8 พ.ค. 2022 เวลา 14:34 • ครอบครัว & เด็ก
#MythsaboutBipolarDisorder
โพสต์สุดท้ายเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ที่ Psycholism อยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจและลบภาพจำผิด ๆ ของโรคนี้
Myth #4 - ถ้าลูกเป็นไบโพลาร์ ลูกก็ต้องไปหาหมอ รับการรักษา พ่อ/แม่คงช่วยอะไรลูกไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้วล่ะ
เป็นเรื่องดีที่คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดจะแนะนำให้ผู้ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับการมีโรคไบโพลาร์ให้เข้ารับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์และนักจิตวิทยา
แต่ความเข้าใจที่ว่าเราไม่สามารถช่วยอะไรผู้ที่มีโรคไบโพลาร์ได้เลยอาจเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะแท้จริงแล้วครอบครัวหรือคนใกล้ตัวมีผลอย่างมากต่อกำลังใจ การต่อสู้ และการปรับตัวของผู้ที่มีโรคไบโพลาร์ในขณะเข้าสู่กระบวนการรักษา
เราไปเจอ 8 ข้อนี้ที่คิดว่าครบมาก เลยยกมาแชร์กัน หวังว่าจะช่วยตอบคำถามด้านล่างนี้ได้
#เราจะเป็นกำลังสำคัญให้กับคนใกล้ตัวที่กำลังเผชิญกับโรคไบโพลาร์อยู่ได้ยังไงบ้าง?
1. ทำความรู้จักกับโรคไบโพลาร์ให้มากขึ้น
ขั้นตอนแรกในการช่วยเหลือผู้ที่กำลังเผชิญกับโรคโบโพลาร์คือ การทำความรู้จักกับโรคนี้ เพราะมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้มากมายที่คนใกล้ตัวควรทราบ รวมถึงการสังเกตเห็นความเสี่ยง หรือสัญญาณเตือนในเรื่องอาการซึมเศร้าและแมเนีย เพื่อเป็นกระจกช่วยสะท้อนให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวได้ตระหนักรู้ถึงพฤติกรรมของตนเองก็สำคัญเช่นกัน
2. รับฟังสิ่งที่เขาพูด
การต่อสู้กับโรคไบโพลาร์เป็นสิ่งที่ยากลำบากในตัวของมันเองอยู่แล้ว การมีใครสักคนให้สามารถระบายเรื่องนี้ได้ถือเป็นสิ่งล้ำค่าอย่างหนึ่ง การรับฟังที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้ที่มีโรคไบโพลาร์ได้ปรับอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกได้โดยที่ไม่คิดว่าตนเองแปลกแยกหรือถูกคนอื่นทอดทิ้ง
3. ถามในสิ่งที่ไม่รู้ อย่าคิดไปเอง
โรคไบโพลาร์อาจมีอาการหรือรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล การแสดงออกถึงความจริงใจและกล้าตั้งคำถามกับสิ่งที่เราไม่เข้าใจ จะช่วยให้ผู้ที่มีโรคไบโพลาร์ได้มองเห็นความจริงใจของเรา หลายครั้งการคาดเดาไปก่อนมักก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียน้ำใจจากคำพูดหรือการกระทำบางอย่างได้ แต่หากเราถามออกไปแล้วรู้สึกว่าอีกฝ่ายรู้สึกอึดอัดกับคำถามของเรา ก็อย่าเพิ่งรีบร้อนเอาคำตอบและอาจให้เวลาผู้ตอบจนกว่าเขาจะพร้อม
4. ย้ำเตือนว่าเราอยู่ข้าง ๆ
ผู้ที่มีโรคไบโพลาร์มักจะพัฒนาชุดความคิดว่า “ฉันอยู่ตัวคนเดียวในโลกนี้ ไม่มีใครอยู่ข้างฉันเลย” การย้ำเตือนว่าคุณเป็นหนึ่งในคนที่พร้อมจะยืนเคียงข้าง–ถึงแม้ว่าอาจไม่ได้เห็นด้วยไปกับทุกเรื่อง–เป็นสิ่งที่ต้องหมั่นย้ำอยู่เสมอ หลังจากนั้นการค่อย ๆ เสริมสร้างความมั่นใจและความรู้สึกดีต่อตนเองของผู้ที่มีโรคไบโพลาร์จะสามารถเกิดขึ้นตามมาได้
5. อย่าเร่งรัด กดดัน ให้เขาทำในสิ่งที่ไม่พร้อม
คนส่วนมากมักคิดว่าการเข้ารับการรักษาเป็นเรื่องที่ทำได้โดยง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วสังคมไทยยังคงตีตราและมีข้อกังวลเกี่ยวกับผู้ที่มีโรคไบโพลาร์ การไปหาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็เป็นสิ่งที่หลายคนในสังคมไทยยังมองว่าเป็นเรื่องแปลก นอกจากนั้นการกินยาหรือรับการบำบัดรักษาต่าง ๆ อาจทำให้เกิดความไม่สบายตัวขึ้น ดังนั้นอย่างเร่งรัดให้ผู้ที่มีโรคไบโพลาร์เข้ารับการรักษาใหม่ ๆ หากเขายังรู้สึกว่าไม่พร้อม
6. หากิจกรรมที่ทำร่วมกันได้
การแยกตัวทางสังคมเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในผู้ที่มีโรคไบโพลาร์ ลองชวนไปทำกิจกรรมง่าย ๆ ร่วมกันเช่น กินข้าว ดูหนัง ฟังเพลง รดน้ำต้นไม้ หรือไปทำธุระด้วยกัน จะช่วยต่อสู้กับการแยกตัวทางสังคมจากโรคไบโพลาร์ได้มากเลย
7. อดทนและเข้าใจ
ความอดทนและความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่คนรอบข้างควรมีเมื่อต้องให้การสนับสนุนผู้ที่มีโรคไบโพลาร์ การอดทนกับพฤติกรรมเล็กน้อยและเข้าใจสิ่งที่ผู้มีโรคไบโพลาร์สามารถทำได้จะเป็นกุญแจหนึ่งที่ทำให้การต่อสู้กับโรคไบโพลาร์เต็มไปด้วยกำลังใจจากคนรอบข้าง
8. ช่วยลดความเครียดในชีวิตของเขา
ความเครียดเป็นต้นตอสำคัญในการทำให้อาการของโรคไบโพลาร์แย่ลง ลองพยายามช่วยลดความเครียดของผู้มีโรคไบโพลาร์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยอาจลองเสนอกิจกรรมคลายเครียดหรือช่วยเหลือในด้านการหาข้อมูลเหล่านี้เพิ่มเติมได้
เราอยากย้ำอีกครั้งว่าคนใกล้ชิดอย่างคนในครอบครัวหรือเพื่อน เป็นหนึ่งในคนสำคัญที่สามารถช่วยให้ผู้ที่มีโรคไบโพลาร์สามารถต่อสู้กับโรคนี้และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งหมดหวัง หรือคิดว่าเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียว แต่ในระหว่างที่ร่วมกันฟื้นฟู ก็อย่าลืมดูแลใจตัวเองไปด้วย
โฆษณา