Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ประวัติศาสตร์ทางทหาร
•
ติดตาม
15 ก.ย. 2023 เวลา 16:19 • ประวัติศาสตร์
แผนปฏิบัติการ "กัสตอร์" ปฏิบัติการส่งกำลังทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นอินโดจีน
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ คาบสมุทรอินโดจีนอันประกอบด้วย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ได้กลับมาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง แต่การกลับเข้ามาปกครองในครั้งนี้ได้รับการต่อต้านจากขบวนการเวียดมินห์ ภายใต้การนำของ โฮจิมินห์ ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชของเวียดนาม ฝรั่งเศสได้ส่งทหารและยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมากเข้าสู่ประเทศเวียดนามเพื่อปราบปรามขบวนการเวียดมินห์
การสู้รบกับขบวนการเวียดมินห์ของกองทัพฝรั่งเศส เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยการสู้รบส่วนใหญ่เกิดขึ้นทางตอนเหนือของประเทศ และทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่ากองทัพฝรั่งเศสจะมีกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่า แต่ก็ไม่สามารถจัดการได้อย่างเด็ดขาด ทำให้สงครามยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน
ต่อมาในกลางปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ฝรั่งเศสตัดสินใจเปิดยุทธการขนาดใหญ่ เพื่อเข้ายึดเมืองเดียนเบียนฟู ที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ในหุบเขาใกล้ชายแดนลาว โดยจัดตั้งป้อมค่ายขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อป้องกันประเทศลาวและทำการกวาดล้างขบวนการเวียดมินห์ทางภาคเหนืออีกด้วย
ที่ตั้งของเมืองเดียนเบียนฟู ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนลาว
ตามแผนปฏิบัติการยึดเดียนเบียนฟู ฝ่ายเสนาธิการต้องการส่งกองพันพลร่มจำนวน ๖ กองพัน กระโดดร่มลงพร้อมกัน เพราะตามข่าวกรองที่ได้รับมา เดียนเบียนฟูเป็นพื้นสำคัญที่เชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างเวียดนามกับลาว และต่อไปยังไทย พม่า จีน ซึ่งก็เปรียบเสมือนเส้นทางการส่งกำลังบำรุงหลักของขบวนการเวียดมินห์ ทำให้มีการวางกำลัง กองพันที่ ๙๑๐ ของกรมทหารราบอิสระที่ ๑๔๘ รักษาพื้นที่อยู่
แต่เนื่องจากในขณะนั้นฝรั่งเศสประสบกับปัญหาขาดแคลนเครื่องบินลำเลียงและนักบิน ทำให้สามารถขนส่งพลร่มได้พร้อมกันเพียง ๒ กองพันต่อระลอก จึงจำเป็นต้องแบ่งการปฏิบัติการออกเป็นสองระลอกในวันแรก และอีกสามระลอกในวันต่อๆ ไป
พลตรี ฌัง ยิลล์ ผู้บัญชาการกองกำลังส่งทางอากาศภาคพื้นอินโดจีน ได้ตัดสินใจเลือก กองพันพลร่มอาณานิคมที่ ๖ และ กองพันที่ ๒ ของกรมทหารพรานพลร่มที่ ๑ ซึ่งทั้งสองกองพันนี้เป็นหน่วยพลร่มที่ดีที่สุดในอินโดจีน สมทบด้วยกองร้อยทหารช่างสนามที่ ๑๗ (หย่อนกำลัง) เป็นหน่วยที่จะกระโดดร่มยึดที่หมายในระลอกแรก
ก่อนที่เครื่องบินจะต้องบินย้อนกลับมารับพลร่มระลอกที่สองที่ฮานอย ซึ่งอยู่ห่างกว่า ๓๐๐ กม. ต้องใช้เวลากว่า ๔ ชั่วโมง ถึงจะสามารถส่งพลร่มระลอกที่สองไปเพิ่มเติมกำลังได้ ดังนั้นหน่วยพลร่มระลอกแรกที่จะเข้ายึดเดียนเบียนฟู จึงมีความสำคัญมาก ความสำเร็จหรือล้มเหลว ของแผนปฏิบัติการจู่โจมในครั้งนี้ขึ้นอยู่กับพวกเค้าอย่างแท้จริง
ในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ พล.ท. ปีแอร์ โบเดต์ ผู้ช่วยของ นายพลนาวาร์ ผู้บัญชาการสูงสุดของทหารฝรั่งเศสในอินโดจีน ได้เรียกผู้บังคับกองพันพลร่ม ๒ กองพันแรกที่จะโดดร่มลงสู่ที่หมาย เข้าประชุม นายทหารทั้งสองท่านคือ พันตรี มาร์แซล บียาร์ค ผู้บังคับกองพันพลร่มอาณานิคมที่ ๖ และ พันตรี ฌัง เบรชีญัค ผู้บังคับกองพันที่ ๒ กรมทหารพรานพลร่มที่ ๑
ก่อนที่การประชุมจะเสร็จสิ้นลง นายพลโบเดต์ ได้ออกคำสั่งโดยตรงแก่นายทหารทั้งสองนาย ด้วยน้ำเสียงราบเรียบ และชัดเจน ผู้พันบียาร์ค ยังประโยคจำเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี "ก่อนอื่น การบุกครั้งนี้ควรจะสำเร็จ แต่ถ้าข้างล่างนั้นมันหนักนัก ไม่ต้องลังเลใจ ม้วนเสื่อ และถอนตัวออกไปทางประเทศลาว คุณตัดสินใจเอาเอง ทางเราจะสนับสนุนทุกอย่าง แต่ถ้าพรุ่งนี้อากาศไม่ดีจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่เดียนเบียนฟู"
ถ้าอากาศดีป้อมเดียนเบียนฟูจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ ...! สองสามปีหลังจากนั้น บียาร์ค ระลึกถึงคำสั่งนี้ของนายพลโบเดต์ และรำพึงขึ้นว่า "ทำไมวันนั้น ฝนถึงไม่ตกนะ"
พื้นที่ดรอปโซนในหุบเขาเดียนเบียนฟู
รายละเอียดของแผนปฎิบัติการทั้งหมด มีมากกว่า ๓,๐๐๐ แฟ้ม เกี่ยวกับ "ดรอปโซน" ๓ แห่ง สองแห่งสำหรับพลร่ม อีกหนึ่งแห่งสำหรับสัมภาระ ดรอปโซนของกองพันพลร่มอาณานิคมที่ ๖ ชื่อรหัสว่า "นาตาชา" ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเดียนเบียนฟู ดรอปโซนของกองพันที่ ๒ กรมทหารพรานพลร่มที่ ๑ ชื่อรหัสว่า "ซีโมน" อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำยวม ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเดียนเบียนฟู และดรอปโซนสำหรับทิ้งสัมภาระมีรหัสว่า "อ๊อกตาวี" อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บนริมฝั่งด้านขวาของแม่น้ำยวม
เวลา ๐๔.๐๐ น. ของวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ กองพันพลร่มอาณานิคมที่ ๖ จำนวน ๖๕๑ นาย ภายใต้การบังคับบัญชาของ พันตรี มาร์แซล บียาร์ค และกองพันที่ ๒ กรมทหารพรานพลร่มที่ ๑ จำนวน ๕๖๙ นาย ของพันตรี ณัง เบรชีญัค พร้อมทั้งทหารช่างอีกจำนวนหนึ่งจากกองร้อยทหารช่างที่ ๑๗ ออกเดินทางจากที่ตั้ง กระจายไปยังสนามบินใกล้กรุงฮานอยสองแห่งคือ สนามบินเยีย แลม และสนามบินบัคไม
ปฏิบัติการ “กัสตอร์” เริ่มขึ้นเมื่อ ๐๕.๐๐ น. ของวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ ด้วยเครื่องบินลำเลียง ซี-๔๗ ดาโกต้า ติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารครบครัน และมีน้ำมันเชื้อเพลิงพอที่จะบินได้นานถึงแปดชั่วโมง บินขึ้นเพื่อเป็นกองบัญชาการลอยฟ้า ที่มี พล.ต. ฌัง ยิลล์ ผู้บัญชาการกองกำลังส่งทางอากาศ พล.อ.ต. ฌัง เดอโชส์ ผู้บัญชาการทางอากาศยุทธวิธี และ พล.ท. ปีแอร์ โบเดต์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุดประจำอินโดจีนโดยสารไปด้วย เพื่อตัดสินใจว่าจะส่งพลร่มเข้ายึดเดียนเบียนฟูในวันนั้น หรือว่าจะยกเลิก หรือเลื่อนออกไปเป็นวันอื่น
พอเวลา ๐๖.๓๐ น. เครื่องบินลำเลียง ซี-๔๗ ของนายพลทั้งสาม ก็ได้มาบินอยู่เหนือหุบเขาเดียนเบียนฟู แต่ทัศนะวิสัยโดยทั่วไปดูแย่มาก มีหมอกลงจัด หมอกนี้เป็นหมอกประจำถิ่นในเขตเวียดนามเหนือ จะมีอยู่เกือบตลอดทั้งปีแม้จะเป็นในฤดูร้อนก็ตาม การตัดสินใจที่จะยกเลิกการปฏิบัติการ หรือจะดำเนินการต่อตามแผน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ พล.อ.ต. ฌัง เดอโชส์ ผู้บัญชาการทางอากาศยุทธวิธีในอินโดจีน แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น เครื่องบินทำการบินเป็นวงกลมขนาดใหญ่อย่างช้าๆ เหนือที่ราบที่มีหมอกปกคลุมอยู่
ต่อมาในเวลา ๐๗.๐๐ น. แสงอาทิตย์สาดผ่านเมฆที่ลอยอยู่ในระดับสูงลงมา หมอกกำลังจางลง สภาพอากาศเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ นายทหารฝ่ายอุตุนิยมวิทยาได้เดินเข้าไปหานายพลเดอโชส์ ซึ่งกำลังนั่งพิจารณาภูมิประเทศเบื้องล่างผ่านช่องหน้าตาของเครื่องบิน และรายงานให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ในที่สุดกองบัญชาการลอยฟ้านี้ ได้ตัดสินใจส่งวิทยุเป็นรหัสไปยังกองบัญชาการในกรุงฮานอย เพื่อเริ่มปฏิบัติการตามแผนปฏิบัติการ "กัสตอร์" เมื่อเวลา ๐๗.๒๐ น. ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการส่งกำลังทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นอินโดจีน
ดักลาส ซี-๔๗ ดาโกต้า ของกองทัพอากาศฝรั่งเศส
นักบินและพลร่ม ขึ้นประจำเครื่องบินของตนตั้งแต่เวลา ๐๗.๑๕ น. พลร่มพร้อมสัมภาระที่นั่งกระสับกระส่ายรอคำสั่งเคลื่อนกำลัง ต่างคนต่างแหงนดูท้องฟ้า ตามกำหนดเวลาเครื่องบินทั้งหมดต้องเริ่มติดเครื่องยนต์ตั้งแต่เวลา ๐๗.๒๐ น. แต่คำสั่งเคลื่อนกำลังจากกองบัญชาการ มาถึงสนามบินทั้งสองแห่งในเวลาหลัง ๐๘.๐๐ น. เล็กน้อย เครื่องรับส่งวิทยุต่างๆ เริ่มทำงาน พร้อมกับเครื่องบิน ซี-๔๗ ทั้ง ๖๕ ลำ ที่จะออกปฏิบัติการในระลอกแรก พากันติดเครื่องยนต์ส่งเสียงดังสนั่นหวั่นไหว
หอบังคับการบินของสนามบินทั้งสองแห่งก็ยิงพลุสัญญาณให้เครื่องบินออกปฏิบัติการ บรรดาพลร่มที่เตรียมพร้อมอยู่บนเครื่องบินต่างเป่าปากโล่งอก เมื่อเครื่องบินลำเลียงทยอยแท็กซี่เออกจากลานจอดข้าสู่ทางวิ่ง เครื่องบินแต่ละลำบรรทุกพลร่มพร้อมสัมภาระลำละ ๑๘ - ๒๐ นาย ฝูงแรกจากสนามบินเยีย แลม ฝูงที่สองจากสนามบินบัคไม แต่ละฝูงแบ่งออกเป็นหมู่ย่อยๆ อีกหมู่บินละ ๓ ลำ แต่ละหมู่บินวิ่งขึ้นห่างกัน ๑ นาที แต่ละลำห่างกัน ๑๐ วินาที
เวลา ๐๘.๑๕ น. เครื่องบินลำแรกวิ่งขึ้นสู่อากาศ จากนั้นก็บินวนรอบสนามบินเพื่อจัดรูปขบวนตามยุทธวิธีแล้วมุ่งหน้าออกไปทางทิศตะวันตกของกรุงฮานอย โดยมีฝูงบินขับไล่และฝูงบินโจมตีทิ้งระเบิดให้การสนับสนุน
เวลา ๑๐.๓๐ น. เครื่องบินลำเลียงชุดแรกบินอยู่เหนือหุบเขาเดียนเบียนฟู สัญญาณไฟเตรียมพร้อมในห้องโดยสารสว่างขึ้น เจ้าหน้าที่ควบคุมการโดดร่มในเครื่องบินลุกขึ้นไปยืนอยู่ที่หน้าประตู ส่งสัญญาณให้พลร่มลุกขึ้นเกี่ยวสายสเตติก (Static Line) กับลวดที่ขึงเป็นแนวตลอดความยาวของห้องโดยสาร พลร่มทุกนายตรวจความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ เสียงรายงานความพร้อมดังก้อง พลร่มคนแรกยืนที่ประตูสองมือเกาะขอบประตูด้านนอก เวลา ๑๐.๓๕ น. สัญญาณกระดิ่งในห้องโดยสารก็ดังขึ้น พร้อมไฟสีเขียวที่สว่างขึ้น เพื่อให้พลร่มโดดลงสู่ที่หมาย
พลร่มฝรั่งเศสขณะทำการโดดร่มลงสู่หุบเขาเดียนเบียนฟู
ในเวลาเดียวกัน กำลังพลของฝ่ายเวียดมินห์กำลังออกมาฝึกซ้อมยิงปืนอยู่ที่บริเวณสนามบินเก่าทางตอนเหนือของหุบเขาเดียนเบียนฟูใกล้กับ ดรอปโซน "นาตาชา" ดังนั้นปืน ค. และ ปืนกล ของฝ่ายเวียดนมินห์จึงอยู่ในตำแหน่งที่สามารถยิงใส่พลร่มที่โดดร่มลงในดรอปโซน "นาตาชา" ได้เป็นอย่างดี เสียงเครื่องบินตรวจการณ์ที่พวกเวียดมินห์ได้ยินตั้งแต่เช้าตรู่ ไม่ได้ทำให้พวกเค้าวิตกกังวลแต่อย่างใด นึกกันว่าเป็นเครื่องบินตรวจการณ์ธรรมดาทั่วไป
จนกระทั่งได้ยินเสียงเครื่องบินเป็นจำนวนมากบินมาถึง แล้วก็มีจุดขาวๆ หลุดออกมาจากเครื่องบิน และเมื่อสังเกตุดูดีๆ ร่มที่เปิดออกเป็นดอกเห็ดสีขาวมีคนห้อยแขวนอยู่ด้วย เวียดมินห์ใช้ปืนยิงใส่พลร่มที่กำลังลอยอยู่ในอากาศโดยที่ไม่สามารถป้องกันตนเองได้ จึงทำให้มีพลร่มหลายนายเสียชีวิต กำลังพลของกองพันพลร่มอาณานิคมที่ ๖ ที่โดดลงบริเวณดรอปโซน "นาตาชา" ได้รับการตอนรับจากเวียดมินห์ด้วยปืน ค. และปืนกลอย่างรุนแรง
พลร่มฝรั่งเศส เมื่อโดดร่มลงถึงพื้นในหุบเขาเดียนเบียนฟูแล้ว
ความไม่มีระเบียบและการกระจัดกระจายของพลร่ม เกือบจะเป็นเรื่องธรรมดาในปฏิบัติการส่งกำลังทางอากาศขนาดใหญ่ แต่ก็ทำให้ฝ่ายศัตรูเสียขวัญ ตื่นตระหนกทำอะไรไม่ถูก พลร่มบางส่วนเริ่มรวมตัวกันได้ และค่อยเคลื่อนเข้าหาหมู่บ้าน แต่ก็ถูกต้านทานจากพลแม่นปืนและอาวุธอัตโนมัติ จนกระทั่งเวลา ๑๑.๐๐ น. จึงสามารถควบคุมบางส่วนของหมู่บ้านไว้ได้
บก.พัน. ของกองพันพลร่มที่ ๖ พันตรี บียาร์ค เริ่มควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ สามารถติดต่อกับกองร้อยต่างๆ และกองพันของเบรชีญัค ได้แล้ว แต่ยังไม่สามารถสื่อสารกับกองบัญชาการใหญ่ในฮานอยได้ เพราะเสาอากาศของเครื่องรับส่งวิทยุใหญ่ถูกทำลายเสียหาย
พันตรี มาร์แซล บียาร์ค ผู้บังคับกองพันพลร่มอาณานิคมที่ ๖ (คนนั่ง) ขณะวิทยุติดต่อกับหน่วยอื่นๆ ระหว่างปฏิบัติการ "กัสเตอร์" เมื่อวันที่ ๒๐ พ.ย. ๒๔๙๖
แต่พอเวลา ๑๒.๑๕ น. เมื่อเครื่องบินสื่อสารโมราน ๕๐๐ บินมาถึง บียาร์ค จึงสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้โดยอาศัยวิทยุของเครื่องบินโมรานเป็นตัวถ่ายทอดสัญญาณ และยังทำให้บียาร์คสามารถติดต่อกับเครื่องบินโจมตีที่บินรอให้แนวรบเข้ารูปจะได้ไม่ทิ้งระเบิดถูกพวกเดียวกัน ให้เข้าโจมตีเดียนเบียนฟูทันที การทิ้งระเบิดเป็นไปอย่างแม่นยำ ทำให้ข้าศึกยิงโต้ตอบเบาบางลงไปมาก
ปืน ค. ๑๒๐ ม.ม. ของกองร้อยเครื่องยิงลูกระเบิดหนัก กองพันพลร่มต่างด้าวที่ ๑ ขณะทำการยิง ระหว่างปฏิบัติการ "กัสตอร์" เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๖
พลร่มระลอกที่สอง ประกอบด้วยกองพันพลร่มอาณานิคมที่ ๑ จำนวน ๗๕๐ นาย นอกจากนี้ยังมีกองร้อยปืนไร้แรงสะท้อนจำนวน ๒ กองร้อย จัดกำลังจากกรมปืนใหญ่เบาส่งกำลังทางอากาศที่ ๓๕ และกองร้อยเครื่องยิงลูกระเบิดหนัก กองพันพลร่มต่างด้าวที่ ๑ นอกจากนี้ยังมีเสนารักษ์สนามอีก ๑ ชุดปฏิบัติการ รวมกำลังพลทั้งสิ้น ๙๑๑ นาย ในจำนวนเป็นทหารชาวเวียดนาม ๔๑๓ นาย โดดลงยังดรอปโซน "นาตาชา" ด้วยเครื่องบินลำเลียง ซี-๔๗ ดาโกต้า จำนวน ๔๑ เครื่อง ในเวลา ๑๕.๐๐ น. ซึ่งพื้นที่ดรอปโซนได้รับควบคุมโดยกองพันพลร่มอาณานิคมที่ ๖ เรียบร้อยแล้ว
ปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๗๕ ม.ม. ของกรมปืนใหญ่เบาส่งกำลังทางอากาศที่ ๓๕ ระหว่างปฏิบัติการ "กัสตอร์" เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๖
เวลา ๑๕.๓๐ น. กองร้อยที่ ๑ กองพันพลร่มอาณานิคมที่ ๖ ประสบความล้มเหลวในการบุกเข้าสู่หมู่บ้าน เพราะถูกข้าศึกระดมยิงด้วยอาวุธอัตโนมัติอยู่ตลอดเวลา จนต้องขอการโจมตีสนับสนุนทางอากาศ คราวนี้ใจกลางหมู่บ้านถูกทำลายด้วยลูกระเบิดจากเครื่องบินอย่างราบคาบ กองร้อยที่ ๓ จึงเข้าสู่หมู่บ้านได้จากทางทิศตะวันออก แต่ต้องพบกับการต่อต้านจากส่วนระวังหลังของเวียดมินห์ ที่ถ่วงเวลาให้กำลังส่วนใหญ่ของตนที่กำลังถอยร่นออกจากหมู่บ้าน ทหารฝรั่งเศสต้องกวาดล้างบ้านทีละหลัง และต่อสู้ในระยะประชิดตัวกว่าจะยึดหมู่บ้านแห่งนี้ได้
ในตอนเย็นของวันแรก ทหารพลร่มฝรั่งเศส เสียกำลังพลไปจำนวน ๑๕ นาย บาดเจ็บ ๓๔ นายจากการสู้รบ และ เสียชีวิต ๑ นาย บาดเจ็บ ๑๓ นายจากการกระโดดร่ม ส่วนทางฝ่ายเวียดมินห์ เสียชีวิต ๑๑๕ นาย และ บาดเจ็บ ๔ นาย โดนถูกจับตัวเป็นเชลยศึก ยึดอาวุธได้ ๔๐ ชิ้น
ต่อมาในตอนเช้าของวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ กองพันพลร่มต่างด้าวที่ ๑ พร้อมคณะเสนาธิการและพล.ต. ฌัง ยิลล์ ผู้บัญชาการกองกำลังส่งทางอากาศภาคพื้นอินโดจีน ได้กระโดดร่มลงสู่เดียนเบียนฟู ตลอดทั้งวันมีการส่งอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งรถแทรกเตอร์จำนวน ๒ คัน ลงสู่เดียนเบียนฟู เพื่อเริ่มปรับปรุงสนามบิน และในเวลา ๑๕.๓๐ น. กองพันพลร่มจู่โจมที่ ๘ จำนวน ๖๕๐ นาย ได้โดดร่มลงมาอีกพร้อมอุปกรณ์และสัมภาระต่างๆ เพื่อเสริมกำลัง
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ กองพันพลร่มเวียดนามที่ ๕ เป็นกองพันสุดท้ายที่ได้โดดร่มลงสู่เดียนเบียนฟู รวมแล้วมืทหารพลร่มโดดร่มลงสู่เดียนเบียนฟู ตั้งแต่วันที่ ๒๐ – ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๖ รวมทั้งสิ้น ๔,๑๙๕ นาย นับว่าแผนปฏิบัติการ “กัสตอร์” เป็นการปฏิบัติการส่งกำลังทางอากาศขนาดใหญ่ที่สุดในภาคพื้นอินโดจีน และยังเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมที่จะเกิดขึ้นในอีก ๖ เดือนต่อมา เมื่อป้อมเดียนเบียนฟูถูกกองกำลังเวียดมินห์ตีแตกในวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๔๙๗ ทำให้ฝรั่งเศสต้องถอนตัวออกจากอาณานิคมแห่งนี้ไปในที่สุด
การทหาร
ประวัติศาสตร์
บันทึก
2
2
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย