5 พ.ค. 2022 เวลา 09:54 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🔒จีนล๊อกดาวน์กระทบห่วงโซ่อุปทานโลกมากแค่ไหน?
เชื้อไวรัส COVID-19 กลับมาแพร่ระบาดในประเทศจีนซึ่งดำเนินนโยบาย Zero-COVID ส่งผลให้มีการสั่งปิดเมืองสำคัญสร้างผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก บทความนี้จะขอพานักลงทุนทุกท่านไปส่องผลกระทบกันหน่อย
📌 ทำไมตู้คอนเทนเนอร์ถึงมีความสำคัญ
ปัจจุบันมีตู้คอนเทนเนอร์พร้อมใช้งานประมาณ 25 ล้านตู้ ที่ถูกใช้งานบนห่วงโซ่อุปทานของโลกที่เปราะบางซึ่งถูกออกแบบมาให้เชื่อมถึงกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ เครือข่ายถนน รถบรรทุกสินค้า และคลังสินค้า แต่เพราะการกลับมาเปิดเมืองทั่วโลกทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าระดับที่ห่วงโซ่อุปทานจะรับไหว ส่งให้เกินความขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต่างกังวลต่อสถานการณ์ที่จะส่งผลให้สายการผลิตขาดแคลนวัตถุดิบ จึงเพิ่มคำสั่งซื้อเกินความจำเป็นสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมอีก
📌 ประเทศจีนปิดเมืองควบคุม COVID ซ้ำเติมปัญหายิ่งขึ้น
ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของโลก มีมาจากประเทศจีนถึง 6 ท่าเรือ ซึ่งท่าเรือเซียงไฮ้เป็นท่าเรือที่ใหญ่สุดในโลก นโยบาย Zero-COVID ของทางการจีนสั่งปิดเมืองได้ทั้งเมืองแม้จะมีการระบาดเพียงเล็กน้อย
เดือนมีนาคมที่ผ่านมามีการล๊อกดาวน์เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นอันเป็นศูนย์กลางบริษัทเทคโนโลยีจีน ส่งให้ตลาดหุ้น Hang Seng ซึ่งมีสัดส่วนหุ้นเทคโนโลยีจีนเป็นหลักร่วงอย่างรุนแรง ไม่เพียงเท่านั้นยังกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของ Apple เนื่องจากซัพพลายเออร์รายใหญ่อย่าง Foxconn ถูกสั่งปิดการผลิตชั่วคราว เช่นเดียวกับ Toyota ที่ถูกสั่งหยุดการผลิต สร้างผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานชัดเจน
ล่าสุดการสั่งล๊อกดาวน์เมืองเซียงไฮ้ทำให้ Tesla ต้องปิดโรงงาน กิจกรรมที่ท่าเรือเซียงไฮ้ชะลอตัว ต้องใช้เวลานานถึง 111 วัน กว่าจะส่งจากโรงงานในจีนไปถึงคลังสินค้าในสหรัฐฯ ซึ่งเคยไปแตะระดับสูงสุดที่ 113 วัน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กินระยะเวลาขนส่งมากเป็น 3 เท่าจากปี 2019 ขณะที่ระยะเวลาขนส่งไปยังยุโรปแตะระดับสูงสุดแล้วที่ 118 วัน
ในเดือนเมษายน ตู้คอนเทนเนอร์ที่จีนนำเข้าก็ต้องรอที่ท่าเรือเซียงไฮ้ถึง 12.1 วัน ก่อนจะถูกขนส่งไปยังปลายทาง เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่ใช้เวลา 4.6 วัน ซึ่งส่งผลให้โรงงานขาดวัตถุดิบที่ใช้กับการผลิต
และแม้หลายโรงงานจะกลับมาดำเนินการผลิตแล้วแต่ก็ยังไม่มีการยืนยันว่าจะดำเนินการไปได้อีกนานแค่ไหนท่ามกลางวัตถุดิบที่ขาดแคลน
📌 แนวโน้มค่าขนส่งเป็นอย่างไร
ค่าขนส่งแตะจุดสูงสุดเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2021 เพิ่มขึ้นมากว่า 10 เท่าจากปีก่อนหน้า จากนั้นปรับตัวลงตลอดไตรมาสแรกของปี 2022 ซึ่งก็เป็นแนวโน้มความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทุกปีหลังเทศกาลคริสมาสต์และตรุษจีน แม้ค่าขนส่งจะลดลงมาแล้วแต่ก็สูงกว่าปีที่แล้วถึง 2 เท่า
คาดกันว่าเมื่อใดก็ตามที่คลายมาตรการล๊อกดาวน์ ตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมหาศาลจะถูกขนส่งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งให้ค่าขนส่งกลับมาปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ด้าน IMF เผยว่าค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น 2 เท่า จะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.7% ผลกระทบต่อเงินเฟ้อลากยาวมาแล้วกว่า 18 เดือน และยังไม่มีท่าทีลดลงแต่อย่างใด
📌 ส่องอุตสาหกรรมเดินเรือเป็นอย่างไรบ้าง?
ปี 2017 เส้นทางขนส่งราว 12 เส้นทาง ซึ่งคิดเป็น 80% ของการค้าทั่วโลกถูกควบคุมโดยกลุ่มพันธมิตรบริษัทเดินเรือ 3 เจ้าใหญ่ ประกอบด้วย 2M, THE และ Ocean ร่วมมือกันแบ่งผลประโยชน์และจำกัดปริมาณขนส่งส่วนเกิน กลายเป็นอุตสาหกรรมแบบคู่แข่งน้อยราย ซึ่งล้วนแล้วแต่ยินดีกับค่าขนส่งที่สูงเช่นนี้
📌 ตัวอย่างบริษัทที่ได้รับผลกระทบ
👉🏻 Apple เผยในการเปิดเผยผลประกอบการว่าการขนส่งสินค้าที่ยากลำบากเนื่องจากการล๊อกดาวน์อาจกระทบต่อรายได้ของบริษัท 4,000-8,000 ล้านดอลลาร์ ส่วน Tesla แม้กลับมาเปิดโรงงานในเซียงไฮ้อีกครั้งแต่ก็ดำเนินการได้เพียงครึ่งเดียวของกำลังการผลิต และกำลังขาดแคลนวัตถุดิบ
👉🏻 ขณะที่ LG Display เผยว่าเริ่มประสบปัญหาการผลิตหน้าจอและการขนส่งผลิตภัณฑ์ ส่วน SK Hynix ผู้ผลิตชิปรายใหญ่จากเกาหลีใต้รับผลกระทบจากความต้องการสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์และมือถือที่ลดลงในประเทศจีน
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ารายได้ของหลายบริษัทจะชะลอตัวเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบและความต้องการลดลง นอกจากนี้แม้จะควบคุมการแพร่ระบาดได้แต่ก็ยังไม่มีใครทราบว่าในอนาคตประเทศจีนจะกลับมาปิดเมืองอีกครั้งเมื่อไร ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาตลอด 2 ปี มีโอกาสที่จะต้องกลับมาปิดเมืองอีกแน่นอน
โฆษณา