29 เม.ย. 2022 เวลา 11:22 • การศึกษา
[ตอนที่ 62] ถอดเนื้อหาการเสวนา “การเมืองเรื่องภาษาใน ASEAN : มาเลเซีย VS อินโดนีเซีย"
2
เนื้อหาในบล็อกตอนนี้จะเป็นเนื้อหาที่ “หนุ่มมาเก๊า” ถอดมาจากการเสวนาทางวิชาการ “การเมืองเรื่องภาษาใน ASEAN : มาเลเซีย VS อินโดนีเซีย” ของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 22 เมษายน ค.ศ.2022 ที่ผ่านมาครับ
[Credit ภาพ : AFP/ADEK BERRY]
หากใครต้องการที่จะดูการเสวนาออนไลน์ครั้งนี้ย้อนหลัง สามารถดูได้ที่ FB ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : https://www.facebook.com/cseas.tu/videos/3307969412857949/
[ที่มาของภาพ : ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.ธรรมศาสตร์]
สำหรับเนื้อหาที่ถอดจากการเสวนา ผมจะแยกเนื้อหาที่ออกเป็นประเด็นหลัก ๆ ดังนี้ครับ
1) ความพยายามผลักดันภาษามลายูเป็นภาษากลางของ ASEAN จากฝั่งมาเลเซีย ที่ฝั่งอินโดนีเซียขัดขวาง
2) คำว่า “บาฮาซา” ที่คนไทยมักเข้าใจผิด
3) ภาษามลายูในภาพรวม และชื่อเรียกของภาษา
4) ความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซีย-มาเลเซีย สองชาติใหญ่ที่สุดที่ใช้ภาษามลายู
5) จากภาษามลายูสู่ภาษาอินโดนีเซีย
6) ที่มาของชื่อ “อินโดนีเซีย”
7) ภาษามลายูในมาเลเซีย
8) ภาษามลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
9) “สำนึกความเป็นชาติ” ต่อภาษาและวัฒนธรรมในมาเลเซีย-อินโดนีเซีย
10) ความแตกต่างระหว่างภาษามลายู-ภาษาอินโดนีเซีย
11) ความร่วมมือทางภาษาระหว่างมาเลเซีย-อินโดนีเซีย
12) ความคิดเห็นเรื่องประเด็นภาษาอินโดนีเซีย-มลายู และหากภาษานี้จะเป็นภาษาที่ 2 ของ ASEAN
13) คำถามจากผู้เข้าร่วมฟังการเสวนา
เนื้อหาในตอนนี้จึงเหมาะกับคนที่สนใจเรื่องของภาษามลายู-อินโดนีเซีย ซึ่งถือว่าเป็นภาษาที่มีจำนวนผู้ใช้มากที่สุดในกลุ่มประเทศ ASEAN ในแง่ภาษา วัฒนธรรม และการเมือง และเรื่องราวของประเทศมาเลเซีย-อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคที่คนไทยรับรู้ข่าวสารความเป็นมาเป็นไปค่อนข้างน้อยกว่ากลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม)
หากพร้อมแล้ว…เชิญอ่านได้เลยครับ
1) ความพยายามผลักดันภาษามลายูเป็นภาษากลางของ ASEAN จากฝั่งมาเลเซีย ที่ฝั่งอินโดนีเซียขัดขวาง
- เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.2022 รัฐบาลมาเลเซียผลักดันให้ภาษามลายูเป็นภาษาที่ 2 ของ ASEAN โดยมอบนโยบายให้มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (UKM) เป็นหน่วยงานหลักที่ผลักดัน
- นายกรัฐมาตรีมาเลเซียไปคุยเรื่องการผลักดันภาษามลายูกับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย (เพราะในมุมมองฝั่งมาเลเซีย อินโดนีเซียมีประชากรใช้ภาษามลายูมากที่สุด) แต่ต่อมา รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศคัดค้าน โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ภาพถ่ายการแถลงการของนายกรัฐมนตรีอิซมาอิล ซับรี ยักกบ แห่งมาเลเซียที่แถลงการร่วมกับประธานาธิบดีโจโก วีโดโดแห่งอินโดนีเซีย ระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อช่วงที่รัฐบาลมาเลเซียกับอินโดนีเซียประชุมกันที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.2022 [Credit ภาพ : Indonesian Presidential Palace / AP]
2) คำว่า “บาฮาซา” ที่คนไทยมักเข้าใจผิด
- คำว่า “บาฮาซา” (Bahasa) ในภาษามลายู-อินโดนีเซียแปลว่า “ภาษา” ต้องมีชื่อภาษาต่อท้าย เช่น...
Bahasa Indonesia = ภาษาอินโดนีเซีย
Bahasa Jepang/Bahasa Jepun = ภาษาญี่ปุ่น
Bahasa Thai = ภาษาไทย
แต่คนไทยกลับเข้าใจว่าคำ “บาฮาซา” คือภาษามลายูและภาษาอินโดนีเซีย
3) ภาษามลายูในภาพรวม และชื่อเรียกของภาษา
3.1 ชื่อเรืยกของภาษา
- คำที่คนไทยหลายคนมักสับสนเกี่ยวกับภาษาแถบมาเลเซีย-อินโดนีเซีย : ภาษามลายู-ภาษามาเลย์-ภาษามาเลเซีย-ภาษาอินโดนีเซีย
- ในภาษาอังกฤษเรียกภาษามลายูว่า Malay language คนไทยแปลถอดเป็น “ภาษามาเลย์” ซึ่งควรแปลเป็น “ภาษามลายู” เพราะชื่อ “มลายู” เป็นชื่อสถานที่ในภาษาไทยที่มาก่อนแล้ว (อย่างคำว่าคาบสมุทรมลายู หัวเมืองมลายู)
- “ภาษามลายู” (Bahasa Melayu) เป็นภาษาประจำชาติตามรัฐธรรมนูญมาเลเซีย (มาตรา 152) แต่คำ “มลายู” (Melayu) บ่งชี้ความเป็นเชื้อชาติมลายู และเพื่อเอาใจ-รักษาฐานเสียงคนมาเลเซียเชื้อสายมลายู
- มาเลเซียเป็นประเทศเน้นสังคมพหุชาติพันธุ์ (มีคนมาเลเซียเชื้อสายจีนกับอินเดีย) รัฐบาลมาเลเซียจึงสนับสนุนให้เรียกภาษามลายูว่า “ภาษามาเลเซีย” (Bahasa Malaysia) ในสังคมทั่วไป/ชีวิตประจำวัน เพื่อรักษาความเป็นชาติพหุวัฒนธรรม สื่อว่าภาษานี้คนมาเลเซียเชื้อสายอื่นก็ใช้ได้
- ในมุมมองของครูสอนภาษามลายูในมาเลเซีย คำว่า “ภาษามลายู” จะครอบคลุมพื้นที่ที่มีคนใช้ภาษาได้กว้างกว่า (เช่น ในสิงคโปร์ บรูไน และจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย) ไม่ถูกจำกัดว่าเป็นภาษาที่ใช้ในพรมแดนของประเทศแบบคำ “ภาษามาเลเซีย”
แผนภาพแสดงเขตการปกครองตามประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ASEAN ที่ประชากรมีกลุ่มชาติพันธุ์มลายูเป็นส่วนใหญ่ (พื้นที่สีเขียวเข้ม) มีกลุ่มชาติพันธุ์มลายูเป็นส่วนน้อย (พื้นที่สีเขียวอ่อน) และมีกลุ่มชาติพันธ์ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์มลายู (สีเขียว)
- ภาษามลายูแบบที่ใช้เป็นภาษากลางในประเทศอินโดนีเซีย จะเรียกว่า “ภาษาอินโดนีเซีย” (Bahasa Indonesia)
3.2 ภาษามลายูในภาพรวม
- ภาษามลายูเป็นสมาชิกของตระกูลภาษาออสโตรนีเซีย (Austronesian languages) ที่ครอบคลุมพื้นที่ไล่ตั้งแต่เกาะมาดากัสการ์ ส่วนหนึ่งของภาคใต้ของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาะไต้หวัน หมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก
แผนที่แสดงการกระจายตัวของประชากรผู้ใช้ภาษาในตระกูลภาษาออสโตรนีเซีย [Credit ภาพ : User ‘Vrata’ @ Wikipedia.org]
- ในสิงคโปร์ ประกาศใช้ “ภาษามลายู” (Bahasa Melayu) เป็น 1 ใน 4 ภาษาทางการ - ในบรูไน เรียกภาษามลายูที่ใช้เป็นภาษาทางการว่า “ภาษามลายูฝั่งบรูไน” (Bahasa Melayu Brunei Darussalam)
- จำนวนประชากรที่ใช้ภาษามลายู (ใช้เป็นภาษาแม่+ภาษาที่ 2) ใน 5 ประเทศ (อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย-สิงคโปร์-บรูไน) อยู่ที่มากกว่า 300 ล้านคน ราวครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งกลุ่มประเทศ ASEAN
- รัฐบาลมาเลเซียจึงมองว่าในแง่ภาษาที่ใช้ในภูมิภาค ชื่อ “ภาษามลายู” จะดูครอบคลุมกว่า ส่วนชื่อ “ภาษามาเลเซีย” จะดูเฉพาะเจาะจงแต่ประเทศมาเลเซีย แต่ชื่อ “ภาษามลายู” มีประเด็นเรื่องเชื้อชาติด้วย จึงกระทบฝั่งอินโดนีเซียทันที (อินโดนีเซียเป็นชาติที่มีความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์)
4) ความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซีย-มาเลเซีย สองชาติใหญ่ที่สุดที่ใช้ภาษามลายู
- อินโดนีเซียมีประชากร ~270 ล้านคน มาเลเซียมีประชากร ~30 ล้านคน ทำให้อินโดนีเซียมีจำนวนประชากรผู้ใช้ภาษามลายูมากที่สุด
จำนวนประชากรของกลุ่มประเทศ ASEAN และประเทศสมาชิกที่คาดการณ์ในปี ค.ศ.2015-2040 [Credit ภาพ : ASEAN up]
- ความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซีย-มาเลเซีย : ทั้งคู่เป็นประเทศเพื่อนบ้านร่วมรากวัฒนธรรม แต่มีความขัดแย้งกัน เช่น ช่วงทศวรรษ 1960 ที่รัฐบาลซูการ์โนมีนโยบายเผชิญหน้ากับมาเลเซีย และวัฒนธรรมที่ร่วมรากกันทำให้เกิดการแย่งความเป็นเจ้าของ (เช่น ผ้าบาติก กริช ภาษา เพลง อาหาร)
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศโดยรวมก็เป็นไปได้ด้วยดี ผลประโยชน์ร่วมกันมักเป็นไปในทางบวก และมักมีความขัดแย้งเรื่องวัฒนธรรมมากกว่าเรื่องดินแดน (ซึ่งเป็นประเด็นชั่วคราวเป็นพัก ๆ และอยู่ในจุดประนีประนอมกันได้) ส่วนในอนาคตก็คงไม่น่าจะกลับมาอยู่ในระดับเลวร้ายอีก
- ภาษาทางฝั่งอินโดนีเซียกับมาเลเซียมีความใกล้ชิดกัน การติดต่อระหว่างคนสองชาติจึงไม่ต้องใช้ล่าม
- รัฐบาลอินโดนีเซีย-มาเลเซียทำงานใกล้ชิดกันในระดับ ASEAN ในปัจจุบัน เช่น ปัญหาความรุนแรงในเมียนมา
- แรงงานอินโดนีเซียที่เข้ามาทำงานในมาเลเซียด้วยเรื่องของเงินเดือนในมาเลเซียที่ดีกว่า ทำให้มีมุมมองของคนมาเลเซียส่วนหนึ่งต่อคนอินโดนีเซียว่าเป็นกลุ่มคนงานที่ด้อยกว่า แต่จากแรงงานคนอินโดนีเซียในมาเลเซียประมาณ 3 ล้านคน ถือว่าเป็นเกือบ 10% ของประชากรมาเลเซีย ที่กระจายตัวอยู่ในแรงงานทุกระดับ และแรงงานอินโดนีเซียในมาเลเซียมีจุดเด่นที่ไม่ต้องฝึกภาษามากนัก (เมื่อเทียบกับแรงงานจากบังกลาเทศ เนปาล หรือไทย) ทำให้อินโดนีเซียมีความสำคัญต่อมาเลเซีย
สัดส่วนของอาชีพต่าง ๆ ของแรงงานคนอินโดนีเซียที่ออกไปทำงานต่างประเทศ อาชีพยอดนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ คนรับใช้/พี่เลี้ยงเด็ก แรงงานด้านการเกษตร แรงงานก่อสร้าง ซึ่งมาเลเซียเป็นจุดหมายปลายทางที่แรงงานคนอินโดนีเซียนิยมไปทำงาน [ที่มาของข้อมูล: World Bank, 2017 / Credit ภาพ: The Asean Post]
- หากความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซีย-อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ประสานกันอย่างเป็นปึกแผ่น ด้วยจำนวนประชากรทั้ง 3 ประเทศรวมกันที่มีมากกว่า 400 ล้านคน (มากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มประเทศ ASEAN) กลุ่มมาเลเซีย-อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์จะมีอำนาจต่อรองสูงในการเมืองโลกมากขึ้น
5) จากภาษามลายูสู่ภาษาอินโดนีเซีย
- ก่อนการเข้ามาของเนเธอร์แลนด์ : ภาษามลายูแถบหมู่เกาะรีเยา (Riau islands) เป็นรากฐานของภาษาอินโดนีเซียในปัจจุบัน และใช้ภาษามลายูกันมาทั้งในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยไปจนถึงรัฐสุลต่านมะละกา ภาษามลายูมีบทบาทในฐานะภาษากลางในการค้าขายในแถบคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะนูซันตารา (อินโดนีเซียในปัจจุบัน)
แผนที่แสดงตำแหน่งของหมู่เกาะรีเยา (พื้นที่สีแดง) ในประเทศอินโดนีเซีย [Credit ภาพ : User “TUBS” @ Wikimedia.org]
- การเข้ามาของเนเธอร์แลนด์ :
A. ก่อนเนเธอร์แลนด์เข้ามา ภาษามลายูใช้กันทั่วไปอยู่แล้ว มีความแตกต่างกันตามหมู่เกาะ
B. เนเธอร์แลนด์เข้าปกครองแถบอินโดนีเซียผ่าน VOC (บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์) ให้ใช้ภาษามลายูคู่กับภาษาดัตช์ (เพราะคนท้องถิ่นใช้ภาษามลายูอยู่แล้ว)
C. อิทธิพลภายใต้อาณานิคมดัตช์ทำให้เกิดการปรับมาตรฐานภาษามลายูกลายเป็นภาษาอินโดนีเซีย นโยบายจริยธรรมในช่วง ค.ศ.1900 ของเนเธอร์แลนด์ที่ให้การศึกษาแบบตะวันตกสู่คนพื้นเมือง การพัฒนาและเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้เกิดคนท้องถิ่นรุ่นใหม่ที่ผลักดันองค์กรต่าง ๆ จนมีองค์กรที่ปรับมาตรฐานภาษามลายู กลายเป็นภาษามลายูของคนรุ่นใหม่ -> ภาษามลายูของกลุ่มชาตินิยม -> ภาษาอินโดนีเซีย
D. เกิดชื่อ “อินโดนีเซีย” ในองค์กรคนท้องถิ่นช่วงคริสต์ทศวรรษ 1910-1920 มีชื่อ “อินโดนีเซีย” ครั้งแรกในชื่อองค์กรที่คนท้องถิ่นก่อตั้งในแถบหมู่เกาะ เช่น การเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (Partai Komunis Indonesia ในปี ค.ศ.1924) และองค์กรนักศึกษาคนท้องถิ่นในเนเธอร์แลนด์ อย่างการเปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมอินโดนีเซีย” (Perhimpunan Indonesia ในปีค.ศ.1924) รวมถึงชื่อสื่อสิ่งพิมพ์ขององค์กร เช่น วารสารของสมาคมจาก Hindia Poetra (บุตรแห่งอินเดีย) เป็น Indonesia Merdeka (คำว่า Merdeka แปลว่า “อิสรภาพ/เอกราช” แสดงถึงแนวคิดชาตินิยมที่เกิดขึ้นแล้ว)
ภาพถ่ายของกลุ่มผู้นำของ “สมาคมอินโดนีเซีย” (Perhimpunan Indonesia) ซึ่งเป็นองค์กรนักศึกษาคนท้องถิ่นแถบอินโดนีเซียในเนเธอร์แลนด์
E. หมุดหมายของการเกิดภาษาอินโดนีเซียอยู่ที่ "Sumpah Permuda" (Youth Pledge / คำสาบานของเยาวชน) : ปัญญาชนที่เรียนจบจากเนเธอร์แลนด์ตั้งกลุ่มศึกษาอภิปราย “สโมสรนักเรียนนักศึกษาอินโดนีเซีย” (ค.ศ.1926) ซึ่งในการประชุมเยาวชนเมื่อปี ค.ศ.1928 มีการออกแถลงการณ์ร่วมในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ.1928 ว่า “ต่อไปนี้ดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมเนเธอร์แลนด์ที่เรียกว่าหมู่เกาะอินเดียตะวันออก จะรวมกันเป็นดินแดนเดียว ชาติเดียว และใช้ภาษาเดียวคือ ภาษาอินโดนีเซีย” ถือเป็น “วันเกิด” ของภาษาอินโดนีเซียก็ว่าได้
F. เส้นทางของภาษาหลังการประกาศเอกราช
ค.ศ.1945 : อินโดนีเซียประกาศเอกราชในวันที่ 17 ส.ค. วันถัดมาถึงประกาศใช้ภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาประจำชาติ
ค.ศ.1972 และ ค.ศ.2015 : ปรับปรุงระบบการสะกดคำ
- กรณีดินแดนอาเจะฮ์ (Aceh) ทางเหนือสุดของเกาะสุมาตราที่เคยมีการเรียกร้องเอกราชจากอินโดนีเซีย คนท้องถิ่นไม่นิยมรัฐบาลอินโดนีเซีย มุมมองของคนท้องถิ่นต่อภาษาอินโดนีเซียจึงกลายเป็น “ภาษาของเจ้าอาณานิคมภายใน” แต่เวลาประชุมกันระหว่างฝั่งอาเจะฮ์กับรัฐบาลอินโดนีเซีย ภาษาอาเจะฮ์ที่ถูกรัฐบาลอินโดนีเซียจำกัดจนมีคำศัพท์ใหม่ไม่ทันตามยุคสมัย ทำให้คนฝั่งอาเจะฮ์ต้องใช้คำศัพท์จากภาษาอินโดนีเซียแทน
แผนที่แสดงตำแหน่งของจังหวัดอาเจะฮ์ (พื้นที่สีแดง) ในประเทศอินโดนีเซีย [Credit ภาพ : User “TUBS” @ Wikimedia.org]
6) ที่มาของชื่อ “อินโดนีเซีย”
- ชื่อ Indonesia เริ่มเกิดในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มาจากคำภาษากรีกโบราณ Indós (อินเดีย) + nêsos (หมู่เกาะ)
- ในช่วงแรกใช้ในกลุ่มคนตะวันตก ตามวงการวิชาการใช้เรียกทั้งหมู่เกาะและกลุ่มชาติพันธุ์ พอเข้าต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชื่อ “อินโดนีเซีย” ก็เป็นที่นิยมมากขึ้นและแพร่หลายสู่คนท้องถิ่น
- คำ “Orang Indo” ในแถบหมู่เกาะสมัยก่อน = ลูกผสมระหว่างชาวยุโรปกับคนพื้นเมือง
7) ภาษามลายูในมาเลเซีย
- หน่วยงานรัฐของมาเลเซียที่รับผิดชอบเรื่องภาษามลายู ตรวจสอบการสะกดคำ จัดทำพจนานุกรม คือ สถาบันภาษาและวรรณกรรมมาเลเซีย (Dewan Bahasa dan Pustaka) มีหน้าที่คล้ายสำนักงานราชบัณฑิตยสภาของไทย
- แม้ว่าชื่อเรียกภาษาทางการในรัฐธรรมนูญจะเป็น “ภาษามลายู” แต่ในตำราเรียนภาษาที่ใช้ในหลักสูตร ระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา มักจะเรียก “ภาษามาเลเซีย” พอเป็นระดับมหาวิทยาลัยจะใช้ชื่อ “ภาษามลายู” (คนเรียนบรรลุนิติภาวะแล้ว)
ตัวอย่างหนังสือเรียนภาษามลายู/ภาษามาเลเซียของนักเรียนในมาเลเซีย จะเห็นว่าในช่วงชั้นต้น ๆ จะใชชื่อ “ภาษามาเลเซีย” (Bahasa Malaysia) แต่ในช่วงชั้นปลาย ๆ จะใช้ชื่อ “ภาษามลายู” (Behasa Melayu) [Credit ภาพ : Borneo Post Online]
- ความลักลั่นย้อนแย้งในชื่อภาษาที่มาเลเซียใช้ : ชื่อ “ภาษามลายู” ในรัฐธรรมนูญมาเลเซีย เพื่อเอาใจ-รักษาฐานเสียงคนมาเลเซียเชื้อสายมลายู (สอดคล้องกับนโยบายภูมิบุตร ที่คนเชื้อสายมลายูได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าคนเชื้อสายอื่น) กับชื่อ “ภาษามาเลเซีย” ที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ใช้ในระดับสังคมทั่วไป/ชีวิตประจำวัน เพื่อความเป็นเอกภาพของประเทศ ลดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์
- เป้าหมายของของรัฐบาลมาเลเซียชุดปัจจุบัน (ภายใต้นายกรัฐมนตรีอิซมาอิล) ที่ผลักดันเรื่องภาษามลายูให้เป็นภาษาที่สองของ ASEAN คือ การส่งเสริมให้มาเลเซียมีบทบาทนำใน ASEAN หากภาษามลายูถูกผลักดันได้สำเร็จ แต่ก็มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองภายในมาเลเซีย ที่รัฐบาลมาเลเซียชุดต่อไปอาจไม่มีนโยบายผลักดันเรื่องนี้ต่อ เช่นเดียวกับรัฐบาลมาเลเซียชุดก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ส่งเสริมภาษามลายูสู่คนต่างชาติมากนัก
8) ภาษามลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
- ชื่อ “ภาษายาวี” ที่ใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่จริงคือภาษามลายูถิ่นปัตตานี แต่ชื่อ “ยาวี” มาจาก “อักษรยาวี” อักษรอาหรับที่คนมลายูรับมาใช้เขียนภาษามลายู แล้วคนไทยเข้าใจไปว่า “ยาวี” เป็นชื่อภาษา
อักษรยาวีที่ปรากฏในป้ายโฆษณาภาษามลายูในรัฐเกอดะฮ์ มาเลเซีย ที่ใช้อักษรรูมี (อักษรโรมัน) ควบคู่กับอักษรยาวี [Credit ภาพ : User ‘MNH48’ @ Wikimedia.org]
- หลังจากสนธิสัญญาระหว่างสยาม-อังกฤษ ค.ศ.1909 เกิดพรมแดนตามรัฐชาติสมัยใหม่ที่แบ่งปัตตานีอยู่ฝั่งสยาม รัฐปะลิส-เกอดะฮ์ (ไทรบุรี)-กลันตัน-ตรังกานูอยู่ภายใต้อังกฤษ ภาษามลายูของ 4 รัฐมลายูนี้ได้พัฒนามาใช้อักษรรูมี (อักษรโรมัน) ในการเขียนและพวกคำศัพท์ใหม่ตามยุคสมัยสอดคล้องไปตามรัฐอื่น ๆ ในมาเลเซีย (เช่น รับคำยืมจากภาษาอังกฤษ)
- ขณะที่ภาษามลายูถิ่นปัตตานียังคงใช้อักษรยาวี รับคำศัพท์ใหม่ตามยุคสมัยเป็นคำยืมจากภาษาไทยแทน เกิดการผสมผสานภาษามลายูกับภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่นใต้ หรือแม้แต่การปะปนระหว่างภาษามลายูด้วยกันเอง ระหว่างภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ภาษามลายูในมาเลเซีย-ภาษาอินโดนีเซีย
จากคำศัพท์เฉพาะทางที่ยืมมาจากภาษาแตกต่างกัน ทำให้เมื่อสื่อสารกันในประเด็นเชิงลึก (อย่างเรื่องวิชาการ) คนใช้ภาษามลายูถิ่นปัตตานี จะสื่อสารกับคนใช้ภาษามลายูในมาเลเซียได้ยาก
- ภาษามลายูในประเทศไทยไม่ได้มีการปรับมาตรฐาน และพัฒนามากเท่าประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซียและอินโดนีเซีย) จากนโยบายที่จำกัดหรือไม่ส่งเสริมของรัฐไทย อักษรยาวีเองก็มีหลายแบบ ถ้าใช้อักษรรูมี (อักษรโรมันแบบภาษามลายูในมาเลเซียและภาษาอินโดนีเซีย) คนท้องถิ่นก็อาจรู้สึกถึงการกลืนทางวัฒนธรรม
9) “สำนึกความเป็นชาติ” ต่อภาษาและวัฒนธรรมในมาเลเซีย-อินโดนีเซีย
- ถึงแม้ภาษามลายูกับภาษาอินโดนีเซียจะมีรากเหง้าเดียวกัน ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่ชื่อภาษา แต่เป็นเรื่องสังคมกับการเมือง ที่มาเลเซียและอินโดนีเซียมีความทับซ้อนกันทางภาษา สังคม วัฒนธรรม อย่างเช่น ภาษาเกิดก่อนความเป็นชาติ (แยกเป็นมาเลเซีย-อินโดนีเซีย) หรือการย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ก่อนการกำหนดพรมแดนตามรัฐชาติสมัยใหม่
- สำนึกความเป็นชาติของคนอินโดนีเซียค่อนข้างแรง โดยเฉพาะเรื่องภาษากับวัฒนธรรม เพราะคนอินโดนีเซียรู้สึกว่ากว่าจะได้กำเนิดเป็นชาติเป็นเอกราช ต้องผ่านการต่อสู้ต่าง ๆ มากมาย
- ที่อินโดนีเซียเลือกใช้ภาษามลายูแบบปรับมาตรฐานกลายเป็น “ภาษาอินโดนีเซีย” เป็นภาษากลางของประเทศซึ่งเป็นภาษาแม่ของคนกลุ่มน้อยในประเทศ แทนที่จะใช้ภาษาชวา (ซึ่งสัดส่วนชาวอินโดนีเซียเป็นกลุ่มชนชาวชวามากที่สุด) เพราะความจำเป็น ซึ่งภาษามลายูใช้เป็นภาษากลางทางการค้าระหว่างหมู่เกาะในอาณานิคมดัตช์อยู่แล้ว จึงใช้ต่อเป็นภาษาอินโดนีเซีย
เนื้อหาที่เป็นภาษาโปรตุเกสกับภาษาชวาที่สลักลงบนแผ่นป้ายในเมืองยกยาการ์ตา (Yogyakarta) บนเกาะชวา [Credit ภาพ : User ‘Vberger’ @ Wikipedia.org]
- ข้อดีของการเลือกภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษากลางของประเทศ (แทนที่ภาษาชวา) คือ กลุ่มชาติพันธุ์หลักในประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายมาก ไม่สามารถอ้างได้ว่าภาษากลางของชาติเป็นภาษาของกลุ่มตน ความรู้สึกของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นว่าถูกกลุ่มชาติพันธุ์หลักครอบงำก็ไม่รุนแรง และความรู้สึกว่าภาษาอินโดนีเซียเป็นอัตลักษณ์ร่วมเชื่อมโยงคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียว
- ภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาที่ 2 ของคนอินโดนีเซียภูมิภาคต่าง ๆ (เช่น ชวา ซุนดา บาหลี) พอเกิดวิวัฒนาการทางสังคม (หันมาใช้ภาษาอินโดนีเซียเพื่อโอกาสทางการศึกษาและการทำงาน) + ช่วงกดทับอัตลักษณ์ท้องถิ่นของรัฐบาลซูฮาร์โต (อย่างในอาเจะฮ์) + การแต่งงานระหว่างคนต่างภูมิภาค = คนรุ่นใหม่ใช้ภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาแม่มากขึ้น ใช้ภาษาท้องถิ่นลดลง (ภาษาอินโดนีเซียเข้าไปกลืนภาษาท้องถิ่น)
- การแพร่หลายของภาษาอินโดนีเซียในกลุ่มชาติพันธุ์ตามภูมิภาคต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย ยังถือเป็นความสำเร็จในแง่มุมของรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่สามารถสร้างประชาชนใช้ภาษาเดียวกันทั้งประเทศผ่านการศึกษา
- อินโดนีเซียไม่มีปัญหาที่คนชวาที่ความขัดแย้งจะดันให้ภาษาชวาเป็นภาษากลางของประเทศ แม้ว่าชนชั้นนำหรือประชากรค่อนประเทศจะเป็นคนชวาก็ตาม เพราะภาษาอินโดนีเซียได้รับอิทธิพลจากภาษาชวาอยู่แล้ว และชาวอินโดนีเซียมองว่าภาษาอินโดนีเซียเป็นอัตลักษณ์ร่วม
แผนภูมิแสดงสัดส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ของประชากรในประเทศอินโดนีเซีย โดยอาศัยข้อมูลจากสำมะโนประชากรอินโดนีเซีย ค.ศ.2010 ซึ่งมีสัดส่วนของคนชวาและคนซุนดา (ทางฝั่งตะวันตกของเกาะชวา) มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ [Credit แผนภูมิ : meta-chart.com]
- หากภาษาอินโดนีเซียมีบทบาทเป็นตัวยึดเหนี่ยวคนชาติเดียวกัน และกลืนภาษาท้องถิ่นอื่น ๆ ในการใช้เป็นภาษาแม่ของคนรุ่นใหม่ สถานการณ์ในมาเลเซียจะกลับกัน ภาษามลายู/ภาษามาเลเซียดูเป็นภาษาของคนมาเลเซียเชื้อสายมลายู เกิดการแบ่งเขาแบ่งเรากับคนเชื้อสายจีน (ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาแม่) และอินเดีย (ใช้ภาษาทมิฬเป็นภาษาแม่)
ภาษามลายูจึงไม่สามารถกลืนกลายเป็นภาษาแม่ของกลุ่มชนใหญ่กลุ่มอื่นในมาเลเซียได้ในคนรุ่นใหม่ สังเกตจากการพูดภาษาอินโดนีเซียของคนอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ที่คล่องกว่าการพูดภาษามลายูของคนมาเลเซียเชื้อสายจีน และสภาวะดังกล่าวทำให้เกิดจุดอ่อนภายในประเทศมาเลเซียก่อนการผลักดันภาษามลายูสู่ ASEAN
- ช่วงรัฐบาลซูฮาร์โต อินโดนีเซียมีบทบาทใน ASEAN มาก (สะท้อนจากสำนักงานใหญ่ของ ASEAN ตั้งอยู่ในกรุงจาการ์ตา) จึงมีความรู้สึกว่าตนเองเป็น “พี่ใหญ่อาเซียน” และไม่ถูกใจเรื่องชื่อ “ภาษามลายู” หากจะเป็นภาษากลางของ ASEAN
10) ความแตกต่างระหว่างภาษามลายู-ภาษาอินโดนีเซีย
- ภาษาอินโดนีเซีย วิวัฒนาการจากภาษามลายู ที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาชวา-ซุนดา-ดัตช์-โปรตุเกส-อังกฤษ คนอินโดนีเซียส่วนหนึ่งจึงมีมุมมองว่าภาษาอินโดนีเซียผ่านการปรับตัวกับภาษาอื่นจนทันสมัยมากกว่าภาษามลายู
- การเริ่มปรับระบบการเขียน (อักขรวิธี) ด้วยอักษรโรมันในภาษาสมัยใหม่ :
ปี ค.ศ.1901 Charles Adriaan van Ophuijsen นักภาษาศาสตร์ชาวดัตช์ปรับอักขรวิธีฝั่งอินโดนีเซีย จนได้รับอิทธิพลด้านการสะกดคำจากอักขรวิธีภาษาดัตช์
ปี ค.ศ.1904 Richard James Wilkinson นักวิชาการชาวอังกฤษปรับอักขรวิธีฝั่งมาเลเซีย
- ภาษาอินโดนีเซียกับภาษามาเลเซียมีความแตกต่างกันทั้งการสะกดคำ คำความหมายเดียวกันแต่สองฝั่งใช้คำต่างกัน
- ข้อได้เปรียบของภาษาอินโดนีเซีย : เปิดรับอิทธิพลจากภาษาอื่นมากกว่าภาษามาเลเซีย, มีประชากรใช้ภาษา (ทั้งภาษาแม่และภาษาที่ 2) เยอะกว่าภาษามาเลเซียมาก, การออกเสียงคำในภาษาอินโดนีเซียตรงตัวกับรูปเขียนมากกว่าภาษามาเลเซีย
- ภาษาหลักที่ภาษามลายูได้รับคำยืมมา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ และภาษาสันสกฤต ขณะที่ภาษาอินโดนีเซียมีคำยืมจากภาษาอาหรับน้อยกว่า และได้รับคำยืมจากภาษาดัตช์-ภาษาชวามากกว่า แต่ก็มีคำศัพท์ที่ภาษามลายูในมาเลเซียยืมคำมาจากภาษาอินโดนีเซีย
ตัวอย่างคำความหมายเดียวกันที่เรียกแตกต่างระหว่างภาษามลายูในมาเลเซีย กับภาษาอินโดนีเซียที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาดัตช์มา
- เรื่องอักษรยาวี (อักษรอาหรับที่คนท้องถิ่นรับมาปรับใช้กับภาษามลายู) : ฝั่งอินโดนีเซียหันไปใช้อักษรโรมันเมื่ออยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์ คนอินโดนีเซียในปัจจุบันจะใช้อักษรยาวีได้น้อยมากแล้ว
ขณะที่บรูไนรณรงค์ใช้อักษรยาวี ส่วนในมาเลเซีย อักษรยาวีใช้กันเข้มข้นในฝั่งเหนือ (อย่างรัฐกลันตันและตรังกานู) และมีภาพลักษณ์เป็นอักษรที่เชื่อมโยงกับศาสนา เช่นเดียวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
11) ความร่วมมือทางภาษาระหว่างมาเลเซีย-อินโดนีเซีย
- Majlis Bahasa Indonesia-Malaysia (MBIM) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งในปี ค.ศ.1972 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาภาษาให้คนใช้ภาษามลายู-ภาษาอินโดนีเซียเข้าใจกันระหว่างการสื่อสารด้วยภาษาของตนเองมากขึ้น
- บรูไนเข้าร่วมในปี ค.ศ.1985 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น Majlis Bahasa Brunei Darussalam-Indonesia-Malaysia (MABBIM)
12) ความคิดเห็นเรื่องประเด็นภาษาอินโดนีเซีย-มลายู และหากภาษานี้จะเป็นภาษาที่ 2 ของ ASEAN
- อาจจะเรียก “ภาษามลายู” แยกตามชื่อประเทศว่า “ภาษามาเลเซีย” หรือ “ภาษาบรูไน” ไปเลย
- ไม่ควรให้ “ภาษามาเลเซีย” กับ “ภาษาอินโดนีเซีย” เป็นภาษาที่ 2 ของอาเซียน
- หากผลักดันภาษามลายู-ภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาที่ 2 ของ ASEAN ได้จนสำเร็จ จนเกิดความภาคภูมิใจกับประเทศที่ใช้ภาษานี้เป็นหลัก (มาเลเซีย อินโดนีเซีย)
แต่ก็ยังมีคนที่ยังใช้ภาษามลายู-อินโดนีเซียไม่ได้อีกจำนวนมาก (ในเมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์) จะมีพื้นที่ของเขาอยู่ตรงไหน มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดของคนในประเทศกลุ่ม ASEAN ที่ไม่ได้ใช้ภาษามลายู-อินโดนีเซียเป็นหลักต้องมาเรียนภาษานี้ (ยิ่งมีภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของ ASEAN อยู่แล้ว)
- ควรสนับสนุน ปรับมาตรฐานและพัฒนา “ภาษามลายู-อินโดนีเซีย” ให้เป็นหนึ่งเดียวในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาร่วมกัน เพื่อให้ภาษามลายู-อินโดนีเซียมีความเข้มแข็งขึ้น (แบบ MABBIM)
- ภาษาที่ 2 ของ ASEAN ต้องมีความเป็นสากลเพียงพอ คนจำนวนมากในกลุ่มประเทศเหล่านี้เข้าใจได้ (แบบกรณีภาษาอังกฤษที่เป็นภาษากลางของ ASEAN) ดังนั้น หากภาษามลายู-ภาษาอินโดนีเซียต้องการเป็นภาษาที่ 2 ของ ASEAN ก็ควรพัฒนา ปรับมาตรฐานให้ภาษาในสองฝั่ง (มาเลเซีย-อินโดนีเซีย) เป็นหนึ่งเดียว คล้ายกับช่วงที่ภาษามลายูเคยใช้เป็นภาษากลางทางการค้าในแถบคาบสมุทรมลายู-หมู่เกาะนูซันตารา (ประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน) แบบในสมัยก่อน
- ควรส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษากลุ่มชาติพันธุ์คู่กันไปด้วย เพื่อไม่ให้ถูกกลืนจากภาษาอินโดนีเซีย-มลายู
สื่อการเรียนการสอนภาษาบาหลี ที่คนท้องถิ่นบนเกาะบาหลีทำขึ้นเพื่ออนุรักษ์ภาษานี้ไว้ [Credit ภาพ : BASABali]
- การสนับสนุนส่งเสริมภาษาของตนสู่ต่างประเทศ : แม้ว่ามาเลเซียจะเน้นความเป็นภาษามลายู แต่การสนับสนุนฝั่งมาเลเซียสู้ฝั่งอินโดนีเซียไม่ได้ ฝั่งอินโดนีเซียสนับสนุนอย่างชัดเจนและต่อเนื่องด้วยการให้ทุนดึงดูดนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนภาษาอินโดนีเซียในประเทศ และการพัฒนาตำราในหลักสูตรภาษาอินโดนีเซียสำหรับคนต่างชาติ
13) คำถามจากผู้เข้าร่วมฟังการเสวนา
คำถาม:
- พูดถึงที่อินโดนีเซียผลักดันภาษาอินโดนีเซีย อยากทราบว่าในอินโดนีเซียมีการจัดสอบวัดระดับภาษาของตน (แบบ IELTS / TOEFL / TOEIC กรณีภาษาอังกฤษ) ไหมครับ?
คำตอบ:
- ไม่มีการสอบวัดระดับภาษาอินโดนีเซียสำหรับคนต่างชาติในต่างประเทศ แต่มีการสอบวัดระดับภาษาอินโดนีเซียสำหรับคนต่างชาติภายในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น เพื่อประเมินว่าผู้สอบมีทักษะความรู้ภาษาอินโดนีเซียระดับใด ต้องลงหรือไม่ต้องลงคอร์สภาษาอินโดนีเซียขั้นใด
ตัวอย่างคู่มือเตรียมสอบวัดระดับภาษาอินโดนีเซีย ที่เรียกว่าการสอบ UKBI (ย่อมาจาก Uji Kemahiran Berbahasa Indonesia) ซึ่ง UKBI เป็นการสอบที่จัดโดยรัฐบาลอินโดนีเซีย [ที่มาของภาพ : tokopedia]
- ในมาเลเซียก็มีการสอบวัดระดับภาษามลายูสำหรับคนต่างชาติภายในประเทศมาเลเซียเท่านั้น เช่นเดียวกับกรณีของอินโดนีเซีย การสอบวัดระดับภาษามลายูดังกล่าวจัดโดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (UKM)
- สำหรับในประเทศไทย กำลังมีการพูดคุยกันระหว่างครูผู้สอนภาษามลายู-อินโดนีเซียในไทยถึงความเป็นไปได้ในการสอบวัดระดับภาษามลายู-อินโดนีเซียในไทย จะวัดเฉพาะคนไทยที่เรียนสองภาษานี้ก่อนหรือไม่ แนวทางการทำข้อสอบที่แยกระดับทักษะภาษาได้ชัดเจน ซึ่งอาจมีประโยชน์ในการสมัครงานที่ใช้ภาษาเหล่านี้ และเคยเกิดปัญหาที่คนสมัครงานระบุกับทางภาคเอกชนว่าใช้ภาษามลายูได้ แต่กลับเป็นภาษามลายูถิ่นปัตตานี ซึ่งไม่สามารถสื่อสารกับคนมาเลเซียหรือคนอินโดนีเซียได้ตามที่บริษัทต้องการ
- เรื่องการสอบวัดระดับภาษามลายู-ภาษาอินโดนีเซียสำหรับคนต่างชาติ ที่ยังไม่มีมาตรฐานกลางร่วมกันให้เป็นปึกแผ่นระหว่างมาเลเซียกับอินโดนีเซีย ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรแก้ไขก่อนที่จะผลักดันภาษามลายู-อินโดนีเซียให้เป็นภาษาที่ 2 ของ ASEAN
จากเนื้อหาที่ผมถอดจากงานเสวนาวิชาการออนไลน์ “การเมืองเรื่องภาษาใน ASEAN : มาเลเซีย VS อินโดนีเซีย” ของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมทางด้านภาษา วัฒนธรรม และการเมืองเกี่ยวกับภาษามลายู-ภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นภาษาที่มีประชากรใช้งานมากที่สุดในกลุ่มประเทศ ASEAN ครับ
ทาง “หนุ่มมาเก๊า” จะพยายามถอดหรือสรุปเนื้อหาจากการเสวนาวิชาการทางด้านภาษาและวัฒนธรรมในประเด็นอื่น ๆ ที่สนใจมาลงบล็อกแห่งนี้ หากใครสนใจหรือชอบการถอดหรือสรุปเนื้อหาการเสวนาเหล่านี้ สามารถกดติดตามบล็อกแห่งนี้บน Blockdit ได้ครับ
แล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไปครับ
โฆษณา