12 พ.ค. 2022 เวลา 00:50 • การเกษตร
ไมคอร์ไรซา (Mycorrhiza) คืออะไร? เชื้อราเร่งการเติบโตให้พืชทุกชนิด
หากพูดถึงเชื้อราในดินที่มีประโยชน์ต่อพืชเป็นอย่างมากในด้านการช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี แน่นอนว่า ก็ต้องนึกถึง ไมคอร์ไรซา (Mycorrhiza)
…แต่เชื้อราไมคอร์ไรซา (Mycorrhiza) นี้คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และเกษตรกรสามารถนำมาใช้กับพืชได้ด้วยวิธีไหนบ้าง บทความนี้มีคำตอบมาฝากแล้ว ตามไปดูพร้อมๆ กันเลย
ไมคอร์ไรซา (Mycorrhiza) คืออะไร
คำว่า “mycorrhiza” มาจากภาษากรีกว่า Mykes แปลว่า Mushroom หรือ fungus รวมกับ คำว่า rhiza แปลว่า root
ดังนั้น ไมคอร์ไรซา จึงหมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างรากับระบบรากของพืชชั้นสูง โดยรานั้นต้องไม่ใช่ราที่เป็นสาเหตุของโรคพืช
ส่วนรากพืชต้องเป็นรากที่มีอายุน้อย การอยู่ร่วมกันนี้เป็นการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน เอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน เซลล์ของรากพืชและราสามารถถ่ายทอดอาหารให้กันและกันได้ ต้นพืชได้รับน้ำและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจากรา ส่วนราได้รับสารอาหารจากต้นพืช ผ่านมาทางระบบราก เช่น พวกแป้ง น้ำตาล โปรตีน และวิตามินต่างๆ
นอกจากนี้ราไมคอร์ไรซายังช่วยป้องกันรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อโรคด้วย สปอร์ของราไมคอร์ไรซาจะมีอยู่ทั่วๆ ไปในดิน
ชนิดของไมคอร์ไรซา
ไมคอร์ไรซา มีทั้งหมด 7 ชนิด แต่ที่สำคัญและพบมากในบ้านเรา ได้แก่
  • ราเอคโตไมคอร์ไรซา (Ectomycorrhiza) เป็นไมคอร์ไรซาที่มีเส้นใยของราเจริญสานตัวกันเป็นแผ่นห่อหุ้มผิวของรากแขนง ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายน้ำและธาตุอาหารจากดินสู่รากพืช ทำให้รากแตกรากแขนงมากขึ้น รากใหญ่ขึ้น
  • ราเอนโดไมคอร์ไรซา หรืออาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา (Arbuscular mycorrhiza) ไม่สร้างแผ่นเส้นใย แต่จะแทงเส้นใยเข้าไปเจริญเติบโตในเซลล์รากพืช ดูดธาตุอาหารและน้ำให้รากพืช พบได้ในพืชหลายชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้าย องุ่น กุหลาบ คาร์เนชั่น ลิลลี่ เป็นต้น
วิธีการนำไมคอร์ไรซามาใช้ในงานเกษตรกรรม
ไมคอร์ไรซามาใช้ในงานด้านเกษตรกรรมนั้น คือ การทำปุ๋ยชีวภาพจากเชื้อราเหล่านี้ที่มีประโยชน์ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นการทำการเกษตรด้วยกรรมวิธีทางธรรมชาติ โดยที่พื้นที่ที่ทำเกษตรนั้น ต้องไม่มีสารพิษ หรือสารเคมีตกค้างและหลีกเลี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม
ซึ่งไมคอร์ไรซาจะทำหน้าที่เป็นปุ๋ยชีวภาพแทนการใช้ปุ๋ยเคมีที่ถ้าใช้ในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้ดินเป็นกรดมากขึ้น ไม่ช่วยทำให้ดินโปร่ง ถ้าใส่มากหรือใส่ติดโคนต้นพืชจะเป็นอันตรายต่อต้นพืชและการงอกของเมล็ดอีกด้วย
ต่างจากการใช้ไมคอร์ไรซา (Mycorrhiza) ที่ไม่อันตรายและมีประโยชน์ต่อพืชและสิ่งแวดล้อมในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น…
  • ช่วยให้พืชดูดธาตุอาหารได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟอสฟอรัส
  • ช่วยทำหน้าที่ในการละลายธาตุอาหารในดินให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งพืช และเชื้อราเอง
  • ช่วยลดความเป็นพิษของสารเคมีบางชนิดที่ใช้ในทางการเกษตร และสารที่มีโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ของคน และสัตว์เลี้ยงทั่วไป เพราะสารพิษเหล่านี้มีโอกาสปนเปื้อนลงสู่ดินได้ทุกขณะ
  • พืชที่มีเชื้อราเวสิเคิลอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซาอาศัยอยู่ที่ราก มีความสามารถในการทนแล้งได้มากกว่าพืชปกติ เป็นเพราะว่าเส้นใยของราสามารถช่วยดูดน้ำให้แก่พืชได้
  • ช่วยลดความรุนแรงในการเป็นโรคของพืชอันเนื่องมาจากเชื้อสาเหตุที่อาศัยอยู่ในดิน เช่น โรครากเน่า โรคโคนเน่า เป็นต้น โดยการนำเอาปุ๋ยไมคอร์ไรซาไปใช้กับกล้าไม้หลายชนิด ทั้งกล้าไม้ป่าและกล้าไม้ผล ทำให้ต้นกล้าเจริญเติบโตดีกว่าเดิม
  • สารอินทรีย์ที่เป็นส่วนผสมอยู่ในปุ๋ยไมคอร์ไรซา จะช่วยยกระดับให้ดินมีอินทรียวัตถุสูงขึ้นได้
  • ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ส่วนหนึ่ง มีการทดลองกับพืชหลายชนิด เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง สับปะรด พบว่า หากใส่ปุ๋ยชีวภาพลงไปจะช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงไปได้เป็นอย่างดี
สรุป
และนี่คือประโยชน์ของไมคอร์ไรซา เชื้อราจากธรรมชาติที่มนุษย์เราหยิบมาใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ต่องานเกษตรกรรม ส่วนวิธีใช้นั้นก็สามารถใช้ได้ตั้งแต่ใส่คลุกผสมดินที่ใช้เพาะชำกล้า ใส่รองก้นหลุม หรือจะใช้ใส่บริเวณทรงพุ่ม โดยโรยรอบทรงพุ่ม หรือบริเวณรากฝอยแล้วทำการกลบดินทันที
ซึ่งถ้าหากเกษตรกรใช้ปุ๋ยชีวภาพชนิดนี้อย่างถูกต้องและเหมาะสม แน่นอนว่าจะช่วยเร่งให้พืชที่ปลูกอยู่เจริญเติบโตอย่างแข็งแรง และสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ แถมยังปลอดภัยต่อการบริโภคและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
สามารถค้นหา อ่านความรู้การเกษตรได้เพิ่มเติมที่ https://shop.grotech.co/blog/
โฆษณา