10 พ.ค. 2022 เวลา 04:02 • ประวัติศาสตร์
ความล้าหลังของล้านนาภายใต้การปกครองของสยาม
ความล้าหลังของล้านนาภายใต้การปกครองของสยาม
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ล้านนาเป็นหัวเมืองประเทศราชที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสมุหนายก แต่ถึงกระนั้นอำนาจของสยามที่มีต่อล้านนาถือว่าน้อยมาก ล้านนามีการปกครองเป็นของตนเองที่เรียกว่า “เค้าสนามหลวง” ซึ่งหลังจากที่สามารถขับไล่พม่าไปได้และฟื้นฟูบ้านเมืองหลังจากเกิดความเสียหายเป็นเวลานาน พระเจ้ากาวิละทรงจัดระเบียบการปกครองทั้งการแต่งตั้งเสนาบดีทั้ง ๔ เช่นเดียวกับส่วนกลางแบบจตุสดมภ์ ซึ่งหลายๆ ที่มักเรียกเค้าสนามหลวงว่า ข่วง ข่วงสนาม หรือสนาม ในราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำว่า “เค้าสนามหลวง (ถิ่น-พายัพ; โบ)
น. สำนักผู้ปกครองบ้านเมือง ที่ว่าราชการเมือง คณะผู้ว่าการบ้านเมืองซึ่งประกอบด้วย เจ้าผู้ครองเมืองหรือผู้ครองเมืองข้าหลวงประจำนครหรือเมือง ซึ่งต่อมาเรียกว่า ปลัดมณฑลประจำจังหวัด และข้าหลวงผู้ช่วย มีหน้าที่บังคับบัญชารับผิดชอบในกิจการทั่วไปของเมือง เค้าสนาม ก็ว่า” ซึ่งถ้าแปลอย่างเข้าใจง่ายหมายถึงคณะบุคคลคณะหนึ่ง ที่ถวายงานรับใช้พระเจ้าแผ่นดินล้านนา ส่วนวรชาติ มีชูบท อธิบายคำว่า เค้าสนามหลวง หรือที่ภาษาถิ่นล้านนาออกเสียงว่า “เก๊าสนามหลวง” หรือ “เก๊าสนาม” นั้น คือ องค์คณะขุนนางผู้ทำหน้าที่บริหารราชการบ้านเมือง เปรียบได้กับเสนาบดีจตุสดมภ์และลูกขุน ณ ศาลา และลูกขุน ณ ศาลหลวง
เนื่องจากล้านนามีอภิสิทธิ์ในการปกครองตนเองที่สูงมากๆ หน้าที่ของล้านนาจึงเหมือนเป็นด่านป้องกันพม่าอีกด่านหนึ่งไม่ให้ผ่านเข้ามายังสยาม คือมีหน้าที่สำหรับป้องกันการรุกรานอันจะเป็นการรบกวนพระราชอาณาเขตของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (ในที่นี้หมายถึงพระมหากษัตริย์ในกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ในระยะเวลารัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ ทรงเรียกพระองค์เองว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามในสมัยรัชกาลที่ ๔) นอกจากนี้ยังเป็นดินแดนที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะป่าไม้ ซึ่ง รศ. ดร. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว กล่าวว่า ไม้ในเมืองมะละแม่งกว่า ๙๕% อันเป็นทรัพยากรที่สร้างรายได้ต่อราชวงศ์และรัฐล้านนาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้หากพระเจ้าแผ่นดินสยามและสมเด็จพระบรมวงศ์ชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไปสิ้นพระชนม์หรือสวรรคต ในการสร้างพระเมรุแต่ละครั้งก็ต้องใช้ไม้เป็นจำนวนมาก
เนื่องจากพระเมรุมีขนาดสูงใหญ่ ยิ่งโดยเฉพาะพระบรมวงศ์ชั้นสูงจะมีพระเมรุขนาดใหญ่ถึงราว ๘๐ เมตร หาเทียบกับมาตรวัดในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ไม้ในการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังไม่มีการใช้โครงเหล็กในสยาม
การเข้ามาของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (อังกฤษ: United Kingdom of Great Britain and Ireland) กับคนในบังคับบริเตนในล้านนา หลังจากที่บริเตนใหญ่ทำสงครามครั้งแรกกับพม่า พ.ศ. ๒๓๖๙ บริเตนได้ดินแดนหัวเมืองมอญ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับดินแดนล้านนา จึงเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายในล้านนา เท่าที่ปรากฏหลักฐานพบว่า ดร. ริชาร์ดสัน มาถึงเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. ๒๓๗๒ ตรงกับสมัยพระยาพุทธวงศ์ครองเมืองเชียงใหม่อยู่ ดร. ริชาร์ดสันกล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐล้านนากับพระราชอาณาจักรสยามนั้นน้อยมาก โดยเขาได้บันทึกว่าลำปางพึ่งพาสยามเพราะต้องการเกลือเท่านั้น ส่วนเจ้าหลวงลำพูนก็กล่าวเช่นกันว่ารัฐของตนเป็นพันธมิตรไม่ใช่รัฐบรรณาการของสยาม
แม้ทั้งสองรัฐจะมีความสัมพันธ์แบบหลวมๆ แต่ถึงกระนั้นสยามก็ให้ความสัมพันธ์กับล้านนาในความช่วยเหลือด้านการสงคราม โดยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง โดยทรงบันทึกไว้ว่า
“…พวกลาวเมืองหลวงพระบาง เมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน เมืองน่าน เมืองแพร่ เหล่านี้ ติดแต่ทำมาหากินสบายอยู่แล้วก็เป็นสุข ไม่พอใจจะคิดทำศึกสงคราม แม้ได้ครอบครัวเมืองอื่น ๆ มาเป็นทาสเชลยของเจ้าเมืองฤาอุปราช ราชวงษ์เป็นแพนกกัน จะมีความดีใจอยู่ถ้าจะเอาครอบครัวมาใส่บ้านเมืองส่วนกลางให้รุ่งเรืองนั้น ไม่มีความยินดีหามิได้…
...พวกหัวเมืองลาวประเทศราชยกล่วงหน้าขึ้นไหน้าขึ้นไปก่อน นั้นเดินทางวันหนึ่งเดิน แต่ ๒ ชั่วโมงบ้าง ๓ ชั่วโมงบ้างพวกลาวนายหนึ่งคุมไพร่ร้อยสองร้อยก็จริงแต่ทว่าขี้ขลาดนัก ได้ยินเสียงปืนหนาไม่ได้หลีกเลี่ยงหลบเหลื่อมเหลื่อมไปครั้นพวกไทยหลวมตัวเข้าไป พวกลาวก็ไม่ช่วย
...ด้วยนิไสยสันดานลาวมีอยู่ ๓ อย่างเป็น แต่อยากได้ของเขาไม่อยากเสียของให้แก่ใคร กับเกียจคร้านเท่านั้น เหมือนกันตั้งแต่เมืองเชียงใหม่ตลอดไปทุกบ้านทุกเมือง”
ซึ่งจากบทความนี้สะท้อนให้เห็นว่าชนชั้นปกครองของสยามมองล้านนาว่ามีความอ่อนแอ เป็นคนเกียจคร้าน
ในช่วงที่จักรวรรดิอาณานิคมบริเตนของสหราชอาณาจักรกำลังล่าอาณานิคมนั้น อิทธิพลของบริเตนได้เข้ามาในล้านนาเป็นอย่างมาก ผ่านทางอินเดียซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทอินเดียตะวันออกของบริเตน และภายหลังอินเดียก็อยู่ภายใต้รัฐบาลในพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรโดยตรง หลังเกิดกบฏซีปอยในปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ซึ่งในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ราชอาณาจักรสยามได้ลงนามในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษแลประเทศสยาม (Treaty of Friendship and Commerce between the British Empire and the Kingdom of Siam) หรือสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) โดยเฉพาะสาระสำคัญเรื่องแรกในสนธิสัญญาคือ การใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของบริเตนต่อสยาม
ซึ่งคือสิทธิพิเศษทางกฎหมาย ที่อังกฤษสามารถบังคับใช้กฎหมายในบุคคลของตนต่อดินแดนของรัฐอื่นได้ โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกาซึ่งถูกมองว่าป่าเถื่อนและล้าหลัง ทำให้ชาติยุโรปหลายชาติจึงไม่ค่อยเชื่อมั่นในระบบกฎหมายของบ้านเรานัก โดยไทยเราเรียกคนพวกนี้รวมๆ กันว่า “สัปเยกต์” (Subject) ซึ่งการที่อังกฤษมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนี้ส่งผลเสียต่อสยามเป็นอย่างมาก เนื่องจากมักมีการกระทบกระทั่งต่อคนใต้อาณัติของทั้ง ๒ รัฐอยู่เสมอ การกระทำเช่นนี้ทำให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ถูกบั่นทอน กล่าวคือทรงไม่สามารถใช้พระราชอำนาจควบคุมบุคคลใต้อาณัติได้ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งสิทธิพิเศษอีกหลายๆ อย่างของการเป็นคนใต้บังคับของต่างชาตินั้นมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา (คริสต์) เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้แม้แต่ชาวสยามบางส่วนเองก็ยินยอมที่จะอยู่ใต้บังคับของต่างชาติ (และอังกฤษ) เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เนื่องจากได้รับการปฏิบัติดีกว่าการบังคับของสยาม นอกจากนี้อังกฤษยังมีสิทธิที่จะคุ้มครองลูกจ้างชาวสยามกับชาวสยามที่เข้ารีต เพื่อเป็นข้ออ้างในการขัดขืนเจ้าพนักงาน
ส่วนการค้าไม้ในล้านนาเริ่มดำเนินการมาเป็นเวลานานตั้งแต่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีชาวจีน พม่า และเงี้ยว (ไทยใหญ่) ซึ่งได้อนุญาตจากเจ้าผู้ครองนครต่างๆ ในหัวเมืองทางเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ให้เข้าไปตัดฟันไม้สักออกจากป่า โดยเสียเงินค่า "ตอไม้" ให้แก่เจ้าผู้ครองนครในล้านนา ซึ่งหลังจากที่ราชอาณาจักรสยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริง คนในบังคับของบริเตนใหญ่ซึ่งก็คือชาวพม่า มอญ ก็ได้เข้ามาทำงานด้านไม้สักมากขึ้น บริษัทบริติช บอร์เนียว (British Borneo Company,Ltd.) ได้เข้ามาดำเนินกิจการไม้สักในสยามในปี พ.ศ. ๒๔๐๗ ด้วยเช่นกัน ตามมาด้วยบริษัทบอมเบย์เบอร์มา (Bombay Burma Trading Corporation,Ltd.) บริษัทสยามฟอเรสต์ (Siam Forest Company,Ltd.) หรือบริษัทแองโกลไทย จำกัด ในปัจจุบันและบริษัทอื่นๆ เข้ามาขอสัมปทานป่าไม้ด้วยเช่นกัน
ประกอบกับก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ กัปตันแอช เอ็น แอน เดอร์เซน (Captain H.N. Andersen) ชาวเดนมาร์ก ได้บรรทุกไม้สักไทยไปขายที่สหราชอาณาจักร ทำกำไรได้ดีอย่างมาก ทั้งยังหมดภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ไม้สักไทยเป็นที่เลื่องลือไปพอสมควรในระยะเวลานั้น ซึ่งการที่ได้สัมปทานทำไม้สักเพิ่มมากขึ้นๆ ทำให้เกิดการแก่งแย่งการทำไม้ ทั้งยังมีการขัดขวางผลประโยชน์ระหว่างบริษัทต่างๆ และบริษัทต่อเจ้าเมืองต่างๆ จึงเกิดเรื่องร้องฟ้องร้องอยู่บ่อยๆ อีกทั้งชนพื้นเมืองต่างๆ ซึ่งอยู่ในบังคับของบริเตน ก็มีปัญหากับชาวบ้านซึ่งอยู่ในบังคับของสยาม สยามไม่สามารถตัดสินคดีความได้เนื่องจากติดความในสนธิสัญญาเบาว์ริง
1
กรณีพิพาทลักษณะนี้เกิดปัญหาและทราบความถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่เรื่อยๆ ซึ่งทางกงสุลบริเตนใหญ่ได้แนะนำให้ทางราชสำนักกรุงเทพปกครองล้านนาอย่างเบ็ดเสร็จ คือให้อำนาจในการปกครองล้านนาตกอยู่กับกรุงเทพโดยตรง แต่ทางสยามยังบอกว่าไม่พร้อม เรื่องจากล้านนาเป็นดินแดนที่อยู่ค่อนข้างใกล อำนาจการเข้าถึงของสยามส่งไปยังดินแดนนี้ก็ค่อนข้างยาก ซึ่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค, ยศในเวลานั้น) เห็นว่าสยามยังไม่ควรปกครองล้านนาแบบเบ็ดเสร็จ เนื่องจากสยามไม่เคยมีอำนาจจริงมาก่อน อีกทั้งทางกรุงเทพมองว่าล้านนาเป็นเพียงรัฐที่สวามิภักดิ์ต่อสยามไม่ได้เป็นเมืองขึ้นแต่อย่างใด
บรรณานุกรม
.
เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. เปิดแผนยึดล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559.
เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว; จุพิศพงศ์ จุฬารัตน์. (2557, มกราคม–มิถุนายน). “รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ. 2417-2476″. ใน วารสารศรีนครินทรวิโรฒวิจัยและพัฒนา (สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์). 6(11): 65.
🖊️ ติดตามหัวข้อประวัติศาสตร์ได้ทุกช่องทาง
Facebook: หัวข้อประวัติศาสตร์
Blockdit: หัวข้อประวัติศาสตร์
YouTube: หัวข้อประวัติศาสตร์
โฆษณา