8 พ.ค. 2022 เวลา 14:26 • สุขภาพ
#MythsaboutBipolarDisorder
ต่อจากข้อแรกที่เราโพสต์ไปเมื่อ World Bipolar Day (30 มีนาคม) โพสต์นี้เรายังชวนทุกคนมาทำความเข้าใจโรคไบโพลาร์อย่างถูกต้อง ลบความเข้าใจและภาพจำผิด ๆ ของโรคไบโพลาร์ทิ้งไป
Myth #2 - เอะอะตบ เอะอะต่อย นิดหน่อยก็ใช้กำลัง เป็นไบโพลาร์ปะเนี่ย? -
คนที่มีโรคไบโพลาร์เป็นคนที่ชอบใช้ความรุนแรงเสมอเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง จริงอยู่ที่โรคไบโพลาร์อาจก่อให้เกิดความรู้สึกฉุนเฉียว หงุดหงิด หรือทำอะไรแบบหุนหัน แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเหล่านั้นจะต้องก่อความรุนแรงเสมอไป
มีงานวิจัยที่บอกว่าคนที่มีโรคไบโพลาร์มีความเสี่ยงในการก่ออาชญากรรมมากกว่าคนที่ไม่มีโรคไบโพลาร์ แต่โดยส่วนมากพบว่า การก่ออาชญากรรมเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีประเด็นเรื่องยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง และผู้ที่มีโรคไบโพลาร์โดยไม่มียาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้มีความเสี่ยงในการก่อความรุนแรงมากไปกว่ากลุ่มประชากรทั่วไปเท่าไหร่นัก
ดังนั้นภาพจำที่ว่าคนที่มีโรคไบโพลาร์เป็นผู้ที่ก่อความรุนแรง เป็นกลุ่มคนที่น่ากลัว มักเป็นความเชื่อที่ผิด การจะทำความเข้าใจในเรื่องการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและต้องมองลงไปให้มากกว่าแค่ตัวโรคทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์การรับรู้ความรุนแรงในอดีต การใช้สารเสพติด และเหตุจูงใจของสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน
โรคไบโพลาร์ ไม่เท่ากับ ความรุนแรง
โฆษณา