9 พ.ค. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กลโกงทางการเงิน รู้ไว้ไม่โดนหลอก
ในยุคที่ข่าวการโดนโกง หลอกลวง ต้มตุ๋น มีให้เห็นแทบทุกวัน ผู้เสียหายมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และใกล้ตัวเรามากขึ้น วันนี้เลยอยากมาเล่าเกี่ยวกับกลโกงทางการเงินที่ควรรู้ เพื่อติดอาวุธทางความคิดให้ทุกคนกันครับ
เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจาก Money, Explained ซีรีส์การเงินใน Netflix ที่นำเหตุการณ์จริงมาเล่าให้ฟังแบบง่าย ๆ ไม่ว่าเราจะมีความรู้เรื่องการเงินหรือไม่ก็ดูได้
แม้จะเป็นซีรีส์ที่ออกมาเมื่อปี 2021 แต่อยากให้ลองดูกันครับ เนื้อหาที่อยู่ข้างในคุ้มค่าแก่การเสียเวลาดูจริง ๆ 👍
ขอสปอยล์บางส่วนในตอนที่หนึ่ง เรื่อง “กลโกงทางการเงิน” ต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่เล่าไว้ในซีรีส์เรื่องนี้เท่านั้น
👻 1. กลโกงเก็บค่าธรรมเนียมล่วงหน้า (Advance Fee Scam)
วิธีนี้มิจฉาชีพจะให้คำสัญญาที่ทำให้เหยื่อสนใจ เช่น ถ้าเราให้เงินไปก่อนในตอนนี้ เราจะได้เงินก้อนใหญ่กลับคืนมาในอีกไม่กี่วัน แต่สุดท้ายเงินที่เราคิดว่าจะได้คืน มันก็เป็นเพียงอากาศ
ตัวอย่างที่เห็นบ่อยในบ้านเรา คือ การเชิญชวนสมัครงาน ที่มาทั้งในรูป SMS, ข้อความทาง LINE และการโทรศัพท์
💬 “คุณยังกังวลใจเพราะไม่มีรายได้อยู่ไหม ทางเราร่วมมือกับทาง (บริษัทชื่อดัง) รับสมัครงาน หาเงินง่าย ๆ วันละ 3,000 บาท …. ”
พอเราติดต่อไปว่าสนใจอยากเข้าทำงานที่นั่น ปลายสายจะให้เราโอนเงินเข้าไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าสมัคร ค่าแรกเข้า หรือค่าธรรมเนียมอะไรก็ตาม แต่แท้จริงแล้วมันไม่มีงานที่ว่าหรอก เงินที่เราโอนไปก็เสียไปฟรี ๆ
ในยุคที่ผู้คนลำบาก หางานทำยาก และรายได้ขัดสน มิจฉาชีพรู้เสมอว่าเราอยากได้อะไร และต้องทำยังไงเราถึงจะตกหลุมพรางที่วางไว้
แต่ถ้านึกให้ดี การทำงานในชีวิตจริงมันมีน้อยมากที่เราต้องจ่ายเงินให้นายจ้างก่อนเริ่มงาน อาจมีอาชีพเฉพาะทางบางอย่างที่ต้องทำหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee : LG) แต่นั่นเป็นธุรกรรมที่ต้องทำกับธนาคาร ไม่ใช่นายจ้าง !!
👻 2. กลโกงปั่นแล้วเท (Pump and Dump Scam)
วิธีนี้มิจฉาชีพจะกล่อมให้ผู้คนมาลงทุนในสิ่งของบางอย่าง ปั่นราคาสิ่งนั้นให้สูงขึ้น แล้วเทขายตอนที่ราคาแพงมาก ๆ ทิ้งให้ผู้คนที่เข้ามาด้วยความหวัง ต้องเผชิญกับผลขาดทุนมหาศาล
พบได้บ่อยในสิ่งที่กำลังเป็นกระแส อย่างวงการคริปโทเคอร์เรนซี ที่มิจฉาชีพจะสร้างกลุ่มลับ (มักเป็นกลุ่มใน Telegram) เพื่อใช้สื่อสารกับนักลงทุน และทำให้เราดูเหมือนเป็นคนพิเศษที่รู้ข้อมูลก่อนใคร
โดยมักจะเชิญชวนให้มาลงทุนในเหรียญของกลุ่มมิจฉาชีพเอง พร้อมกับปล่อยรูปภาพ หรือคลิปตัวอย่างของเกมให้นักลงทุนรู้สึกสนใจ อยากลองเข้ามาเล่น และเชื่อว่าในอนาคตจะมีเกมออกมาให้เล่นแน่นอน
จากนั้นก็สร้างความหวังและทำให้ดูน่าเชื่อ ด้วยการปั่นราคา เพื่อให้คนทั่วไปคิดว่าเหรียญนี้กำลังเป็นที่นิยม ทำให้คนแห่เข้ามาซื้อเหรียญจนราคาขึ้นไปสูงมาก
สุดท้ายมิจฉาชีพก็จะเทขายเหรียญที่ตัวเองมี ทำกำไรแล้วหนีไปพร้อมกับเงินก้อนใหญ่ เกมที่ผู้คนวาดฝันไว้ก็เป็นเพียงแค่ความฝัน
👻 3. กลโกงปอนซี (Ponzi Scam)
กลโกงนี้ตั้งชื่อตาม นายชาร์ลส์ ปอนซี ชาวอิตาเลียน ที่เคยใช้กลยุทธ์นี้หลอกลวงชาวอเมริกันในปี 1920 โดยเขาสัญญากับนักลงทุนว่าจะสร้างผลตอบแทนได้ 100% ภายใน 90 วัน
แต่ในความจริงแล้ว เขาก็แค่เอาเงินก้อนใหม่จากนักลงทุนรายใหม่ มาจ่ายให้กับนักลงทุนรายเก่า ก็เท่านั้นเอง ทำแบบนี้วนไปเป็นวงจรที่ไม่สิ้นสุด
1
ส่วนปัญหาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ นักลงทุนหลายรายต้องการถอนเงินออกพร้อมกัน กลโกงนี้ถึงจะระเบิดในที่สุด เพราะนำเงินมาคืนไม่ทัน
รู้สึกคล้าย ๆ กับ แชร์ลูกโซ่ มั้ยครับ ?
เวลามีใครมาการันตีผลตอบแทนให้แบบนี้ คิดไว้ก่อนได้เลยครับ ว่าน่าจะมาหลอกเราแน่ ๆ เพราะต่อให้นักลงทุนระดับโลกที่เก่งกาจแค่ไหน การจะสร้างผลตอบแทนให้ได้ 100% ในเวลาไม่กี่วัน โอกาสแบบนั้นแทบจะเกิดขึ้นได้น้อยมาก
📌 ที่เล่ามานี้เป็นเพียงบางส่วนของกลโกงทางการเงิน ในซีรีส์ Money, Explained ซึ่งในชีวิตจริง กลโกงทางการเงินนั้นมีหลายรูปแบบมาก บางครั้งอาจจะมาในรูปของวิธีทำการตลาด หรือการใช้หลักจิตวิทยาและความกลัวเพื่อเล่นงานเหยื่อก็มีครับ
อยากให้ทุกคนไปดูต่อกันครับ เพราะหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยป้องกันเราจากมิจฉาชีพได้ ก็คือ “ความรู้” นั่นเอง
ความรู้คืออาวุธ ติดอาวุธให้ดีก่อนออกรบ
George R.R. Martin ผู้แต่ง Game of Thrones (มหาศึกชิงบัลลังก์)
อ้างอิง
Money, Explained
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา