12 พ.ค. 2022 เวลา 06:28 • ธุรกิจ
ดีลทรูดีแทคกับสาระที่ถูกมองข้าม
กรณีการคัดค้านการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค เป็นภาพสะท้อนความอ่อนแอของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในหลายประเด็น อาทิ
1. กฎกติกาที่สร้างภาระให้ผู้ประกอบการ : กฎกติกาควรจะส่งเสริมหรืออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ แต่กลับทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกภาระแก้ปัญหาเอง อย่างกรณีจำนวนผู้ประกอบการในตลาด ซึ่งควรเป็นภาระหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างกสทช. แต่กลับกลายเป็นความรับผิดชอบของธุรกิจที่ต้องแบกรับแทน
หากเปรียบเทียบกับการทำธุรกิจศูนย์การค้าหรือตลาดทั่วไป โดยธรรมชาติแล้วผู้บริหารตลาดจะต้องทำหน้าที่หรือมีความรับผิดชอบในการสรรหาผู้ประกอบการร้านค้า เข้ามาเปิดร้านจำหน่ายสินค้าและบริการในตลาดหรือศูนย์การค้านั้น ซึ่งไม่ว่าร้านค้าที่เข้ามาเปิดกิจการ จะทำกำไรหรือขาดทุน จะขยายร้านหรือเลิกกิจการ ก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ตามกฎกติกาในสัญญาที่มีไว้ต่อกัน ซึ่งหากร้านค้าเลิกกิจการไป
ผู้บริหารตลาดก็จะต้องหาร้านค้าใหม่เข้ามาแทน แต่สำหรับตลาดโทรคมนาคม ผู้ประกอบการที่เข้ามาในตลาดนี้ กลับเป็นการติดบ่วง เพราะจะเข้าจะออก จะขยายจะลดหรือจะรวมกิจการ กลับไม่สามารถทำได้ตามแนวทางธุรกิจทั่วไป
การควบรวมกิจการของทรูและดีแทค ทำให้จำนวนผู้ประกอบการในตลาดโทรคมนาคมลดลงไปหนึ่งราย กลายเป็นปัญหาที่ทรูและดีแทคต้องรับผิดชอบ แต่กสทช. ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล ที่ควรจะสรรหาผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามา กลับไม่ต้องรับผิดชอบตรงส่วนนี้
2. ค่าธรรมเนียมการเข้าอุตสาหกรรมที่ขวางการลงทุน : ข้อนี้อาจจะเชื่อมโยงได้กับข้อแรกตรงที่ว่า การสรรหาผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาดนี้เป็นไปได้ยาก เพราะต้นทุนการเข้ามาประกอบธุรกิจสูงมากจากหลายปัจจัย เช่น การประมูลคลื่นที่มีราคาแพงที่สุดในโลก จากการตั้งราคาเริ่มต้นของการประมูล ที่อยู่บนหลักการว่า ต้องการให้รายได้เข้ารัฐมากที่สุด ซึ่งเป็นหลักการกำแพงหินที่สร้างภาระอย่างใหญ่หลวงให้กับผู้ประกอบการ
นอกจากนั้นยังต้องลงทุนในเรื่องของอุปกรณ์โครงข่าย อย่างเสาสัญญาณ สถานีฐาน ฯลฯ ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ในขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องลงทุนกันอยู่เรื่อย ๆ ต่อเนื่อง การประมูลคลื่นก็มีกันแทบทุกปี ขณะที่กิจการยังไม่ทันทำกำไร แต่ต้องลงทุนเพิ่มอีก กลายเป็นภาระต้นทุนทวีคูณ
ในหลาย ๆ กรณี ที่หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ มักยกตัวอย่างหรืออ้างเหตุผลของต่างประเทศ แต่กรณีนี้กลับไม่ดูข้อดีที่ต่างประเทศใช้ แล้วนำมาปรับใช้ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะตั้งราคาการเข้าตลาดให้ถูก เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการเข้ามาในตลาดเยอะ ๆ การใช้อุปกรณ์โครงข่ายก็แชร์กัน เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ ตลาดโทรคมนาคมในประเทศเหล่านั้นจึงมีจำนวนผู้เล่นมากราย และมีการแข่งขันสูง
3. กฎหมายที่อ่อนแอ ไม่เป็นธรรม : 3.1 นักวิชาการผู้จุดประเด็นเกี่ยวกับประกาศกสทช. ปี 2553 กับปี 2561 เปลี่ยนโฟกัสให้กลับไปใช้ประกาศเดิมปี 2553 อ้างอำนาจและความชอบธรรม โดยไม่สนใจว่ากำลังทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือไม่
เพราะก่อนหน้านี้ การควบรวมกิจการระหว่าง CAT และ TOT เป็น NT ก็ใช้กฎหมายและประกาศกสทช. ที่ใช้อยู่ในขณะนี้เหมือนกัน แต่ตอนนั้นไม่มีใครสนใจที่จะคัดค้าน กลับมาคัดค้านตอนที่เป็นการควบรวมระหว่างทรูและดีแทค ถามว่ายุติธรรมแล้วหรือ
การใช้ข้ออ้างว่า เพราะ NT กับทรูและดีแทค มีขนาดกิจการไม่เท่ากัน โดย NT เป็นรายเล็ก เป็นข้ออ้างที่สมเหตุสมผลกระนั้นหรือ ด้วยเพราะ NT มีสินทรัพย์มากกว่าทรูและดีแทครวมกัน แถมมีกำไรจากการเก็บรายได้จากสินทรัพย์ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทรูและดีแทคยังต้องเช่าใช้งาน โดย NT ยังสามารถทำกำไรได้มากกว่าทรูที่อยู่ในสภาวะขาดทุน การใช้วาทกรรมด้อยค่า NT เช่นนี้มีจุดประสงค์อะไรหรือไม่
นอกจากนี้ ภาครัฐหรือผู้มีอำนาจกำกับดูแลหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ควรจะสนับสนุน ส่งเสริม หรือผลักดัน ให้ NT ที่ปัจจุบันมีสภาพเป็นบริษัท ได้ลุกขึ้นมาปัดฝุ่น สลัดภาพความเป็นองค์กรรัฐวิสหากิจที่อุ้ยอ้าย ให้มีกำลังวังชาสามารถแข่งขันกับผู้เล่นรายอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะ NT มีทรัพยากรที่เพียบพร้อมกว่าธุรกิจเอกชนอื่น ๆ ก็ควรจะสร้างรายได้และกำไรให้รัฐ แล้วไปลดราคาตั้งต้นในการประมูลคลื่นให้ถูกลง
เพื่อกระตุ้นการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมใหม่จะดีกว่าการมัวแต่อ้างว่า หน่วยงานภายใต้กากับดูแลของรัฐไม่สามารถทำกิจการที่แข่งขันกับเอกชนได้ เพราะหน่วยงานอื่น ๆ อย่างเช่น ปตท. ก็เคยอยู่ในรูปรัฐวิสาหกิจ แล้วเปลี่ยนมาเป็นรูปบริษัท ก็สามารถแข่งขันและทำกำไร สร้างมูลค่าเพิ่มได้
3.2 ขณะที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยถูกห้ามการควบรวมกิจการ และมีข้อบังคับอีกมากมาย แต่อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการ OTT ที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งแย่งรายได้ค่าโทรที่เคยเป็นรายได้หลักของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทย กลับไม่มีกฎหมาย กติกา หรือระเบียบข้อบังคับใด ๆ ควบคุม ทำให้สร้างรายได้และกำไรมหาศาล
ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องสูญเสียรายได้ส่วนหนึ่ง ทำให้ทุนหด ไม่สามารถลงทุนใหม่ ๆ ได้ แต่ยังต้องแบกภาระ และถูกครอบงำด้วยกฎกติกาที่ยุ่งยากซับซ้อนอยู่
4. อำนาจหน้าที่ที่เลือกปฏิบัติ : ขณะที่กสทช. มีอำนาจในการตั้งค่าเริ่มต้นการประมูลคลื่น ในราคาที่สูงลิบลิ่ว ซึ่งเป็นการขวางการเข้าประกอบกิจการของธุรกิจในตลาด กลับไม่มีใครห่วงใย แต่มามีความกังวลในเรื่องราคาค่าบริการว่าจะสูงขึ้นเกินกว่าที่ควรจะเป็น ทั้ง ๆ ที่ ก็กสทช. เช่นนกันที่มีอำนาจในการควบคุมการกำหนดราคาของผู้ประกอบการ
5. ปัจจัยในการพิจารณาไม่ใช้เหตุผลของปัจจุบัน : อุตสาหกรรมโทรคมนาคมผูกติดกับเทคโนโลยี ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในส่วนของตัวเทคโนโลยี รูปแบบธุรกิจ และผู้ประกอบการในห่วงโซ่ เช่น จาก 3G ไป 4G - 5G - 6G - ดาวเทียม บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล และผู้ประกอบการ OTT ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในตลาดโทรคมนาคม ที่ปัจจุบันเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมมากแล้ว
แต่การประเมินหรือวัดค่าต่าง ๆ ก็ยังใช้ตัวแปรและเหตุผลเดิม ๆ แทนที่จะปรับไปใช้ตัวใหม่ ๆ ให้เท่าทันต่อผลกระทบในอุตสาหกรรมโดยรวม
หากเราอ้างกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือตัวอย่างจากต่างประเทศใด ๆ ก็ต้องให้มีความเสมอภาค และเทียบเคียงกันได้อย่างเสมอภาค ไม่ใช่กฎนี้ใช้กับอันนั้น ไม่ใช้กับอันนี้ หรือตัวอย่างนั้นไม่ใช้กับอันนั้น แต่จะใช้กับอันนี้ เช่นนั้นคงไม่เรียกว่าเป็นความชอบธรรมและเป็นธรรม นอกจากการเลือกปฏิบัติที่ต้องการจะรักษาหรือทำลายใคร
ที่มา: Blogspot
โฆษณา