6 พ.ค. 2022 เวลา 04:44 • กีฬา
ในเกมเลคแรกที่ลิเวอร์พูลเอาชนะบียาร์เรอัล 2-0 ที่แอนฟิลด์ และชัยชนะ 3-2 ถึงถิ่นเอสตาดิโอ เด ลา เซรามิกาได้นั้นมาจากฟอร์มการเล่นในช่วงครึ่งหลังที่ยกระดับจากรูปเกมในครึ่งแรกอย่างผิดหูผิดตา โดยในเกมเลคแรกนั้น นักเตะลิเวอร์พูลเรียนรู้ที่จะไม่ทำฟาวล์โดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นการปิดโอกาสไม่ให้นักเตะบียาร์เรอัลได้ดึงจังหวะของเกมให้ช้าและเคลียร์บอลให้พ้นจากพื้นที่ของตนเองได้
การยกระดับของรูปเกมในเลคที่ 2 มีความซับซ้อนกว่า ซึ่งถ้าพูดกันแบบง่ายๆ คือ นักเตะลิเวอร์พูลพยายามครองบอลกับตัวให้นานขึ้นและเปิดเกมรุกไปข้างหน้าจากคู่หูวิงแบ็คทั้ง 2 ข้างและมิดฟิลด์ตัวรับอย่าง Fabinho รวมถึงการเปลี่ยนตัวให้ Diaz ลงมาช่วยป่วนแนวรับฝั่งขวาของเจ้าถิ่นอีกทางหนึ่ง แต่โดยรวมแล้ว ลิเวอร์พูลสามารถเรียกสติและดึงตัวเองกลับมาเล่นในรูปแบบที่เป็นธรรมชาติได้หลังจากที่ปั่นป่วนไม่เป็นกระบวนท่าในเกมครึ่งแรก
แฟนบอลที่ดูการถ่ายทอดสดทุกคนน่าจะเห็นตรงกันว่า Fabinho เจอกับปัญหาและเล่นได้อย่างลำบากมากในช่วงครึ่งแรกจากการวางหมากของ Unai Emery ที่ให้คู่มิดฟิลด์ตัวกลางอย่าง Lo Celso และ Coquelin ทำหน้าที่คุมพื้นที่ล้อมกรอบ Fabinho ไว้ และคอยหาช่องว่างในพื้นที่ตรงกลางของ Fabinho เพื่อรับส่ง ก่อนที่จะถ่ายบอลขึ้นหน้า และทำเกมบุกใส่พร้อมกับคู่กองหน้า ซึ่งจะเห็นได้ว่า แผนนี้จะทำให้มีผู้เล่นของบียาร์เรอัลในเกมรุกถึง 4 คน ดวลกับคู่เซ็นเตอร์ของ
ลิเวอร์พูล
Fabinho ถูกล้อมกรอบปิดพื้นที่โดย Lo Celso และ Coquelin ในพื้นที่ตรงกลางสนาม ทำให้การขึ้นเกมจากด้านหลังบียาร์เรอัลมีตัวเลือกในการส่งบอลแบบสบายๆ (ภาพประกอบจาก The Athletic)
เมื่อบอลจากแดนหลังส่งถึง Lo Celso หรือ Coquelin โดย Fabinho ไม่สามารถปิดพื้นที่ได้ด้วยตัวคนเดียว ทางบียาร์เรอัลจะเปิดเกมบุกใส่ด้วยนักเตะตัวรุกถึง 4 คนดวลกับแผงเกมรับของลิเวอร์พูลที่มีจำนวนน้อยกว่า (ภาพประกอบจาก The Athletic)
รูปแบบเกมรับของบียาร์เรอัลก็น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ Lo Celso และ Coquelin จะถอยกลับมายืนตั้งแถวเรียงหน้ากระดานกับมิดฟิลด์อีก 2 คนเป็นแผงแนวรับชั้นแรก และยกหน้าที่การบีบพื้นที่ของ Fabinho ให้กับคู่กองหน้าอย่าง Moreno และ Dia แทน ซึ่งแผนการตั้งรับ 2 ชั้นของบียาร์เรอัลสร้างความลำบากในการเจาะเข้าพื้นที่ Final third และปิดเกมรุกของลิเวอร์พูลได้อย่างสิ้นเชิง
คู่กองหน้า Moreno และ Dia ถอยลงมายืนต่ำประกอบ Fabinho แทนคู่มิดฟิลด์ตัวกลางในเวลาที่บียาร์เรอัลลงไป ตั้งเกมรับ (ภาพประกอบจาก The Athletic)
ตลอดช่วงเวลาของครึ่งแรก ลิเวอร์พูลเจองานหนักในการขึ้นเกมอย่างมากด้วยเทคติค 2 อย่างของบียาร์เรอัล คือ การไล่เพรสซิ่งสูงของนักเตะเจ้าถิ่นและการที่ Fabinho ถูกมิดฟิลด์ฝ่ายตรงข้ามอย่างน้อย 1 คนคอยจับตายในแดนกลาง
ตัวอย่างการไล่เพรสซิ่งของบียาร์เรอัล : ในช่วงนาทีที่ 25 ของเกม Alisson ผ่านบอลสั้นจากหน้าปากประตูไปให้ Fabinho ทาง Parejo ที่คอยสังเกตทางบอลอยู่แล้วก็รีบวิ่งบีบเกมใส่ทันที และทำให้ Fabinho ต้องรีบส่งบอลคืนกลับไปให้ Alisson ก่อนที่จะส่งบอลออกไปด้านข้างให้กับ Konate ซึ่งถ้ามองในภาพกว้างแล้ว Konate น่าจะยังพอมีเวลาในการเงยหน้าหาเพื่อนที่ว่างสำหรับส่งบอลเพื่อแกะเพรสซิ่งของบียาร์เรอัล
หลังจากที่ Konate ได้บอลจาก Alisson จะเห็นได้ว่า ทาง Keita ยืนอยู่ในตำแหน่งที่ว่างระหว่างแผงเกมรับ 2 ชั้นของบียาร์เรอัลที่ว่างลงจากการวิ่งขึ้นไปเพรสซิ่งสูงของ Parejo แต่แทนที่ Konate จะเลือกส่งบอลระยะสั้นให้กับ Keita ในพื้นที่ว่างดังกล่าว เขากลับเลือกที่จะโยนบอลยาวข้ามแนวรับแทน ซึ่งกลายเป็นการเปิดบอลเสียและทำให้เกมบุกของลิเวอร์พูลไม่ต่อเนื่อง
การวางแผนเพื่อไล่บีบสูงของแผงมิดฟิลด์บียาร์เรอัล โดยมี Fabinho เป็นเป้าหมายหลัก (ภาพประกอบจาก The Athletic)
การตั้งกำแพงแนวรับ 2 ชั้นสร้างปัญหาในการขึ้นเกมของลิเวอร์พูล (ภาพประกอบจาก The Athletic)
ตัวอย่างการจับตาย Fabinho : ในช่วงนาทีที่ 28 จังหวะที่ผู้เล่นของบียาร์เรอัลลงไปเล่นเกมรับด้วยการตั้งกำแพง 2 ชั้น และทิ้งให้กองหน้า 2 คนคอยตามประกบ Fabinho ซึ่งทำได้ตามหน้าที่ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่เกมรับของบียาร์เรอัลก็ยังมีช่องว่างให้ Fabinho สามารถหาพื้นที่ในการเชื่อมเกมจากแดนหลังไปข้างหน้าได้ ซึ่งเมื่อเห็นโอกาสดังกล่าว Fabinho เคลื่อนที่ไปยังช่องว่างระหว่างคู่กองหน้าและแผงมิดฟิลด์ และยกมือเรียกขอบอลจาก Robertson
การหาพื้นที่ระหว่างแผงแนวรับยังพอทำให้ลิเวอร์พูลมีโอกาสได้พาบอลไปข้างหน้าและพยายามขึ้นเกมรุก (ภาพประกอบจาก The Athletic)
เมื่อ Fabinho รับบอลจาก Robertson ทาง Parejo และ Capoue ที่ยืนคุมเชิงอยู่ก็เริ่มขยับเข้ามาบีบไม่ให้ Fabinho ผ่านบอลเพื่อทำเกมไปข้างหน้าได้ ซึ่งทำให้เกิดช่องโหว่ในแผงเกมรับของมิดฟิลด์ และ Mane มีพื้นที่ในการเล่นบอลในแดนของบียาร์เรอัล แต่ Mane ก็ไม่ได้ระวังมากเพียงพอที่จะหลบการเข้าบอลเพื่อตัดฟาวล์ของ Albiol ทันทีทีได้บอล
Parejo และ Capoue เข้าบีบเร็วตามแผนจับตาย Fabinho (ภาพประกอบจาก The Athletic)
กองหลังของบียาร์เรอัลแทบไม่เปิดโอกาสให้กับแนวรุกของลิเวอร์พูลในการขึ้นเกมในแดนของตัวเอง และเลือกตัดฟาวล์ตั้งแต่ช่วงกลางสนามเพื่อหยุดเกมรุกของลิเวอร์พูล (ภาพประกอบจาก The Athletic)
ถึงแม้ว่า ฟอร์มการเล่นในครึ่งแรกของลิเวอร์พูลจะถือว่าเลวร้ายที่สุดในรอบหลายเกมที่ผ่านมา แต่ก็พอจะมีสัญญาณให้เห็นว่า พวกเขาเริ่มที่จะสามารถรับมือกับแผนของบียาร์เรอัลได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในเวลาที่ฟูลแบ็คทั้ง 2 ข้างของลิเวอร์พูลดันเกมขึ้นสูง แนวป้องกันของผู้เล่นเกมรับของบียาร์เรอัลจะเริ่มไม่เป็นทรงตามที่แผนกำแพง 2 ชั้นที่วางไว้ ซึ่งในบางครั้ง อาจมีตัวผู้เล่นลงไปยืนตั้งแถวกันมากถึง 6 คนในพื้นที่สุดท้าย และทิ้งมิดฟิลด์ 1 คนไว้คอยตามประกบ Fabinho ในแดนกลาง
ทรงบอลในเกมรับของเจ้าถิ่นเริ่มส่งสัญญาณไม่ค่อยเป็นระบบเหมือนในช่วงต้นเกมในช่วงท้ายครึ่งแรกที่ลิเวอร์พูลเริ่มเดินเครื่องบุกคืนใส่บ้าง (ภาพประกอบจาก The Athletic)
ในครั้งหลัง Fabinho เริ่มปรับวิธีการเล่นและการยืนตำแหน่งเพื่อสร้างปัญหาให้กับเกมรับของบียาร์เรอัล จากภาพประกอบด้านบน จะเห็นได้ว่า เมื่อ Trent Alexander-Arnold ครอสบอลจากฝั่งขวาเข้าไปในกรอบเขตโทษของบียาร์เรอัล ทาง Fabinho ขยับขึ้นสูงเข้าไปเกือบจะในพื้นที่สุดท้าย เพื่อดึงตัวกองหน้าอย่าง Dia ให้จำเป็นต้องตามลงมาคอยประกบตามแผนที่วางไว้ ในขณะที่มิดฟิลด์คนอื่นๆ ของบียาร์เรอัลเข้าไปช่วยแพ็คเกมรับหน้าปากประตูกันหมด
Fabinho เริ่มขยับขึ้นมายืนสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลัง เพื่อเปิดพื้นที่ในแดนกลาง (ภาพประกอบจาก The Athletic)
อีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นการปรับตำแหน่งการยืนของ Fabinho คือ ในช่วงนาทีที่ 57 Fabinho ทิ้งตำแหน่งการยืนเป็นมิดฟิลด์ตัวรับขึ้นไปยืนในตำแหน่งที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะต้องการดึงความสนใจของ Parejo ให้มาตามประกบตนเอง และเปิดพื้นที่ให้ Keita มีพื้นที่ได้เล่นมากขึ้นในพื้นที่ริมเส้นด้านขวา
การดันตำแหน่งขึ้นสูงของ Fabinho ที่ดึงผู้เล่นของบียาร์เรอัลเข้ามาช่วยเปิดพื้นที่ให้ Keita ที่อยู่ริมเส้นด้านขวา (ภาพประกอบจาก The Athletic)
Fabinho เริ่มเติมเกมบุกสูงขึ้นเรื่อยๆ จากตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรับขึ้นไปถึงพื้นที่สุดท้าย ซึ่งเรารู้กันแล้วว่า ช่วยทำให้ ลิเวอร์พูลได้ประตูตีไข่แตกในที่สุด (ภาพประกอบจาก The Athletic)
ก่อนที่เราจะไปดูในจังหวะที่ Fabinho เติมเกมและทำประตูแรกในเกมให้กับลิเวอร์พูลได้ เรามาวิเคราะห์ท่าทางและการแสดงออกของนักเตะบียาร์เรอัลที่ไม่ได้อยู่ใกล้ลูกฟุตบอล ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจอย่างมากว่า เกมรับของบียาร์เรอัลเริ่มรวนและเสียกระบวนท่าที่ทำได้อย่างดีมากๆ ในครึ่งแรก
ในช่วงนาทีที่ 58 เมื่อลิเวอร์พูลเริ่มขึ้นเกมทางกราบซ้าย Parejo ที่ยืนคุมเชิงอยู่ในแดนกลางชี้นิ้วไปที่ Fabinho ซึ่งอาจจะเป็นการส่งสัญญาณให้คู่กองหน้าคอยตามประกบตามแผนเดิม หรืออาจจะเป็นการบอกว่า ตัวเขาจะคอยตามประกบเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า แทคติคในเกมรับที่วางเอาไว้เริ่มสับสนว่า ควรทำอย่างไรดีกับตำแหน่งของ Fabinho ที่ดันตำแหน่งสูงขึ้นมาผิดวิสัยของมิดฟิลด์ตัวรับ
1
Parejo ชี้นิ้วส่งสัญญาณไปยัง Fabinho (ภาพประกอบจาก The Athletic)
สิ่งที่ยืนยันถึงแทคติกการแก้เกมในครึ่งหลังของ Klopp ที่ปรับตำแหน่งการยืนของ Fabinho ให้สูงขึ้น คือ ในนาทีที่ 60 จากจังหวะต่อเนื่องในการขึ้นเกมทางกราบซ้ายของลิเวอร์พูล Fabinho มีการส่งสัญญาณกวักมือเรียก van Dijk ให้ช่วยดันตำแหน่งกองหลังขึ้นมาอยู่ในแดนของบียาร์เรอัลแทนที่ตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรับของตนเอง เพื่อที่ Fabinho จะได้ขยับตำแหน่งให้สูงขึ้นอีก เนื่องจากกองหน้า 2 คนของบียาร์เรอัล (เบอร์ 7 และเบอร์ 16) จำเป็นต้องถอยลงมายืนแทบจะเป็นเหมือนกองกลางตัวที่ 5 และ 6 ไปแล้ว
เมื่อ Fabinho ขยับตำแหน่งให้สูงขึ้น กองหน้าของบียาร์เรอัลก็จำเป็นที่จะต้องขยับตำแหน่งตามลงมาในแดนฝั่งของตัวเอง (ภาพประกอบจาก The Athletic)
จากจังหวะการดันตำแหน่งขึ้นสูงของ Fabinho นี่เองที่ช่วยทำให้ลิเวอร์พูลยิงประตูตีไข่แตกไล่ตามมาเป็น 2-1 ได้จากการขึ้นเกมจากกราบขวา ซึ่งเมื่อ Trent Alexander-Arnold ได้บอล เกมรับของบียาร์เรอัลตั้งแผงแนวรับ 2 ชั้นกันเรียบร้อย แต่เมื่อ Fabinho ขยับสูงขึ้นไปรอรับบอลจาก Trent Alexander-Arnold ทำให้มิดฟิลด์ตัวกลาง 2 คนอย่าง Capoue และ Parejo ต้องวิ่งเข้ามาไล่บอล แต่ Fabinho ใช้ทักษะจับบอลแรกอย่างนิ่มนวลและกระชากบอลผ่านทั้ง
2 คนขึ้นไปก่อนที่จะส่งบอลให้ Salah ที่ยืนหาตำแหน่งรออยู่ด้านขวา
จังหวะการส่งบอลไปที่ Fabinho เพื่อดึงตัวประกอบในแนวรับ (ภาพประกอบจาก The Athletic)
Fabinho พลิกบอลหนีตัวประกอบและส่งบอลต่อไปยัง Salah (ภาพประกอบจาก The Athletic)
หลังจากส่งบอลให้กับ Salah ทาง Fabinho ยังคงวิ่งขึ้นหน้าเข้าไปในพื้นที่สุดท้ายเพื่อรับบอลคืนกลับมาและยิงยัดเข้าไปที่เสาแรก ลอดหว่างขาของ Rulli เข้าประตูไปอย่างสวยงาม
Salah ส่งบอลคืนกลับไปให้ Fabinho ที่วิ่งเติมเกมต่อ (ภาพประกอบจาก The Athletic)
จังหวะการยิงประตูของ Fabinho (ภาพประกอบจาก The Athletic)
ประตูที่ 2 ของลิเวอร์พูลก็เกิดขึ้นจากการวิ่งเพื่อสร้างพื้นที่ว่างให้กับเพื่อนร่วมทีมของ Fabinho คล้ายกับจุดเริ่มต้นของประตูแรกเช่นเดียวกัน
จังหวะการขึ้นเกมเริ่มต้นจาก Thiago ผ่านบอลขวางสนามสั้นๆ ให้กับ Fabinho ซึ่งช่วยดึงตัวประกบได้ถึง 2 คน คือ Capoue และ Parejo (อีกแล้ว) ก่อนที่ Fabinho จะดึงจังหวะและบังบอลไม่ให้ Parejo เข้ามาแย่งบอลได้ และแทงบอลทะลุช่องไปให้ Keita ที่ยืนอยู่ในตำแหน่งพื้นที่ว่างระหว่างแผงมิดฟิลด์และแผงกองหลังของบียาร์เรอัล
จังหวะเคลื่อนที่เพื่อรับบอลและดึงตัวประกอบของ Fabinho (ภาพประกอบจาก The Athletic)
Keita ก็ส่งบอลต่อไปให้ Mane ที่ยืนอยู่ในพื้นที่ว่างเช่นเดียวกัน หลังจากนั้น Mane ก็ส่งบอลออกทางด้านขวาไปให้ Trent Alexander-Arnold ที่มีทั้งเวลาและพื้นที่ในการเปิดบอลด้วยเท้าซ้ายที่ไม่ถนัดเข้าไปในกรอบเขตโทษให้ Diaz โหม่งทำประตู ลอดหว่างขาของ Rulli (อีกแล้ว) ทำให้ลิเวอร์พูลตีเสมอเป็น 2-2 และปิดตายความหวังของบียาร์เรอัลที่จะผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศที่กรุงปารีสไป
จังหวะที่ Trent Alexander-Arnold ได้ยืนโล่งๆ ด้านขวาของสนาม (ภาพประกอบจาก The Athletic)
แน่นอนว่า การเปลี่ยนตัว Diaz ลงมาทำเกมด้านซ้ายช่วยสร้างความแตกต่างให้กับลิเวอร์พูลในครึ่งหลังอย่างมาก แต่ Fabinho คือ ผู้เล่นคนสำคัญที่สุดที่ช่วยทำให้ลิเวอร์พูลสามารถกลับมาสู่เกมของตัวเองในครึ่งหลังได้ด้วยการวิ่งหาตำแหน่งเพื่อดึงตัวประกบจากแผงมิดฟิลด์ของบียาร์เรอัลให้หลุดจากตำแหน่งการตั้งกำแพง 2 ชั้นก่อนที่จะส่งบอลทะลุผ่านแนวรับดังกล่าวเข้าไปในพื้นที่สุดท้ายและนำไปสู่กับการยิงประตู 2 ลูกรวดในครึ่งหลัง
อ้างอิงจากบทวิเคราะห์ Diaz made a difference but it was Fabinho’s movement that was key to Liverpool’s revival ของ The Athletic โดย Michael Cox
โฆษณา