8 พ.ค. 2022 เวลา 12:19 • ธุรกิจ
“แอนดรูว์ คาร์เนกี” จากแรงงานอพยพสู่มหาเศรษฐี
2
ในยุคศตวรรษที่ 19 เหล็กกล้าถือเป็นอุตสาหกรรมที่นำสมัย ถูกใช้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในระบบอุตสาหกรรม เรียกได้ว่าถ้าใครสามารถครอบครองอุตสาหกรรมได้ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ก็แทบจะสามารถบันดาลได้ทุกอย่าง
2
และชายผู้หนึ่งซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็นราชาแห่งเหล็กกล้า มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดแห่งยุคนั้น เขาคือคุณแอนดรูว์ คาร์เนกี ผู้ที่อพยพหนีความยากจนข้นแค้นมาแสวงโชคในสหรัฐฯ จนประสบความสำเร็จและยังส่งต่อโอกาสให้เพื่อนมนุษย์ด้วยเงินบริจาคจำนวนมหาศาลตลอดช่วงชีวิตของเขา
ในบทความนี้ Bnomics จะพาทุกคนไปรู้จักกับคุณแอนดรูว์ คาร์เนกี มหาเศรษฐีแห่งยุคศตวรรษที่ 19 คนนี้ให้มากขึ้น
📌 จากเส้นด้ายสู่เหล็กกล้า…จากสก็อตแลนด์สู่สหรัฐอเมริกา
คุณแอนดรูว์ คาร์เนกี เกิดเมื่อปี 1835 ในสก็อตแลนด์ เป็นลูกชายคนที่สองของครอบครัว มีพ่อเป็นช่างทอผ้า และแม่ทำงานเป็นช่างเย็บให้กับร้านทำรองเท้าในท้องถิ่น
ในปี 1848 ครอบครัวคาร์เนกีได้ตัดสินใจอพยพหนีความยากจนจากสก็อตแลนด์ไปยังสหรัฐฯ เพื่อหวังว่าจะมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ครอบครัวของเขาจึงได้ไปตั้งรกรากอยู่แถวรัฐเพนซิลเวเนีย
แต่ด้วยความที่คุณแอนดรูว์ที่ได้ร่ำเรียนมาแค่ไม่กี่ปีก่อนที่จะอพยพมาจากสก็อตแลนด์ เขาจึงเป็นได้แค่เพียง Bobbin boy หรือเด็กปั่นกระสวยด้ายในโรงงานผ้าฝ้าย ที่ได้ค่าจ้างเพียง 1.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อสัปดาห์เพียงเท่านั้น
1
แต่ความทะเยอทะยานและมุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก คุณแอนดรูว์จึงได้ทำงานหลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเด็กส่งเอกสารในสถานีโทรเลข เป็นเลขานุการ และผู้ดำเนินการโทรเลขให้แก่คุณโทมัส สกอตต์ ผู้อำนวยการของบริษัทรถรางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้นอย่าง Pennsylvania Railroad
1
จนกระทั่งในปี 1859 เขาจึงได้ไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการประจำสาขาพิตส์เบิร์กแทน ในขณะที่ดำรงตำแหน่งอยู่นั้น เขาสร้างกำไรมากมายจากการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน, เหล็กกล้า และบริษัทน้ำมัน รวมไปถึงบริษัทผู้ผลิตรถนอน
หลังจากออกจากบริษัทรถรางไปในปี 1865 เขาจึงก้าวเข้าสู่โลกของธุรกิจต่อไป เมื่ออุตสาหกรรมรถไฟของสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เขาจึงได้ขยายการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับรถราง
2
และก่อตั้งกิจการ เช่น บริษัทสร้างสะพานเหล็ก (Keystone Bridge Company) และบริษัทโทรเลข โดยมักจะใช้คอนเนคชั่นที่เขามีเพื่อชนะสัญญาภายใน ตอนที่เขาอายุเพียงแค่ 30 ต้นๆ เขาจึงได้เริ่มกลายมาเป็นชายผู้มั่งคั่ง ด้วยรายได้กว่าปีละ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
📌 ราชาแห่งอุตสาหกรรมเหล็ก
ในช่วงต้นทศวรรษ 1870 คุณแอนดรูว์ ได้ร่วมก่อตั้งบริษัทค้าเหล็กแห่งแรกของเขาใกล้กับเมืองพิตส์เบิร์ก เขาก่อตั้งโรงงานผลิตเหล็กแห่งแรกในสหรัฐฯ โดยใช้กระบวนการเบสเซเมอร์ (Bessemer Process) ที่เป็นนวัตกรรมใหม่จากสหราชอาณาจักรทำให้บริษัทของเขาสามารถผลิตเหล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในเวลานั้น
และเพียงไม่กี่ทศวรรษต่อจากนั้น เขาได้ก่อตั้งอาณาจักรเหล็กกล้า สร้างกำไรสูงสุดและลดการดำเนินงานที่ไร้ประสิทธิภาพลงด้วยการเป็นเจ้าของโรงงาน วัตถุดิบ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเหล็ก
จนกระทั่งในปี 1892 ธุรกิจหลักที่เขาถืออยู่ได้ถูกควบรวมเข้ากันแล้วก่อตั้งเป็น Carnegie Steel Company
3
ในปี 1900 Carnegie Steel สามารถผลิตเหล็กได้มากกว่าทั้งหมดในสหราชอาณาจักรมารวมกัน กำไรของบริษัทสูงถึง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปีถัดมาเขาได้ขายบริษัทของเขาให้กับ J.P. Morgan ไปด้วยมูลค่า 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยที่เขาได้ส่วนแบ่งไปทั้งหมด 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบเท่ากับเงินมูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน)
เขาจึงได้กลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกในขณะนั้น ก่อนที่จะเกษียณตัวเองและอุทิศตนให้กับกิจกรรมการกุศลด้วยการบริจาคเงินจำนวนมหาศาล สร้างห้องสมุดกว่า 2,500 แห่ง อีกทั้งยังจัดตั้งกองทุนเกี่ยวกับการศึกษาอีกมากมาย เพื่อสนับสนุนให้เด็กได้เรียนสูงๆ เนื่องจากเขาเชื่อเหลือเกินว่า ใครก็ตามที่เขาถึงหนังสือ และมีความปรารถนาที่จะเรียนรู้ จะนำไปสู่ความสำเร็จได้เหมือนกับที่เขาเคยเป็น
12
เรื่องราวของคุณแอนดรูว์ คาร์เนกี คงจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน แม้เขาจะเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ไม่ได้เรียนจบการศึกษาสูงๆ แต่ด้วยความทะเยอทะยานและไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เขาก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในชายผู้ร่ำรวยที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ด้วยมือของเขาเอง
2
Do your duty and a little more
and the future will take care of itself.
(ทำหน้าที่ของคุณ และก็ทำอีกสักหน่อย
แล้วต่อไปอนาคตจะดูแลตัวมันเอง)
Andrew Carnegie
7
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
เครดิตภาพ : Library of Congress, Washington, D.C. via Britannica และ Buyenlarge / Getty Image via Forbes
1
โฆษณา