Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Tinnakorn C.
•
ติดตาม
1 พ.ค. 2022 เวลา 06:09 • ธุรกิจ
นโยบายตรึงราคาดีเซล
จาก พล.อ.เปรม ถึง พล.อ.ประยุทธ์
ประเทศไทยเจอวิกฤติด้านพลังงานหลายครั้ง แต่การแก้ปัญหาเรื่องราคาน้ำมันดีเซลของแต่ละรัฐบาลไม่แตกต่างกัน โดยรัฐบาลเลือกที่จะพยุงราคาดีเซลเพราะความกังวลต่อต้นทุนธุรกิจและค่าขนส่งที่สูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการปรับราคาสินค้า
ในอดีตราคาน้ำมันถูกกำหนดโดยภาครัฐ และมีการใช้นโยบายลอยตัวราคาน้ำมันตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค.2534 ซึ่งนำมาสู่การเปิดเสรีการลงทุนโรงกลั่นน้ำมัน และการผ่อนคลายการลงทุนตั้งสถานีบริการน้ำมัน
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประกอบพิธีเปิดวาล์สส่งก๊าซธรรมชาติ ณ สถานีส่งก๊าซชายฝั่งของ ปตท. เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2564 (ภาพจาก ปตท.)
ถึงแม้ว่าจะใช้นโยบายลอยตัวราคาน้ำมัน แต่ยังคงมีกลไกเพื่อพยุงราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไทยไม่ให้สูงขึ้นจนเกินไป นั่นคือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ถูกจัดตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2516 ตาม พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติน้ำมันครั้งที่ 1
จนกระทั่งปี 2521 เกิดวิกฤติน้ำมันครั้งที่ 2 จึงเป็นที่มาของการตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เพื่ออบริหารจัดการน้ำมันให้มีความมั่นคง
ในยุคที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องยอมรับว่าประเทศไทยที่เพิ่งวางรูปแบบการบริหารจัดการพลังงานเชื้อเพลิงจึงทำให้ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เพราะ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และแน่อนว่าการตัดสินใจมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
ท้ายที่สุด พล.อ.เกรียงศักดิ์ ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี เพราะส่วนหนึ่งมาจากการแก้ปัญหาราคาน้ำมันไม่ได้ และหลังจากนั้นมีการเลือกตั้ง ทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2523 ทันทีที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาจัดการราคาน้ำมันดีเซล
"ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์" อดีต รมว.พลังงาน (2549-2551) อธิบายผ่านหนังสือ 50 ปี แห่งประสบการณ์สร้างฐานรากสู่อนาคต ว่า
"เมื่อ พล.อ.เปรมขึ้นมาเป็นรัฐบาล สิ่งแรกที่รัฐบาลทำ คือ การลดราคาดีเซลและลดราคาก๊าซหุงต้ม ทำให้เกิดความแตกต่างมากขึ้นระหว่างราคาน้ำมันดีเซลกับเบนซิน และเบนซินกับก๊าซหุงต้ม
ผลที่ตามมาคือคนเปลี่ยนไปใช้ดีเซล ถึงขนาดเอาเครื่องยนต์เบนซินออก แล้วเอาเครื่องยนต์ดีเซลเข้าไปใส่แทน หรือไม่ก็เปลี่ยนเครื่องยนต์เบนซินให้สามารถใช้ก๊าซ LPG ได้ การใช้น้ำมันเบนซินจึงลดลง สวนทางกับการใช้ดีเซลกับก๊าซหุงต้มที่เพิ่มขึ้น"
บางช่วงมีการปรับราคาเบนเซินพิเศษให้สูงขึ้นบนแนวคิด "น้ำมันคนรวย" แต่ทำให้รถเบนซินกลับไปใช้น้ำมันเบนซินธรรมดาแทน ซึ่งทำให้โครงสร้างการใน้ำมันบิดเบือนจนนำมาสู่แนวคิดการใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ในการบริหารจัดการพลังงาน และนำมาสู่ระบบราคาน้ำมันลอยตัวในปี 2534 (พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรี 3 สมัยตั้งแต่ 2523-2531)
เพื่อปัญหาความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการพลังงาน ทำให้ พล.อ.เปรม ตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี
จนกระทั่งปี 2523 พบแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ ในอ่าวไทย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุค "โชติช่วงชัชชวาลย์" ที่มาสู่การลงทุนธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ
และทำให้ ปตท.ขยายตัวขึ้นจากการโอนองค์การเชื้อเพลิง (ปั๊มสามทหาร) และองค์การก๊าซธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของ ปตท. รวมทั้งมีการควบรวมโรงกลั่นของบางจากให้เข้ามาอยู่กับ ปตท.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร
นับตั้งแต่ปี 2534 คนไทยเริ่มชินกับราคาน้ำมันลอยตัว และแม้จะมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกในการดูแลราคา แต่ราคาน้ำมันสูงจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ
สถานการณ์ราคาพลังงานเข้าสู่วิกฤติอีกครั้งในสมัยรัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" (2544-2549) ต้องมีการปรับราคาดีเซลขึ้นทีเดียวลิตรละ 3 บาท ขึ้นมาอยู่ที่ลิตรละ 18.19 บาท ในวันที่ 23 มี.ค.2548 เป็นผลมาจาการที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไปจนสถานะกองทุนติดลบกว่า 77,000 ล้านบาท
"ทักษิณ ชินวัตร" ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2544-2549 ภาพาจาก www'thaigov.go.th
หากรัฐบาล "ทักษิณ" ไม่ตัดสินใจขึ้นราคาน้ำมันดีเซลลิตร 3 บาท ครั้งนี้ อาจทำให้กองทุนติดลบได้ถึง 100,000 ล้านบาท
การตรึงราคาในช่วงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2547 ขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดที่บาร์เรลละ 47 ดอลลาร์ และหลังจากนั้นต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่จะเคลียร์ตัวเลขติดลบของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ราคาน้ำมันกลับมามีปัญหาอีกครั้งในช่วงปลายรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" (2551-2554) โดยมีการกำหนดนโยบายราคาดีเซลลิตรละ 30 บาท เป็นการกำหนดเพดานที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะดูแลราคาดีเซล เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาสินค้าปรับขึ้น
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนมากขึ้นช่วงปลายปี ธ.ค.2553 เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบดูไบสูงขึ้น โดยในเดือน เม.ย.2554 ราคาอยู่ที่บาร์เรลละ 115 ดอลลาร์ โดยกระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมัน (ยกเว้น ปตท.และบางจาก) ให้จำหน่ายราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท
การตรึงราคาดังกล่าวมีไปจนสิ้นสุดรัฐบาลและมีการเลือกตั้งใหม่จนกระทั่งเข้าสู่รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" (2554-2557) ที่ใช้เพดานราคาดีเซล 30 เกือบตลอดรัฐบาล โดยช่วงใดที่ราคาน้ำมันลดต่ำลงจะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และมีการยกเลิกจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลในบางช่วง
เมื่อเข้าสู่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2557-ปัจจุบัน) ยังคงใช้นโยบายเพดานราคาน้ำมันดีเซล 30 บาท โดยในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563-2564 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดต่ำลงมาก จนในบางช่วงน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้ามีราคาติดลบ
แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกมีมากขึ้น และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเลือกที่จะไม่เพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบทยอยไต่ระดับราคาสูงขึ้นมากตั้งแต่ช่วงครั้งหลังปี 2564
จนกระทั่งเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่รัสเซียเริ่มโจมตีในปลายเดือน ก.พ.2565 ทำให้ราคาน้ำมันดิบไต่ระดับขึ้นเกินบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ และทำราคาขึ้นไปถึง 130 ดอลลาร์
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องอุดหนุนสูงในอัตราที่สูงมาก และในปลายเดือน เม.ย.2565 ต้องอุดหนุนสูงถึงลิตรละ 11 บาท แน่นอนว่าสถานการณ์กล่าวทำให้คงเพดานราคาลิตรละ 30 บาท ที่ใช้มานาน 10 ปี ต่อไปไม่ได้
ในที่สุดกระทรวงพลังงานได้ประกาศเพดานราคาดีเซลที่ 35 บาท จากราคาจริงของดีเซลที่ประมาณ 40 บาท โดยใช้นโยบายให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคา 50% ของส่วนที่เกิน 30 บาท หรือเรียกว่านโยบาย "ดีเซล คนละครึ่ง" หลังจากกองทุนติดลบไป 54,000 ล้านบาท
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะแถลงนโยายต่อรัฐสภา ในการเป็นผู้นำรัฐบาลสมัยที่ 2 (ภาพจาก www.thaigov.go.th)
การประกาศใช้เพดานราคาใหม่เริ่มวันที่ 1 พ.ค.2565 ในสัปดาห์แรกจะขยับราคาขึ้นแบบขั้นบันไดเริ่มที่ราคา 32 บาท จากนั้นจะติดตามสถานการณ์ราคาทุกสัปดาห์ และจะทยอยปรับราคาขึ้นสัปดาห์ละ 1 บาท จนไปถึงราคา 35 บาท จะมีการประเมินราคาเพดานอีกครั้ง
ราคาพลังการปรับเพดานใหม่ รวมทั้งลดการอุดหนุนน้ำมันดีเซลพรีเมียมและน้ำมัน E85 ในวันที่ 1 พ.ค.2565 ทำให้ราคาดีเซลขยับจาก 29.94 บาท ขึ้นมาเป็น 31.94 บาท
ส่วนราคาดีเซลพรีเมียม ขยับราคาจาก 35.96 บาท เป็น 37.96 บาท และน้ำมัน E85 ขยับราคาจาก 31.84 บาท เป็น 32.84 บาท
น้ำมันดีเซลที่มีการอุดหนุนมาเกือบตลอดในช่วง 40 ปี ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลสำคัญของรัฐบาล คือ ความกังวลราคาสินค้าจะสูงขึ้น
บันทึก
4
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย