3 พ.ค. 2022 เวลา 11:58 • ศิลปะ & ออกแบบ
Tale Tuesday เล่าขานตำนานจากหน้าไพ่: เอมพีเรียน สรวงสวรรค์ชั้นสูงสุด
ไพ่ The World จาก Gustave Doré Tarot
มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ซึ่งมาพร้อมความสัมพันธ์แบบลำดับขั้น มีผู้อยู่ลำดับสูงสุด ตามด้วยลำดับรองต่อ ๆ กันไป ความเป็น "ไฮราร์ขี้" (Heirarchy) หรือลำดับชั้นแบบนี้ส่งผลต่อความคิดมนุษย์และสะท้อนออกมาในวัฒนธรรมหลายด้าน แม้แต่ความเชื่อทางศาสนา ยังมีความเชื่อเรื่องนรกหลายขุมหรือสวรรค์หลายชั้น
สวรรค์ตามจักรวาลวิทยาของพุทธแบบไทย ซึ่งอ้างอิงจากเตภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วงเป็นหลัก มีด้วยกัน 6 ชั้น ชั้นสูงสุดคือ "ปรนิมมิตวสวัตตี" เป็นที่พำนักของพญาวสวัตติมาร พญามารผู้เป็นเสมือนหัวหน้าฝ่าย HR ของพุทธบริษัท มีหน้าที่ทดสอบผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าว่ามีคุณสมบัติพอหรือไม่
ส่วนสวรรค์ชั้นสูงสุดตามจักรวาลวิทยาของโลกตะวันตก โดยเฉพาะชาวคริสต์ในยุคกลาง มีชื่อว่า "เอมพีเรียน" (Empyrean) เป็นที่ประทับของตัวตนที่มีลำดับชั้นสูงสุดในคริสต์ศาสนา ซึ่งก็คือพระเจ้านั่นเอง
ชื่อ เอมพีเรียน มีที่มาจากคำในภาษากรีกโบราณว่า "เอมพีรอส" (ἔμπυρος) แปลตรงตัวว่า "อยู่ใน/ท่ามกลางเปลวเพลิง" ตรงนี้สอดคล้องกับความเชื่อที่ส่งต่อมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณจนถึงยุคกลางว่า แดนสวรรค์ที่อยู่บนท้องฟ้าเหนือจากพื้นโลกขึ้นไปมาก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ น่าจะประกอบด้วยธาตุไฟหรือแสงเป็นหลัก หรือไม่ก็เป็นธาตุบางอย่างที่บริสุทธิ์ผุดผ่องเอามาก ๆ ซึ่งอริสโตเติลเรียกว่า อีเธอร์ (aether) ธาตุไฟหรืออะไรก็ตามบนสวรรค์นี้เองเป็นสิ่งที่ทำให้ดวงดาวเปล่งแสงบนท้องฟ้ายามค่ำคืน ส่วนสิ่งมีชีวิตบนสวรรค์ อย่างพระเจ้าหรือเหล่าเทวดา ทูตสวรรค์ ก็มีโครงสร้างร่างกายพื้นฐานที่เกิดจากไฟหรือแสง ต่างจากมนุษย์และสัตว์บนพื้นโลกที่ร่างกายประกอบขึ้นจากดินและน้ำ
แต่เดิมแนวคิดเรื่องเอมพีเรียนก็เป็นแค่ชุดความคิดความเชื่อลอย ๆ เพิ่งมาเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 14 เมื่อกวีดันเต อาลิกิเยรี (Dante Alighieri) ประพันธ์บทกวี "Paradiso" หรือภาคสวรรค์ที่เป็นตอนจบของไตรภาค Divina Comedia (Divine Comedy) หนึ่งในวรรณกรรมเอกของคริสต์ศาสนา
สวรรค์ในจินตนาการของดันเตมี 9 ชั้น 7 ชั้นแรกคือดวงดาวตามโหราศาสตร์ดั้งเดิมของตะวันตก ได้แก่ ดวงจันทร์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดวงอาทิตย์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ชั้นที่ 8 เป็นชั้นของ "ดาวค้างฟ้า" หรือหมู่ดาวที่อยู่ตำแหน่งเดิมบนท้องฟ้าตลอด
ส่วนชั้นที่ 9 เรียกว่า "พรีมุม โมบิเล" (Primum Mobile) เป็นที่อยู่ของเหล่าเทวดาหรือทูตสวรรค์ มีลักษณะเป็นชั้นวงแหวนซ้อนกัน 9 ชั้น สำหรับเทวดา 9 ลำดับชั้น จุดเหนือสุดที่อยู่เหนือชั้นที่ 9 คือเอมพีเรียนหรือที่ประทับของพระเจ้า ซึ่งดันเตบรรยายว่าเป็นดวงแสงที่สุกสว่างเกินกว่าตาของมนุษย์จะมองตรง ๆ ได้ นิวาสถานของเทวดาทั้ง 9 ชั้นจะหมุนเป็นวงตลอดเวลา โดยมีเอมพีเรียนของพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง การเคลื่อนไหวนี้เองส่งผลให้เกิดกระแสเวลาและการเคลื่อนที่ของสรรพสิ่งในจักรวาล
Divine Comedy ของดันเต ทั้งภาค Paradiso รวมถึง 2 ภาคก่อนหน้าอย่าง Inferno และ Purgatorio เต็มไปด้วยจินตภาพสุดบรรเจิดไม่แพ้แต่ละภพภูมิในไตรภูมิพระร่วงของพญาลิไท สำนักพิมพ์ในสมัยหลัง ๆ คงกลัวว่าคนอ่านบางคนอ่านแล้วอาจตะลึงพรึงเพริดกับถ้อยวรรณศิลป์ของดันเตจนจินตนาการตามไม่ไหว จึงติดต่อว่าจ้างศิลปินให้วาดภาพประกอบซีนต่าง ๆ ในงานเขียนของแก หนึ่งในนักวาดภาพประกอบชั้นครูที่ได้วาดภาพประกอบ Divine Comedy คือ กุสตาฟ ดอเร (Gustave Doré) ศิลปินชาวฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 19 ผู้มีผลงานวาดภาพประกอบคัมภีร์ไบเบิล นวนิยาย และหนังสือรวมเทพนิยายกว่าหลายร้อยภาพ
ในปี 2022 นี้ ซึ่งครบรอบวันเกิดของดอเร 190 ปีไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สนพ. Lo Scarabeo ผู้ผลิตไพ่ทาโรต์ชื่อดังของตลาดไพ่ทาโรต์ตะวันตก คัดเลือกภาพวาดฝีมือดอเรจำนวน 78 ภาพมาจัดทำเป็นสำรับไพ่ทาโรต์ชุด "Gustave Doré Tarot" บางใบมีที่มาจากภาพประกอบไบเบิล บางใบเป็นภาพประกอบนิทานหรือวรรณกรรม ทำให้คนที่คิดจะใช้ไพ่ชุดนี้สามารถนำเนื้อความจากภาพประกอบต้นฉบับมาประกอบการตีความได้ด้วย
ภาพ "The Empyrean" ซึ่งดอเรวาดประกอบเนื้อหาตอนที่ดันเตกับบีอาทริเชเดินทางไปถึงพรีมุม โมบิเล และได้เห็นพระเจ้าที่เอมพีเรียน ถูกนำมาใช้เป็นไพ่ The World เพื่อสื่อความหมายของการบรรลุ เสร็จสิ้น สมบูรณ์ ซึ่งเนื้อหาตอนเดียวกับที่มีภาพประกอบนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดการเดินทางของดันเตใน Divine Comedy ก่อนที่แกจะถูกส่งกลับโลกมนุษย์
น่าสังเกตว่า ขอบเขตหรือจุดสิ้นสุดของสวรรค์ชั้นบนสุดกลับเคลื่อนที่เป็นวงต่อเนื่องไม่สิ้นสุด คล้ายกับโลกที่หมุนไปเรื่อยไม่มีวันหยุด และชีวิตที่ยังคงดำเนินต่อไปแม้จะบรรลุเป้าหมายหรือประสบความสำเร็จแล้ว
พบกับ Tale Tuesday เล่าขานตำนานและเรื่องเล่าร้อยแปดพันเก้าจากหน้าไพ่ทาโรต์ชุดต่าง ๆ ทางเพจ "ไพ่เราเผาเรื่อง" ทุกวันอังคารครับ
โฆษณา