาญี่ปุ่นมีฐานะร่ำรวย และถูกยกมาเปรียบเทียบกับชาวนาไทยอยู่บ่อย ๆ
ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่ดูพิถีพิถันและการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเพาะปลูก
สะท้อนไปที่ราคาข้าวในท้องตลาดที่มีราคาสูงกว่าราคาข้าวทั่วไป
3
แต่รู้หรือไม่ว่า ชาวนาจำนวนมากในประเทศญี่ปุ่น ทำนาเป็นอาชีพเสริมและไม่ได้ร่ำรวยจากการทำนา แต่มาจากการประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น พนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือพนักงานออฟฟิศ และการค้าขาย
4
แล้วอะไรที่ทำให้คนญี่ปุ่นสามารถทำนาเป็นอาชีพเสริมได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ประเทศญี่ปุ่นนั้น มีการทำนามายาวนานกว่า 3,000 ปีมาแล้ว มีจุดเริ่มต้นจากทางตอนเหนือของเกาะคิวชู และคาดว่าได้รับการถ่ายทอด กรรมวิธีการเพาะปลูกข้าวมาจากประเทศจีน ผ่านทางคาบสมุทรเกาหลี
2
ซึ่งแต่เดิม อาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวญี่ปุ่น คืออาหารที่หาได้จากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการจับปลา ล่าสัตว์ และผลไม้ป่า
ในเวลาต่อมา ข้าว ก็ได้กลายเป็นแหล่งอาหารหลักของญี่ปุ่น และพื้นที่ทำนาก็ได้กระจายไปทั่วประเทศ
ซึ่งข้าวยังได้กลายเป็นภาษีชนิดหนึ่ง ที่ข้าทาสบริวารต้องเพาะปลูก และนำจ่ายให้กับเจ้านาย หรือชาวนาบางส่วนที่เช่าที่ดินในการทำนา ก็จะต้องแบ่งผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ จ่ายเป็นค่าเช่าที่ดินให้กับเจ้าของที่ดินอีกด้วย
ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น และวางโครงสร้างการบริหารประเทศใหม่
แต่ผลกระทบจากสงครามก็ได้ทำให้ประเทศญี่ปุ่นได้รับความเสียหายอย่างมาก
โดยเฉพาะปัญหาความอดอยาก ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วประเทศ
1
เนื่องจากระบบศักดินาที่มีมาแต่โบราณ ทำให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นนำและคนส่วนน้อย
โดยเฉพาะการถือครองที่ดิน ที่ส่วนใหญ่เป็นนายทุนและพ่อค้ารายใหญ่
1
ชาวนาจำนวนมากจึงต้องเช่าที่ดิน และจ่ายค่าเช่าเป็นผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้
ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรและความมั่งคั่งของประเทศ ถูกครอบครองโดยคนส่วนน้อยที่มีฐานะร่ำรวย
1
ต่อมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ประเทศญี่ปุ่นมีการปฏิรูปที่ดิน เพื่อแก้ปัญหาความอดอยากของประชาชน
1
รวมทั้งมีการบังคับให้เหล่านายทุนและเจ้าของที่ดินรายใหญ่ ขายที่ดินที่ถือครองเกินกว่าที่รัฐบาลกำหนดคืนให้กับส่วนกลาง
8
จากนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้นำที่ดินเหล่านั้นมาแบ่งขายให้กับเกษตรกร ที่ไม่มีที่ดินทำกินกว่า 5 ล้านราย เป็นจำนวนรวมเกือบ 11 ล้านไร่
1
แถมยังตั้งราคาขายคงที่ ไม่มีการคิดดอกเบี้ยเพิ่มเติม เพื่อให้เกษตรกรสามารถผ่อนจ่ายได้ตามรอบฤดูกาลเก็บเกี่ยว
2
และด้วยผลกระทบจากสงคราม ก็ได้ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในญี่ปุ่น เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมาก
ในขณะที่หนี้สินของชาวนา ที่ซื้อที่ดินจากรัฐบาลยังเท่าเดิม เพราะเป็นราคาขายแบบคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
1
ทำให้ไม่นานนัก ชาวนาจำนวนมากก็สามารถใช้หนี้ และไถ่ถอนที่ดินเป็นของตัวเองได้ ภายในเวลาเพียง 2-3 ปีเท่านั้น
1
ซึ่งผลจากการปฏิรูปและควบคุมการครอบครองที่ดินนี้เอง ก็ส่งผลให้ชาวนาแต่ละรายในประเทศญี่ปุ่นสามารถครอบครองที่นาขนาดเล็ก ซึ่งโดยส่วนใหญ่ครอบครองไม่เกิน 1 เฮกตาร์ หรือประมาณ 6.25 ไร่
2
แม้ว่าจะปลูกข้าวบนผืนนาขนาดเล็ก การทำนาในประเทศญี่ปุ่นก็ยังมีความคุ้มค่ามากพอที่จะทำต่อไป
เพราะด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ทำให้การพัฒนาทั้งพันธุ์ข้าวและกรรมวิธีการปลูก มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น
1
จึงเกิดการพัฒนาเครื่องจักรที่มีขนาดเล็ก สอดคล้องกับขนาดแปลงเพาะปลูก ยกตัวอย่างเช่น รถดำนาที่มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องตัดหญ้าเพียงเล็กน้อย
3
หรือแม้แต่ รถเกี่ยวข้าวที่มีขนาดเท่ากับรถยนต์คันหนึ่ง ซึ่งเครื่องจักรเหล่านี้มีราคาที่จับต้องได้ ทำให้เกษตรกรสามารถครอบครองเครื่องทุ่นแรงเหล่านี้ได้
4
อีกประเด็นสำคัญคือ เรื่องของราคาข้าวในประเทศญี่ปุ่นที่มีราคาสูง เนื่องจากข้าวถูกกำหนดให้เป็นแหล่งอาหารหลักของประเทศ ความมั่นคงทางด้านอาหาร จึงถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลมาตั้งแต่อดีต
3
โดยหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลจะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตข้าวจากเกษตรกรทั้งหมด และขายต่อให้กับผู้ค้าปลีกหรือโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลก็จะเปรียบเสมือน “พ่อค้าคนกลาง” เพื่อควบคุมระดับราคาข้าวในตลาด
7
ต่อมาเมื่อปัญหาความอดอยากได้คลี่คลายลง
แต่รัฐบาลก็ยังต้องการรักษาระดับของปริมาณการผลิตข้าวในประเทศไว้
ด้วยการอุดหนุนราคาข้าว เพื่อจูงใจให้เกษตรกรปลูกข้าวและขายให้กับรัฐบาล เพื่อนำมาเก็บเข้าคลังสินค้า
แถมยังมีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าข้าวที่สูงถึง 777% เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำ
9
ถึงแม้ว่าผลผลิตที่ได้ในปัจจุบัน จะมีปริมาณเกินความต้องการ สวนทางกับความนิยมในการบริโภคข้าวของชาวญี่ปุ่น ที่ปรับตัวลดลงจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไป รัฐบาลก็ยังได้มีการจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวนาที่งดปลูกข้าว และเปลี่ยนไปปลูกพืชผลอย่างอื่นแทน
1
ถึงตรงนี้ เราจะเห็นว่าชาวนาในประเทศญี่ปุ่นนั้น ได้รับการดูแลจากรัฐบาลเป็นพิเศษมาตั้งแต่อดีต
6
ส่วนหนึ่งก็เพราะการรวมกลุ่มกันในรูปแบบของสหกรณ์ชาวนา “Japanese Agricultural Cooperatives” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า JA ที่มีสมาชิกกว่า 5 ล้านคน ที่มีอำนาจในการต่อรองกับรัฐบาลมาโดยตลอด
2
โดย JA ถือเป็นฐานเสียงที่สำคัญของพรรคแอลดีพี มาตั้งแต่ปี 1955 เรียกได้ว่าเป็นฐานเสียงที่สามารถชี้เป็นชี้ตายพรรคการเมืองได้ ทำให้ข้าวกลายเป็นสินค้าการเมือง ที่ได้รับการปกป้องมากที่สุด
4
ซึ่งนอกจากการรวมกลุ่ม เพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกันแล้ว เครือข่ายสหกรณ์ของ JA ก็ได้กระจายตัวไปในระดับเทศบาล และระดับจังหวัดทั่วประเทศ มีธนาคารเครดิตยูเนียน และธุรกิจประกันเป็นของตนเอง
3
แม้ว่าสหกรณ์ชาวนาจะดูเป็นทางที่สร้างความมั่นคงให้ชาวนาญี่ปุ่นได้
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การแปรรูปและต่อยอดผลิตภัณฑ์ ก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่คอยค้ำยันราคาข้าวของญี่ปุ่นมาโดยตลอด
9
ไม่ว่าจะเป็น มิริน แป้งขนมโมจิ หรืออาหารญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคย ที่ไม่ว่าที่ตั้งของร้านอาหารเหล่านั้น จะอยู่ที่ใดในโลก ก็ต้องใช้ข้าวสายพันธุ์ของญี่ปุ่นเท่านั้น เพราะมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และอยู่คู่อาหารญี่ปุ่นมายาวนาน
6
โดยเฉพาะ “เหล้าสาเก” ที่ใช้วัตถุดิบหลักคือข้าวญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันในญี่ปุ่นมีโรงผลิตเหล้าสาเก
จำนวนมากถึง 1,200 แห่ง ซึ่งคาดว่าถูกวางจำหน่ายมากกว่า 10,000 แบรนด์เลยทีเดียว
3
จากการสนับสนุนของภาครัฐ รวมถึงการบริโภคและต่อยอดผลิตภัณฑ์
ทำให้ราคาข้าวสารในประเทศญี่ปุ่น มีราคาตั้งแต่ 300 ถึง 400 เยน
คิดเป็นประมาณ 80 ถึง 105 บาทต่อกิโลกรัม เลยทีเดียว
2
อย่างไรก็ตาม แม้ราคาข้าวจะสูง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า ชาวนาทุกคนจะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำเสมอไป
สำหรับชาวนาที่มีพื้นที่เพาะปลูกเพียงไม่กี่ไร่นั้น พบว่าได้กำไรจากการทำนาเพียงน้อยนิด
บางส่วนทำแล้วยังขาดทุนด้วยซ้ำ เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตสูง
1
จะเหลือก็เพียงผู้ที่ครอบครองแปลงนาขนาดใหญ่ หรือกลุ่มชาวนาที่รวมกลุ่มกัน เพื่อให้แปลงเพาะปลูกใหญ่ขึ้น ที่ยังคงมีกำไรและร่ำรวยจากการทำนา เพราะได้เปรียบจากการประหยัดต่อขนาด ด้วยการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่บวกกับเงินอุดหนุนที่ภาครัฐจ่ายให้
5
และผู้ประกอบการอีกกลุ่มที่มีกำไร ก็คือผู้ที่สามารถต่อยอดข้าว ไปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น จึงสามารถเพิ่มผลกำไรที่ได้จากการทำนา ให้มากกว่าการขายข้าวเปลือกธรรมดา
3
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือ
ในปัจจุบัน ชาวนาญี่ปุ่นหลายคนยึดถืออาชีพชาวนา เป็นงานนอกเวลา
12
เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นก็เติบโตอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ ทำให้ยังมีอีกหลายสาขาอาชีพ ที่ทำเงินได้มากกว่าการเป็นเกษตรกร
ชาวนาหลายคน จึงใช้เวลาในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ประกอบอาชีพอื่น หรือเป็นพนักงานเงินเดือน แล้วใช้เวลาว่างในช่วงวันหยุดเป็นเกษตรกร อีกทั้งประเทศญี่ปุ่นมีฤดูการทำนาเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ทำให้การทำนาแต่ละครั้งใช้เวลาไม่มาก
1
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การซื้อขายที่ดินทางการเกษตร จะต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานท้องถิ่น
เนื่องจากประเทศญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
จึงต้องควบคุมการไล่ซื้อที่ดินเกษตรกรรม เพื่อเปลี่ยนเป็นโรงงานอุตสาหกรรมหรือที่อยู่อาศัย
3
ทำให้ที่ดินเกษตรกรรมขายต่อได้ยาก ชาวนาหลายคนจึงมีที่ดินติดมือมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ และตัดสินใจปลูกข้าวเพื่อการบริโภคเอง และส่วนที่เหลือจึงขายให้กับคนใกล้ชิด หรือบางส่วนก็ปล่อยให้เกษตรกรคนอื่นมาเช่าที่ต่อ ซึ่งดีกว่าปล่อยให้เป็นที่ดินว่างเปล่า
1
ด้วยเหตุนี้เอง รายได้หลักของเจ้าของที่ดินเกษตรกรรมส่วนใหญ่ จึงไม่ได้มาจากการทำนา
แต่มาจากการประกอบอาชีพอื่น และรายได้จากการทำนา เป็นแค่ส่วนเสริมเท่านั้น
1
ปัจจุบัน จำนวนเกษตรกรที่ยังคงทำเกษตรกรรมในญี่ปุ่น มีจำนวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ
จากจำนวนกว่า 2.2 ล้านครัวเรือนในปี 2010
เหลือเพียง 1.7 ล้านครัวเรือนในปี 2020
ส่วนใหญ่อยู่ในวัยชราที่มีอายุเฉลี่ย 65 ปี อีกทั้งยังมีที่ดินทางการเกษตรกว่า 2.5 ล้านไร่ปล่อยทิ้งว่าง
เมื่อพื้นที่เพาะปลูกลดน้อยลง รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เร่งหามาตรการสนับสนุน
เพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจอาชีพเกษตรกรรม
เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารของชาติ ให้ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง
ถึงตรงนี้เราก็คงเห็นกันแล้วว่า อาชีพชาวนาของญี่ปุ่น และไทย มีความแตกต่างกันอย่างมาก
และมีหลายสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ และนำมาปรับใช้กับบ้านเราได้เหมือนกัน
อย่างเช่น
2
- กรรมวิธีในการเพาะปลูกและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ที่ให้ผลผลิตเป็นข้าวเปลือกต่อไร่สูง
- การบริหารเครือข่ายสหกรณ์ ที่เข้มแข็งและมีอำนาจต่อรอง เพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน
4
- การต่อยอดผลิตภัณฑ์ ที่สร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับการขายข้าวเปลือกแบบธรรมดาทั่วไป
1
ก็ไม่แน่ว่าหากเราสามารถ ยกระดับอาชีพชาวนาในบ้านเราได้
เราอาจจะเห็นการทำนา ที่แต่เดิมเป็นการทำเพื่อหาเลี้ยงชีพ และชดใช้หนี้สิน
เปลี่ยนไปเป็นการทำงานเสริม ที่ทำเพราะมีเวลาว่างมากพอ
หรือเพื่อต่อยอดสินค้าท้องถิ่น ที่ทำมาจากข้าวพันธุ์ไทย
7
จนกลายเป็นเมนูขนมและเครื่องดื่ม ที่สามารถนำไปวางขายอยู่ทั่วโลก
เหมือนกับเหล้าสาเกหรือขนมโมจิ แบบที่ญี่ปุ่นทำได้สำเร็จ ก็เป็นได้..
2
โฆษณา