Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เศรษฐศาสตร์และการพัฒนาประเทศ
•
ติดตาม
29 เม.ย. 2022 เวลา 23:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อต่อสู้กับการเพิ่มขึ้นของระดับราคาของสินค้าและบริการเฉลี่ยในประเทศของธนาคารกลาง เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดแล้วหรือ ?
ตั้งแต่อดีตจนถึงก่อนที่จะได้อ่านบทความของ Martin Sandbu ที่ลงใน Financial Time ฉบับวันที่ 19 เม.ย. 2022 ที่ ผศ.ดร ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์ ส่งมาให้อ่าน ผมมักหงุดหงิดอยู่เสมอเมื่อเวลาเกิดสภาวะระดับราคาสินค้าและบริการ (เฉลี่ย) สูงขึ้น (ซึ่งถูกกำหนดไว้ในภาษาไทยให้เรียกว่า เงินเฟ้อ) ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็จะออกมาทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยไม่ได้แยกแยะว่าการที่ระดับราคาสูงขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร
สาเหตุที่ทำให้ผมหงุดหงิดเพราะผมมีคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ค้างอยู่ในใจคือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นวิธีที่ถูกต้องแล้วหรือสำหรับการต่อสู้กับการเพิ่มขึ้นของระดับราคาภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของระดับราคาอันเนื่องจากปัญหาด้าน supply และในกรณีของภาษาไทย เหมาะสมแล้วหรือที่จะเรียกการเพิ่มขึ้นของระดับราคาที่มาจากฝั่ง supply ว่า เงินเฟ้อ
จริงอยู่ ในระบบเศรษฐกิจปิด หากธนาคารกลางใส่ปริมาณเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจมากเกินกว่าที่ระบบเศรษฐกิจจะดูดซับได้ ระดับราคาเฉลี่ยก็จะสูงขึ้น และเนื่องจากเป็นการสูงขึ้นจากปริมาณเงินในระบบที่มากเกินไป ก็สมควรที่จะเรียกว่า สภาวะเงินเฟ้อ และนโยบายที่ถูกต้องและใช้ได้ผลมากที่สุดในกรณีนี้คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ
แต่ในความเป็นจริง ทุกประเทศในโลกล้วนเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด เพียงแต่จะเปิดมากหรือเปิดน้อย ถ้าเป็นประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสูงเช่นกรณีของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ก็จะเปิดน้อยเพราะพึ่งพึงตัวเองได้มาก แต่ประเทศที่มีความสามารถในการผลิตต่ำเช่นกรณีของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ก็จะเปิดมากเพราะพึ่งตัวเองได้น้อยเมื่อเทียบกับความต้องการของตัวเอง ต้องพึ่งพิงต่างประเทศมากเพื่อมาเติมเต็มความต้องการของตัวเองที่มากกว่าความสามารถในการผลิต
ในกรณีเช่นนี้ สภาวะระดับราคาเฉลี่ยของระบบเศรษฐกิจที่สูงขึ้นไม่ได้อยู่ที่ปริมาณเงินในระบบแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังอาจมาจากเหตุผลทางฝั่ง supply ที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้านำเข้าที่จำเป็นจากต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสินค้าด้านอาหารและพลังงานซึ่งเป็นต้นทางของการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตที่สำคัญของการผลิตทั้งระบบเศรษฐกิจ เพราะอาหารเป็นพลังงานของปัจจัยการผลิตขั้นต้นของระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่าคน และพลังงานเป็นอาหารของปัจจัยการผลิตขั้นต้นของระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่าเครื่องจักร (ทั้งเครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า และเครื่องจักรดิจิทัล)
ดังนั้นยามใดที่ราคาของอาหารหรือพลังงานซึ่งเป็นราคาในตลาดโลกสูงขึ้น ทุกประเทศในโลกก็จะได้รับผลกระทบอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แน่นอนว่าในอนาคต แม้พลังงานจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะค่อยๆ หมดความสำคัญลงและหันไปใช้พลังงานจากแหล่งอื่นแทนเช่นพลังงานแสงอาทิตย์ แต่การได้มาซึ่งพลังงานดังกล่าวก็จะไปเชื่อมโยงกับความต้องการแร่ธาตุบางอย่างแทน และหากเกิดผลกระทบอย่างใดอย่างหนึ่งต่อ supply ของแร่ธาตุดังกล่าว ก็จะกระทบกับราคาพลังงาน และโยงไปถึงราคาอาหารด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่มา: กินอยู่เป็น
การที่ระดับราคาเฉลี่ยของระบบเศรษฐกิจสูงขึ้นจากการที่ราคาอาหาร และ/หรือพลังงานสูงขึ้น ในบางกรณีอาจขึ้นอยู่กับปริมาณเงินในระบบ ตัวอย่างเช่น ในภาวะปกติที่ไม่มีวิกฤตใด ๆ และปัจจัยอื่นคงที่ ถ้าประเทศที่ออกเงินสกุลของโลกเช่น สหรัฐอเมริกาใส่ปริมาณเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจของโลกมากเกินไป ก็จะส่งผลให้ราคาอาหารและพลังงานของโลกสูงขึ้น กรณีเช่นนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะช่วยให้ระดับราคาอาหารและพลังงานของโลกปรับตัวลดลงได้ (ย้ำว่าปัจจัยอื่นคงที่) เพราะในระบบเศรษฐกิจโลกที่ใช้เงินดอลลาร์เป็นหลักและซื้อขายพลังงานและอาหารกันด้วยเงินดอลลาร์ โลกทั้งโลกก็เปรียบเหมือนระบบเศรษฐกิจปิดภายใต้การดูแลของเฟด
แต่มาตรการแบบนี้อาจใช้ไม่ได้กับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กและเปิดอย่างเช่นประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เพราะราคาอาหารและพลังงานถูกกำหนดจากตลาดโลก (แม้แต่ราคาข้าวก็ตาม) การเพิ่มขึ้นของระดับราคาจึงไม่ได้เป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้เพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบ ดังนั้น เมื่อผล (การเพิ่มของระดับราคา) ไม่ได้มาจากเหตุ (การเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบ) การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การทำแบบนั้น มีแต่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจแย่ลง
ถ้าเปรียบระบบเศรษฐกิจเป็นแปลงข้าวซักแปลงหนึ่ง ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงก็จะเปรียบเหมือนต้นข้าวที่อยู่ในแปลง การใส่ปริมาณเงินเข้าไปในระบบก็เปรียบเหมือนการใส่น้ำเข้าไปในแปลงข้าว ถ้าน้ำน้อยไปข้าวก็ไม่โต ถ้าน้ำมากไปรากก็เน่าข้าวก็พัง ถ้าน้ำพอดีพอดีบวกกับการดูแลรักษาอื่นๆ ประกอบเข้าไป ข้าวก็งอกงามและอุดมสมบูรณ์ ซึ่งในภาวะปกติหน้าที่ของธนาคารกลางก็ไม่ต่างจากชาวนาคือคอยควบคุมน้ำไม่ให้มากไปและไม่ให้น้อยไป ส่วนรัฐบาลก็เหมือนชาวนาในส่วนที่คอยทำนุบำรุงดูแลรักษาให้ต้นข้าวเจริญเติบโตงอกงามและไม่มีโรคระบาดมาเบียดเบียน (1)
สมมุตว่าเหตุการณ์ก็ดำเนินไปเป็นปกติ กล่าวคือ ปริมาณน้ำก็พอดีพอดีไม่ได้เพิ่มขึ้น การดูแลก็ปกติดี แต่อยู่ดี ๆ ตื่นขึ้นมาเช้าวันหนึ่งมีโรคระบาดกระจายเข้ามาจากแปลงรอบ ๆ มาทำให้ต้นข้าวในแปลงของเรามีความสามารถในการดูดซึมอาหารได้น้อยลง (เพราะราคาแพงอาหารขึ้นในขณะที่รายได้เท่าเดิม) แต่คนคุมน้ำของเราที่เน้นทำตามตำราการปลูกข้าวที่สั่งสอนกันมา ก็เลยตัดสินใจว่า เนื่องจากรากกำลังจะเน่าดังนั้นต้องลดระดับน้ำลง ผลก็คือ ต้นข้าวทั้งแปลงก็คงต้องเตรียมตัวตายเพราะการเน่าของรากในครั้งนี้ไม่ได้มาจากปริมาณน้ำที่มากเกินไป ไม่ต่างอะไรจากระบบเศรษฐกิจของเราที่ถ้าสาเหตุของระดับราคาที่สูงขึ้นไม่ได้มาจากปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้น การดึงเงินออกจากระบบด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยก็จะไม่ใช่การรักษาที่ถูกต้อง
แม้จะคิดอยู่ในใจว่าธนาคารกลางทำไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่เคยเห็นใครพูดเรื่องนี้กันเท่าไร ก็เลยตกอยู่ในความรู้สึกเหมือนความคิดถูกขังคุก จนกระทั่งได้อ่านบทความของ Sandbu ที่หลาย ๆ ข้อความเขียนได้ตรงใจ ความรู้สึกถูกขังคุกทางความคิดจึงถูกปลดออกในทันที
เริ่มจากข้อความแรกที่ชอบมาก
A central bank could judge that this type of inflation should be ignored if the supply shock involves a temporary adjustment in relative prices after which the price level stabilizes by itself.
แล้วตามด้วยการตั้งคำถามว่า ในสภาวะที่ครัวเรือนและธุรกิจกำลังถูกรุมกินโต๊ะโดยสถานการณ์ด้านลบรอบด้านและซ้ำแล้วซ้ำอีกแบบนี้ เหล่าธนาคารกลางยังจะซ้ำเติมพวกเค้าด้วยการทำนโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างรวดเร็วเพิ่มเข้าไปอีกหรือไม่
จากนั้น Sandbu ก็ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทั้งจากโควิดและตามด้วยสงครามรัสเซีย – ยูเครน น่าจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาเยือนชั่วคราว ที่เมื่อเหตุการณ์เหล่านี้หายไปแล้ว สภาพแวดล้อมของระบบเศรษฐกิจจะกลับมาเหมือนเดิม ตรงกันข้าม เค้ามีความเห็นว่ามันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และเห็นว่าการเข้ามาเยือนของ shocks นี้ได้ทำให้เกิด permanent structural-change ไปเรียบร้อยแล้ว และเมื่อเป็นเช่นนี้ การรับมือต่อการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างถาวรที่ดีที่สุดคือการปล่อยให้ (เอกชนทำเอง) และกระตุ้นให้ (โดยมาตรการของรัฐบาล) ผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจจัดการเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการ allocate resources ไปในทิศทางที่จะรับมือกับ shock นี้และ shock ใหม่ที่อาจส่งผลทำนองเดียวกันที่อาจจะกลับมาเกิดขึ้นในอนาคต
ด้วยแนวคิดนี้ Sandbu จึงเสนอว่า แทนที่จะซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจด้วยการรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตรงกันข้าม ควรคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำไว้เหมือนเดิม (2) เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจตอบสนองต่อ shock ที่เข้ามาด้วยการ allocate resource (ทั้งคน เครื่องจักร และวัตถุดิบ) ไปยังโครงสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ได้ง่ายกว่า แต่หากรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะเป็นการไปหน่วงการ allocate resource ของระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ ซึ่งการ reallocate resource อย่างไม่มีประสิทธิภาพก็หมายถึงการไปลดศักยภาพในการผลิตของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวไปด้วยอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ข้อสังเกต
(1) แน่นอนว่า ข้าวแต่ละพันธุ์แม้จะน้ำดีเหมือนกัน ดินดีเหมือนกัน ดูแลดีเหมือนกัน แต่ก็อาจเจริญงอกงามต่างกัน ซึ่งอันนี้ต้องไปอธิบายด้วยความรู้เรื่องพันธุกรรมศาสตร์
(2) กรณีนี้ fed อาจจะมองอีกแบบนึง เพราะ fed ใส่เงินเข้ามาในระบบมากๆๆๆๆๆ ในช่วงปี 2563 – 2564 เพื่อเลี้ยงดีมานด์ในช่วงที่ทุกคนถูก lock down จึงอาจเห็นว่ายังไงก็จำเป็นต้องดูดส่วนที่เกินไปมาก ๆๆๆๆๆ นี้ออกบ้างเพื่อลดโอกาสรากเน่าจากน้ำที่มากเกินไป ออกไป
(3) ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้พูดถึงระดับราคาที่สูงขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน และเหตุผลอื่นๆ
1 บันทึก
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย