5 พ.ค. 2022 เวลา 11:55 • ธุรกิจ
มองหลากมุมกรณีการควบรวมทรูดีแทค
ยังคงเป็นประเด็นฮอทอย่างต่อเนื่องกับกรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ซึ่งหากมองจากมุมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ลูกค้า ซัพพลายเออร์ คู่แข่งขัน ผู้ถือหุ้น นักลงทุน ภาครัฐ และพนักงานของทั้งสองบริษัท ย่อมอยากเห็นประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น
1. มุมของนักลงทุน อาทิ นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด มองว่า ดีลการควบรวมครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยให้ปรับตัวดีขึ้น และมี New S-Curve มาต่อยอดการเติบโตรอบใหม่ในอนาคตได้
2. มุมของผู้ถือหุ้นทรูและดีแทค ซึ่งมีทั้งผู้ที่เป็นลูกค้า ประชาชนคนไทยและต่างประเทศ รวมถึงที่เป็นผู้ลงทุนในบริษัท ต่างก็เห็นประโยชน์จากการควบรวม โดยผู้ถือหุ้นทรูได้อนุมัติการควบรวมกิจการกับดีแทคเป็นเอกฉันท์ 99.37% ส่วนการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดีแทค 89% โหวตผ่านอนุมัติแผนควบรวมกับทรู แสดงให้เห็นว่าผู้ถือหุ้นทรูและดีแทคเห็นด้วยกับการควบรวม ซึ่งการควบรวมนี้จะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่ใกล้เคียงผู้นำมากขึ้น และต้นทุนที่ลดลง บวกกับคุณภาพสัญญาณที่ดีขึ้นในทันที
3. มุมของคู่แข่ง เช่น เอไอเอส โดยในช่วงแรกที่มีข่าวการควบรวม คุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ซีอีโอของเอไอเอส ออกมาบอกว่า “ไม่สนเรื่องการควบรวม ทรู ดีแทค เพราะตลาดเปลี่ยนไปแล้ว ยิ่งเค้ารักกัน เอไอเอส ยิ่งแกร่งขึ้น” เดิมทีเอไอเอสเป็นผู้นำเดี่ยว จึงไม่จำเป็นต้องเร่งการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อตระหนักว่าการควบรวมของทรูและดีแทคจะทำให้เกิดการแข่งขันที่สูสี และการแข่งขันในอุตสาหกรรมจะสูงขึ้น เอไอเอสต้องเร่งปรับตัวให้เร็วยิ่งขึ้น จึงออกมาคัดค้านการควบรวม รวมถึงประกาศปรับองค์กรเป็น Cognitive Telco และสร้าง New S-Curve ตัวใหม่
4. มุมของภาครัฐ การทำรายได้จากค่าคลื่นที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเป็นประโยชน์ของรัฐ ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการปรับตัวได้แข็งแกร่งขึ้น ทำให้ต่อไปจะมีความพร้อมมากขึ้นในการประมูลคลื่นเทคโนโลยี
5. มุมของพนักงานทรูและดีแทค การควบรวมจะเป็นการลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อน แก้ปัญหาภาวะขาดทุน ทำให้พนักงาน ผู้บริหาร มีกำลังในการนำนวัตกรรมใหม่มาให้บริการลูกค้า ความสามารถในการขยายบริการในระดับภูมิภาค ความทัดเทียมในการแข่งขัน จะทำให้บริษัทมีศักยภาพและพนักงานมีความเชื่อมั่น แต่หากบริษัทมีความอ่อนแอจะทำให้พนักงานขาดความมั่นคงไปด้วย
6. มุมของซัพพลายเออร์ การควบรวมจะทำให้เกิดการขยายธุรกิจ ตลาดโทรคมนาคมกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หากไม่ปรับตัว โดยใช้การประหยัดต้นทุนแทนการขยายธุรกิจ จะไม่ส่งผลดีต่อซัพพลายเออร์ แต่การขยายตัวของธุรกิจผ่านการควบรวมจะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ซัพพลายเออร์มีโอกาสได้รับประโยชน์มากกว่า
7. มุมของลูกค้า ที่มองถึงประโยชน์ที่จะได้รับเพิ่มขึ้น เช่น
1. การเข้าถึงสัญญาณเครือข่ายดีขึ้น เสาสัญญาณเพิ่มมากขึ้น สัญญาเร็ว แรง และครอบคลุมพื้นที่ใช้งานมากขึ้น เมื่อรวมจำนวนเสาสัญญาณของทรูและดีแทคแล้ว คาดว่าจะมีมากกว่า 49,800 สถานีฐาน ทำให้ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ไหนในประเทศไทยก็สามารถใช้บริการได้อย่างครอบคลุม ลูกค้าดีแทคก็จะสามารถใช้สัญญาณ 5G ของทรูได้อีกด้วย
2. คลื่นที่ครบถ้วนทุกย่านความถี่ ทำให้ลูกค้าสามารถใช้มือถือได้ทุกรุ่น รองรับทุกย่านความถี่ เริ่มตั้งแต่คลื่น 700 MHz ที่มีทั้งสองค่าย, คลื่น 850 MHz ดีแทคสามารถใช้ของทรูได้, คลื่น 900, 1800, 2100 MHz มีทั้งสองค่าย และลูกค้าทรูก็สามารถใช้คลื่นที่ทรูไม่มี เช่น คลื่น 2300 MHz ในขณะที่ดีแทคสามารถมาใช้คลื่น 2600 MHz 5G ของทรูได้
3. เพิ่มความสะดวก โดยมีศูนย์ให้บริการหลังขายมากขึ้น ทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น จำนวนร้าน สาขา ของทรูและดีแทคทั่วประเทศ จะให้บริการลูกค้าได้อย่างไร้รอยต่อ และนำมาต่อยอดบริการรูปแบบใหม่ ให้ลูกค้ามีความสะดวก และมี call center รวมสองค่ายมากกว่า 5,200 คน พร้อมให้บริการ 24 ชั่วโมง
4. ลูกค้าทั้งสองค่ายจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีและสิทธิพิเศษที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ลูกค้าดีแทคสามารถใช้บริการห้องรับรอง VIP (True Sphere) และสิทธิประโยชน์จาก True Point ได้ ในขณะที่ลูกค้าทั้งทรูและดีแทค ได้รับสิทธิ์ทั้ง dtac reward และ True Privilege และที่ยอดเยี่ยมสำหรับลูกค้าดีแทคคือ สามารถใช้บริการ convergence อินเทอร์เน็ตบ้าน และ content ดี ๆ จาก TrueID และ TrueVisions
5. เมื่อทรูควบรวมกับดีแทค จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันใกล้เคียงกับเอไอเอส เมื่อผู้แข่งขันสองรายมีขีดความสามารถใกล้เคียงกัน จะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ทำให้ลูกค้าได้โปรโมชั่นที่ถูกลง และมีข้อเสนอทางการตลาดที่ลูกค้าได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น
6. ลูกค้าไร้กังวลว่าหลังการควบรวมแล้วราคาจะสูงขึ้น แพ็คเกจที่ใช้อยู่สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เพราะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกสทช. อย่างเข้มงวดอยู่แล้ว และที่ผ่านมา กสทช. ก็ทำได้ดี ทำให้ไม่มีผู้เล่นรายใด สามารถปรับราคาได้เกินกว่าที่กสทช. กำหนดไว้ และทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราค่าบริการต่ำสุดในโลก
1
7. ต้นทุนของผู้ให้บริการหลังการควบรวมจะลดลง ทำให้ลูกค้าได้รับประโยขน์จากความคุ้มค่าของบริการที่ได้รับมากชึ้น เนื่องจากจะทำให้มีเงินทุนไปพัฒนาบริการใหม่ๆ รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามา เช่น ดาวเทียม, Metaverse, Quantum รวมถึงรถยนต์ EV และ Smart City
8. ผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทุกรายปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการลงทุนใหม่ เช่น CAT+TOT = NT และการที่เอไอเอสมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยมีการลงทุนใหม่โดยกัลฟ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลงทุนในอนาคต ทำให้หลังการควบรวมทรูและดีแทค ผู้ประกอบการทุกรายมีความพร้อมในการแข่งขัน (หากรัฐปฏิบัติต่อผู้ประกอบการอย่างเท่าเทียม มิใช่กีดกันรายใดรายหนึ่ง)
9. ผู้บริโภคสามารถใช้บริการของผู้ประกอบการดิจิทัลอย่างไม่สะดุด เช่น Facebook, Line, Netflix และอื่น ๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย โดยใช้เครือข่ายโทรคมนาคมเดิม ซึ่งต้องใช้ดาต้า เพิ่มขึ้นมหาศาล ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นหลายเท่าทุกปี เพื่อให้บริการจากผู้เล่นดิจิทัลมีความต่อเนื่อง การควบรวมจะทำให้เกิดความแข็งแกร่งในการพัฒนาคุณภาพเครือข่าย รองรับการเติบโตของผู้ใช้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้น
10. หลังการควบรวม ผู้เล่นทุกรายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย พร้อมปรับตัวเข้าสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี และเพิ่มขีดความสามารถที่จะแข่งกับผู้ประกอบการระดับโลก และสนับสนุนการลงทุนของ Tech Startup รุ่นใหม่ บริษัทจะมีความสามารถในการลงทุนเพิ่ม รองรับเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ลูกค้าได้รับบริการดิจิทัลมากขึ้น เช่น บริการแพทย์ทางไกล การประชุมทางไกล การเข้าถึงคอนเทนต์ เพลง หนัง ระดับโลก ในราคาลดลง
การปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงเป็นสัญญาณบอกว่าธุรกิจอยากไปต่อและมีทางไปต่อได้ ซึ่งการไปต่อย่อมหมายความพร้อมที่จะรับมือกับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นด้วย และยังหมายถึงธุรกิจนั้นสามารถมอบประโยชน์หรือมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าได้มากขึ้นด้วย เพราะคงไม่มีธุรกิจไหนที่จะไปต่อโดยลดทอนประโยชน์ที่จะมอบให้กับลูกค้าหรือผู้มีส่วนได้เสีย เพราะนั่นหมายถึงการลดทอนโอกาสและตัดอนาคตตัวเอง ดังนั้นจึงควรวางข้อสงสัยที่ว่า การควบรวมจะทำให้ลดประโยชน์ต่อผู้บริโภคไปได้เลย
1
โฆษณา