11 พ.ค. 2022 เวลา 15:20 • ประวัติศาสตร์
⭐สงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนที่ 5
✨จักรวรรดิบริเทน หรือ จักรวรรดิอังกฤษก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 (British Empire)
ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก: IWM Q 53311
✨ด้านการค้า/อุตสาหกรรมและสังคมความเป็นอยู่ของจักรววรดิอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19-20
ในช่วงศตวรรษที่ 19 จักรวรรดิอังกฤษนั้นได้กลายมาเป็นประเทศผู้นำของโลกไม่ว่าจะเป็นในด้านการพัฒนาระบอบทุนนิยม ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการเผยแพร่ทางด้านศิลปะ วรรณกรรม วิทยาศาตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เริ่มต้นขึ้น จักรวรรดิบริเทนก็ได้กลายเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดโดยมีอาณานิคมอยู่ทั่วทุกมุมโลก
พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินบนดินแดนของจักรวรรดิบริติช
(“The sun never set in the British Empire”)
แผนที่ของจักรวรรดิบริติชในปี ค.ศ. 1914
แผนที่ของเกาะบริเทนและอาณานิคมของพวกเขาในทวีปยุโรป ปี ค.ศ. 1914  ขอขอบคุณรูปภาพจาก: oerproject
ภาพถ่ายของท่าเรือวิกตอเรีย (Victoria) ในมณฑลตันจง ปาการ์ (Tanjong Pagar) ที่สิงคโปร์ในช่วงราวๆปี ค.ศ. 1890
ในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1901 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria) สวรรคตลงหลังจากที่ได้ขึ้นครองราชย์มาเป็นเวลาประมาณ 64 ปี ทรงได้สวรรคตด้วยฐานะพระมหาราชินีของสหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย และจักรพรรดินีของอินเดีย ณตอนนั้นเกาะอังกฤษมีจำนวนผู้อยู่อาศัยประมาณ 41 ล้านคนในพื้นที่ 314,000 ตารางกิโลเมตร
ภาพถ่ายของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียของอังกฤษ (Queen Victoria) ไม่ทราบสถานที่และวันที่ถ่ายภาพ
แต่อาณานิคมของอังกฤษนั้นจะมีจำนวนผู้อยู่อาศัยสูงถึง 450 ล้านคนในพื้นที่ 32,000,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งสามารถคิดเป็นพื้นที่ ¼ ของพื้นที่โลกก็ว่าได้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1913 ราชอาณาจักรอังกฤษและเครือจักรภพจะมีพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 22.27% ของพื้นผิวโลก
ภายในปีเดียวกันนั้นเองเกาะบริเทนก็จะมีประชากรทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 46 ล้านคน (The Great War, Great Britain, 2018) (Sondhaus, World War One, 2020, #35-37) (Hauner & Milanovic & Naidu, 2017, #14)
อังกฤษนั้นเป็นประเทศแรกที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมและแน่นอนว่าผลที่ตามมาก็คือการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและจำนวนประชากรที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การพัฒนาเศรษฐกิจของบริเทนใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับสองนโยบายซึ่งก็คือจะต้องครอบงำทั่วโลกทั้งเรื่องการเงินและการค้า โดยจะมีเงินปอนด์เป็นสกุลเงินหลักในการแลกเปลี่ยนของโลก
และยังรวมไปถึงการค้าแบบเสรีที่ได้กระจายไปทั่วทุกทวีป ในปี ค.ศ. 1801 สหาราชอาณาจักรจะมีรายได้ประชาชาติอยู่ที่ประมาณ 232 ล้านปอนด์ แต่ภายในปี ค.ศ. 1901 อังกฤษจะมีรายได้ประชาชาติอยู่ที่ราวๆ 1.75 พันล้านปอนด์
และยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมเหล็กที่กำลังพัฒนาไปทีละนิดจากที่สามารถทำได้ 3.6 ล้านตันต่อปีใน ค.ศ. 1890 กลายมาเป็น 6.9 ล้านตันต่อปีใน ค.ศ. 1913 ในขณะเดียวกันจำนวนเรือพาณิชย์ของสหราชอาณาจักรยังคงค่อนข้างคงที่ โดยที่มากกว่าหนึ่งในสามของเรือพาณิชย์ทั้งโลกยังคงขึ้นตรงกับอังกฤษในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1870 - 1914 (The Great War, Great Britain, 2018) (Berghahn, 2009, #8) (Aldcroft & Richardson, 1969, #82-83)
ไม่ใช่แค่เพียงทางด้านการค้าเท่านั้นที่พัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังรวมไปถึงจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจด้วยเช่นกัน ในช่วงศตวรรษที่ 19 อัตราการเกิดของประชากรอังกฤษอยู่ที่ประมาณ 3% ต่อปี ส่วนอัตราการเสียชีวิตนั้นอยู่ที่ราวๆ 2% ต่อปี ส่งผลให้นอกจากจะมีจำนวนประชากรที่สูงขึ้นแล้วยังทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในศตวรรษถัดมาเต็มไปด้วยหนุ่มสาวและวัยรุ่น
ประมาณ 40% ของประชากรทั้งหมดในอังกฤษมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ยิ่งไปกว่านั้นผู้คนประมาณ 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมดยังอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่แออัด และลอนดอนซึ่งก็คือเมืองหลวงของอังกฤษจะมีจำนวนผู้อยู่อาศัยสูงถึง 7 ล้านคนในปี ค.ศ. 1910 ส่งผลให้ลอนดอนได้กลายมาเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกณเวลานั้น ไม่เพียงแค่นั้นลอนดอนยังได้กลายมาเป็นตลาดการเงิน (Financial Market) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก่อนที่สงครามจะเริ่มขึ้น
ภาพถ่ายของลอนดอนในปี ค.ศ. 1901
ภาพถ่ายสลัมในอีกย่านหนึ่งของเมืองหลวงอันศิวิไลซ์ลอนดอนในศตวรรษที่ 19
หน้าที่ของประชาชนอังกฤษนั้นถูกแบ่งออกเป็นเสรีภาพ 3 ประเภท มีดังนี้ หนึ่งก็คือเสรีภาพส่วนบุคคล อย่างเช่น เสรีภาพในการเคลื่อนไหวและการเดินทางของส่วนบุคคล เสรีภาพในการพูดและออกเสียง เสรีภาพทางด้านความคิด สองก็คือเสรีภาพทางด้านการค้า เสรีภาพในการประกอบกิจการและสัญญาว่าจ้างงาน ท้ายที่สุดก็คือเสรีภาพของประชาชน สามารถมีสิทธิและออกเสียงทางการเมืองได้ (The Great War, Great Britain, 2018) (Badsey, 2017)
นอกจากนี้บริเทนยังคงเป็นผู้นำในด้านสหภาพแรงงานด้วยเช่นกัน สหภาพแรงงานของอังกฤษนั้นถูกก่อตั้งอย่างถูกกฎหมายในช่วงปี ค.ศ. 1876 และในปี ค.ศ. 1900 สหาราชอาณาจักรมีจำนวนผู้คนในสหภาพแรงงานอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคน
ลำดับชนชั้นทางสังคมแบบดั้งเดิมก็ยังคงค่อนข้างเข้มงวดแบบเช่นเคย เหล่าขุนนางและพวกผู้ดีนั้นสามารถคิดเป็นจำนวน 5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด พวกเค้าครอบครองพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลและอยู่อาศัยแบบสุขสบาย ในขณะที่ชนชั้นกลางซึ่งคิดเป็นประมาณ 15 - 20% มักจะมาจากอาชีพที่มีความมั่นคงในโรงงานและอุตสาหกรรมหรือการค้าขาย
ส่วนชนชั้นแรงงานคิดเป็นราวๆกว่า ¾ ของประชากรทั้งหมด อาชีพของพวกเค้านั้นหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นชาวนา กรรมกร ช่างทำรองเท้าและอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งพวกเค้าก็จะมีคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าอาศัยอยู่บริเวณใด อย่างเช่นชนชั้นแรงงานจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอังกฤษแต่กลับกันในบริเวณพื้นที่สกอตแลนด์หรือเวลส์ (The Great War, Great Britain, 2018)
ถึงกระนั้นทางรัฐบาลอังกฤษก็คงยังพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้นโดยในปี ค.ศ. 1870 องค์กรสันนิบาตการศึกษาแห่งชาติ (National Education League) ก็ได้ร่างพระราชบัญญัติการประถมศึกษาปี ค.ศ. 1870 หรือรู้จักกันในนาม ‘พระราชบัญญัติฟอร์สเตอร’ โดยเปิดตัวการศึกษาแบบสากลภาคบังคับสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 5 - 13 ปี
โดยที่ค่าใช้จ่ายในโรงเรียนประถมนั้นฟรีและไม่ต้องเสียเงินในการเรียน เพราะฉะนั้นอัตราในการสามารถอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 40% ในปี ค.ศ. 1870 เป็น 97% ในปี ค.ศ. 1900
แน่นอนว่าผลที่ตามมาก็คือการขยายตัวของอุตสาหกรรมข่าว โดยเฉพาะกับการขยายตัวของสมาคมหนังสือพิมพ์และยังรวมไปถึงด้านวรรณกรรม อย่างเช่นวรรณกรรมอันโด่งดังเรื่อง ‘มนุษย์ล่องหน’ (The Invisible Man) ที่ถูกเขียนขึ้นโดย เอช.จี. เวลส์ (H.G.Wells.)
รูปภาพปกนวนิยายชื่อดังในยุคสมัยนั้นซึ่งก็คือเรื่อง 'The Invisible Man' หรือที่เรารู้จักกันในนาม 'มนุษย์ล่องหน'
ส่วนทางด้านกีฬาเองนั้นก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ผู้คนอังกฤษนั้นชื่นชอบกีฬาทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นกอล์ฟ เทนนิส ฟุตบอล เบสบอล แต่ดูเหมือนว่ากีฬาที่โด่งดังที่สุดในช่วงเวลานั้นก็คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากกีฬาคริกเก็ตและฟุตบอล (The Great War, Great Britain, 2018) (UK Parliament Editors, ไม่ทราบปีที่เผยแพร่)
ภาพถ่ายการแข่งกีฬาคริกเก็ตในปี ค.ศ. 1899 ระหว่างทีมของสหาราชอาณาจักรกับออสเตรเลีย
✨จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงและยุคเอ็ดเวิร์ดเดี้ยน ค.ศ. 1901-1910 (Edwardian Era)
แต่บทความที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็คงจะยังมิใช่ภาพพจน์ที่สมบูรณ์แบบของสังคมชาวอังกฤษซะทีเดียว สังคมของชาวบริเทนในช่วงจุดสิ้นสุดของยุควิกตอเรีย (Victorian era) นั้นเป็นสังคมที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ
สัญญาณแรกที่เริ่มส่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นขึ้นในอาณานิคมของอังกฤษช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในปี ค.ศ. 1885 อินเดียได้ก่อตั้งคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress) ส่งผลให้ทางสหาราชอาณาจักรไม่เชื่อมั่นในระบอบการปกครองของอินเดียและพวกเค้าเชื่อว่ามันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอาณานิคมที่อยู่ภายใต้การปกครองของพวกเค้า
วิธีการรับมือของจักรวรรดิอังกฤษต่อภัยคุกคามเหล่านี้มีอยู่สองวิธีด้วยกัน วิธีแรกก็คือเร่งรัดการปฏิรูปหรือประนีประนอมกับผู้ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ส่วนวิธีที่สองก็คือการใช้กำลังเข้าปราบปราม หนึ่งในการปราบปรามนี้ก็คือสงครามบัวร์ (Boer War) ในปี ค.ศ. 1877
ทหารชาวบัวร์กำลังนั่งประจำตำแหน่งพร้อมรบในสงครามบัวร์ ค.ศ. 1899 - 1902
ทางอังกฤษได้ทำการเข้ายึดครองพื้นที่ ทรานส์วาล (Transvaal) ในภูมิภาคแอฟริกาซึ่งแน่นอนว่าชาวบัวร์นั้นต่างก็ไม่พอใจและก่อปฏิวัติขึ้นในปี ค.ศ. 1880 และได้ก่อให้เกิดเป็นสงครามเต็มตัวในปี ค.ศ. 1899 - 1902 ซึ่งทางกองทัพอังกฤษนั้นก็เชื่อว่าพวกเค้าจะสามารถกำจัดผู้ต่อต้านได้ภายในชั่วพริบตา
แต่ในความเป็นจริงแล้วมันใช้เวลาเป็นปีเพื่อที่จะยุติภัยคุกคามครั้งนี้ จริงอยู่ที่ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้นอาจจะดูไม่มากนัก แต่มันก็ส่งผลต่อความมั่นคงของสหาราชอาณาจักรและความมั่นคงของอาณานิคมที่อยู่ภายใต้อารักขาต้องสั่นคลอน
ลองคิดถึงในกรณีที่ถ้าหากอาณานิคมมากกว่าหนึ่งได้ก่อปฏิวัติขึ้นหรือถ้าหากอาณานิคมทั่วทุกมุมโลกถูกโจมตีพร้อมกัน (The Great War, Great Britain, 2018) (The Great War, South Africa, 2015)
ภาพถ่ายของทหารอังกฤษที่บาดเจ็บและเสียชีวิตหลังจากสมรภูมิรบที่สเปียน ค็อป (Spion Kop) ในวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1900
จึงได้มีการไตร่ตรองและตระหนึกถึงการพัฒนากองทัพอังกฤษให้กลายมาเป็นหนึ่งในกองทัพที่ทันสมัยที่สุดในโลก โดยจุดประสงค์หลักก็คือเพื่อปกป้องอาณานิคมที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลก ได้มีการปฏิรูปกองทัพอังกฤษในปี ค.ศ. 1912 ซึ่งนำไปสู่การสร้าง ‘กองกำลังรบนอกประเทศบริติช’ หรือมักจะถูกเรียกสั้นๆว่า ‘บี.อี.เอฟ’ (British Expeditionary Force - B.E.F)
ภาพถ่ายของกองพันสก็อตการ์ดที่ 2 ในปี ค.ศ. 1914
ภาพถ่ายของเหล่าทหารอังกฤษกำลังทำการฝึกซ้อมเล็งเป้าด้วยปืนไรเฟิลที่โรงเรียนฝึกสอนการยิง ในปี ค.ศ. 1915  ขอขอบคุณรูปภาพจาก: IWM Q 53552
ที่ประกอบไปด้วย 6 กองพล ซึ่งคิดเป็นราวๆ 150,000 นาย พอฟังดูแล้วอาจจะน้อยแต่ถ้าอ้างอิงจากหนังสือ ‘กองทัพอังกฤษปี ค.ศ. 1914 - 1918’ (The British Army 1914–18) ที่เขียนขึ้นโดย Donald Fosten & Robert Marrion ในปี ค.ศ. 1978 อธิบายไว้ว่า:
โดยที่ในปี ค.ศ. 1914 [กองกำลังรบนอกประเทศบริติช] ได้แปรผันกลายมาเป็นกองกำลังรบมืออาชีพที่ดีที่สุดในยุโรป
“By 1914, [BEF] developed into the best professional fighting force in Europe”
ยิ่งไปกว่านั้นความมั่นคงของจักรววรดิบริเทนนั้นขึ้นอยู่กับกองเรือราชนาวีที่แข็งแกร่งและจะต้องเป็นเจ้าสมุทร จริงอยู่ที่ว่าราชนาวีอังกฤษถือเป็นกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกณเวลานั้นแต่เรือส่วนใหญ่ของพวกเค้าต่างก็ล้าสมัยไปหมดแล้ว
เพราะฉะนั้นงบประมาณส่วนใหญ่จึงได้ถูกใช้ไปกับการพัฒนากองทัพเรือมากกว่ากองทัพบก และยังยึดตามหลักนโยบาย ‘สองมหาอำนาจ’ (Two-power Standard) ของปี ค.ศ. 1889 ที่ว่าราชนาวีอังกฤษนั้นจะต้องมีขนาดใหญ่กว่ากองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสองประเทศรองลงมาจากอังกฤษรวมกัน
กองทัพเรืออังกฤษนั้นมีชื่อว่า ‘ราชนาวีอังกฤษ’ (Royal Navy) และในปี ค.ศ. 1914 ราชนาวีอังกฤษจะมีเรือรบเดรดนอทอยู่ที่ 22 ลำ เทียบกับเยอรมนีที่มี 16 ลำ (The Great War, Great Britain, 2018) (Konstam, 2013, #5)
ภาพถ่ายการสวนสนามทางเรือของ กองเรือแกรนด์ฟลีท (Grand Fleet) ในปี ค.ศ. 1914
ภาพถ่ายของเรือซุปเปอร์-เดรดนอทอังกฤษ เฮช.เอ็ม.เอส ออเดเชียส (HMS Audacious)
หลังจากที่นักบิน หลุยส์ แบรเรี่ยว (Louis Blériot) ผู้ซึ่งกลายมาเป็นนักบินคนแรกของโลกที่สามารถขับเครื่องบินข้ามจากประเทศฝรั่งเศสไปยังเกาะอังกฤษได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1909 สาธารณชนก็เริ่มหันมาสนใจเกี่ยวกับการก่อสร้างกองทัพอากาศมากขึ้น
อย่างไรก็ตามมันใช้เวลาถึงปี ค.ศ. 1911 ในการก่อตั้ง ‘กองพันหลวงอังกฤษทหารช่างอากาศ’ (Royal Engineer Air Battalion) ถึงกระนั้นสาธารณชนก็ยังคงไม่พอใจและกดดันให้รัฐบาลพัฒนากองทัพอากาศต่อ จนท้ายที่สุดก็ได้มีการก่อตั้ง ‘กองบินหลวงอังกฤษสังกัดกองทัพบก’ หรือเรียกสั้นๆว่า ‘อาร์.เอฟ.ซี’ (Royal Flying Corps - R.F.C)
ภาพถ่ายของเครื่องบินแทรกเตอร์ปีกสองชั้น เอส.45 (Short S.45 tractor biplane) ที่อังกฤษในปี ค.ศ. 1912
ต่อมาในปี ค.ศ. 1912 ทันทีที่ก่อตั้งกองทัพอากาศอันนี้สำเร็จก็ได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างเหล่าผู้บัญชาการกองทัพเรือกับกองทัพบกในเรื่องนโยบายของกองทัพอากาศและอื่นๆอีกมากมาย จึงเกิดการแยกตัวออกมาเป็น ‘กองบินหลวงอังกฤษแอร์เซอร์วิส’ ซึ่งก็คือกองทัพอากาศสังกัดกองทัพเรือ หรือเรียกสั้นๆว่า ‘อาร์.เอ็น.เอ.เอส’ (Royal Naval Air Service - R.N.A.S)
และเมื่อสงครามโลกได้เริ่มต้นขึ้น ทั้งสองกองบินนี้จะมีเครื่องบินรวมกันอย่างน้อยประมาณ 270 ลำ (Cormack, British Air Forces 1914-1918 (1), 2000, #3) (Tucker, Country-By-Country ,2019, #265)
ไม่ใช่แค่ด้านการทหารเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลง แม้แต่การขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักรเองก็ยังได้นำพาสังคมให้ห่างออกจากยุควิกตอเรียมากขึ้น รู้จักกันในนามยุคเอ็ดเวิร์ดเดี้ยน ค.ศ. 1901 - 1910 (King Edward Ⅶ) โดยที่ตัวพระองค์เองนั้นก็ชื่นชอบการเล่นเกมไพ่หรือการพนันซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้บางครั้งก็ผิดกฎหมายเช่นกัน
ภาพวาดสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร (King Edward Ⅶ) จัดแสดงที่ราชบัณฑิตยสถาน (Royal Academy) ในปี ค.ศ. 1902
