Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
IDBGROUP
•
ติดตาม
13 พ.ค. 2022 เวลา 04:39 • บ้าน & สวน
"บ้านโรงนา" ปฏิบัติการล่า Passion "เปลี่ยนความหลงใหล...ให้มีชีวิต!!"
สวัสดีค่ะ นี่เป็นรีวิวแรก กับ บ้านหลังแรก ของเราเองอาจมีติดขัดไปบ้าง ต้องขออภัยไว้ด้วยนะคะ
ขอพื้นที่เล็กๆ แชร์ไอเดียตั้งแต่มโนภาพในใจ Step by step จนค่อยๆ ลืมตาดูโลกสำหรับคนมีฝัน...ให้เรื่องบ้านเป็นเรื่องเบาค่ะ
ริ่มจากเราเป็นเด็กต่างจังหวัดมาวาดฝันใน กทม.(ตามเสต็ป) มีอาชีพ Interior Designer เรื่องออกแบบเป็นงานที่รัก
ส่วนเรื่องมโนนั้นฝังอยู่ในเส้นเลือดสายเลือดอยู่แล้วค่ะ555 เพราะทำอยู่ทู้กกกวันจริงๆพอเรียนจบก็เริ่มค้นหาตัวเอง จ๊อบส์ดีบีเลยจ้าา ทรานสคริปกับปริญญาบัตร ก็ชี้ชัดอยู่แล้วว่าต้องไปลงเอยที่ไหน ตุเลงๆ ไปอยู่ในบริษัทสถาปนิก
การทำงานก็เหมือนไฟต์บังคับ ต้องทำเพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพ ช่วงแรกเรายังสับสนระหว่าง ‘สิ่งที่รัก’ กับ ‘สิ่งที่ต้องทำ’ อ่ะนะ! ถ้าไม่ใช่ก็เตรียมตัวถอยในวันที่ยังไม่สาย หรือ ถ้าใช่ ก็เดินหน้าลุยต่อไป...จากวัน ผ่านเดือน เลื่อนไปเป็นปี ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านร้าย ผ่านดี และเราก็ได้รู้จักกับ
คุณสมบัติของ Passion อย่างเต็มเปี่ยม
ถึงจุดหนึ่งเกิดความฝัน“อยากมีออฟฟิศของตัวเอง”โดยมีเจ้า Passion เป็นตัวขับเคลื่อน เชื่อเถอะค่ะ ไม่ว่าความฝันจะเว่อร์วังเพียงใดความรักและความหลงใหลจะส่งพลังงานด้านบวก สร้างแรงผลักดันให้ทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายได้อย่างไม่น่าเชื่อ! เราเตรียมความพร้อมอยู่หลายปีศึกษาตลาด มั่นใจว่าความเสี่ยงอยู่ในระดับพอรับได้ วางเป้าหมายชัดเจน และออกมารับงานด้วยตัวเอง มี Studio ออกแบบเล็กๆ ใน กทม.
ใช้ชีวิตทำงานเหนื่อยแบบสุดๆ แต่ขณะเดียวกันก็มีความสุขแบบสุดๆ เช่นกันค้าาพอถึงวัยอันควรความ”อยาก” ที่สองก็เกิดขึ้น “อยากกลับบ้านเกิดที่เชียงใหม่เจ้า” เสต็ปเดิมจ้าา ต้องตามหา Passion ของตัวเองให้เจอ
เป็นสิ่งแรกที่ควรทำก่อนจะต้องตัดสินใจ แล้วมาต่อยอดให้เกิดผลลัพธ์เป็นชิ้นเป็นอัน ใส่ความตั้งใจและพยายามเข้าไปหน่อย
สิ่งที่รักก็กลมกลืนเป็นเรื่องเดียวกับสิ่งที่ต้องทำ มันจะทำให้เรามองเห็นทุกอย่างเป็นโอกาส มีความเบิกบาน
และตอบแทนกลับมาเป็นความสุขเมื่อเราสามารถทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ...อย่างเช่นบ้านในฝันของเราหลังนี้เลยค่ะ
แรงบันดาลใจในการสร้างบ้านในฝันของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันไปตามความชอบ รสนิยม และประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวเอาไว้
ส่วนตัวก็มโนเบา ๆ ว่าอยากมีบ้านสไตล์โรงนาอยู่ในทุ่งกว้าง เงียบ สงบ เป็นธรรมชาติ เหมือนชนบทของเมืองหนาว
นึกภาพหนังฝรั่งตอนมีฉากขับรถไปตามทุ่งหญ้ากว้างๆ เจอบ้านแบบโรงนาหลังคาทรงสูงอารมณ์เรียบง่ายและอบอุ่น...เคลิ้ม
ทางเข้าอาจจะดูลำบากหน่อย ฟีลลิ่งเหมือนเวลาหลงป่า แต่พอผู้มาเยือนถึงสถานที่นี้แล้ว wowww
จึงเกิดปฏิบัติการล่า Passion และเป็นจุดเริ่มต้นของกระทู้นี้นะคะ
จากพื้นที่รกร้างของครอบครัวใน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ใกล้บ้านคุณพ่อ และ มทร.ล้านนาดอยสะเก็ดค่ะ
จากถนนหลักถึงคลองชลประทาน ข้ามสะพานคอนกรีตเข้ามา อู้หูวววว เกินคอนเซ็ป!! เจอถนนลูกรัง และถิ่นลำเนาเขาไพร
ฟีลลิ่งถ้าผู้มาเยือนไม่มาพร้อมเจ้าของบ้าน อาจจะเลี้ยวกลับ 5555
มองไปฝั่งตรงข้ามต้นไม้สีเขียว บ่อน้ำธรรมชาติเพียวๆ เอ่อ..คือ..คงไม่ต้องถึงกับดีที่สุด แต่ก็มีความลงตัว ในการอยู่อาศัย..อ่ะนะ ก็คนมันอยากมีบ้านแล้วนี่
ไม่ต้องตกใจ! ไม่ได้ลงรูปผิดค้าาา ป่ารกร้างตรงนี้คือที่ดินของเราเองค่ะ
เดินเข้ามาดูใกล้ๆ ต้นสบู่ดำสูงพ้นหัว “จะไหวมั๊ย” ถามใจดู? สตั๊น ไป 3 วิ บอกตัวเอง เอาน่า...ได้อยู่
เตรียมเงินพอประมาณสำหรับบ้าน แต่ดูแล้วค่าใช้จ่ายเรื่องเคลียร์ที่ ก็ไม่น้อยหน้าเหมือนกันค่ะ กลับมานั่งทบทวน…หรือจะเก็บเงินก่อนแล้วค่อยทำ
แต่เอ๊ะ! ถึงตอนนั้นค่าวัสดุ ค่าจ้าง สร้างบ้านจะราคาสูงขึ้นกว่าปัจจุบันไม่รู้เท่าไร...จะว่าไปอาชีพอย่างเรา
นอกจากความสามารถในการออกแบบแล้ว เราจะเข้าใจรายละเอียดวัสดุเป็นอย่างดี รู้แหล่งวัสดุที่แปลกใหม่หายาก ในราคาที่สมเหตุสมผล
เพื่อมาประยุกต์ใช้ ทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเหล่านี้ เราก็ทำให้บ้านออกมาตอบโจทย์ตามความต้องการและอยู่ในงบประมาณได้นี่
ในความสับสนนั้น เราเลยไปปรึกษา”คุณหมอ” ^_^
เห็นหน้าปุ๊ป คุณหมอทัก ”เป็นจังหวะที่ดีในการขยับขยาย มีเกณฑ์จะได้จ่ายเงินกับเรื่องที่อยู่อาศัย”
(แม่เจ้า)...หนูลาหล่ะค่ะ...ลุยต่อซิคะ!!
กายพร้อม ใจพร้อม # สำรวจที่ดินให้ละเอียด # หน้ากว้างกี่เมตร ลึกกี่เมตร ทิศไหนอยู่ด้านใดบ้าง เพื่อที่จะให้เราได้วางผังบ้านได้อย่างเหมาะสม
สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ ทิศทางลมและแสงแดด
พื้นที่ดินตามฉโนด 6 ไร่ค่ะ พอเคลียจนโล่ง จนท.ก็มาสำรวจรังวัด ปรากฎว่าถนนที่ชาวบ้านใช้สัญจรเข้า- ออก ทุกวัน อยู่ในเขตที่ดินของเรา เอาแล้วไง!
