Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
happening
•
ติดตาม
6 พ.ค. 2022 เวลา 11:50 • การเมือง
สกลธีกับศิลปะ: การแสดงความคิดเห็นและวิสัยทัศน์ของ สกลธี ภัททิยกุล ต่อพื้นที่และหนทางในการสนับสนุนด้านศิลปวัฒนธรรมในกรุงเทพมหานคร
ตั้งแต่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2556 นับเป็นเวลาถึง 9 ปีที่คนกรุงเทพฯ จะมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกผู้ว่าฯ กทม. ด้วยตัวเองอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 การเลือกตั้งครั้งนี้จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะช่องทางการสื่อสารปัจจุบันที่เอื้อต่อการเข้าถึงข้อมูล ทำให้ประชาชนสามารถเปรียบเทียบนโยบายแต่ละด้านของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้สะดวกขึ้น แต่นอกเหนือจากพื้นที่ประชาสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้สมัคร ข่าวรายวัน และเวทีที่หน่วยงานต่างๆ รวมถึงภาคเอกชนจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ขึ้นมาประชันแนวคิดกันแล้ว ในฐานะที่ happening เป็นสื่อมวลชนด้านศิลปวัฒนธรรม จึงหวังว่าจะได้ฟังวิสัยทัศน์ด้านศิลปวัฒนธรรมในเมืองหลวงแห่งนี้ของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กันบ้าง
ทีม happening จึงเชิญผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มาร่วมพูดคุยถึงนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรมของพวกเขาในซีรีส์สัมภาษณ์ครั้งนี้ และผู้สมัครในนามอิสระท่านที่สองที่ตอบรับมาคือ สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพฯ เขต 4 พรรคประชาธิปัตย์, อดีตแกนนำกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และ อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ
การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ เขาใช้เวลาขณะกำลังเดินทางลงพื้นที่หาเสียงพูดคุยกับเราบนรถ โดยมีสภาพการจราจรขณะเดินทางในเมืองหลวงแห่งนี้เป็นฉากหลัง
แล้วคนกรุงเทพฯ จะมีเส้นทางที่พวกเขาสามารถเดินทางเข้าถึงความเป็นศิลปะในอนาคตได้หรือไม่ เราจะไปรับฟังจากผู้สมัครเบอร์ 3 คนนี้กัน
คุณคิดว่าศิลปะมีความสำคัญต่อเมืองอย่างไร?
ผมขอตอบแบบนี้ดีกว่า เมืองที่ไม่มีศิลปะมาช่วยขับเคลื่อน จะเป็นเมืองที่ไร้หัวใจ ขาดสีสัน ขาดอารมณ์ศิลปะเหมือนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างคุณค่าทั้งในชีวิตเราเอง ไปจนถึงเมือง บางครั้งรูปแบบของเมืองขับเคลื่อนด้วยศิลปะด้วยซ้ำ เพราะศิลปะที่เราพูดถึงมันไม่ได้จำกัดอยู่แต่รูปวาด ผมคิดว่ามันกว้างกว่านั้น สำหรับกรุงเทพฯ เอง เรามีปัญหาเยอะอยู่แล้วนะครับ ถ้าเราได้เติมแต่งด้วยศิลปะเข้าไปบ้าง มันคือการปล่อยของของคนกรุงเทพฯ ด้วยศิลปะ เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้เสพไปด้วยกันครับ มีความสุขไปด้วยกัน
อยากทราบความคิดเห็นของคุณต่อพื้นที่ศิลปะในกรุงเทพฯ ว่ามีเพียงพอหรือไม่?
ผมว่ามันไม่พอกับคนที่อยู่ ถึงในช่วงหลังอาจจะมีแกลเลอรี่ศิลปะเล็กๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะก็ตาม แล้วดีมากด้วย ก่อนนี้บางทีสุดสัปดาห์ผมก็ชอบไปดูงานตามแกลเลอรีหลายที่ อย่าง MOCA Bangkok หรือ Bangkok City City Gallery ไล่ไปจนถึงเจริญกรุง แต่ผมคิดว่าภาครัฐอาจจะต้องสนับสนุนมากกว่านี้ ไม่งั้นเขาอยู่ไม่ได้ ศิลปินเองก็อยู่ไม่ได้ เรามีทั้งศิลปินเก่งๆ รุ่นใหม่ๆ ก็เยอะ พวกคิวเรเตอร์ก็เก่งเยอะ แต่ไม่มีพื้นที่ ซึ่งมันต้องมีทั้งสองมิติ คนเดินเข้าหาศิลปะ กับ ศิลปะอยู่รอบตัวคุณ
อย่างที่เราเห็น ช่วงหลังเรามีงานดีดีหลายงาน เป็นออนกราวน์อีเวนต์ (on-ground event) โดยนำศิลปะเข้ามาผสมผสานกับสถานที่หรือชุมชน อย่าง Awakening Bangkok ซึ่งมันสร้างคุณค่าทั้ง หนึ่งการนำสถานที่ที่ไม่ได้ใช้แล้วแต่ว่ามีคุณค่าทางวัฒนธรรมหรือคุณค่าของศิลปะ ด้วยตึกเก่าหรือสถานที่มาใช้ประโยชน์
สองคือ ผมคิดว่าชุมชนรอบข้างที่เป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ซึ่งมีอยู่แล้วได้คึกคักขึ้น เพราะว่าก่อนสถานการณ์โควิดอาจจะมีนักท่องเที่ยวเยอะ แต่เมื่อนักท่องเที่ยวซาไป เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ศิลปะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับเมืองได้แน่ ๆ แต่มันเป็นเรื่องยากที่จะให้ภาคใหญ่เข้าใจ ซึ่งผมอยากให้คุณค่าตรงนี้มากขึ้น เพราะผมว่ามันสำคัญพอ ๆ กับเรื่องรถติดหรือปรับทางเท้า ผมอยากเห็นเมืองของเรามีชีวิต ผมสามารถสร้างกรุงเทพฯ ให้มีชีวิตชีวา ด้วยศิลปวัฒนธรรมได้แน่นอน
นโยบายด้านศิลปวัฒนธรรมของคุณเป็นอย่างไร?
ใน 'สกลธีโมเดล' ผมพูดกับคน 3 วัยกับ 3 ปัญหาที่ต้องเจอ และผมใส่เรื่องของศิลปวัฒนธรรมไว้ในทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนทำงาน และกลุ่มคนสูงวัยและคนพิการ ทั้งสามกลุ่มสามารถเป็นผู้สรรสร้างศิลปะได้ทั้งสิ้น ผมจะทำต้นทางให้เบ็ดเสร็จไปจนถึงปลายทาง ตั้งแต่การปรับหาสถานทื่ ประสานหาแหล่งเงินทุน จับคู่กับศิลปิน
นโยบายของผมให้ความสำคัญกับการสร้างชุมชน และมีทุกอย่างเบ็ดเสร็จในแต่ละชุมชม โดยเราจะจัด 1 อีเวนต์ใหญ่เป็นเหมือนซิกเนเจอร์อีเวนต์ (signature event) ของกรุงเทพฯ ประจำปีไปเลย สร้างความต่อเนื่องด้วยดาวกระจายเป็นศิลปะชุมชนที่แตกต่างกัน เป็นกิจกรรมในย่านที่มีศักยภาพของแต่ละเขต ส่งเสริมให้มีการทำถนนคนเดิน ที่จัดเป็นการแสดงศิลปะหรือรูปแบบคล้ายๆ
ผมคิดว่าแต่ละเขตมีศักยภาพเยอะมาก เพียงแต่อาจจะต้องได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งผมอยากจะทำในหลายๆ จุด เพราะว่าลำพังชุมชนหรือเอกชนอาจจะลำบากในการจัด ผมว่ามันจะช่วยฟื้นฟูย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ และต่อยอดไปเรื่องเศรษฐกิจได้อีกเยอะครับ
ถ้าเป็นชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาอาจจะเป็นแบบหนึ่ง ชุมชนฝั่งกรุงเทพฯ เขตตะวันออก เช่น คลองสามวาหรือหนองจอก ซึ่งเขาอาจจะมีที่นา ทุ่งนา ก็จะเป็นธีมหนึ่ง แต่ละโซนของกรุงเทพฯ มีความแตกต่างและมีเสน่ห์ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของข้าราชการหรือเอกชนในการร่วมมือกันหาจุดเหล่านี้ ผมว่าจุดอย่างนี้มันมีเยอะมาก บางครั้งเราอาจจะโหยหาอดีตเก่าๆ ด้วย และมีที่เยอะมากมายที่ถูกทิ้งไป
ถ้าเรานำมาปรับโดยใช้มุมมองของคนทำงานด้านศิลปะ เขาจะสามารถทำให้สถานที่ที่ดูไม่มีอะไร มีอะไรได้ ซึ่งผมเชื่อว่าเรามีคิวเรเตอร์เก่งๆ เยอะมากครับที่จะมาสรรสร้างงานได้แน่นอน
การสมัครลงเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่าฯ ทำให้เดินสายค่อนข้างเยอะ คุณมองเห็นอะไรบ้าง?
