12 พ.ค. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Sell in May คืออะไร ? ทำไมใคร ๆ ก็พูดถึง
1
Sell in May คำพูดที่เรามักได้ยินในเดือน พ.ค. ของทุกปี ยิ่งใครอยู่ในโลกการลงทุนมานาน ก็น่าจะได้ยินกันจนเบื่อ
บางคนอาจเคยได้ยินว่า Sell in May คือ ภาวะที่ตลาดหุ้นปรับตัวลง จากแรงขายทำกำไร ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในเดือน พ.ค.
✍ แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงรึเปล่า ? มันมีผลต่อการลงทุนมากแค่ไหน ? วันนี้มาหาคำตอบกันครับ
Sell in May คืออะไร ?
Sell in May คือ...
ความเชื่อที่ว่าตลาดหุ้นในเดือน พ.ค. มักจะให้ผลตอบแทนที่ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากต้องเผชิญกับแรงขายทำกำไร
เพราะนักลงทุนเชื่อกันว่า ผลประกอบการในไตรมาส 2 และ 3 จะสู้ไตรมาส 1 ไม่ได้ จึงทำให้เกิดแรงขายทำกำไรออกมาก่อน
Sell in May คือ ...
ส่วนเหตุผลที่ไตรมาส 1 มักเป็นไตรมาสที่นักลงทุนเชื่อว่าจะมีผลประกอบการโดดเด่น เพราะบรรยากาศของการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้เงินกันในช่วงปลายปีจนถึงช่วงต้นปีใหม่
ซึ่งความเชื่อนี้ มาจากการตั้งข้อสังเกตของนักลงทุนบางกลุ่ม ที่เห็นว่าตลาดหุ้นในเดือน พ.ค. มักจะปรับตัวลงบ่อยครั้ง เป็นจำนวนที่มากกว่าในเดือนอื่น ๆ
📌 ในเมื่อมันเป็นแค่ความเชื่อ ก็แปลว่ามันอาจจะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้
ทำไมต้องเป็นเดือน พ.ค. เป็นเดือนอื่นไม่ได้เหรอ ? 🤔
ทำไมต้องเป็นเดือน พ.ค.
มันยังมีความเชื่ออื่น ๆ ที่มาสนับสนุนเรื่องนี้ คือ ในเดือน พ.ค. เป็นช่วงที่ผ่านการประกาศงบไตรมาส 1 และหลายบริษัทก็จ่ายปันผลเสร็จเรียบร้อยแล้ว
และในตลาดหุ้น ไม่ได้มีเพียงแค่นักลงทุนชาวไทย เรายังมีนักลงทุนต่างชาติอีก ซึ่งจำนวนเงินที่นักลงทุนต่างชาติเอาเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยคิดเป็นจำนวนมหาศาล แปลว่าเงินปันผลที่ได้รับก็มีปริมาณเยอะมากเช่นกัน
ดังนั้นถ้าไม่รู้จะเอาเงินปันผลไปลงทุนอะไรต่อ ก็ต้องนำเงินปันผลกลับประเทศตัวเอง ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนเงินตรา ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า
ทีนี้ เมื่อเงินบาทอ่อนค่ามาก ๆ ก็จะเป็นแรงกดดันอีกทาง ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องขายหุ้นทำกำไรออกมา เพื่อเก็บกำไรของตัวเองเอาไว้ก่อน
เพราะเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้นักลงทุนต่างชาติเสียเปรียบ เนื่องจากต้องใช้เงินบาทจำนวนมากในการแลกกลับไปเป็นสกุลเงินของตัวเอง อาจทำให้ผลตอบแทนในการลงทุนแย่ลง 📉
Sell in May เกิดขึ้นจริงบ่อยแค่ไหน ?
Sell in May มีโอกาสเกิดแค่ไหน ?
🔍 หากกลับไปดูผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยใน 11 ปีย้อนหลัง (2554-2564) จะพบว่าเดือน พ.ค. ตลาดหุ้นไทย ปรับตัวลง 7 ใน 11 ครั้ง หรือ คิดเป็น 64% ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าเดือนอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด
แต่อย่างที่บอกในตอนต้นครับ ว่านี่เป็นเพียงความเชื่อและหลักสถิติ นำมาจากเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งในปัจจุบันเหตุการณ์หลายอย่างอาจแตกต่างกันไป จึงไม่ได้หมายความว่า Sell in May จะต้องเกิดขึ้นทุกปี
เพิ่มเติม คือ ในช่วงกลางปีเป็นต้นไป ถ้าลองนับจำนวนครั้งที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง จะพบว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นเพียง ~50%
Sell in May รุนแรงแค่ไหน ?
Sell in May รุนแรงแค่ไหน ?
เมื่อดูผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทยย้อนหลัง 11 ปี จะพบว่าในเดือน พ.ค. ปรับตัวลงราว 1.30% เยอะที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่น
⭐ ที่น่าสนใจ คือ ผลตอบแทนในช่วง 4 เดือนแรกของตลาดหุ้นไทยมักจะดูสดใสเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือน เม.ย. ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงที่สุดราว 2.77% ต่อปี มาพร้อมกับโอกาสที่ตลาดหุ้นมักจะปรับตัวขึ้นในเดือนนี้ สูงถึง 8 ใน 11 ครั้ง
1
🚨 หมายเหตุ : ผลตอบแทนในแต่ละเดือนนับจากต้นเดือนถึงสิ้นเดือน นั่นหมายความว่าหากในระหว่างเดือนนั้นตลาดผันผวนหนัก อาจติดลบมากกว่าหรือบวกมากกว่าก็ได้
ส่วนตลาดหุ้นหลัก ๆ ในต่างประเทศ ต้องเจอกับภาวะ Sell in May เหมือนกันมั้ย ?
ตลาดหุ้นต่างประเทศเจอ Sell in May มั้ย ?
🔍 ย้อนกลับไปดูผลตอบแทน 11 ปีที่ผ่านมา มีเพียงตลาดหุ้นฮ่องกง (HSI : Hang Seng Index) เท่านั้นที่เจอกับภาวะ Sell in May อย่างเห็นได้ชัด โดยพบมากถึง 8 ใน 11 ครั้ง
ขณะที่ตลาดหุ้นในประเทศอื่น ๆ กลับไม่เห็นภาวะ Sell in May ที่ชัดเจนเท่าไหร่
📌 ที่น่าสนใจกว่า คือ ตลาดหุ้น Nasdaq (หุ้นเทคฯ สหรัฐ) CSI300 (จีน) HSI (ฮ่องกง) และ Sensex (อินเดีย) ดูมีโอกาสสูงที่จะปรับตัวลงในเดือน ส.ค. และ ก.ย. มากกว่าเดือน พ.ค. อย่างชัดเจน
1
🚨 หมายเหตุ : บทความนี้จัดทำเพื่อนำเสนอข้อมูลเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำหรือแนะนำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนตัดสินใจลงทุน
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา