10 พ.ค. 2022 เวลา 03:59 • กีฬา
รูปแบบและกลไกการจ่ายโบนัสในโลกฟุตบอลสมัยใหม่ : บอลชายเดี่ยวหรือบอลระบบ
อีกไม่กี่วัน เราก็จะรู้กันแล้วว่า ใครจะเป็นผู้คว้าชัยในเกมนัดชิงชนะเลิศ UEFA Champions League พร้อมกับเงินรางวัลก้อนโต และแน่นอนว่า ปลายเดือนพฤษภาคมจะเป็นฤดูกาลจ่ายโบนัสของบรรดานักเตะในทีมชั้นนำทั่วยุโรป ต่างจากมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ที่จะรับทรัพย์กันช่วงปลายปี
อย่างที่เราทราบกันดีว่า Manchester City ที่โหยหาอยากจะชูถ้วยแชมป์ UCL อย่างน้อยๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ย่อมมีการสร้างแรงจูงใจให้กับบรรดานักเตะในทีมด้วยการใส่โบนัสมูลค่ามหาศาลผูกอยู่กับเงื่อนไขการคว้าแชมป์ดังกล่าว และแน่นอนว่า คู่แข่งอันดับ 1 ในเกาะอังกฤษอย่าง Liverpool ที่กำลังมีลุ้น 4 แชมป์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสรก็จะมีการจ่ายโบนัสมหาศาลให้กับนักเตะสำหรับการคว้าแชมป์ UEFA Champions League และ/หรือ Premier League ในปีนี้
ผมขออนุญาตหยิบยกคำพูดของผู้จัดการทีมระดับตำนานอย่าง Sir Alex Ferguson ที่เคยให้ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจ่ายเงินเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักเตะว่า “สิ่งที่ทรงพลังที่สุดที่เราจะใช้เป็นแรงจูงใจให้กับนักเตะ คือ การดึงสัญชาติญาณการแข่งขัน (Competitive Instinct) ของพวกเขาออกมา เงินโบนัสน่ะได้มาแล้วก็หมดไป แต่เหรียญรางวัลมันคงอยู่ตลอดกาล”
พอเข้าสู่ช่วงเดือนพฤษภาคมที่เป็นโค้งสุดท้ายของฤดูกาลแข่งขัน มีเอเยนต์ชื่อดังคนนึงเปิดเผยว่า บรรดาลูกค้าของเขาที่สโมสรชั้นนำกำลังเริ่มคำนวณว่า ตนเองจะได้รับเงินโบนัสเท่าไหร่ถ้าทีมของพวกเขาคว้าแชมป์ได้ แต่สำหรับนักเตะบางคนแล้ว การได้เงินโบนัสจากการคว้าแชมป์แทบจะเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย
“นักเตะบางคนแค่อยากจะคว้าแชมป์เท่านั้นแหละ สำหรับพวกเขาแล้ว การได้เงินเพิ่มอีกซัก 1 ล้านปอนด์มันจะสร้างความแตกต่างอะไรในเมื่อพวกเขาก็ได้รับเงินก้อนโตเท่านี้อยู่ทุกเดือนอยู่แล้ว”
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รูปแบบเกมฟุตบอลในอังกฤษและยุโรปมีการวิวัฒนาการมากมาย และแน่นอนว่า รูปแบบการบริหารจัดการก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย หนึ่งในสิ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน คือ การเล่นเป็นทีมถือเป็นกุญแจสำคัญของฟุตบอลสมัยใหม่ ดังนั้น รูปแบบการจ่ายเงินโบนัสก็ย่อมปรับเปลี่ยนให้เข้ากับรูปแบบการเล่นเป็นทีม แทนที่จะเป็นการให้ความสำคัญกับผลงานส่วนตัวของนักเตะคนใดคนหนึ่งแทน ซึ่งไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ณ ตอนนี้ สโมสร Manchester City ที่มีนักเตะระดับโลกในทุกตำแหน่งจะไม่มีการให้โบนัสสำหรับการยิงประตูหรือ Assist ใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะใช้วิธีจ่ายโบนัสกับนักเตะทุกคนทั้งทีมสำหรับการคว้าแชมป์แทน ซึ่งตัวนักเตะเองจะต้องลงเล่นอย่างน้อย 60% ของจำนวนเกมทั้งหมดเพื่อรับโบนัสเต็มๆ จากที่ระบุไว้
Daniel Geey ทนายความด้านฟุตบอลอธิบายว่า “ในอดีต สโมสรมักจะให้ความสำคัญอย่างมากกับการจ่ายโบนัสให้กับผู้เล่นของพวกเขาเป็นรายบุคคลจากจำนวนประตูที่ยิงได้ จำนวน Assist และ Clean sheet อะไรพวกนี้ แต่ฟุตบอลสมัยใหม่กำลังก้าวข้ามผลงานส่วนบุคคลไปมุ่งเน้นที่ผลงานของทีมแทน เช่น จำนวนประตูที่ยิงได้ทั้งหมด และผลงานของทีมที่ช่วยทำให้ได้ประตูเหล่านั้นแทน”
การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการจ่ายเงินโบนัสได้ถูกเริ่มต้นโดยผู้บริหาร 2 คนของ Manchester City คือ Txiki Begiristain ผู้อำนวยการฟุตบอล และ Ferran Soriano CEO ของสโมสร ซึ่งเป็นแนวทางของสโมสร Barcelona ที่ทั้งคู่เคยทำงานในตำแหน่งเดียวกันมาก่อน โดยตัว Soriano เป็นผู้ริ่เริ่มรูปแบบการจ่ายโบนัสด้วยผลงานของทีมที่ Barcelona และเมื่อเขาย้ายเข้ามรับตำแหน่งกับ City แนวทางดังกล่าวจึงถูกนำมาใช้เพื่อสื่อสารให้นักเตะรู้ว่า ถ้าพวกเขาทำผลงานในสนามซ้อมได้ดีและได้รับเลือกให้ลงเล่นในทีมอย่างสม่ำเสมอ และหากทีมประสบความสำเร็จ พวกเขาจะได้รับเงินมหาศาลเป็นการตอบแทน ซึ่งรูปแบบการจ่ายโบนัสแบบใหม่น่าจะช่วยสร้างผลดีให้กับความสามัคคีภายในทีมได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น ในหลายเกมของ UCL เราจะเห็นว่า บรรดานักเตะตัวสำรองวิ่งลงมาร่วมดีใจกับนักเตะในสนามตอนที่ทีมยิงประตูได้ด้วยสีหน้าที่มีความสุขจริงๆ
อย่างไรก็ตาม สโมสรแต่ละแห่งย่อมมีแนวคิดในการบริหารและสร้างแรงจูงใจให้กับนักเตะด้วยวิธีที่แตกต่างกัน แต่บรรดาทีมชั้นนำในหัวตารางของ Premier League ก็เริ่มที่จะหันมาใช้วิธีการจ่ายโบนัสจากผลงานของทีมเหมือนที่ City ทำอยู่
ทีมที่กำลังขับเคี่ยวแย่งตั๋วใบสุดท้ายไป UCL อย่าง Arsenal และ Tottenham มีการกำหนดในสัญญาของนักเตะว่า พวกเขาจะขึ้นค่าเหนื่อยให้กับนักเตะถ้าทีมได้ลงแข่ง UCL ในฤดูกาลหน้า พร้อมกับโบนัสก้อนโตสำหรับการจบฤดูกาลด้วยอันดับ Top 4 และในทางกลับกัน ทีมอย่าง Manchester United ที่หลุดอันดับ 4 แน่นอนแล้วย่อมมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับรายได้มหาศาลที่จะหายไป บรรดานักเตะส่วนใหญ่ของ United จะโดนปรับลดค่าเหนื่อยลงถึง 25% โดยประมาณสำหรับผลงานที่น่าผิดหวัง ส่วนทีมกลางตาราง อย่าง Southampton และ Aston Villa จะมีการกำหนดโบนัสพิเศษให้กับนักเตะในทีมจากผลงานอันดับในตารางเป็นหลัก
บรรดาผู้จัดการทีมก็จะได้รับโบนัสตามผลงานของทีมเช่นเดียวกับนักเตะ เช่น การคว้าแชมป์ การจบในอันดับ Top 4 การเลื่อนชั้นหรือตกชั้น เช่น Eddie Howe ที่น่าจะได้รับเงินโบนัสก้อนโตจากการพา Newcastle รอดการตกชั้นอย่างสวยงาม โดยไม่ต้องลุ้นถึงเกมนัดสุดท้าย
โดยปกติแล้ว โบนัสในโลกฟุตบอลจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ คือ เงื่อนไขโบนัสที่ระบุอยู่ในสัญญาของนักเตะโดยตรง และเงื่อนไขแบบทีมสำหรับนักเตะทุกคนที่จะกำหนดขึ้นก่อนเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ โดยการเจรจาเพื่อสรุปโบนัสแบบทีมมักจะเริ่มต้นคุยกันในช่วงปิดฤดูกาลระหว่างตัวผู้บริหารสูงสุดของสโมสรและตัวแทนของนักเตะในทีมชุดใหญ่ ซึ่งโดยปกติแล้ว กัปตันทีมจะเป็นตัวแทนเจรจาของฝั่งนักเตะ
การเจรจาจะเป็นการหาข้อสรุปเกี่ยวกับจำนวนประตูที่ทีมตั้งเป้าหมายไว้ ผลงานของทีมในตารางคะแนน เช่น Top 4 หรือครึ่งบนของตาราง การอยู่รอดจากการตกชั้น หลังจากนั้นจะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับเงื่อนไขการลงเล่น เช่น จำนวนนาทีที่นักเตะจะต้องลงเล่น จำนวนนัดที่ได้ลงสนามทั้งในฐานะตัวจริงและตัวสำรอง ก่อนที่จะคำนวณเพื่อสรุปเป็บมูลค่าเงินโบนัสที่นักเตะจะได้รับตามผลงานตอบจบฤดูกาล
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง การเจรจาหางเรื่องโบนัสอาจกลายเป็นประเด็นร้อนที่หาข้อสรุปไม่ได้และลากยาวจนอาจส่งผลกระทบต่อทีม ซึ่งโดยปกติแล้ว เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องภายในสโมสร และทุกฝ่ายจะพยายามปิดข่าวไม่ให้รู้ถึงหูบรรดานักข่าว เพื่อป้องกันเรื่องยุ่งยากที่จะตามมา แต่บางครั้ง เรื่องเงินๆ ทองๆ ภายในสโมสรก็ปิดไม่อยู่ถูกบรรดาสื่อลากไส้ออกมาแฉ หรือบางครั้งก็เกิดจากตัวนักเตะภายในทีมเองที่เป็นคนปล่อยข่าว เพื่อหาแต้มต่อในการเจรจา
ยกตัวอย่างเช่น ในฤดูกาล 2018-19 บรรดาผู้เล่นของ Newcastle ประท้วงไม่เข้าร่วมการให้สัมภาษณ์กับสื่อตามที่กำหนด เนื่องจากไม่สามารถตกลงเรื่องการจ่ายโบนัสสำหรับผลงานของทีมได้ และในที่สุด ทางนักเตะของ Newcastle ยอมรับเงื่อนไขเงินโบนัส 4 ล้านปอนด์สำหรับการรอดตกชั้น บวกกับเงิน 1 ล้านปอนด์สำหรับแต่ละอันดับที่ทีมทำได้จากอันดับบ๊วย ซึ่งในปีนั้น Newcastle จบฤดูกาลในอันดับที่ 13 ทำให้นักเตะได้รับเงินโบนัส 11 ล้านปอนด์ไปแบ่งกันภายในทีม
ดังนั้น การเจรจาหาข้อสรุปเรื่องเงินโบนัสเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากสำหรับผู้บริหารของสโมสร แต่การกำหนดรูปแบบการจ่ายโบนัสของทีมที่เหมาะสมจะช่วยทำให้ผลงานของทีมดีขึ้นจากความสามัคคีของนักเตะได้อย่างแน่นอน
เราลองมาดูเกี่ยวกับเงื่อนไขส่วนตัวของนักเตะกันดูบ้าง นอกเหนือจากเงื่อนไขทั่วไปที่เราทราบกันดีแล้วอย่าง จำนวนประตู Assist และ Clean sheet นักเตะบางรายมีเงื่อนไขแปลกๆ ในสัญญาส่วนตัว เช่น ศูนย์หน้าเจ้าปัญหาอย่าง Mario Balotelli ที่ Liverpool ถึงขนาดระบุในสัญญาว่า หากนักเตะทำตัวดีในสนามและได้รับใบแดงน้อยกว่า 3 ใบในหนึ่งฤดูกาล Balotelli จะได้รับเงินโบนัสถึง 1 ล้านปอนด์ ซึ่งเจ้าตัวก็ทำได้สำเร็จ (แต่รับใบเหลืองไปถึง 7 ใบ และทำประตูไปได้แค่ 4 ลูก จากการลงเล่น 28 นัดในทุกรายการในฤดูกาลนั้น)
ในบางครั้ง นักเตะไม่จำเป็นต้องมีผลงานที่โดดเด่นในการรับเงินโบนัสก้อนโต Paul Pogba ที่กำลังจะหมดสัญญากับ Manchester United ในเดือน มิ.ย. นี้ มีเงื่อนไขโบนัสความภักดีที่สูงถึง 4 ล้านปอนด์ต่อปี โดย Pogba แค่จะต้องเลือกที่จะอยู่กับสโมสรต่อไปในแต่ละปีของสัญญาเท่านั้นเอง ซึ่งในปัจจุบัน เขารับค่าเหนื่อยอยู่ที่ 15 ล้านปอนด์ต่อปี
ตอนนี้ เรากำลังอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการลุ้นแชมป์และการทำอันดับในตารางคะแนน ซึ่งอีกไม่กี่อึดใจ เราก็จะได้รู้กันแล้วว่า นักเตะ Liverpool จะได้รับโบนัสมหาศาลที่อาจจะเรียกได้ว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลจากการคว้าแชมป์ 4 รายการหรือไม่ มารอลุ้นด้วยกันครับ
โฆษณา