Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Mission To The Moon
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
9 พ.ค. 2022 เวลา 06:48 • ไลฟ์สไตล์
5 วิธีรับมือกับ "การจากลา" ให้เจ็บน้อยกว่าที่เคยเผชิญในอดีต
ตอนที่เรายังเด็ก เราไม่ได้คิดเรื่อง ‘การจากลา’ เท่าไรนัก เพราะเราเข้าใจว่าคนรอบตัวนั้นจะอยู่เคียงข้างเราตลอดไป… จนกระทั่งเพื่อนสนิทของเราต้องย้ายโรงเรียนกลางเทอม เราในวัยเด็กจึงได้รับรู้รสชาติของการจากลาเป็นครั้งแรก
ครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อสุนัขตัวโปรดของเราถูกรถชน
ครั้งที่สามเกิดขึ้นเมื่อเราเรียนจบประถมศึกษาและต้องย้ายไปโรงเรียนใหม่
ครั้งที่สี่เกิดขึ้นเมื่อเราเลิกกับแฟนคนแรก
ครั้งที่ห้าเกิดขึ้นเมื่อคนในครอบครัวต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ
ผ่านมาหลายสิบปี ตอนนี้เราในวัยทำงานเริ่มเข้าใจธรรมชาติของชีวิตแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอด และ ไม่มีใครอยู่เคียงข้างเราได้ตลอดไปนอกจากตัวเราเอง อย่างไรก็ตาม แม้เราจะฝืนกล้ำกลืนความจริงอันขมขื่นนี้มาหลายต่อหลายครั้ง มันก็ไม่ได้ช่วยให้การเผชิญหน้ากับ ‘การจากลา’ ครั้งต่อไปเจ็บปวดน้อยลงเลย
พอจะมีวิธีใดบ้างที่จะช่วยให้เรารับมือกับการจากลาได้ดีขึ้น?
เอฟ. ไดแอน บาร์ธ นักจิตบำบัดและนักเขียน ได้แนะนำ 5 วิธีที่จะช่วยให้การจากลาเจ็บปวดน้อยลง ไว้ในบทความ ‘5 Ways to Make Goodbye Less Painful’ เรามาดูกันดีกว่าว่า 5 วิธีนี้พอจะจดจำไปใช้จริงได้ไหม
1. ยอมรับความรู้สึกอันหลากหลาย
สมมุติว่าเรากำลังจะบินไปเรียนต่อต่างประเทศ สิ่งแรกที่เรารู้สึกอาจเป็น ‘ความตื่นเต้น’ ที่จะได้ไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ความรู้สึกต่อมาอาจเป็น ‘ความเศร้า’ ที่จะไม่ได้เจอพ่อแม่ แมวที่บ้าน และแฟน เป็นเวลาร่วมปี และท้ายที่สุดเราอาจจะรู้สึก ‘กังวล’ ว่าอนาคตจะราบรื่นดังที่จินตนาการไว้ไหม
จริงๆ การรู้สึกหลายๆ อารมณ์พร้อมกันเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นแทนที่จะเก็บกดความรู้สึกบางอย่างไว้และรับรู้แค่บางอารมณ์ (เช่น เก็บกดความเศร้า และเลือกที่จะตื่นเต้นอย่างเดียว เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรรู้สึกเวลาได้ไปเรียนต่อ) เราควรมีพื้นที่มากพอให้ทุกๆ อารมณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่ามันจะขัดแย้งกัน
ยิ่งยอมรับและปล่อยให้ตัวเองรู้สึกได้มากเท่าไร ยิ่งทำให้เราผ่านช่วงเวลาที่เจ็บปวดไปได้เร็วเท่านั้น
2. เชื่อมั่นในตัวเองว่าเราไม่ได้ตัดสินใจผิด
การลาจากเป็นเรื่องยาก แต่การที่เรารู้สึกเศร้าหรือกังวลกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราเลือกทางเดินที่ผิด หลายๆ ครั้งหนทางสู่โอกาสที่ดีที่สุด ก็อาจเริ่มต้นด้วยเส้นทางที่ขรุขระ อย่างการบอกลาชีวิตเดิมๆ ที่เราเคยชิน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคงจะเป็นการยุติความสัมพันธ์ บางคนเลือกที่จะเลิกกับแฟนเพราะการอยู่ด้วยกันมีแต่ปัญหา การแยกย้ายกันไปเติบโตนั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุด แม้เราจะเศร้ากับการสูญเสียครั้งนี้มากๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราตัดสินใจผิดพลาด
3. ระบายอารมณ์ออกมา
“How are you doing?”
“I’m fine. Thanks”
1
คุ้นๆ กับบทสนทนาด้านบนไหม ใช่แล้ว เมื่อมีคนถามว่า “เป็นไงบ้าง” เรามักจะตอบว่า “สบายดี” ตามมารยาทและความเคยชิน
1
แต่ครั้งนี้ลองตอบไปตรงๆ ดูว่าเรารู้สึกอย่างไร ไม่ว่าจะทุกข์ใจหรือกังวล ลองสื่อสารอารมณ์ออกมาให้เป็นรูปเป็นร่าง อย่างการเขียนบันทึก หรือ การบอกเล่าให้คนที่ไว้ใจฟัง การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น และช่วยให้อารมณ์ลบเบาลง เท่านั้นยังไม่พอ บทความจากเว็บไซต์ Forbes ยังระบุไว้อีกว่า การแสดงความอ่อนแอให้อีกฝ่ายเห็น ช่วยให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้น
4. ให้เวลาตัวเองในการไตร่ตรอง
ลองคิดถึงตอนที่เราจะออกจากงานเดิมที่สุดแสนจะ Toxic ดู พอรู้ว่าจะได้ไปจากที่นั่น เราก็ดีใจและพร้อมจะบอกลาแบบไม่เหลือเยื่อใย ประสบการณ์ด้านลบทำให้เราเลือกที่จะ ‘ปฏิบัติไม่ดี’ ต่อที่ทำงานเดิมได้ง่ายๆ อย่างการพูดจาไม่ดี ไม่รับผิดชอบงาน หรือให้ฟีดแบ็กต่อองค์กรด้วยอารมณ์ที่รุนแรง
จริงอยู่ การกระแทกปิดประตูใส่อดีตอย่างแรงนี้ทำได้ง่าย โดยเฉพาะในตอนที่เราพร้อมจะบอกลาเต็มทน แต่ในระยะยาวนั้น สิ่งที่เราทำอาจสร้างปัญหาให้แก่อนาคตได้ ไม่มีใครรู้ว่าเราจะได้กลับมาร่วมงานกับบริษัทเดิม หรือเพื่อนร่วมงานเดิมอีกเมื่อไหร่
ดังนั้นให้เวลาตัวเองในการไตร่ตรองให้ดีในทุกๆ ด้าน (ทั้งข้อเสียและข้อดี) เผื่อวันหนึ่งเราย้อนมองกลับมา จะได้จำว่าประสบการณ์นี้ก็ให้บทเรียนที่ดีอยู่บ้าง ไม่ได้แย่ไปทั้งหมดเสียทีเดียว
5. ให้เวลาตัวเองในการปรับตัว
การจากลาประเภทที่เจ็บปวดอย่างมาก เช่น การสูญเสียคนที่เรารัก หรือ การจบความสัมพันธ์ มักจะทำให้เราย้อนมองอดีตในแบบที่ผิดไปจากความจริง เป็นต้นว่าความสัมพันธ์ที่เป็นพิษสุดๆ และเราเคยต้องร้องไห้เพราะแฟนเก่าหลายครั้ง แต่พอเลิกกันเรากลับมองเห็นแต่ข้อดีเต็มไปหมด ความเสียใจที่มาจากการจากลาทำให้เราสงสัยในการตัดสินใจของตัวเอง
1
จริงอยู่ ช่วงแรกๆ มักจะยาก เราอาจจะไม่ได้ตื่นมาและรู้สึกดีขึ้นมาทันทีทันใดในวันรุ่งขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะรู้สึกเศร้าอยู่เช่นนั้นตลอดไป ดังนั้นเราต้องใจดีและให้เวลาตัวเองในการปรับตัวหน่อยนะ วันหนึ่งทุกอย่างจะลงตัวแน่นอน
หลังจากที่เราโบกมือลาใครบางคนเป็นครั้งสุดท้าย เราพบว่าทุกวินาทีที่ไม่มีคนคนเดิมหรือบรรยากาศเดิมๆ รอบข้างนั้นเจ็บปวดมาก จนเราได้แต่สาบานในใจว่า.. ‘จะไม่เลี้ยงหมาอีกแล้ว!’ (ในกรณีที่สูญเสียสัตว์เลี้ยง) หรือ ‘จะไม่มีแฟนอีกแล้ว!’ (ในกรณีที่เลิกกับแฟน)
1
การจากลาเป็นเรื่องยากก็จริง แต่การเลือกที่จะไม่สร้างความทรงจำใหม่ๆ เลย เพราะกลัวความเจ็บปวดนั้น ฟังดูเป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่งนัก จะดีกว่าไหมหากเราใช้ 5 วิธีนี้รับมือ อย่างการให้เวลาตัวเอง มองการจากลาในฐานะบทเรียนที่ดี และค่อยๆ เยียวยาตัวเองจนกลับมารู้สึกดีอีกครั้ง
มองประสบการณ์นี้ในแง่มุมใหม่ เหมือนที่ ‘วินนี่-เดอะ-พูห์’ ตัวละครจากการ์ตูนในวัยเด็ก เคยกล่าวไว้
“How lucky I am to have something that makes saying goodbye so hard.”
(ช่างโชคดีเหลือเกินที่เรามีสิ่งที่ยากต่อการบอกลา)
2
อ้างอิง:
https://bit.ly/3sfScyi
https://bit.ly/3LQ8ghX
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration
5 วิธีรับมือกับ "การจากลา" ให้เจ็บน้อยกว่าที่เคยเผชิญในอดีต
missiontothemoon
พัฒนาตัวเอง
ไลฟ์สไตล์
12 บันทึก
14
16
12
14
16
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย