Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
GrowKid - โตไปพร้อมกับลูก
•
ติดตาม
10 พ.ค. 2022 เวลา 01:00 • ครอบครัว & เด็ก
Baby Blues เข้าใจภาวะซึมเศร้าหลังคลอด อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม
เมื่อวันก่อนมีข่าวที่น่าสลดเกี่ยวกับแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด (เราจะไม่ขยายความแต่ถ้าเห็นข่าวจะทราบดีว่ามันค่อนข้างเศร้ามาก ๆ) ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด’ (postpartum depression) หรือบางทีก็เรียกว่า “Baby Blues” และจากสถิติที่รายงานโดยองค์กร American Pragnancy บอกว่าแม่กว่า 70%-80% จะเผชิญภาวะแบบนี้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหลังจากคลอดลูก เพราะถึงแม้ว่าการได้เป็นแม่หรือการมีลูกนั้นจะเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามากแค่ไหนในชีวิต มันก็คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิตเช่นเดียวกัน มันทั้งน่ากลัว เครียด และสับสนเป็นอย่างมาก Kayleigh Pleas โค้ชผู้ดูแลเรื่องสุขภาพในนิวยอร์คบอกว่า
การเป็นแม่คือช่วงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และคุณจะสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ความกลัวและความเหงาไปจนถึงจุดสูงสุดของความสุขและความรัก
Kayleigh Pleas
แต่ด้วยความที่สมองของเรานั้นมีสิ่งที่เรียกว่า “Negative Bias” หรือ อคติเชิงลบที่เป็นการที่สมองเลือกรับรู้และให้ความสำคัญต่อเรื่องร้าย ๆ หรือ สิ่งที่ไม่ดีที่ไม่ดี (อาจจะเป็นข่าวหรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเรามักจะคิดว่าเรื่องแย่ ๆ หรือ ข่าวร้ายมีความสำคัญมากกว่าเรื่องดี ๆ เพราะในสมัยก่อนที่เรายังต้องดำรงชีพด้วยการออกไปล่าสัตว์หรือหากินในป่า เมื่อมีเรื่องร้าย ๆ เกิดขึ้น (อย่างเช่นออกไปตรงทุ่งหญ้าแล้วเจอสิงโตไล่) ก็จะจำได้ขึ้นใจเลย
เพราะฉะนั้นสมองส่วนนี้ยังทำงานอยู่ เป็นสิ่งที่อยู่ในสมองของเรา เป็นระบบที่คอยโฟกัสไปที่เรื่องแย่ ๆ ช่วงเวลาที่ไม่ได้หลับได้นอน น้ำหนักตัวที่เพิ่มชึ้น ความรับผิดชอบที่มากมาย ความคาดหวังของสังคม ปู่ย่าตายาย (ตัวดีเลย) ฯลฯ ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง (ทำให้อารมณ์เหวี่ยง) บางทีนอนไม่เพียงพอก็ต้องจัดตารางชีวิตหรือหาคนมาช่วยแบ่งรับแบ่งสู้ หรือบางทีเราอยากเป็นแม่ที่ดีให้กับลูกจนกดดันตัวเองและกลายเป็นเครียดทำอะไรไม่ถูก
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจแล้วหล่ะว่าทำไมกว่า 70%-80% จะมีภาวะต่าง ๆ มากน้อยต่างกันออกไป สิ่งหนึ่งท่ีอยากจะบอกคุณแม่ทุกคนที่อ่านอยู่ตรงนี้คือว่าคุณแม่ไม่ได้รู้สึกแบบนี้อยู่คนเดียวอย่างแน่นอน มันเป็นความรู้สึกที่แย่และแน่นอนว่าอาจจะต้องเข้าพบผู้ที่เชี่ยวชาญเพื่อรับคำปรึกษาอย่างจริงจัง
อาการที่มากับภาวะนี้ก็มีหลากหลายแต่ก็แบ่งออกได้ใหญ่ ๆ ประมาณนี้
1. ความเศร้าโศก (Sadness)
หลังจากที่คลอดลูกคนเป็นแม่มักอ่อนไหวและร้องไห้ง่าย (บางทีไม่ได้มีสาเหตุ แค่อยากร้องไห้ก็ร้อง) หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นเพราะคุณเศร้าที่ได้เป็นแม่ หรือตัดสินใจผิดพลาดรึเปล่า ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย มันเป็นเรื่องที่ปกติมาก ด้วยฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสภาวะรอบตัวที่เปลี่ยนไป (อย่างไม่รู้ว่าต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมยังไง หรือแค่วันนี้ได้ข่าวว่า Netflix ถอดรายการโปรดของคุณออก)
ความกดดันต่าง ๆ นานา ทำให้ร้องไห้ได้เลย ซึ่ง Dr. Susan Feingold นักจิตวิทยาคลินิกและผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ Illinois School of Professional Psychology กล่าวว่าความรู้สึกเศร้าเป็นระยะ หรือการร้องไห้เพราะมีอารมณ์อ่อนไหว ไวต่อความรู้สึกไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และจะเป็นภาวะอารมณ์เปลี่ยนแปลงชั่วคราวซึ่งจะคงอยู่ไม่เกิน 2-3 วันถึง 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามสำหรับคุณแม่ที่มีอารมณ์รุนแรงและ/หรือมีอาการวิตกกังวลร่วมกับอาการต่าง ๆ เช่น ไม่มีกระจิตกระใจทำอะไร นอนไม่หลับ วิตกกังวล รสิ้นหวัง หรือคิดฆ่าตัวตาย ควรได้รับการจัดการและพบผู้เชี่ยวชาญในทันทีเลย (อันนี้สำคัญครับ อย่าปล่อยทิ้งไว้อย่างเด็ดขาด)
2. ความกลัว (Fear)
การเป็นแม่คนนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมี มีปัญหาที่ต้องแก้ไขไม่รู้จบ มีเรื่องที่เราไม่รู้และกลัวที่จะเกิดขึ้นมากมาย (ลูกนอนคว่ำหน้าจะเป็นอะไรไหม หรือไม่เห็นร้องไห้เลยเกิดอะไรขึ้นรึเปล่า ทำไมไอแปลก ๆ หล่ะ ฯลฯ) ถึงแม้ว่าเมื่อก่อนคุณอาจจะไม่ใช่คนที่ขี้กลัวหรือช่างกังวลเลยก็ตาม คนเป็นแม่มือใหม่กลัวไปซะทุกอย่าง (จริง ๆ นะ) ตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนเรื่องใหญ่ มันเป็นความรู้สึกที่ไม่ค่อยสุนทรีนักสำหรับแม่ แต่คุณไม่ได้เป็นคนเดียวที่กลัวแน่นอน แม่มือใหม่ (รวมถึงพ่อด้วย) กลัวทุกอย่าง บางคนกลัวที่จะอยู่คนเดียวกับลูกด้วยซ้ำเพราะทำตัวไม่ถูก ควรป้อนนมยังไงเท่าไหร่ ต้องกล่อมยังไง อุ้มแบบไหน การไม่รู้ว่าต้องทำยังไง กลัวพลาดไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ใหม่สำหรับคุณเท่านั้น และคุณก็ไม่ใช่แม่คนสุดท้ายที่จะรู้สึกอย่างนี้แน่นอน
3. ความสุข (Joy)
คุณแม่รู้ว่าลูกจะนำความสุขที่ยิ่งใหญ่มาสู่ชีวิตแต่คุณไม่รู้จริง ๆ หรอกว่าความสุขนั้นจะเต็มล้นมากแค่ไหนจนกว่าลูกน้อยจะเกิดมาอยู่ในอ้อมแขนของคุณ ในบางครั้งอารมณ์เชิงบวกของคุณอาจมีมากเกินไปหลังคลอดเช่นเดียวกับอารมณ์เชิงลบ และความสุขที่ท่วมท้นนี้มักจะเข้ามาผสมผสาน ทำให้คุณรู้สึก "ล่องลอย” (high) มันแทบไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์ตัวจิ๋วเล็ก ๆ สามารถมอบความสุขให้กับคุณได้มากมายมหาศาลขนาดนี้ ความสุขที่ทำให้น้ำตาเอ่อล้น รอยยิ้มเล็ก ๆ หาวปากหว๋อง่วงนอน หรือขยับพลิกตัวไปมา สิ่งธรรมดา ๆ เหล่านี้กลายเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่สุดในชีวิตของคนเป็นแม่ ทำให้ยิ้มและร้องไห้เพราะความสุขอย่างควบคุมไม่ได้เลย
4. ความโกรธ (Anger)
อาจไม่มีใครอยากจะยอมรับข้อนี้สักเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะรู้สึกโกรธทุกอย่างหลังคลอด ไม่ว่าจะเป็นการโกรธตัวเองที่ไม่รู้เกี่ยวกับการให้นมลูกยังไง เปลี่ยนผ้าอ้อมก็ไม่เป็น หรือโกรธเป็นฟืนเป็นไฟเพราะไม่รู้จะทำให้ลูกหยุดร้องไห้ได้ยังไง Dr. Feingold อธิบายว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่มีความคาดหวังในตัวเองสูง เป็นคนที่รักความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ซึ่งเรื่องนี้ Dr. Feingold กล่าวว่า "ความโกรธและความหงุดหงิดที่มีนัยสำคัญอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติทางอารมณ์หลังคลอด" หากอาการของคุณแม่หนักจนไม่สามารถรับมือได้ต้องติดต่อและพบการผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาโดยด่วน
5. กระวนกระวายใจ อยู่ไม่สุข (The Jitters)
คุณแม่อาจพบว่าตัวเองตกใจได้ง่าย เครียด หรือวิตกกังวลมากขึ้น สำหรับคนที่ไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อนในชีวิตมาก่อน บอกได้เลยว่าว่านี่เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นได้ คุณแม่อาจนอนไม่หลับ และกังวลอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงสองสัปดาห์แรกหลังคลอด แต่เมื่อปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ได้ ความรู้สึกวิตกกังวลเหล่านั้นก็หายไป
6. อ่อนไหวไวต่อความรู้สึก (Hypersensitivity)
การดูข่าวอาจทำให้คุณแม่หลังคลอดน้ำตาไหล หรือรู้สึกเสียใจอย่างหนักแบบไม่สามารถอดกลั้นได้ คุณจะมีอารมณ์ร่วมกับทุกสิ่งอย่างในทุกช่วงเวลาและทุกที่ คุณแม่หลังคลอดอาจไม่สามารถกลั้นน้ำตาได้ เพราะรู้สึกเศร้า แต่ด้วยเหตุผลแปลก ๆ เช่น สามีลืมดูดฝุ่น หรือลูกน่ารักมาก และหยุดกอดลูกไม่ได้คุณแม่อยากจะร้องไห้ด้วยเหตุผล ทุกอย่าง ที่อาจไม่มีเหตุผลอย่างแท้จริง ตามที่ American College of Obstetricians and Gynecologists กล่าวไว้ว่าอาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นในเวลาไม่เกินสองสัปดาห์โดยไม่ต้องได้รับการรักษา แต่หากใช้เวลานานกว่านี้ ควรปรึกษาแพทย์
7. สงสัย ข้องใจ (Doubt)
ความสงสัยในสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ แม่หลายคนอาจจะไม่อยากยอมรับถึงประเด็นนี้แต่มันเกิดขึ้นเยอะมาก ๆ แม่บางคนอาจจะสงสัยว่าตัวเองควรเป็นแม่จริง ๆ เหรอ เธอจะเป็นแม่ได้ดีขนาดไหน สามารถทำหน้าที่แม่ได้เหมือนคนอื่น ๆ รึเปล่า ฯลฯ บางทีการให้นมลูกอาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างในหนังสือหรือวีดีโอที่ดูมา บางคนพยายามกล่อมลูกให้นอนแต่ทำไม่ได้ก็คิดว่าตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ได้เรื่อง บางคนคาดหวังว่าสัญชาติญาณของความเป็นแม่นั้นจะทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแต่กลับไม่เป็นอย่างนั้น
รู้สึกแย่กับทุกสิ่งที่ตัวเองทำ สงสัยและกดดันตัวเอง แต่ความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ จำเอาไว้ครับว่าอย่าทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ลงไปอีกโดยการพูดถากถางตัวเอง (เธอนี่เป็นแม่ที่ไม่ได้เรื่องเลยจริงๆ!) แต่ปล่อยให้มันเป็นกระบวนการขั้นตอนการเรียนรู้ที่ค่อย ๆ เกิดขึ้น ต้องเข้าใจว่าลูกเองก็ต้องปรับตัว คุณเองก็ต้องปรับตัว ไม่มีอะไรที่ราบลื่นไปซะทุกอย่าง อย่าสงสัยตัวเองเลยคุณแม่! คุณทำได้แน่นอน!
ให้เวลากับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น อารมณ์ที่เหวี่ยงขึ้นลงสุดขีด ความเครียด กังวล กดดัน หรือความสงสัยต่าง ๆ นานานั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปหลาย ๆ อย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง แต่ถ้ามันหนักมากและไม่ดีขึ้นเลยก็อย่ามองข้าม อารมณ์เหล่านี้อาจจะสะสมและควรได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ
ขอให้จำเอาไว้ว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ ‘สมบูรณ์แบบ’ ทุกคนล้วนต้องเรียนรู้ที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดี และการเป็นพ่อแม่นั้นคือการเดินทางไกล และคุณคือโลกทั้งใบของชีวิตน้อย ๆ เหล่านั้น
อ้างอิง :
https://www.parents.com/baby/new-parent/emotions/7-post-pregnancy-feelings-no-one-warns-you-about/
https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/first-year-of-life/baby-blues/
จิตวิทยาการเลี้ยงลูก
ครอบครัว
เลี้ยงลูก
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย