2 พ.ค. 2022 เวลา 15:25 • อาหาร
Shake Shack เบอร์เกอร์ชื่อดัง จะมาเปิดในไทยแล้ว
3
เมื่อไม่กี่ชั่วโมงมานี้ เพจของ Shake Shack ได้โพสต์ข้อความว่า
“Sawasdee, Thailand! We’ll be serving ShackBurgers in The Land of Smiles soon.”
เรียกได้ว่า เป็นคำทักทายของแบรนด์เบอร์เกอร์เจ้าดังจากสหรัฐอเมริกา ที่คนไทยหลาย ๆ คนต่างเฝ้ารอ
ซึ่งแม้ว่า Shake Shack จะเป็นแบรนด์จากสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีการขยายสาขาในหลาย ๆ ประเทศแถบเอเชีย ทั้งจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ฮ่องกง, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์
1
แต่สำหรับวันนี้ไม่ต้องบินไปไหนไกล เพราะสาขาต่อไปคือ ประเทศไทย ของเรานี่เอง
1
ก่อนที่เราจะได้ลองชิมรสชาติ Shake Shack สาขาแรกของไทย เรามาดูกันว่า Shake Shack แตกต่างจากแบรนด์ฟาสต์ฟูดเจ้าอื่นอย่างไร ทำไมถึงถูกใจคนรุ่นใหม่ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปในปี 2001 ร้าน Shake Shack เป็นเพียงแค่รถเข็นขายฮอตด็อก ในสวนสาธารณะเมดิสันสแควร์ ที่นิวยอร์ก
โดยความคิดนี้เป็นของคุณ Daniel Meyer นักธุรกิจเกี่ยวกับร้านอาหารและโรงแรม ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงพื้นที่ในสวนสาธารณะแห่งนั้น
ซึ่งร้าน Shake Shack ก็เป็นหนึ่งในร้านรถเข็น ที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก
จนหลังจากนั้นเพียง 3 ปี คุณ Meyer ก็เข้าไปประมูลพื้นที่ในสวนสาธารณะแห่งนี้ และได้ขยายกิจการ จากร้านรถเข็น สู่ร้านอาหารฟาสต์ฟูดสไตล์อเมริกันเล็ก ๆ รวมถึงเพิ่มเมนูอาหารเข้ามา เช่น เบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟรายส์ และเครื่องดื่ม
1
ก่อนจะขยับขยายสู่ 369 สาขาทั่วโลกอย่างในปัจจุบัน
ซึ่งความพิเศษของ Shake Shack ก็คือ ความเป็นร้านอาหารสไตล์ “Fast Casual” ร้านอาหารที่เสิร์ฟอย่างรวดเร็วเหมือนฟาสต์ฟูด แต่ใช้วัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพมากกว่า
ร้านอาหารประเภทนี้ จึงถือว่าตอบโจทย์คนยุคใหม่ ที่แม้จะใช้ชีวิตแบบรีบเร่ง แต่ยังคงใส่ใจในสุขภาพ
1
ดังนั้น เมนูอาหารของร้าน Shake Shack จึงเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอาหารฟาสต์ฟูดที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ ให้เป็นอาหารจานด่วนที่พิถีพิถันมากขึ้น ดั่งสโลแกน “Stand For Something Good” หรือที่แปลตรงตัวว่า “การยืนหยัดเพื่อสิ่งดี ๆ”
1
และในปี 2015 บริษัทก็สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NYSE โดยใช้ชื่อว่า “SHAK” ด้วยมูลค่าบริษัทประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท
ซึ่งปัจจุบัน บริษัทก็เติบโต จนมีมูลค่าราว 9.2 หมื่นล้านบาท เป็นที่เรียบร้อย
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว ว่า Shake Shack มีคอนเซปต์เป็นร้านอาหารแบบ Fast Casual
ดังนั้น เนื้อสัตว์ที่เลือกใช้จะไม่ผ่านการแช่แข็งมาก่อน นอกจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว, เนื้อไก่ หรือเนื้อหมู ก็จะถูกเลี้ยงและเติบโตมาอย่างอิสระ ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ บริโภคพืชเป็นอาหาร จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีการใช้สารเคมี หรือการตัดแต่งพันธุกรรม
5
และเนื้อสัตว์เหล่านั้น จะถูกส่งไปที่ร้าน Shake Shack โดยไม่มีการตัดแต่ง เพื่อให้คงความสดใหม่มากที่สุด ก่อนที่จะนำมาบดและปรุงรสในคืนก่อนที่จะใช้งาน
3
ซึ่งต่างจากร้านอาหารฟาสต์ฟูดทั่วไป ที่นำเนื้อสัตว์แช่แข็ง มาผ่านระบบอุ่นร้อน เพื่อจะเสิร์ฟให้ทันเวลา
1
นอกจากเมนูเบอร์เกอร์เนื้อสัตว์แล้ว ร้าน Shake Shack ยังมีเมนูทางเลือกสำหรับคนทานมังสวิรัติ อย่าง “Shroom Burger” เบอร์เกอร์ที่ใช้เห็ดพอร์โทเบลโล (Portobello) แทนเนื้อสัตว์
1
ซึ่งเห็ดชนิดนี้ มีกลิ่นที่คล้ายคลึงกับเนื้อสัตว์ แต่ไม่มีไขมัน และโซเดียมต่ำ เมนูนี้จึงโด่งดังไม่แพ้เบอร์เกอร์เนื้อเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม Shake Shack ก็ไม่ใช่เจ้าเดียวในตลาดฟาสต์ฟูดสหรัฐฯ ที่ใช้โมเดลธุรกิจแบบ Fast Casual แต่ยังมีอีกหลายแบรนด์ เช่น Wendy’s, Five Guys, Chipotle หรือ In-N-Out Burger ที่ใช้โมเดลนี้เหมือนกัน
1
แล้ว Shake Shack แตกต่างจากร้านฟาสต์ฟูดอื่น ๆ ที่ใช้โมเดลธุรกิจเดียวกันอย่างไร ?​
1
อันดับแรกคือ การบริการ
เนื่องจากคุณ Meyer เคยทำธุรกิจเกี่ยวกับการโรงแรมมาก่อน ทำให้พนักงานในร้าน Shake Shack มี Service Mind หรือ “จิตใจในการให้บริการที่ดี” กว่าแบรนด์อื่น ๆ
โดยถึงแม้ว่าร้าน Shake Shack จะไม่มีการบริการเสิร์ฟอาหารถึงโต๊ะก็ตาม
แต่ตั้งแต่การรับออร์เดอร์, ส่งมอบอาหารให้กับลูกค้า ไปจนถึงการเก็บกวาดโต๊ะ ก็จะได้รับการเทรนอย่างดี ให้ใส่ใจในทุกรายละเอียด
อันดับต่อมา คือ การตกแต่งร้าน
หากใครมองผ่าน ๆ คงคิดว่า ร้าน Shake Shack ไม่ใช่ร้านอาหารฟาสต์ฟูดทั่วไป ด้วยการตกแต่งร้านด้วยโทนสีที่สบายตา และให้ความรู้สึกไม่เร่งรีบ
ซึ่งการตกแต่งร้านแต่ละสาขาจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานที่ตั้งของร้าน เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในละแวกนั้น
และมักตกแต่งร้านเหมือนกันกับร้านอาหารทั่วไป ที่มีโต๊ะนั่งทานอาหารด้านนอกร้าน พร้อมบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้
1
เช่น หน้าร้าน Shake Shack สาขาแรกในสวนสาธารณะเมดิสันสแควร์ ก็ถูกตกแต่งด้วยกระจกรอบด้าน เพื่อให้พื้นที่ดูโปร่ง และยังมีที่นั่งด้านนอกสำหรับใครที่ชอบบรรยากาศแบบเอาต์ดอร์
อย่างสุดท้ายคือ ปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่
1
ปัจจุบันลูกค้าเริ่มไม่ได้มาร้านอาหาร เพื่อทานอาหารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเหมือนการพบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ
1
ดังนั้น Shake Shack จึงอยากสร้างประสบการณ์ที่ดีในการทานอาหารให้กับลูกค้า
โดยล่าสุดบางสาขาเริ่มปรับตัว ให้เป็นร้านอาหารแบบ Pet-Friendly ที่ลูกค้าสามารถนำสัตว์เลี้ยงมาทานอาหารได้ แถมยังมีเมนูพิเศษสำหรับน้อง ๆ เช่นกัน อย่างบิสกิตสำหรับสุนัขรสเรดเวลเวต ที่เสิร์ฟคู่กับคัสตาร์ดวานิลลา
นอกจากนั้น ร้านยังมีบริการเสิร์ฟเบียร์, ไวน์ขาว และไวน์แดงจากประเทศฝรั่งเศส
โดยมีเมนูเบียร์ให้เลือกถึง 3 แบบ ทั้ง Ale, IPA, และ Witbier ซึ่งเป็นเบียร์ที่จับมือร่วมกับ Thornbridge Brewery เพื่อให้ลูกค้าได้ดื่มด่ำเครื่องดื่ม คู่กับอาหารของ Shake Shack อย่างลงตัว
ที่น่าสนใจอีกประเด็นคือ จากสโลแกน “Stand For Something Good” ของร้าน ก็ไม่ได้ยืนหยัดในเรื่องคุณภาพของอาหารเพียงอย่างเดียว
1
แต่หมายถึงการยืนหยัดในการสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับ “พนักงาน” และ “สิ่งแวดล้อม” อีกด้วย
เรียกได้ว่า สิ่งเหล่านี้ค่อนข้างสอดคล้องไปกับเทรนด์ของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ยอมจ่ายเงินให้กับแบรนด์ที่ใส่ใจ และให้คุณค่ากับสิ่งแวดล้อมมากกว่าแบรนด์ที่ไม่ได้ทำอะไรเลย
1
โดยร้าน Shake Shack ให้ความสำคัญเรื่องค่าตอบแทน, สวัสดิการที่เป็นธรรมกับพนักงานทุกคน
อีกทั้งยังสนับสนุนพนักงานทุกเพศอีกด้วย
การันตีด้วยคะแนน 100% จาก Corporate Equality Index 3 ปีซ้อน ซึ่งประเมินโดย The Human Rights Campaign ว่าสามารถมอบโอกาสเติบโตในที่ทำงานให้กับพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียม
 
นอกจากนี้ Shake Shack ยังพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อโลก โดยการยกเลิกการใช้แพ็กเกจจิงที่ไม่จำเป็น เช่น กระดาษแข็งที่ใส่รองถุงใส่อาหาร หรือ To-go Bag ซึ่งลดการใช้กระดาษเหล่านี้ไปได้แล้วกว่า 400,000 กิโลกรัม
1
อีกทั้งยังหันมาใช้วัสดุชีวภาพที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น เปลี่ยนการใช้แก้วพลาสติก และหลอดพลาสติก มาเป็นวัสดุที่ทำมาจากธรรมชาติ
2
รวมถึงมีการตั้งเป้าหมาย เพื่อสร้างสถานีชาร์จยานพาหนะไฟฟ้า ที่ร้าน Shake Shack ในอนาคตอีกด้วย
เห็นได้ชัดแล้วว่า Shake Shack ไม่เคยหยุดพัฒนา และพยายามปรับตัวให้เข้ากับผู้บริโภคยุคใหม่เสมอ
ท่ามกลางการต่อสู้ของธุรกิจฟาสต์ฟูด ที่ต่อสู้กันอย่างดุเดือด
ใครจะไปคิดว่าร้านรถเข็นขายฮอตด็อกคันเล็ก ๆ ในวันนั้น
จะสามารถเติบโต จนกลายเป็นเชนร้านอาหารมูลค่าเกือบแสนล้านบาท
ที่สามารถขยายสาขาไปได้ทั่วโลก..
References:
โฆษณา