ผมเห็นกรุงเทพฯ ในมุมใหม่ การมีรากเหง้าที่สวยงามกับการแต่งเติมที่ผสมผสาน ปกติผมก็เหมือนคนเมืองกรุงทั่วไป เรานั่งรถทำงานอยู่บนถนนใหญ่ซะเยอะ ไม่ค่อยมีโอกาสไปดูตามตรอกซอกซอย เวลาไปหาเสียงมันมีโอกาสได้ไปเห็นอะไรมากขึ้น ซึ่งบางครั้งเราอาจจะเคยเห็นมาแล้วตั้งแต่เด็กๆ แล้วไม่ได้เห็นมานานมาก ซึ่งเราอาจจะลืมตรงนั้นไป แต่ว่าพอมาดูละเอียดมากขึ้นผมว่าแต่ละเมือง แต่ละชุมชน แต่ละโซนของกรุงเทพฯ มีเสน่ห์ของมัน เพราะฉะนั้นถ้ามีการกระตุ้นแล้วมีการช่วยเหลือโดยการเอาศิลปะไปจับผมว่ามันน่าจะไปได้ดีครับ
นโยบายลักษณะนี้น่าจะต้องสื่อสารกับคนในชุมชนพอสมควร คุณคิดว่าจะสามารถสื่อสารให้คนมีความเข้าใจตรงกันได้ไหม?
ผมคิดว่าถ้าเราทำความเข้าใจ เขาน่าจะรับและเห็นด้วย เพราะว่าสิ่งที่เรากำลังจะนำไปทำเหมือนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนเขาด้วย ซึ่งผมว่าตอนนี้คงเป็นเหมือนกันหมดทุกชุมชน เพราะว่าเดิมเราจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาปีนึง 40-50 ล้านคน แล้วตอนนี้หายไปเหลือไม่กี่เปอร์เซ็นต์ใช่ไหมครับ
ถ้าคนไทยเที่ยวกันเองก็ยังโอเค แต่ผมคิดว่าไม่เพียงพอ เพราะว่าบ้านเราเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยว และชาวต่างชาติสนใจเยอะ ถ้าเราเอาศิลปะเข้าไปจับ แล้วทำให้ชุมชนของเขาการค้าขายคึกคักมากขึ้น อาจจะขายของที่เขามีอยู่แล้ว แต่ว่าขายดีขึ้น 3-4 เท่าตัว ผมว่าน่าจะดีสำหรับทุกฝ่ายครับ
และการท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมมันไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นอาร์ตพีซ (Art Piece) อย่างเดียว ถูกไหมฮะ มันอาจจะเป็นมรดกวัฒนธรรม พอไปถึงอาจจะเป็นเก้าอี้เก่าๆ ซึ่งมันหาไม่ได้แล้วในปัจจุบัน เป็นของโบราณในชุมชน 30-40 ไปที่เขายังคงวิถีเดิมๆ ซึ่งเขาอาจจะทำอย่างอื่นขายด้วย
เหมือนอย่างเช่น ผมเคยไปคลองบางหลวง วัดกำแพง ตรงภาษีเจริญ ตรงนั้นน่ารักมากเลย เขาอยู่เป็นชุมชนของเขา ซึ่งผมว่ามันน่าสนใจ มันมีเรื่องราวที่ ขายได้ เพียงแต่ว่าต้องการให้ภาครัฐเข้าไปกระตุ้น หนึ่งเรื่องของการประชาสัมพันธ์ และสองการเดินทางไปถึง เพราะว่าตรงนั้นเดินทางเข้าไปยากนิดนึง ถ้าภาครัฐหรือกทม.เข้าไปช่วย ก็จะทำให้ย่านนั้นการท่องเที่ยวคึกคักมากขึ้น
แสดงว่าการนำศิลปะเข้าไปในชุมชน หรือให้คนสามารถเข้าถึงศิลปะในชุมชนมากขึ้น มีองค์ประกอบอื่นๆ มาเกี่ยวข้องด้วยใช่ไหม?
มีหลายอย่างครับ ยกตัวอย่างงาน Awakening Bangkok สะดวก เพราะว่าสามารถนั่งรถไปถึงครับ แต่ว่าในบางย่านบางชุมชนบางครั้ง อาจจะไปยากนิดนึง ในการเชื่อมต่อระบบขนส่ง ผมคิดว่าถ้าเราทำโดยรวมทั้งระบบในการสนับสนุน น่าจะทำให้มันบูมขึ้นมาง่ายยิ่งขึ้นครับ
ไม่เฉพาะเรื่องคมนาคมนะครับ เราอาจจะใช้ศักยภาพของกรุงเทพมหานครในด้านอื่นๆ ในกรุงเทพมหานครเรามีสวนสาธารณะเยอะมากที่มีการดูแลอย่างสวยงาม เราอาจจะจัดให้มีการแสดงดนตรีในสวน หรือว่าให้โอกาสกับศิลปินใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านดนตรี แสง สี เสียง หรือกิจกรรมวาดภาพ ให้เขาได้ใช้พื้นที่ของกทม.ในการที่จะนำเสนอผลงานของเขา เพราะว่าสำหรับศิลปินรุ่นใหม่อาจจะยากที่จะไปใช้พื้นที่แกลเลอรีหรือพื้นที่ศิลปะต่างๆ แต่ว่าถ้าเราช่วยเขาผมว่าจะเป็นการสนับสนุนอีกทางครับ
เพราะศิลปะมันอาจจะไม่ได้เป็นการแสดงในหอศิลป์อย่างเดียว ถูกไหม เช่น การแสดงดนตรีหรือศิลปะอื่นๆ อาจจะใช้ป้อมพระสุเมรุก็ได้ หรือว่าเป็นที่ต่างๆ ที่กทม.ดูแล แล้วเป็นที่ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม อาจจะเป็นสถานที่เก่าๆ นำมาแสดงเป็นศิลปะสมัยใหม่ ซึ่งมันจะคอนทราสกันนิดนึง
ผมคิดว่ามันก็ดูดีและไม่เพียงแต่คนไทยสนใจ ชาวต่างชาติก็คงจะสนใจมากเมื่อเปิดประเทศกลับมา เพราะว่าบ้านเขาอาจจะไม่มีแบบนี้ แต่ละประเทศก็โดดเด่นต่างกันไป แต่ของบ้านเราผมว่ามันมีเสน่ห์ทั้งความเป็นเมืองเก่าและมีแม่น้ำลำคลอง ซึ่งถ้าหาจุดดีๆ ผมว่ามันสวยงาม อาจจะเหมือนญี่ปุ่นเลยที่เขาเก่งในด้านที่เอาศิลปะวัฒนธรรมของเขามารวมกันสถานที่ท่องเที่ยว ผมว่าจะทำให้คนสนใจครับ
คุณคิดว่าอยากสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมในแง่มุมไหนได้อีกบ้าง?
ส่วนตัวผมกว่าจะเข้าสู่วงการที่ชื่นชอบศิลปะอาจจะตอนอายุสามสิบกว่าแล้ว แต่สำหรับเด็กยุคนี้ผมดีใจที่เขาสามารถไปเที่ยวโดยไม่จำเป็นว่าต้องไปเดินห้างสรรพสินค้าหรือไปต่างประเทศอย่างเดียว เขาจะหากิจกรรมดีๆ อย่างเทศกาลต่างๆ ที่ทำให้ได้เดิน ได้เที่ยวอยู่ในชุมชนได้ไปซึมซับบรรยากาศ ซึ่งผมคิดว่ามันดีมาก เราไม่จำเป็นต้องไปเที่ยวสถานที่แพงๆ หรือห้างสรรพสินค้าในวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ว่าเราหากิจกรรมแบบที่คนสามารถเดินสบายๆ ดูศิลปะ แล้วเป็นการอุดหนุนศิลปินหน้าใหม่ด้วย เพราะว่าเขาอาจจะไม่ได้เข้าไปซื้อภาพ แต่ว่าการเข้ามาดูทำให้คนที่เขาทำงานศิลปะมีกำลังใจที่จะทำงานต่อ
ผมจึงอยากสนับสนุน ผมคิดว่านักศิลปะบ้านเราไม่ว่าจะเป็นแขนงไหนหรือเรื่องดนตรี มีความสามารถมาก แต่ว่าอาจจะต้องได้รับการสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชนมากกว่านี้นะครับ คือถ้าผมได้มีโอกาสทำงานในกรุงเทพมหานคร ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นตัวเชื่อมในการหาสถานที่ที่เราดูแลอยู่สำหรับจัดกิจกรรมใดๆ ก็ตามหรือจัดเทศกาลศิลปะใหญ่ๆ ถ้ามีความเป็นไปได้ที่จะจัดขึ้นมาทำให้ดูยิ่งใหญ่เพื่อนำเสนอประเทศของเรา ผมอยากทำตรงนั้น
ในส่วนของกรุงเทพมหานคร เรามีที่รกร้างว่างเปล่าเยอะ ถ้าตรงไหนมีศักยภาพผมอยากทำคล้ายๆ กับโคเวิร์กกิ้งสเปซ มิวเซียม หรือพื้นที่ศิลปะเล็กๆ ให้คนที่เป็นศิลปินหน้าใหม่ได้มาใช้ประโยชน์ตรงนั้น เพราะมันอิงกับวิถีชีวิตกับคนในชุมชน ซึ่งเป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่ง คือเป็นการเอื้อทั้งคู่ ศิลปินหน้าใหม่ก็มีที่ยืน และคนในชุมชนที่เขาอยู่ก็ได้รับการคึกคักที่มีคนมาเยี่ยมชม มาดู
อำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครมีขีดจำกัดอะไรบ้าง?
ขีดจำกัดผมว่าหลักๆ คือเรื่องงบประมาณ เพราะว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ครับ ปัญหาเยอะมาก หลายท่านอาจจะทราบว่ากรุงเทพมหานครปีนึงเราได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลประมาณเกือบ 8 หมื่นล้านบาทกลมๆ นะครับ แต่เป็นเงินเดือนเดือนไปแล้วถึง 40% แล้วจะต้องนำมาแก้เรื่องการจราจร น้ำท่วม ภูมิทัศน์ ทุกอย่าง
เพราะฉะนั้นที่เหลือต้องบริหารจัดการให้ดีว่าจะนำมาทำจุดนี้ให้กับชาวกรุงเทพฯ อย่างไร ผมว่าตรงนั้นเป็นเรื่องของงบประมาณ แต่เรื่องของการช่วยเหลือหาสถานที่ไม่มีปัญหา ถ้างบประมาณมีเพียงพอแล้วมันได้ มันสามารถทำกิจกรรมหลากหลายได้มากๆ ไม่เพียงแต่เทศกาลแต่ว่าเรื่องของการปิดถนนคนเดินช่วยในเรื่องของศิลปะทำได้อยู่แล้วครับ
อำนาจหน้าที่ของผู้ว่ากทม.ไม่ได้ดูเบ็ดเสร็จทุกอย่าง จึงต้องมีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมมือกันเยอะ เพราะว่าเวลาที่ต้องปิดถนนหรืออำนวยความสะดวกเรื่องจราจร ต้องอาศัยการประสานงานและการบูรณาการกับหลายๆ หน่วยด้วย ผมคิดว่ามันไม่เกินความสามารถที่จะทำได้ แต่ผมคิดว่าทุกฝ่ายมีใจที่จะจัดกิจกรรมแบบนี้อยู่แล้ว เพราะว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา หลายๆ อย่างมันซบเซาลงไปมาก
เราพยายามจะช่วยผู้ประกอบการในทุกๆ ด้าน อย่างถนนข้าวสารก็พยายามกระตุ้นให้ได้ เพราะถนนข้าวสารสามารถจัดเป็นถนนสายศิลปวัฒนธรรมได้ เรามีหลายๆ จุดหลายชุมชนที่เอาศิลปะเข้าไปบวกได้ ถ้าเราพยายามเข้าไปช่วยเขา ยังไงโควิดต้องอยู่กับเรา แต่ต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาจับมือช่วยกันและฟันฝ่าเพื่อให้กลับมาคึกคักเหมือนเดิมครับ
ส่วนตัวคุณมีความชอบหรือสนใจศิลปะด้านใดบ้าง?
ถึงจะวาดรูปไม่เก่งเอาซะเลยแต่ผมเป็นคนชอบวาดนะครับ แอ็บสแตรกอาจจะเข้าถึงยาก แต่ว่าจะชอบภาพวาดแบบที่มองแล้วรู้เลยนะครับว่าเป็นอะไร ถ้ามีการจัดคอลเลกชันของศิลปินที่ชอบ หรือถ้ามีโอกาสได้ไปดูตามมิวเซียมในต่างประเทศผมก็จะตามไปดู
ส่วนใหญ่ผมจะชอบศิลปินไทยนะครับ ถ้าเป็นศิลปินไทยอย่าง คุณจิรภัทร ทัศนสมบูรณ์ เป็นศิลปินไทยที่ผมชอบมาก เพราะว่าผมชอบในลักษณะที่มีความเป็นไทยผสมกับตะวันตก คุณจิรภัทรจะวาดภาพตัววรรณคดีไทยแล้วทวิสต์ไปกับภาพของต่างประเทศที่มีชื่อเสียง หรือผลงานของ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี, อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ผมก็ชอบ ผมจะชอบศิลปินไทยหลายๆ ท่าน
แต่ว่าถ้าเป็นแนวเพลง ส่วนใหญ่ผมจะชอบฟังเพลงสบายๆ อย่างเช่น เพลงแจ๊สสำหรับนั่งฟังในสวนเพื่อผ่อนคลายอะไรอย่างนี้ แต่ไม่มีศิลปินในดวงใจ หรือหนังภาพยนตร์อาจจะมีซีรีส์ทาง Netflix กับทาง Viu เป็นส่วนใหญ่นะครับหนังโรงจะชอบหนังที่เน้นไปทางแอคชั่นกับคอมมิดี้เป็นหลัก และผมจะชอบเรื่องแนวสืบสวนสอบสวน แนวลึกลับด้วย จะชอบแนวนั้นเป็นหลัก
หนังสือส่วนใหญ่ผมจะอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจหรือการใช้ชีวิตหน่อย เช่น ของพี่หนุ่มเมืองจันท์ หรือว่า อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ แต่ถ้าตอนเด็กๆ จะอ่านนิยายทั่วไป พวกแฮรี่ พอตเตอร์หรือนิยายสมัยนั้นตอนที่เราเด็กๆ ครับ
คุณคิดว่าคุณได้รับอะไรจากศิลปะบ้าง?
แน่นอนว่าศิลปะมันทำให้เราอารมณ์เบาลง มีความสุนทรีย์ และผมเชื่อว่าศิลปินอยากให้คนเสพงานมีความสุข อย่างสมัยก่อนตอนที่ผมยังไม่เริ่มเข้ามาชอบด้านศิลปะ ที่บ้านก็จะว่างๆ ผนังก็จะโล่งๆ แต่ผมคิดว่าศิลปะมันทำให้สถานที่นั้นๆ มีชีวิตชีวาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด หรือประติมากรรมต่างๆ พอวางลงไปในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ทำให้ดูมีอะไรมากขึ้น จากบ้านที่เรียบๆ ดูมีอารมณ์อะไรแบบนี้ บางทีที่ผมกลับมาบ้านเหนื่อยๆ คือผมเป็นคนง่ายๆ ชอบอยู่บ้านเป็นหลัก ผมอาจจะนั่งดูรูป ดื่มเครื่องดื่มอะไรสักหน่อยนึงก็มีความสุข ผมคิดว่าเวลาที่เราเครียดๆ หรือว่าเหนื่อยจากการทำงาน ศิลปะทำให้ใจเราสงบยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดูภาพศิลปะหรือว่าการฟังเพลง
หมายเหตุ: ติดตามบทสัมภาษณ์ของผู้สมัครผู้ว่าฯ ท่านอื่นๆ ได้ต่อไปในเพจเฟซบุ๊ก happening mag และเว็บไซต์
happeningandfriends.com
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย