5 พ.ค. 2022 เวลา 02:57 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รู้จัก “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” ที่เราอาจจะต้องเผชิญ..
ปัจจุบัน เรากำลังเผชิญกับราคาน้ำมันที่แพงจนหูดับ ประกอบกับราคาข้าวยากหมากแพง จากเดิมเราซื้อข้าวกระเพราในราคาจานละ 40 แต่ต้องจ่ายแพงขึ้นเป็น 50 นี่คือภาวะที่เรียกว่า “เงินเฟ้อ”
1
แล้วถ้าข้าวยากหมากแพงขึ้น แล้วตลาดยังเงียบเหงา ภาระค่าใช้จ่ายของนักธุรกิจที่มีหนี้สินสูงขึ้น ทำให้ต้องปลดพนักงาน หรือบางโรงงานต้องเลิกจ้างแรงงาน ภาวะรูปแบบนี้นี่แหละคือ.. “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย”
1
“ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” หรือ “Recession” ถูกนิยามไว้ว่าเป็นภาวะที่เกิดการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของการผลิต การใช้จ่ายอุปโภคบริโภค การลงทุน โลจิสติกส์ และการจ้างงาน เป็นต้น
1
ถ้าว่ากันตามตัวเลข ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะพิจารณาจาก GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศรายไตรมาส ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แล้วติดลบต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 เดือน เราจะเรียกสิ่งนี้ว่า “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย”
หรืออีกหนึ่งการพิจารณา สามารถพิจารณาได้จากตัวเลข “อัตราการว่างงาน” ในช่วง 12 เดือนว่ามีสถานะปรับตัวขึ้นหรือไม่
สิ่งที่น่าสนใจ ปลายปีที่แล้วเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโรคระบาด แต่ทว่าผ่านไปไม่ถึงครึ่งปี หน้ามือกลับเปลี่ยนเป็นหลังมือ เพราะเศรษฐกิจพลิกมาชะลอตัวลงแทน
เหตุการณ์ที่เราทุกคนกำลังเผชิญในตอนนี้มีอยู่ 3 ปัจจัยหลักๆ คือ
1. นโยบาบทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่มีการจัดการกับเงินเฟ้อ (ข้าวยากหมากแพง) ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง (Fed) สิ่งที่ตามมาก็คือ ทั่วโลกปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตาม เพราะเงินสกุลใดที่ให้ผลตอบแทนดี นักลงทุนก็จะเลือกลงทุนในเงินสกุลนั้น
ยกตัวอย่าง หากนักลงทุนเอ ถือเงินสกุลบาทอยู่ 100 บาท แต่ผลตอบแทนของธนาคารกลางแห่งประเทศไทยมีอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.5% (สมมติ) ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐให้ผลตอบแทนสูงกว่าที่ 1% แน่นอนว่าเงิน 100 บาทของนายเอจะถูกเปลี่ยนสถานะเป็นดอลลาร์สหรัฐ เพราะได้รับผลตอบแทนสูงกว่า
1
มันจึงตอบได้ดี สำหรับคำถามที่ว่า มหาอำนาจอย่างสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แล้วทั่วโลกต้องปรับตัวขึ้นตามเพราะอะไร ?
แต่อย่าลืมว่าทุกสิ่งอย่างมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เป็นผลดีสำหรับการลงทุน แต่สำหรับนักธุรกิจที่มีเครดิตเป็นหนี้นั้น พวกเขาต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จนทำให้ลดโครงสร้างการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะด้วยการปลดพนักงาน หรืออะไรก็ตามแต่ ผลกระทบที่ตามมาจะทำให้มี “อัตราการว่างงาน” เพิ่มขึ้น มันจึงอาจเป็นสาเหตุนำไปสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้
1
2. สงครามการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่นำพาความไม่แน่นอนมาหาทุกสิ่ง และเป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกพลิกจากฟื้นตัวมาเป็นชะลอตัว
มาตรการการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกและสหรัฐ ต่อรัสเซีย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเชนการผลิต โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กลุ่มพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันที่กำลังแพงหูดับตับไหม้ และมันส่งผลกระทบต่อราคาปุ๋ยเคมี ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ ราคาข้าวยากหมากแพง อย่างเช่นสินค้าหลักที่ยูเครนกับรัสเซียผลิต นั่นก็คือ ข้าวสาลี และข้าวโพด
นอกจากนี้ ยังมีโลหะที่ยูเครนกับรัสเซียถือเป็นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมโลก เมื่อขาดแคลนสินค้า ราคาของสินค้าก็จะปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อเงินเฟ้อในเศรษฐกิจที่เฟ้ออยู่แล้ว ยิ่งได้รับการซ้ำเติมให้เฟ้อยิ่งขึ้นไปอีก
ฉะนั้น สงครามที่ยืดเยื้อไม่เพียงต่อส่งผลต่อความไม่แน่นอนในหลายๆ อย่าง แต่ยังส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก
3. การกลับมาระบาดของไวรัสโควิดในจีน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโลกเรายังหนีไม่พ้นกับปัญหาดังกล่าวนี้ สิ่งที่น่ากังวลคือมาตรการล็อกดาวน์ในจีนทั้งที่เต็มรูปแบบและไม่เต็มรูปแบบ ครอบคลุมการบังคับใช้ 27 เมือง ส่งผลกระทบต่อชาวจีนกว่า 180 ล้านคน
แน่นอนว่าเศรษฐกิจจีนที่ดูเหมือนจะดี แต่ตอนนี้อยู่ในภาวะที่เลี่ยงไม่ได้ การล็อกดาวน์ทำให้สินค้าขาดแคลน ซ้ำเติมเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกให้มีอัตราสูงขึ้นไปอีก
3 ปัจจัยนี้คือสิ่งที่อาจนำโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งสำหรับประเทศไทย เคยเผชิญกับภาวะนี้มาแล้วถึง 5 ครั้ง
ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี 1997 หรือที่เรารู้จักกันดีสำหรับวิกฤตต้มยำกุ้ง สาเหตุดังกล่าวเกิดจากเงินทุนสำรองในประเทศไม่เพียงพอ มีการก่อหนี้ต่างประเทศจนเกิดตัว ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า และยิ่งมีการกู้หนี้มาทวีคูณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อเข้าขั้นรุนแรง จนหลายธุรกิจต้องปิดกิจการ
และถ้าว่ากันตามตัวเลข GDP รายไตรมาส รู้ไหมว่าไตรมาสที่ 3 ของปี 1997 จนถึง ไตรมาสที่ 2 ปี 1998 ประเทศไทยเผชิญกับตัวเลข GDP ลดลงแบบบติดลบ ติดต่อกันถึง 4 ไตรมาส
ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี 2008 เป็นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐ โดยมีสาเหตุมาจากการปล่อยสินเชื่อเป็นจำนวนมากให้แก่ลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระตามกำหนดได้ ในขณะที่มีการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์จนราคาพุ่งสูงลิบลิ่ว สุดท้ายสถาบันการเงินขาดสภาพคล่องและล้มละลายกันระนาว
1
ผลกระทบลามมาถึงตลาดหุ้นไทยให้ดิ่งลงหนัก เพราะเวลานั้นสหรัฐถือเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ของไทย เศรษฐกิจไทยชะลอตัว และ GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 2008 จนถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2009 ลดลงแบบติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในปี 2013 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ประกอบกับปัญหาภัยแล้งรุนแรงภายในประเทศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเกษตรกรรม GDP ไตรมาสที่ 1 จนถึงไตรมาสที่ 2 ปี 2013 ลดลงแบบติดลบ ติดต่อกัน 2 ไตรมาส
ครั้งที่ 4 เกิดคาบเกี่ยวระหว่างปี 2013-2014 ซึ่งประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน การท่องเที่ยว การลงทุน ตลอดจนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ยังประสบปัญหากับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง มีการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เพราะเลือกที่จะออมเงินไว้ในยามฉุกเฉิน ในขณะที่สถาบันการเงินก็มีการพิจารณาปล่อยสินเชื่อน้อยลง ส่งผลให้ GDP ไตรมาส 4 ปี 2013 จนถึง ไตรมาส 1 ปี 2014 ลดลงติดลบ ติดต่อกัน 2 ไตรมาส
และครั้งที่ 5 ที่เพิ่งเกิดขึ้นไปในปี 2020 ซึ่งแน่นอนว่าเกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจชะละตัวเพราะโควิด 19 ซึ่งในเวลานั้นตัวเลข GDP ของไทย..
-ไตรมาสที่ 1 ปี 2020 อยู่ที่ -2.2%
-ไตรมาสที่ 2 ปี 2020 อยู่ที่ -9.7%
-ซึ่งไตรมาส 4 ปี 2019 ก่อนหน้านั้นอยู่ที่ 0.2%
หากพิจารณาจากนิยามที่กล่าวไว้ข้างต้น นี่เป็นข้อมูลที่แน่ชัดแล้วว่าเศรษฐกิจไทยถดถอยเพราะโควิดมาแล้ว
ทว่าสิ่งที่น่าสนใจหลังจากนี้ ไม่ใช่แค่เพียงการถดถอยในระดับประเทศ แต่มันอาจเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระดับโลก
ประวัติศาสตร์จารึกแล้วว่าโลกเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง หลังจากนี้ก็อยู่ที่เราแล้วว่าจะเลือกใช้ประวัติศาสตร์กำหนดทางเดินในปัจจุบันอย่างไร..
ติดตาม YouTube ได้ที่ https://youtube.com/channel/UC0jzI2i7IepXEi0mRx6nvPA
ภาพจาก fortune.com
โฆษณา