ต่อมาในปี ค.ศ. 1910 - 1936 พระเจ้าจอร์จที่ 5 ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อ (King George Ⅴ) ส่วนเหล่าขุนนางและผู้ดีนั้นก็พยายามที่จะขายหรือปลดปล่อยที่ดินเป็นจำนวนมากมายเพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงภาษี
ภาพถ่ายของพระเจ้าจอร์จที่ 5 (King George Ⅴ) ในปี ค.ศ. 1923
ไม่เพียงแค่นั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เริ่มต้นขึ้นมีผู้คนจำนวนเพียงแค่ 10% เท่านั้นในแองกลิคันคอมมิวนิตี้ที่ได้ทำจิตอาสาหรือบําเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน ผลที่ตามมาก็คือคุณจะสามารถเห็นได้ว่าผู้คนที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่สามารถกระทำได้ผ่านศีลธรรมเพราะฉะนั้นจึงมีการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านช่องทางอื่นซึ่งนั่นก็คือทางการเมือง
ส่งผลให้มันได้กลายมาเป็นปัญหาที่ใหญ่มากๆในช่วงก่อนที่จะเกิดสงคราม ตัวอย่างในการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นก็มีให้เห็นมากมายไม่ว่าจะเป็น การรณรงค์ให้สตรีมีสิทธิในการโหวต การรณรงค์ให้ก่อตั้งลูกเสือและเนตรนารี สิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุ และข้อเรียกร้องอีกมากมายที่ตามมาพร้อมๆกัน
เพราะฉะนั้นถ้าจะสรุปยุคเอ็ดเวิร์ดเดี้ยนในประโยคเดียว มันก็คงจะเป็นยุคของวิทยฐานะ ความทันสมัยและยุคของการหลีกเลี่ยงภาษี (The Great War, Great Britain, 2018) (Driehaus Museum Editor, 2016)
การรณรงค์ให้สตรีมีสิทธิในการโหวตนั้นมีมาตั้งแต่ราวๆช่วงปี ค.ศ. 1870 แต่เพราะเหตุใดละมันถึงได้กลายมาเป็นที่สนใจในช่วงยุคเอ็ดเวิร์ดเดี้ยนแทนกัน? คำตอบนั้นง่ายมาก ก็เพราะว่าก่อนหน้านี้ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของอังกฤษนั้นเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เหล่าผู้ประท้วงยังคงนั่งเงียบกันอยู่
แน่นอนว่าจักรวรรดิบริติชก็ยังคงเป็นผู้ครอบงำทั่วโลกทางด้านการค้าอยู่ดีแต่ว่ารายได้เหล่านั้นกลับต้องถูกแบ่งออกไปให้กับประเทศยักษ์ใหญ่ที่พึ่งเกิดขึ้นมาใหม่ในช่วงเวลานั้น ซึ่งก็คือประเทศเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอเมริกาที่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมของตนได้อย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ
ทำให้ข้าวของสินค้าในอังกฤษนั้นมีราคาแพงมากขึ้นและแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้นำไปสู่ค่าใช้จ่ายกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นตาม แต่ส่วนรายรับจากการทำงานนั้นมิได้เพิ่มขึ้นสูงจากเดิมเลยแม้แต่น้อย จึงทำให้อังกฤษในช่วงปี ค.ศ. 1910 - 1911 เป็นปีที่วุ่นวายในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก
ในปี ค.ศ. 1911 อังกฤษต้องสูญเสียเวลาทำงานรวมกันทั้งหมดมากกว่า 10 ล้านวันให้กับการประท้วง และในช่วงระยะเวลาเจ็ดเดือนแรกของปี ค.ศ. 1914 ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 1 จะปะทุขึ้น อุตสาหกรรมอังกฤษนั้นต้องประสบปัญหากับการประท้วงถึง 937 ครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าทางรัฐบาลนั้นไม่สามารถที่จะปรับตัวได้ทันกับข้อเรียกร้องและการเปลี่ยนแปลงทุกๆอย่างที่เกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว (The Great War, Great Britain, 2018)
ภาพถ่ายของเหล่าทหารอังกฤษกำลังเดินสวนสนามเพื่อข่มขวัญเหล่าคนงานที่ลิเวอร์พูลในปี ค.ศ. 1911
รูปถ่ายของนาย โจเซฟ เจ. เอดเตอร์ (Joseph J. Ettor) ผู้ซึ่งถูกจับกุมตัวในปี ค.ศ. 1912 กำลังพูดปราศรัยให้กับฝูงชนที่กำลังชุมนุมกัน ไม่ทราบสถานที่และวันที่ถ่ายภาพ
ส่วนทางด้านการเมืองนั้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน สหาราชอาณาจักรดำรงระบอบการปกครองแบบราชาฐิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยที่ระบอบประชาธิปไตยนั้นจะมีรัฐสภาซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล รัฐสภาแห่งสหาราชอาณาจักรเป็นระบบคู่โดยจะแบ่งเป็นสองสภาซึ่งก็คือสภาขุนนางกับสภาสามัญชน
สภาขุนนางมักจะถูกเรียกกันว่าสภาสูงซึ่งจะมาจากการแต่งตั้ง ส่วนสภาสามัญชนก็มักจะถูกเรียกว่าเป็นสภาล่างโดยจะมาจากการเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1905 ได้ทำให้พรรคเสรีนิยมขึ้นมามีอำนาจโดยมี เอช. เอช. แอสควิธ (H. H. Asquith) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษตั้งแต่ปี ค.ศ. 1908 - 1916
ภาพถ่ายของนายกรัฐมนตรีอังกฤษก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะเกิดขึ้น เอช. เอช. แอสควิธ (H. H. Asquith)
แต่ถึงกระนั้นพวกเค้าก็ยังคงมีข้อพิพาทกับเหล่าพรรคการเมืองอื่นๆจนถึงปี ค.ศ. 1910 ภายหลังจากนั้นพวกเค้าก็ต้องหันมาร่วมมือกับพรรคการเมืองที่พึ่งถูกสร้างขึ้นมาได้ไม่นานนัก ซึ่งก็คือ ‘พรรคแรงงาน’ (Labour party) และพรรคชาตินิยมไอริช (Irish Nationalists party)
โดยจุดมุ่งหมายหลักของพวกเค้าก็คือการปฏิรูปการปกครองด้วยตัวเองและจะยึดหลักการประชาธิปไตยสังคมนิยมเป็นหลัก อย่างเช่น ค่าชดเชยของคนงาน กฎหมายเยาวชน เงินบำนาญสำหรับผู้สูงอายุ ประกันสุขภาพในภาครัฐและอื่นๆอีกมากมาย
ในปี ค.ศ. 1911 ทางอังกฤษยังได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติรัฐสภา ซึ่งก็คือการปฏิรูปสภามิให้สภาสามัญชนและสภาขุนนางมีอำนาจมากจนเกินไป ในขณะเดียวกันอังกฤษยังดำรงนโยบายต่างประเทศ ‘การอยู่ตามลำพัง’ (Splendid isolation) เพื่อที่จะเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสงครามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นโยบายนี้ทำให้อังกฤษสามารถเปลี่ยนฝั่งได้ทุกเมื่อเพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ อย่างไรก็ตามหลังจากสงครามบัวร์อังกฤษก็ได้รับรู้ถึงความสำคัญในการสร้างพันธมิตร ประเทศแรกที่อังกฤษเริ่มเปิดสัมพันธไมตรีด้วยก็คือญี่ปุ่น โดยที่ในปี ค.ศ. 1902 พวกเค้าก็ได้เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกัน
ต่อมาในปี ค.ศ. 1904 อังกฤษก็ได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส และกับรัสเซียในปี ค.ศ. 1907 โดยที่สองสัญญาหลังนี้เป็นรากฐานของไตรภาคี (The Great War, Great Britain, 2018) (Winter, V2, 2013, #84-85) (Sondhaus, World War One, 2020, #35-37)
บรรณานุกรม
โฆษณา