11 พ.ค. 2022 เวลา 00:30 • คริปโทเคอร์เรนซี
Stock to Flow คืออะไร ? แล้วเกี่ยวข้องยังไงกับ Bitcoin
เคยได้ยินชื่อ PlanB คุ้น ๆ หูกันบ้างมั้ย หรือคำว่า Stock to Flow
วันนี้เรามาหาคำตอบกันว่ามันคืออะไร ? แล้วเกี่ยวข้องยังไงกับ Bitcoin 🤩
⚠️ คำเตือน: เตรียมกาวให้พร้อม + บทความนี้ยาวนิดหน่อย
🎯 Stock to Flow คืออะไร ?
Stock to Flow (S2F) คืออัตราส่วน “ความหายากหรือความขาดแคลน” โดยพิจารณาจากปริมาณที่มีอยู่ของทรัพย์สินที่มีอยู่เทียบกับจำนวนที่สามารถผลิตขึ้นมาได้ในแต่ละปี ยิ่ง Stock-to-Flow ต่ำ สินค้าโภคภัณฑ์ก็จะมีมูลค่าต่ำลงเนื่องจากผลิตออกมาได้ง่ายแลไม่ขาดแคลน แต่หากยิ่งสูงเท่าใดก็จะต้องใช้เวลาในการผลิตนานขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่มีอยู่และสินทรัพย์ก็ยิ่งหายากมากขึ้นเท่านั้น
Stock-to-Flow ใช้ในการจำลองราคาของทรัพย์สินที่หายากด้วยอุปทานที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่นโลหะ ทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ
👉 สมมุติว่าปัจจุบันมีไอติมเทพทองทั่วโลก 1,000 ชิ้น เรียกว่า “Stock” ทุก ๆ ปีจะมีการขุดออกมาได้ 100 ชิ้น เรียกว่า “Flow” จากนั้นเราจะได้อัตราส่วน Stock / Flow ว่า 1,000/100 = 10
👉 ส่วนไอติมเทพเงินปัจจุบันมีอยู่ทั่วโลก 1,000 ชิ้น มีกำลังการขุดมันขึ้นมาที่ได้ต่อปีคือ 500 ชิ้น จะได้ Stock / Flow = 2
จะเห็นได้ว่า ไอติมเทพเงินนั้นมีค่า S2F อยู่ที่ 2 ปี (หมายความว่า ต้องใช้เวลา 2 ปีถึงจะผลิตได้เท่ากับที่มีอยู่) ซึ่งน้อยกว่าไอติมเทพทองอยู่ค่อนข้างมากที่ต้องใช้เวลาถึง 10 ปี หมายความว่าไอติมเทพเงินนั้นหาได้ง่ายกว่า ไม่ขาดแคลนเท่าไอติมเทพทอง 😋
🎯 Stock to Flow กับทองคำ
เราลองมาดูของจริงกัน ทองคำนั้นถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง เนื่องจากความที่มันทนทานและสามารถหาได้ยาก ทำให้มันเป็นสิ่งที่ผู้คนใช้เป็นที่เก็บมูลค่ามาอย่างยาวนาน
มาดูตัวอย่างง่าย ๆ ในปี 2017 สภาทองคำโลก (World Gold Council) คาดการณ์ว่าทองคำประมาณ 190,000 ตันได้ถูกขุดขึ้นมาแล้ว ในขณะเดียวกันมีการขุดทองประมาณ 3,230 ตันในปีนั้น หากเราหาค่า S2F ก็จะได้ 58.82 ปี ซึ่งตัวเลขอาจเปลี่ยนแปลงได้หากปริมาณที่ได้จากการขุดมีการเปลี่ยนแปลง ผนวกกับปริมาณที่มีอยู่
🎯 Stock to Flow กับ Bitcoin
หากพูดถึง Bitcoin แล้วแน่นอนว่ามันมีปริมาณที่จำกัดไว้ที่ 21 ล้านเหรียญ โดยอัตราเหรียญที่ถูกขุดขึ้นมาก็จะมีปริมาณน้อยลงเรื่อย ๆ ตามกระบวนการ Halving หมายความว่า S2F ของ Bitcoin ก็จะเพิ่มมากขึ้นจนอาจสูงกว่าทองคำ
หากคุณยังไม่รู้จัก Bitcoin Halving สามารถอ่านได้ที่นี่ 👇
และตั้งแต่ที่ Bitcoin ถือกำเนิดขึ้นมานั้น หลาย ๆ คนมองว่ามันเปรียบเสมือน “ทองคำ” ในขณะที่ Litecoin ก็เปรียบเสมือน “แร่เงิน” แต่ต่างกันที่ Bitcoin สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ถ้าเราลองคำนวณ S2F ของ Bitcoin ตอนนี้ ก็จะได้ 19,036,250.00 / 328,500 = 57.94 (คิดจาก Reward ที่ได้ล่าสุด ณ เวลาที่เขียนนี้ คือ 6.25 BTC ต่อบล็อก)
ภายหลังได้มีการนำโมเดล Stock to Flow มาใช้กับ Bitcoin โดย PlanB ซึ่งเป็นบุคคลนิรนามเพื่อทำนายราคา Bitcoin ที่เป็นไปได้ และจากที่ลองดูแล้วพบว่ามันสามารถปรับตัวขึ้นไปถึง 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ได้เลย! 😮
หากใครอยากอ่านความคิดของ PlanB ก็สามารถอ่านได้ที่นี่
ในโมเดล S2F ของเขานั้นจะมีการใช้ช่วงเวลา 463 วัน ด้วยเหตุผลดังนี้
1. เขาเชื่อว่าวงจรราคา Bitcoin จะมีวงจร 3 ช่วงคือ Bull Run, Correction และ Reversion to the Mean
2. เขาประเมินว่ามีประมาณ 200,000 บล็อกต่อรอบ และมี ประมาณ 144 บล็อกที่ถูกสร้างขึ้นใน 1 วัน (หากเข้าใจกลไกลการ Halving ตรงนี้น่าจะไม่งงกันนะ 😅)
จะได้ว่า ( 200,000 / 3 ) / 144 = 463 วัน
แต่ยังมีข้อจำกัดตรงที่ระยะเวลาในการ Halving ซึ่งจะเกิดขึ้นในทุก ๆ ประมาณ 4 ปี อาจส่งผลให้ราคาที่คำนวณได้ไม่สอดคล้องกับราคาที่เกิดขึ้นจริง ต่อมา PlanB ได้เปิดตัวแบบจำลอง Stock to Flow รุ่นใหม่มาชื่อว่า Stock-to-Flow Cross Asset (S2FX) ถ้าอยากดูก็ไปลองอ่านกันต่อนะ ไม่งั้นเยอะเกิน 555
🎯 ทำนายราคาจาก Scarcity
มาต่อกันหลังจากที่ได้เห็น S2F ของ PlanB ไปแล้ว อาจเกิดคำถามว่า เขาเอาราคามาจากไหน ? คำตอบก็คือ เขาได้ทำการคำนวณบลา ๆ ออกมาเป็นกราฟ “Scarcity” หรือความขาดแคลน โดยนำทองคำและแร่เงินมาเปรียบเทียบ โดยเมื่อ Plot ค่า S2F แล้วดู Market Cap ซึ่งสอดคล้องกัน และเมื่อลองทำกับ Bitcoin แล้วก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน ดูทรงแล้วมีแนวโน้มว่าจะไปถึงได้
หากจะหาราคา Bitcoin จากตรงนี้ ก็เอา Market Cap ของ Bitcoin หารด้วยปริมาณเหรียญทั้งหมดที่มีอยู่ ก็จะได้ราคาเหรียญออกมา
ตัวอย่าง
ตอนนี้ Market Cap อยู่ที่ $601,428,758,162
ปริมาณเหรียญที่มีอยู่ตอนนี้ คือ 19,036,250.00 เหรียญ
จะได้ว่า 601,428,758,162 / 19,036,250 = $31,593.86
หากสนใจเรื่อง Market Cap กับการประเมินราคา อ่านได้ที่นี่
อย่างไรก็ตาม S2F ก็เป็นอีกหนึ่งการคาดการณ์ด้วยสถิติข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งอาจไม่แม่นยำเสมอไป นักลงทุนควรบริหารความเสี่ยงและอย่าเชื่อมั่นจนเกินไป
โฆษณา