4 พ.ค. 2022 เวลา 15:34 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ได้อ่าน Finance and Development วารสารราย 3 เดือนของ IMF ฉบับเดือนมีนาคม 2022 แล้วเตะตาเตะใจเกี่ยวกับคำกล่าวถึงนโยบายการคลัง (fiscal policy) อยู่ 2 จุดครับ
จุดแรกอยู่ในบทบรรณาธิการที่เริ่มต้นด้วยการอ้างคำกล่าวของ Joseph Schumpeter เมื่อประมาณเกือบร้อยปีที่ผ่านมา โดย Schumpeter กล่าวไว้ว่า
“The spirit of a people, its cultural level, its social structure…all this and more is written in its fiscal history….. The public finances are one of the best starting points for an investigation of society.
คำกล่าวนี้ ให้ความรู้สึกทำนองเดียวกันกับคำกล่าวที่ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ได้สะท้อนอยู่ในราคาหุ้นตัวนั้นแล้ว
ในกรณีนี้ Schumpeter กำลังบอกเราว่า ตัวเลขทางการคลังของประเทศใดประเทศหนึ่ง จะบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของสังคมนั้น ๆ
ทำให้ย้อนคิดถึงตัวเลขการเพิ่มขึ้นของ public debt/GDP ของประเทศไทย ที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 40% เป็น 60% หรือเพิ่มประมาณ 50% ของฐานเดิมภายในสองปีคือ 63, 64 และได้ขอปรับเพิ่มกรอบเป็น 70% ของ GDP ไปแล้ว
หากคิดตาม Schumpeter ฤา ตัวเลขนี้จะบอกถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นผลอันเกิดจากตัวตนของสังคมไทย ที่เปราะบาง
อีกจุดหนึ่ง อยู่ในช่วงต้นของบทความหลักของ issue นี้ซึ่งเขียนโดย Vitor Gaspar ที่เขียนไว้ว่า Fiscal policy’s main role was not price stability or output stabilization but long-term sustainable and inclusive growth. โดยได้กล่าวไว้ก่อนหน้านิดนึงว่า การทำให้ price และ output stable นั้น เป็นหน้าที่ของ monetary policy.
ช่วงปี 63 - 64 และปัจจุบัน รัฐบาลของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย จะด้วยอาการเมาหมัดกับสถานการณ์ที่จ่ออยู่ตรงหน้า หรือด้วยความไม่เชี่ยวชาญ หรือด้วยเหตุผลใดไม่ทราบได้ รัฐบาลได้กู้เงินเพิ่มเป็นจำนวนมากและใช้จ่ายเงินกู้นั้นโดยแทบไม่เห็นองค์ประกอบของการใช้จ่ายที่จะทำให้เกิด long-term sustainable และ inclusive growth เลย ทั้ง ๆ ที่ ถ้าตั้งหลักดี ๆ เราสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยใช้โอกาสที่ต้องหยุดกิจกรรมหลายอย่างในการเตรียมประเทศสำหรับ long-term sustainable และ inclusive growth ได้
เสียดายเวลาที่หายไป
โฆษณา