Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Indevisual
•
ติดตาม
11 พ.ค. 2022 เวลา 18:03 • ปรัชญา
เพศบรรพชิต เสพเมถุน และ ตันตระยาน
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีกระแสข่าวใดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เท่ากรณี ‘พระพงศกร ปภัสสโร’ หรือ ‘หลวงพี่กาโตะ’ อดีตพระนักเทศน์ชื่อดังลักลอบมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับสีกา อย่างที่ทราบกันดี การเสพเมถุนหรือการร่วมเพศของพระสงฆ์ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่ส่งผลให้พระภิกษุผู้กระทำผิด อาบัติปาราชิก (พ้นจากสภาพความเป็นพระสงฆ์ทันที) และไม่สามารถลับมาบวชได้อีกตลอดชีวิต
แต่เมื่อค้นคว้าลึกลงไปในเรื่องราวเกี่ยวกับการเสพสังวาสและพุทธศาสนา ก็จะพบรูปแบบพุทธศิลป์ที่พระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์สวมกอดหญิงสาวในอากัปกริยาเชิงสังวาส พุทธศาสนิกชนชาวไทยบางส่วนตั้งคำถามว่าพุทธศิลป์ที่ปรากฏนี้มีเหมาะสมหรือไม่ เพราะเหมือนเป็นการดูหมิ่นต่อพระพุทธเจ้าอย่างมาก
ในข้อเท็จจริงพุทธศิลป์ลักษณะดังกล่าวถูกสร้างขึ้นตามความเชื่อของพุทธศาสนานิกายตันตระ หรือนิกายมหายานตันตระ ประการแรกต้องทำความเข้าใจว่าพุทธศาสนาได้มีการแบ่งออกเป็น 3 นิกาย ได้แก่ นิกายเถรวาท นิกายมหายาน นิกายตันตระ (นิกายมหายานตันตระ)
จะพบว่าในความรับรู้ถึงเรื่องราวทางพุทธศาสนาในไทยนั้นจะเกี่ยวกับนิกายเถรวาทเป็นหลัก ซึ่งจะยึดการตีความพุทธบัญญัติและธรรมวินัยเป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติ นิกายเถรวาทส่วนใหญ่พบการนับถือในประเทศไทย พม่า ลาว และศรีลังกา เป็นต้น
ส่วนนิกายมหายาน จะมีความเชื่อว่าสรรพสัตว์นั้นมีเนื้อแท้แห่งความบริสุทธิ์และสามารถบรรลุธรรมได้ จึงให้ความสำคัญกับการนับถือพระโพธิสัตว์ที่ตั้งปณิธานในการช่วยเหลือสัตว์โลกให้เข้าสู่หนทางพ้นทุกข์ ส่วนใหญ่นับถือในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น
และนิกายมหายานแบบตันตระ ที่แตกต่างจากพุทธศาสนาทั้งสองสาย มีการผนวกเรื่องราวอิทธิฤทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์ ปาฏิหาริย์ต่างๆ การนับถือส่วนใหญ่พบในประเทศทิเบต ภูฏาน และจีน เป็นต้น
ความเชื่อตามพุทธนิกายตันตระ เป็นการผนวกรวมกับลัทธิตันตระ จากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในอินเดีย ที่ให้ความสำคัญต่อการเคารพนับถือเทวสตรี อันเป็นตัวแทนแห่งการให้กำเนิดและความอุดมสมบูรณ์ทั้งหลาย ปรากฏให้เห็นเด่นชัดผ่านการบูชาพระศิวะและพระแม่อุมาเทวีในรูปแบบศิวลึงค์ที่ประกอบอยู่บนฐานโยนี ลัทธิดังกล่าวส่งอิทธิพลถึงพุทธแบบตันตระ
เป็นผลให้รูปแบบทางพุทธศิลป์ที่ปรากฏให้เห็น มีท่าทางของการเสพสังวาสหรือที่เรียกกันว่า ยับ-ยุม (Yab Yum) ในคติของตันตระเชื่อว่าการตรัสรู้มาจากการรวมกันของปัญญา (เพศชาย) และกรุณา (เพศหญิง) การร่วมเพศจึงเป็นภาพแทนของหนทางสู่การตรัสรู้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งพุทธตันตระยังเชื่อว่าตัณหาต้องดับด้วยตัณหา กิเลส อันประกอบด้วย ราคะ โทสะ โมหะ สามารถดับได้ด้วยการปฏิบัติจนเบื่อหน่ายไปเอง
ภาพยับยุมจึงไม่ใช่เครื่องกระตุ้นการเกิดกิเลส แต่สร้างเพื่อเป็นภาพแสดงแทนคติธรรมที่ว่าด้วยหนทางการตรัสรู้ตามความเชื่อของนิกายนี้ ซึ่งทำให้เห็นถึงความแตกต่างเรื่องคติความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเพศในพุทธศาสนาแต่ละนิกาย
นอกจากภาพยับยุมในพุทธตันตระ หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่า พระสงฆ์ในนิกายมหายานสามารถมีครอบครัวได้ โดยเฉพาะภาพจำจากพระสงฆ์ในประเทศญี่ปุ่น จนเกิดความคิดเหมารวมว่าศาสนาพุทธนิกายมหายานมีข้อยกเว้นให้มีครอบครัวได้ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าตามความรับรู้เรื่องราวพุทธประวัติ เราต่างรู้กันดีว่า พระพุทธในฐานะเจ้าชายสิทธัตถะยอมละทิ้งครอบครัวเพื่อออกแสวงหาหนทางหลุดพ้นจากกิเลสแล้ว
ในกรณีการแต่งงานของพระสงฆ์ในประเทศญี่ปุ่นนั้นเกิดจากข้อยกเว้นที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากบริบททางสังคมและการเมือง พุทธศาสนาในสมัยเมจิของญี่ปุ่นเสื่อมถอยเนื่องจากหลักคำสอนไม่อำนวยต่อหลักชาตินิยมและศาสนาชินโตเดิม จึงได้มีการทำลายสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ คัมภีร์ วัดวาอาราม และงานศิลปะ
ต่อมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลง เหล่าพระสงฆ์ที่ยังเหลืออยู่จึงต้องลดทอนหลักธรรมวินัยบางข้อเพื่อความอยู่รอดของศาสนา เป็นผลให้มีการละทิ้งข้อจำกัดบางประการออกไป รวมทั้งการอนุญาติให้พระสงฆ์สามารถมีครอบครัวได้ เพราะพระสงฆ์มีหน้าที่สำคัญในการเผยแพร่ศาสนา
จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทสังคมมากที่สุดเพื่อดำรงรักษาพุทธศาสนาให้คงอยู่ต่อไป เส้นแบ่งระหว่างความเป็นพระและฆารวาสจึงเลือนลางลง พระสงฆ์สามารถประกอบกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย เพื่อเผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้าในรูปแบบต่างๆ เช่น การนำบทสวดมาผสมผสานกับดนตรีสมัยใหม่ เป็นต้น
เรื่องของการเสพสังวาสมีการปรากฎในพุทธศาสนา แต่เป็นไปเพื่อการสั่งสอนธรรม และแม้ว่าในบางพื้นที่มีการอนุญาติให้พระสงฆ์สามารถแต่งงานได้ ทว่าเป็นไปเพื่อการปรับตัวตามบริบทสังคม มากกว่าการตอบสนองของกิเลส ในขณะเดียวกันหากย้อนกลับมามองพุทธศาสนาในประเทศไทย เราได้เข้าใจแก่นแท้ของพุทธศาสนามากแค่ไหน พระสงฆ์ได้ทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนาอย่างแท้จริงหรือยัง
หากการบวชเป็นพระในประเทศไทยเป็นเพียงการทำตามประเพณีต่อๆ กันมา อีกทั้งคนบางกลุ่มยังมองว่าพระสงฆ์เองเป็นหนึ่งในอาชีพที่ได้รับผลประโยชน์จากความเชื่อความศรัทธาของญาติโยมอย่างง่ายดาย จนทำให้แก่นแท้ของพุทธศาสนาถูกบิดเบือนให้กลายเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม
อาจจะถึงวันที่เราต้องพิจารณาเรื่องธรรมวินัยที่เคร่งครัด ว่ายังสามารถทำให้บรรลุแก่นแท้ของศาสนาได้จริงๆ หรือเป็นเพียงเปลือกนอกเพื่อรักษาภาพพจน์วัฒนธรรมอันดีของชาติไว้
เรื่องโดย: ณัฏฐ์นรี ยลนาวา
พิสูจน์อักษร: ศิริรัตน์ แรงเขตกิจ
ข่าว
ข่าวเด่นข่าวดัง
พุทธศาสนา
บันทึก
2
7
2
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย