12 พ.ค. 2022 เวลา 03:58 • ศิลปะ & ออกแบบ
จากกรณี คุณ "บึก" สุชาล ดีไซเนอร์ชื่อดัง โพสถึงการโดนละเมิดผลงาน ในเสื้อทีมชาติแบบไม่ได้ขออนุญาต เป็นข่าวในโลกออนไลน์นั้น
วันนี้ ATPSERVE จะมาชวนคุยเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องในประเด็นนี้กันนะคะ
✨ผลงาน "ไทยแลนด์ = thailand" มีความคุ้มครองอะไรอยู่ ในปัจจุบัน?
ผลงานดังกล่าว มีความเป็นลิขสิทธิ์ ซึ่งความคุ้มครองเกิดขึ้นอัตโนมัติ นับตั้งแต่วันที่สร้างสรรค์ในหลายประเทศทั่วโลก แต่อย่างไรก็ดี คุณบึกได้ทำการจดแจ้งลิขสิทธิ์ไว้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา คำขอเลขที่ 400592 ชื่อผลงาน "ไทยแลนด์ = Thailand" ประเภท: งานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์หรือแผนกศิลปะ
ซึ่งทำให้มีหลักฐานหนึ่ง ที่ช่วยสนับสนุนว่า คุณบึกเป็นผู้สร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา
(ช่องทางตรวจสอบลิขสิทธิ์ - https://copyright.ipthailand.go.th/search
)
✨เราสามารถคุ้มครอง "ตัวอักษรประดิษฐ์" ด้วยทรัพย์สินทางปัญญาอะไรบ้าง?
ก่อนอื่นเลย ผลงานสร้างสรรค์ "ประดิษฐ์ตัวอักษร" สามารถคุ้มครองได้ด้วยทรัพย์สินทางปัญญาหลักๆ 2 ประเภท คือ
1.ลิขสิทธิ์ โดยลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่คุ้มครองผู้สร้างสรรค์ งานเขียน (literary work) หรืองานศิลปะ (artistic works) เช่น วรรณกรรม ภาพวาด เพลง ท่าเต้น วีดีโอ เป็นต้น ซึ่งการสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์จะ "ได้รับความคุ้มครองอัตโนมัติ" โดยไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียน ซึ่งจะคุ้มครองทุกประเทศภายใต้อนุสัญญากรุงเบิร์น ถ้าเราสามารถพิสูจน์ได้ว่า เราเป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์นี้จริงๆ
แต่อย่างไรก็ดี คุณบึก ก็ได้ยื่นจดแจ้งไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเอาไว้แล้วด้วย เพื่อความหนักแน่น
2.เครื่องหมายการค้า เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ที่คุ้มครองสัญลักษณ์ รูปร่าง เสียงเรียกขานที่ใช้เพื่อจำแนกความแตกต่างของสินค้า หรือบริการ ซึ่งความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าจะเกิดขึ้นได้ เมื่อเราทำการยื่นจดทะเบียนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ความคุ้มครอง ของเครื่องหมายการค้า จะช่วยให้บุคคลอื่น ไม่สามารถใช้สัญลักษณ์ หรือบางทีอาจจะคลุมถึงเสียงเรียกขาน กับสินค้าหรือบริการที่ต้องการได้
✨ปัญหาความคุ้มครอง "การประดิษฐ์ตัวอักษร" ของ #ไทยแลนด์isthailand
การจดแจ้งลิขสิทธิ์ของผลงาน นั้นไม่มีปัญหาอะไรเพราะผลงานดังกล่าวมีความเป็นลิขสิทธิ์อยู่แล้ว
แต่ในการจดทะเบียนในฐานะ "เครื่องหมายการค้า" เราจะพบว่า ตัวอักษรประดิษฐ์ดังกล่าว ไม่สามารถจดทะเบียนได้ เนื่องจาก จัดอยู่ในลักษณะของ "เครื่องหมายต้องห้ามจดทะเบียน" กล่าวคือ เป็นชื่อประเทศ เราไม่สามารถขอรับความคุ้มครองเหนือชื่อประเทศหรือชื่อทางภูมิศาสตร์ใดๆได้
อย่างไรก็ดี ความคุ้มครองในฐานะ ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ก็เพียงพอแล้วที่จะป้องกันผู้ละเมิดผลงานดังกล่าว โดยผู้เป็นเจ้าของเท่านั้น ที่จะสามารถ
1.ทำซ้ำ
2.ดัดแปลง
3.เผยแพร่ต่อสาธารณะ
4.ให้เช่าต้นฉบับ
5.ให้ประโยชน์แก่ผู้อื่น และ
6.อนุญาติให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์
ซึ่งการนำผลงานดังกล่าวไปหาประโยชน์โดยไม่แจ้งหรืออ้างอิง หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกับสิทธิ์ของผู้ทรงสิทธิ์ นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่ควรทำ
อ่านเพิ่มเติม
- งานสร้างสรรค์เสรี : https://www.atpserve.com/งานสร้างสรรค์เสรี/
ติดตามสาระ เรื่องราวด้านทรัพย์สินทางปัญญาดีๆ สนุกๆ ได้ที่
เว็บไซต์ : www.atpserve.com
โฆษณา