6 พ.ค. 2022 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
“โกลด์เบรด” แบรนด์ขนมปังซอง 15 บาท แต่ยอดขาย 700 ล้าน
1
หากพูดถึงขนมปังชื่อดังของไทย หลายคนมักจะนึกถึง ฟาร์มเฮ้าส์
แต่ก็ยังมีอีกแบรนด์ขนมปังไทยที่น่าสนใจ ชื่อว่า โกลด์เบรด
ขายขนมปังซองละ 15 บาท แต่มีรายได้ระดับหลายร้อยล้านบาท
แถมยังสามารถเติบโตได้ในช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมา
แล้วใครกัน เป็นเจ้าของบริษัทแห่งนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จริง ๆ แล้ว แบรนด์โกลด์เบรด เป็นแบรนด์ขนมปังสอดไส้ ของบริษัท เอ็น.ซี.เอส. โกลด์เบรด จำกัด
ซึ่งถูกก่อตั้งโดยคู่สามีภรรยาคือ คุณสุทัศน์ นันชัย และคุณเบญจวรรณ นันชัย
จุดเริ่มต้นของโกลด์เบรด เกิดขึ้นหลังจากคุณสุทัศน์ ทำงานเป็นพนักงานร้านเบเกอรีมาสักพัก
จนในวัย 24 ปี เขาก็สนใจอยากสร้างธุรกิจขายเบเกอรีเป็นของตัวเองบ้าง
แม้ว่าโกลด์เบรดจะขายขนมปังเป็นหลัก
แต่รู้ไหมว่า สินค้าชิ้นแรกที่คุณสุทัศน์คิดออกมา กลับไม่ใช่ขนมปัง แต่เป็นขนมถั่วตัด
อย่างไรก็ดี หลังจากค้าขายไปสักระยะ ก็พบว่าขนมถั่วตัดเป็นขนมที่ขายได้ค่อนข้างยาก
เพราะดูไม่สดใหม่ คุณสุทัศน์จึงหันไปสนใจเบเกอรีอย่างอื่นแทน นั่นคือ “ขนมปัง”
ซึ่งผลตอบรับก็ออกมาค่อนข้างดี
1
โดยช่วงแรก คุณสุทัศน์ยังไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง
จึงอาศัยการฝากคนอื่น ๆ ขาย อย่างเช่น ร้านขายของชำ และตลาดสด
1
แต่ต่อมาคุณสุทัศน์ และคุณเบญจวรรณ ก็ได้ตัดสินใจเปิดร้านขนมปัง
แบบขายส่งด้วยกัน ภายใต้แบรนด์ขนมปังโกลด์เบรด
1
แม้ในช่วงแรก ทั้งสองจะต้องทำงานกันอย่างหนัก ตื่นตั้งแต่ตีสี่ และได้เข้านอนตอนเที่ยงคืน
รวมถึงทำงานทุกวัน โดยไม่มีเวลาได้หยุดพักผ่อนเลย
1
แต่หลังจากธุรกิจเติบโตไปได้สักระยะ
จึงมีการเพิ่มกำลังการผลิต ทั้งคู่ก็เริ่มคล่องตัวมากขึ้น
และไม่นานนัก โกลด์เบรดก็เริ่มประสบความสำเร็จอย่างทวีคูณ
ภายหลังจากปรับวิธีการให้เครดิตแก่คู่ค้า และจะมีการเก็บเงินในภายหลัง
1
รวมถึงมีบริการจัดส่งถึงร้านของคู่ค้า จากแต่เดิมที่ร้านค้าต่าง ๆ ต้องมาซื้อที่หน้าร้านเอง
ทำให้ร้านค้าต่าง ๆ สนใจนำสินค้าไปขาย ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ดูเหมือนว่าขนมปังโกลด์เบรดกำลังไปได้ดี
แต่บริษัทก็ต้องมาเจอกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540
1
ด้วยการที่กู้เงินจำนวนมากมาลงทุนต่อ สวนทางกับยอดขายที่ลดลง
ส่งผลให้ธุรกิจประสบกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
ทั้งคู่จึงต้องเข้าไปเจรจากับซัปพลายเออร์ ให้ช่วยยืดระยะเวลาในการเก็บเงิน
บวกกับพยายามเร่งผลิตและขายสินค้าให้เร็วขึ้น
สุดท้ายธุรกิจจึงสามารถผ่านวิกฤตินี้มาได้อย่างหวุดหวิด
2
หลังจากธุรกิจกลับมาตั้งตัวได้อีกครั้ง คุณสุทัศน์ก็เริ่มมองหาโอกาสในการสร้างโรงงาน
เพื่อขยายธุรกิจผลิตขนมปังอย่างจริงจัง
1
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พอเหมาะพอเจาะกับทางอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง
ที่ได้มีการจัดงานเชิญชวนเหล่าผู้ประกอบการภายในจังหวัด และธนาคารมาเจอกัน
ที่นั่นทำให้โกลด์เบรด ได้ถูกเสนอเงินให้กู้ยืมจากธนาคาร เพื่อนำไปใช้สร้างโรงงาน
คุณสุทัศน์ และคุณเบญจวรรณ เห็นว่าเป็นโอกาสดี จึงตอบตกลงกู้ยืมเงินมา
2
แต่ด้วยความที่พวกเขาไม่มีประสบการณ์และความเข้าใจ ในการบริหารมากนัก
ทำให้พวกเขาใช้เงินที่กู้มาแบบผิด ๆ เพราะแทนที่จะนำเงินไปใช้ลงทุนสร้างโรงงานเพียงอย่างเดียวตามสัญญา แต่พวกเขากลับนำเงินบางส่วน ไปใช้กับการทำการตลาดด้วย
1
ก่อให้เกิดการกู้ยืมเงินจนบานปลาย ส่งผลให้ในปี 2543 บริษัทมีหนี้สะสมถึง 27 ล้านบาท
1
โชคยังดีที่ต่อมา ธนาคารเข้ามาช่วยเหลือและให้คำแนะนำด้านธุรกิจได้อย่างทันท่วงที เช่น เสนอให้บริษัทจ้างเอาต์ซอร์ซในบางส่วนของธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนและยังสามารถรักษาคุณภาพไว้ได้
รวมถึงเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่โรงงานถูกสร้างเสร็จพอดี
พวกเขาจึงได้จ้างที่ปรึกษาด้านการตลาด มาช่วยในการสร้างแผนธุรกิจ
ส่งผลให้รายได้ในปีนั้น เติบโตอย่างก้าวกระโดด
โดยในบางเดือน โกลด์เบรดสามารถสร้างรายได้ถึง 100 ล้านบาท เลยทีเดียว
2
อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็เจอกับปัญหาอีกครั้ง จากเดิมที่ตอนแรกธุรกิจของพวกเขาเป็นเพียงร้านขนมปัง แต่ปัจจุบันได้ขยายกลายเป็นโรงงาน
พนักงานส่วนใหญ่จึงปรับตัวไม่ทันกับการทำงานรูปแบบใหม่
ที่ต้องนำเครื่องจักรใหม่ เข้ามาผสมผสานในการทำงาน จึงนำไปสู่การต่อต้านในที่สุด
1
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ คุณสุทัศน์เห็นว่าทางออกที่ดีที่สุด คือต้องทำให้พนักงานเข้าใจว่า สุดท้ายแล้ว หากใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะทำให้เราได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ต้นทุนลดลง ส่งผลให้ผลประกอบการเติบโต สิ่งที่ตามมาคือ รายได้และความเป็นอยู่ของพนักงานก็จะดีขึ้นด้วย
1
นั่นทำให้ปัญหาได้คลี่คลายลงไป
1
ต่อมาเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างที่เรารู้กัน
ทั้งคู่จึงเตรียมทำการตลาดออนไลน์ แต่ก็ไม่ได้รู้วิธีการทำ
โชคดีที่มีเพจหนึ่ง นำสินค้าโกลด์เบรดไปรีวิว แล้วดันเกิดกระแสในโซเชียลมีเดีย
ผู้คนเกิดการอยากลอง พวกเขาไม่รอช้าจึงเพิ่มการขายผ่านช่องทางออนไลน์
เมื่อกระแสในโซเชียลมีเดีย ไม่ได้ส่งผลดีต่อการขายออนไลน์เท่านั้น
แต่ยังส่งผลดีกับช่องทางออฟไลน์ด้วย ทำให้ผู้คนเกิดการตามหาสินค้า
โดยจากเดิมที่สินค้าถูกวางไว้ในเชลฟ์วางสินค้าชั้นล่าง ก็ค่อย ๆ ขยับขึ้นมาชั้นบน
ยอดขายของโกลด์เบรดจึงเติบโตได้ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็ตาม
3
ปัจจุบันแม้ว่าสินค้าหลักของโกลด์เบรด คือขนมปังสอดไส้ ซองละ 15 บาท
แต่ก็มีการขยายสินค้าไปสู่ประเภทอื่น ๆ เช่น ขนมปังกรอบ และขนมปังธรรมดาด้วย
รวมแล้วมีสินค้าแตะ ๆ ถึง 30 SKUs
2
นอกจากนี้ โกลด์เบรดยังถูกวางจำหน่ายครอบคลุมทั่วประเทศ และทุกร้านค้าเป็นที่เรียบร้อย
ตั้งแต่ 7-Eleven, Lotus’s, Big C, FamilyMart, Jiffy และอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงร้านขายของชำทั่วไป
หากเรามาดูผลประกอบการของโกลด์เบรด ในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2561 รายได้ 467 ล้านบาท กำไร 9.8 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 573 ล้านบาท กำไร 7.7 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 711 ล้านบาท กำไร 9.7 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าบริษัทยังคงรักษาการเติบโตได้ดีแม้จะเจอเข้ากับวิกฤติโควิด 19
1
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของโกลด์เบรด แบรนด์ขนมปังสอดไส้ที่ขายเพียงซองละไม่กี่บาท
แต่ก็สามารถเติบโตจากร้านขนมปัง มาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ที่มียอดขายหลายร้อยล้านบาทได้ ในวันนี้..
โฆษณา