12 พ.ค. 2022 เวลา 08:28 • คริปโทเคอร์เรนซี
วิเคราะห์คริปโต “UST” Stablecoin ที่ไม่ Stable จริง
1
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์การลงทุนทั่วโลกนั้นอยู่ในภาวะที่เรียกได้ว่าเป็น “ขาลง” ของการลงทุนทั้งในตลาดหุ้น และตลาดคริปโต ซึ่งแม้ว่าตลาดคริปโตที่มีเหรียญสำคัญอย่าง Bitcoin (BTC)
จะมีราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจดหลุดกรอบ 27,000 เหรียญ ต่อ 1 BTC ไปแล้วรวมทั้ง Token ต่างๆ ที่ราคาร่วงตาม Bitcoin แต่ก็คงไม่มีข่าวไหนที่ช็อควงการคริปโตได้มากเท่าเหรียญ Token ยักษ์ใหญ่ของ Terra Network อย่าง “Luna” และ “UST” ซึ่งเป็น Stablecoin ของระบบ ราคาร่วงจนเรียกว่าแทบจะถึงขั้นล้มละลายกันเลยทีเดียว
ก่อนจะทำความเข้าใจว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องทำความเข้าใจกับ “stablecoin” ก่อน โดย “stablecoin” นั้นเป็นเหรียญคริปโต ที่ถูกออกแบบมาให้มีมูลค่ามั่นคงด้วยกันยึดโยงกับเงิน US ดอลลาร์ แบบ 1:1 โดย Terra Network นั้นมีเหรียญ UST เป็น stablecoin ของระบบ
ในขณะที่ Token ของระบบคือเหรียญ “Luna” โดย Terra Network นั้นถือว่าเป็น BlockChain ที่ได้รับการจับตามองมาโดยตลอด ก่อตั้งโดยหนุ่มชาวเกาหลีใต้ที่ถูกเรียกว่าเป็นอัจฉริยะ ชื่อ โด ควอน ในปี 2019 ก่อนที่จะเริ่มเปิดขายเหรียญและดำเนินระบบในปี 2020
วิกฤตที่เกิดขึ้นกับ Terra Network นั้น เป็นเรื่องที่มีคนเคยเตือนเอาไว้แล้ว แต่ไม่มีใครให้น้ำหนักกับเรื่องนี้เท่าที่ควร นั่นก็คือแนวคิดของระบบ Algorithmic Stablecoin ของ Terra นั่นเอง โดยช่องโหว่ที่เกิดขึ้นก็คือ เหรียญ UST นั้นไม่ได้มีมูลค่าที่ตรึงกับ US ดอลลาร์ได้จริงแบบ 1:1 แต่มีการใช้ Bitcoin เป็น underlying asset ที่ค้ำมูลค่าของ UST ด้วย
ดังนั้นเมื่อ Bitcoin มีราคาลดลงจากการถูกเทขาย รวมไปถึงสัญญา Short ของนักลงทุนที่วางแผนทำกำไร ก็ส่งผลโดยตรงต่อมูลค่าของ UST และ Luna โดยในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง เหรียญ Luna ร่วงลงจาก 19.6 เหรียญฯ ต่อ 1 Luna เป็น 0.13 เหรียญฯ ต่อ 1 Luna หรือลดลงมากถึง -98% ในขณะที่ UST ซึ่งเป็น stablecoin ของระบบ ร่วงลงจากระดับ 1 UST ต่อ 1 เหรียญฯ สู่จุดต่ำสุดที่ 1 UST ต่อ 0.25 เหรียญ
และด้วยความที่ระบบ Terra นั้นออกแบบให้ระบบสร้าง (mint) เหรียญ Luna ขึ้น เพื่อมาลดปริมาณ (burn) เหรียญ UST โดยคาดหวังว่าปริมาณการสร้าง Luna จะทำการลดปริมาณ UST เพื่อดึงมูลค่า UST ให้กลับมาอยู่ในระดับปกติได้ แต่แนวคิดดังกล่าวนั้นไม่เกิดขึ้นจริง เพราะกลายเป็นว่า Luna ที่เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณ UST ที่ลดลงนั้นไม่ได้ส่งผลให้ราคาของ UST กลับไปสู่จุดปกติได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะ การเทขาย Luna
และ UST ของนักลงทุนที่ตื่นตระหนกทำการ Panic Sell นั้นเร็วและมีปริมาณมากกว่าที่ผู้ออกแบบระบบนี้คิดเอาไว้ ทำให้สุดท้าย Terra Network ต้องนำ Bitcoin ที่เป็น underlying asset ออกมาขายเพื่อดึงมูลค่า UST ซึ่งแม้จะช่วยให้ราคาของ UST ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้กลับมาสู่จุดปกติที่ stablecoin ควรจะเป็น
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ UST นั้นคล้ายกับสถานการณ์ของค่าเงินบาทในยุคก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งประเทศไทยเคยตรึงค่าเงินบาทไว้ที่ 25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งผลของมันก็คือมูลค่าที่แท้จริงของค่าเงินบาทนั้นไม่ใช่ 25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ ทำให้เกิดการทำกำไรของนักการเงินและกองทุนจากทั่วโลก จากการซื้อขายเงินบาทกับเงินดอลลาร์ จนสุดท้ายรัฐบาลไทยจำเป็นต้องปล่อยลอยตัวค่าเงินบาทนั่นเอง
ดังนั้นหากนักลงทุนคริปโตจะพิจารณาลงทุนกับเหรียญ stablecoin ก็ต้องดูให้ดีว่าเหรียญ stablecoin ที่จะลงทุนถือนั้น มีการยึดโยงกับเงินดอลลาร์แบบ 1:1 จริงหรือไม่ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ UST จะไม่เกิดขึ้นกับเหรียญ stablecoin ที่สร้างขึ้นมาโดยมีเงินดอลลาร์จริง ค้ำยันแบบ 1:1 นั่นเอง
ล่าสุดแม้ว่า โด ควอน และ Terra Network จะออกมาประกาศว่าเตรียมแผนการแก้ไข และเรียกความเชื่อมั่นต่อเหรียญ Luna และ UST ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อ Token ของระบบนี้ได้รับผลกระทบไปอย่างมากจริงๆ
โฟกัสทุกความเคลื่อนไหว ที่น่าสนใจและอัดแน่นไปด้วยสาระ 
ที่ TopNewsFocus เลือกสรรมาให้คุณเติมอาหารสมองกันได้ทุกวัน
ติดตาม Topnewsfocus ได้ทุกช่องทางที่
โฆษณา