ปรึกษากันภายในครอบครัว เลยยกให้เป็นถนนสาธารณะไป 98 ตารางวา งานจิตสาธารณะก็มา..เพื่อความสงบสุขค่ะ
เตรียมเรื่องที่ก็มาต่อเรื่อง # กำหนดสไตล์บ้าน # กันค่ะ
เราชัดเจนใน คอนเซ็ป ตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าจะเป็น“บ้านสไตล์โรงนา ทันสมัยไม่ทิ้งกลิ่นอายของความเป็นชนบท”
มีภาพในใจจากสถานที่ ที่เราไปแล้วชอบ พร้อมหาภาพประกอบจาก อินเตอร์เน็ต เพื่อนำมาพัฒนาหาความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองให้เจอ
ตอบโจทย์ความเป็นตัวเรามากที่สุด เพราะเราต้องอยู่กับมันไปอีก น า น แ ส น น า น
(ขอบคุณภาพจาก Pinterest )
เสน่ห์ของหลังคาจั่วทรงสูงแบบนี้ถูกขนานนามว่า “บ้านสไตล์โรงนา” ฟีลลิ่งแบบนี้นึกถึงกองหญ้าโตๆ ขึ้นมาเลยค่ะ
เรียบ นิ่ง เท่ สร้างกรอบความสุขในสังคมเล็กๆ “Design Space Makes Inspired”
ใช้แสงสว่างและวัสดุจากธรรมชาติ เป็นการใช้ชีวิตสมดุลร่วมกับธรรมชาติ
ทำให้ผ่อนคลาย สดชื่น เติมเต็มพลังในการทำงาน และเพิ่มความสุขให้กับชีวิตในทุกวัน
นอกจากการผสานคาแรกเตอร์แบบเดิมให้เข้ากับความโมเดิร์นอย่างลงตัวแล้ว
การเลือกใช้วัสดุที่ดูมีมูลค่าประกอบกัน ก็ทำให้บ้านออกมามีคุณค่าสมดังตั้งใจ
ภายนอกมีเส้นสายที่เรียบนิ่ง สื่ออารมณ์เรียบง่ายและอบอุ่น ทว่าแสงไฟแบบต่างๆ ยังช่วยทำให้บ้านดูมีมิติ
อารมณ์ภายในไม่เน้นของตกแต่งไร้ประโยชน์ แต่โชว์ศักยภาพของตัววัสดุ ความสวยชัดของลายไม้ สกีมสีที่เลือกใช้ตกแต่ง
สร้างบรรยากาศอบอุ่นในสไตล์บาร์นเฮาส์
ภายนอกมีต้นไม้และท้องฟ้าเป็นฉากหลัง อารมณ์โดยรอบอบอวลไปด้วยความสดชื่นจากต้นไม้และทุ่งหญ้า
ช่วยสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับบ้าน
จินตนาการเริ่มมา แขนขาเห็นชัดขึ้นหน้าตาจะออกมาสวยหล่อขนาดไหนให้ใส่ตัวตนของเจ้าของบ้านเข้าไปนะคะ...แต่หัวใจคือ
บ้านสำหรับใช้ชีวิตในปัจจุบันและในอนาคต ที่มีความสมดุลในด้านความงามและประโยชน์ใช้สอย มีโซนที่ว่างสำหรับทำกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ในครอบครัวสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ง่าย...เพียงพอค่ะ
ขั้นตอนต่อไป # การวางผังบ้าน # หยิบปากกา + กระดาษ A4 เขียนความต้องการลงไปค่ะ แปลนบ้านคือการวิเคราะห์ความต้องการ
จากกิจวัตรประจำวัน ตื่นมาทำอะไร กลับมาทำอะไร ชอบอยู่ส่วนไหนของบ้าน กิจกรรมพิเศษที่ทำร่วมกันของคนในบ้าน ฯลฯ
เพื่อให้บ้านตอบสนองความต้องการของเรา ไม่ใช่เราต้องไปปรับตัวเข้ากับบ้านนะคะ
เราตั้งใจทำเป็นที่อยู่อาศัย พร้อมสตูดิโอทำงานในบรรยากาศ Cozy ด้วยบรรยากาศโปร่งโล่ง
ใกล้ชิดธรรมชาติในทุกมุมมอง สนามหญ้าโล่งกว้างใช้สังสรรค์ไปกับ Community ในอุดมคติ สร้างกรอบความสุขในสังคมเล็กๆ ของเราเองค่ะ
แปลนลงตัวก็มา # ออกแบบตัวบ้าน # การดีไซน์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเครื่องมือ หรือแบบ ที่ดีเท่านั้นเหนือค่ากว่านั้นคือ การมีใจและกาย ที่พร้อมจะดีไซน์
สิ่งที่อยู่ในหัวออกมาเป็นรูปธรรม แล้วต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้สัมผัสและรับรู้ความหมาย มากกว่า‘จินตนาการ’
นั่งออกแบบ หมุนไป หมุนมา การดีไซน์ในพื้นที่จริงช่วยให้ภาพที่คิดไว้ในหัว พัฒนาไปได้ไกลเกินกว่ากรอบของจินตนาการ.
# ปรับมาประมาณ 4 รอบ # สวยจัดเต็ม> สวยปานกลาง> สวยตามงบประมาณ> อุ๊ยๆ สรุป..สวยแบบมีกิมมิคค่ะ เงินซื้อเทสไม่ได้นะจ๊ะ #
ก้าวออกมาสร้างแรงบันดาลใจในแบบชีวิตอัลเตอร์ (Alternative) ที่เราดีไซน์เองในสไตล์โรงนา (ฺBarn) ด้วยกันนะคะ ^_^
ดีไซน์นิ่งแล้วก็มา # เขียนแบบก่อสร้าง # ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนก็เสร็จสมบูรณ์ค่ะ พร้อมเอาไปยื่นขออนุญาตก่อสร้าง ระหว่างยื่นขออนุญาตก็หา ผรม.คู่ใจค่ะ เป็นขั้นตอนที่สำคัญและยิ่งใหญ่ไม่แพ้การเลือกคู่ชีวิตจริงๆ ค่ะ เพราะต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกันจนถึงวันสุดท้ายจริงๆ ^_^ ไม่นานแบบก่อสร้างก็อนุมัติ ขอน้ำ ขอไฟชั่วคราว พอขอสาธารณูปโภคเสร็จสรรพ ก็ทำการเตรียมพื้นที่
ที่ดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่ลาดเอียงไปทางตะวันตก เราไม่ถมที่ เลือกที่จะก่อสร้างบ้านบนที่ดินลาดเอียงนั้น
โดยก่อขึ้นมา 1.20 เมตร แล้วค่อยทำพื้นชั้นล่างค่ะ
ไม่ละเลยความสำคัญเกี่ยวกับการบูชาเซ่นสรวงผู้ที่เป็นเจ้าที่ดินเสียก่อน แล้วจึงทำพิธีขุดหลุมเสา เรือนตามคติความเชื่อ
ก่อนลงมือสร้างบ้านกันในลำดับต่อไปค่ะ
เริ่มด้วยงาน # ตีผังบ้าน # โดยจะวางผังล้อมกรอบตัวบ้านเพื่อกำหนดแนวเสา แล้วทำการตรวจสอบระยะบ้าน, ระยะห่างของเสาแต่ละแนว , ระยะร่นของบ้านและขอบเขตของที่ดินให้ถูกต้องตามแบบ
ทดสอบการรับน้ำหนักดินแล้ว เป็นดินเหนียวแข็ง ใช้ฐานรากแผ่ค่ะ ขึ้นอยู่กับวิศวกรเขาออกแบบมายังไงด้วยนะคะ
จากนั้นเริ่มขึ้นโครงสร้างชั้นล่าง เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำคานคอดิน ส่วนตัวบ้านจะวางแผ่นพื้นสำเร็จ ตรงไหนที่เป็นห้องน้ำก็จะทำพื้นหล่อในที่ไปเลยค่ะ
ใช้เวลาในการบ่มคอนกรีต และถอดแบบค้ำยันไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้โครงสร้างแข็งแรง พร้อมรับน้ำหนักโครงสร้างอื่นๆ ต่อไป
ระหว่างนี้ จะขุดดินเพื่อวางระบบสุขาภิบาล บ่อพัก Manhole ระบบท่อน้ำทิ้ง ท่อประปา น้ำยากันปลวก เราควรถ่ายรูปและโน้ตตำแหน่ง, ระยะงานระบบไว้ เผื่อมีการซ่อมแซมในอนาคตค่ะ
พอขึ้นโครงสร้างชั้น 2 บวกกับอากาศหน้าร้อนของบ้านเรา เห็นใจช่างมาก คุณพี่เค้าต้องขึ้นไปรับแสงที่ระดับความสูงเกือบสิบเมตร ทำงานร่วมกับรถกระเช้า ทุลักทุเลมากๆ ค่ะ
เช่นเดียวกับโครงสร้างชั้นล่าง ทั้งเสา พื้น คาน คานหลังคา โครงสร้างแต่ละส่วนใช้ระยะเวลาพอสมควรเลยค่ะ เพราะต้องให้ระยะเวลาบ่มคอนกรีตเช่นเดียวกัน
วบรัด ตัดตอน มาดูภาพรวมของงานโครงสร้างหลักที่เสร็จเรียบร้อย ทั้ง 2 ชั้น...งานจับผิดก็มา หึหึ
บันไดคอนกรีตเสริมเหล็ก แบบท้องเรียบ อ้าว!! เท่าที่จำได้ ดีไซน์ใต้บันไดเป็นบ่อปลาคาร์ฟ??
ทำไมช่างปิดทึบไปแล้วล่ะค้าา
งานระบบประปาและสุขาภิบาล ทั้งถังเก็บน้ำใต้ดิน ท่อน้ำทิ้ง และถังบำบัดจะถูกติดตั้งในช่วงนี้โดยสมบูรณ์เพื่อเตรียมการเดินท่อเข้าภายในบ้านค่ะ
คานหลังคาชั้นบน อ้าว!! เท่าที่จำได้ ดีไซน์ ฝ้าเพดานเป็นโถงสูงแบบดับเบิ้ลสเปซ ไม่ต้องการโชว์คาน??
ทำไมช่างวางคานไปแล้วล่ะค้าา
# ไม่เป็นไรค่ะ ทุกปัญหาแก้ไขได้...มาต่อกันเลยนะคะ #
เข้าสู่ขั้นตอนการก่อผนังอิฐ เราใช้อิฐมอญแดงก่อผนังสองชั้นทั้งบ้าน คือเพื่อกันความร้อนเพราะสไตล์บ้านไม่มีเชิงชาย กับเพื่อลบเหลี่ยมมุมเสา ง่ายต่อการวางเฟอร์ฯ ด้วยค่ะ
สิ่งสำคัญคือการหล่อเสาเอ็น คานเอ็น ทับหลังตามผนังผืนใหญ่ๆ และตามวงกบประตูหน้าต่าง ช่วงนี้ก็ให้พี่ช่างทำการตั้งวงกบประตูไปพร้อมๆ
ช่วงนี้ก็ทำงานเดินงานระบบฝังผนังไปเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นงานไฟ แอร์ หรือท่อน้ำต่างๆ ตำแหน่งปลั๊กที่ระบุในแบบ
มีงานแทรกเข้ามา ต้องเรียกหารถกระเช้ากันอีกรอบค่ะ เพื่อตัดคานหลังคาที่ไม่ต้องการออกไป
ตอนก่อว่ายากแล้ว ตอนเอาออก ยากยิ่งกว่า เป็นงานที่ต้องปราณีตเพื่อไม่ให้กระทบกับโครงสร้างหลักเลยทีเดียว สู้ ๆ ค่ะทุกคน
ช่วงนี้พี่ผูกขาดรถกระเช้าเลยค้า งานโครงสร้างหลังคาเหล็ก (Truss roof) ใช้เหล็กชุบสีกันสนิมสำเร็จเลย มาสานเชื่อมกันเพื่อให้โครงหลังคาสามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้น
พาดระหว่างช่วงเสา 2 ต้น พื้นที่ใช้งานกว้างๆ เพราะเราต้องการโชว์ดับเบิ้ลสเปซภายในค่ะ
วิศวกรคำนวณ 5 ชุดเพียงพอค่ะ มีช่วงวางพาดได้กว้าง สามารถรับน้ำหนักได้มาก จึงช่วยประหยัดพอสมควรค่ะ
ภาพรวมโครงสร้างหลังคาเสร็จเรียบร้อย ดูจากด้านหน้าจั่ว เริ่มเห็นภาพ บาร์นเฮ้าส์ มาแล้วค่ะ
ตั้งนั่งร้านไม้ไผ่รอบบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับพี่ช่าง ที่จะเริ่มติดตั้งวัสดุมุงหลังคาในวันพรุ่งนี้...มีความปลื้มปริ่ม
วัสดุมุงหลังคา ขอเป็นตัวนี้เลยค่ะ ( Seamless Roof ) เวลาติดตั้งแล้วจะเชื่อมเป็นแผ่นเดียวกันทั้งแผง ต้านแรงลมพายุได้ดี ด้วยรูปแบบสันลอนแบบปิดสนิทจึงทำให้ นกไม่สามารถเข้ามาทำรังใต้หลังคาได้ด้วยค่ะ
ใช้คลิปล๊อคในการติดตั้ง ลดการใช้ตะปู จึงหมดปัญหาจาก การติดตั้งวิธีเดิม (เจาะสกรูไม่ตรงกับ โครงเหล็ก) สันลอนสูง 4.5 ซม.หมดปัญหาน้ำเข้ารอยต่อระหว่างแผ่น และ น้ำรั่วซึมจากสกรูจับยึดไปมากค่ะ
เงยหน้ามองบ้าน เริ่มเชื่อมและมุงหลังคา Step by step พี่ช่างทำงานแข่งกับเวลาอย่างรวดเร็ว
เห็นแล้ว ชื่นนนนใจแม่ ^_^ “The Black Barn” เริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาละค่ะคุณ
หันมองอีกด้าน ดูบริบทโดยรอบ… oops!! (มองบนแพร๊บ) ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป วางไว้ตรงนั้นก่อนค้าาา
ช่างเหล็กก็เร่งทางหลังคา ส่วนช่างปูนก็ต่อเนื่องงานก่อฉาบผนังค่ะ ต้องจับปุ่ม จับเซี้ยมตามขอบหน้าต่างก่อน เพื่อทราบระยะฉาบ
อีกอย่างคือขึงลวดกรงไก่ ตามรอยต่อปูน รอยกรีดผนัง และวงกบประตูหน้าต่าง เพื่อฉาบผนังให้เรียบสม่ำเสมอ
งานแทรกต่อมาก็คือ ทำบ่อปลาคาราฟใต้บันได ที่พี่ช่างเผลอเทพื้นปิดไปก่อนหน้านี้ค่ะ
มาถึงงานฝ้าเพดาน ใจจริงชอบแบบเปลือยท้องคาน (ภาพตัวอย่างจาก Internet) ข้อดีคือทำให้เพดานดูสูงโปร่งมากขึ้น และดูแลรักษางานระบบได้ง่าย แต่ก็นะไม่อยากโชว์แนวท่อร้อยสายไฟมันจะดูลอฟท์เกินไป
ดังนั้นเราเลยติดตั้งโครงฝ้าชั้น 1 ตามท้องพื้นและท้องคานเว้นระยะสำหรับฝากท่อร้อยสายไฟประมาณ 10 ซม. ช่างไฟก็ทำการเดินไฟต่อ ร้อยท่อไปตามจุดต่างๆ และปิดด้วยแผ่นยิปซั่ม ในขั้นตอนนี้จะมีการทำช่องเซอร์วิสไปพร้อมกัน
จะทำให้ภาพรวมออกมาฟีลลิ่งโชว์ท้องคานได้ดั่งใจ (ภาพตัวอย่างจาก Internet) และไม่เห็นงานระบบเหนือฝ้าเพดานอีกด้วยค่ะ
ฝ้าเพดาน ชั้น 2 ปิดแผ่นยิปซัม ใช้แผ่นสะท้อนความร้อนที่ผิวเป็นฟรอยด์ ใส่ระหว่างหลังคากับแป เผื่อช่วยลดการสะสมความร้อนใต้หลังคา ทำให้รังสีความร้อนแผ่ลงมาในบ้านได้น้อยลงค่ะ
ต่อจากฝ้าลงมาเป็นผนังเบา จะต้องฉาบเก็บรอยต่อระหว่างแผ่นผนังให้เรียบเนียน เตรียมพร้อมก่อนขั้นตอนการปิดผิว
ฝ้าเพดาน ภายนอก แผ่นยิปซัมป้องกันความชื้น ตัดแต่งและประกอบเข้ากับโครงหลังคา ใช้แผ่นสะท้อนความร้อนที่ผิวเป็นฟรอยด์ ใส่ระหว่างหลังคากับแปเช่นกันค่ะ
มาถึงงานผิวผนังภายนอก ตามคอนเซ็ปเลยจ้าา "คงคาแรกเตอร์โรงนาแบบเดิมผสานกับความโมเดิร์น" บวกกับสไตล์บ้านไม่มีชายคา เราจึงติดฉนวนกันความร้อน และปิดด้วยวัสดุเดียวกันล้อลงมา ช่วยกันความร้อนที่ผนัง และมีคาแร็กเตอร์ให้บ้านด้วยค่ะ
พูดเหมือนง่าย แต่ตอนทำไม่ง่ายเลย อยากจะขอจดทะเบียนหย่ากับ ผรม.อยู่หลายรอบค่ะ เพลียมาก ณ จุดนี้..เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยความชำนาญของช่างเพื่องานที่ละเอียดเรียบร้อย ผนังต้องได้ดิ่ง-ฉากทุกพื้นที่ค่ะ
โชว์ความพอเหมาะพอดีของเส้นหลังคากับผนังอย่างต่อเนื่องกัน
ต่อมาเก็บดีเทล หลังคากระจก ถักโครงเหล็กทาสีกันสนิม ทำขอบล้อลงมาตามแนวครีบผนังห้องนอน จบพอดีกับพื้นระเบียงให้
เป็นกรอบเดียวกัน
Step by step
ปิดผิวและทำสีทับด้วย SKK ผลิตภัณฑ์ สีพ่นทราย เทียบสีใกล้เคียงผนังและหลังคา...เพิ่มลูกเล่นให้บ้านดูไม่เรียบเกินไปค่ะ
ส่วนผิวผนังที่ทาสี ใช้ปูนฉาบผิวบาง SKIM COAT สำหรับงานฉาบบาง ทำให้ผิวเรียบเนียนเป็นพิเศษ ปกปิดผนังปูนฉาบที่มีเม็ดทราย รอยแตกลายงา และผิวฉาบที่ไม่สม่ำเสมอค่ะ
ส่วน facade หน้าบ้าน เราใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับฉาบแต่งผิวผนัง Lanko ทับด้วยน้ำยาทากันตะไคร่น้ำ
ภาพรวมในบ้าน หลังจากสกิมโคทให้ผนังเรียบแล้ว ควรทิ้งให้แห้งสนิท แล้วค่อยทาสีรองพื้นปูนใหม่ ยี่ห้อเดัยวกับสีจริงค่ะ
ผิวพื้นชั้นบนจะปูไม้สักค่ะ ติดโครงเคร่าไม้พื้น หลังวางตงแล้วให้เทปูนจนเสมอระดับตง ปรับระดับรอไว้
ผิวพื้น และผนังห้องน้ำ เลือกกระเบื้องสีเข้มอย่างโทนสีเทา ง่ายต่อการทำความสะอาดอีกทั้งโทนสีเข้มๆ ยังช่วยขับสุขภัณฑ์สีขาวสว่างให้ดูโดดเด่นได้ดีด้วย
โทนขาว เทา ดำ ให้อารมณ์หรู ทว่าผ่อนคลาย เป็นตัวแทนของความคลาสสิกจากอดีตและความทันสมัยในปัจจุบัน.. อันนี้เป็นความชอบส่วนตัวนะคะ
แพทเทิร์นการปูกระเบื้องพื้น ปูเยื้องกันประมาณ 1 ส่วน 3 ของกระเบื้อง ช่วยเพิ่มลูกเล่นให้กับพื้นบ้าน
โทนสีเทากลาง ดูเรียบง่าย ทันสมัย สงบ สามารถตกแต่งเข้ากับเฟอร์ฯ ได้ทุกสไตล์ และยังช่วยเรื่องของความคิดสร้างสรรค์อีกด้วยค่ะ
ทรายล้างสีดำทึบทั้งหมด มีผิวสัมผัสดูเป็นธรรมชาติ แรงบันดาลใจจากสปาจะกลับมาอีกครั้ง ^_^
ใช้กับพื้นนอกบ้านทั้งหมด มีผิวสัมผัสหยาบ แรงเสียดทานสูงทำให้ไม่ลื่น ทนแดดทนฝน ไม่หลุดร่อนง่าย ทำความสะอาดง่าย และ เทรนด์สีดำ ล้วนดูไฮเอนด์ค่ะ
มาต่อกันที่งานช่องเปิดต่างๆ การเลือกวงกบอลูมิเนียม กับบ้านสไตล์นี้ล้วน มีผลค่ะ
เราใช้กรอบอลูมิเนียม สีดำ ส่วนตัวมองว่าเหมาะกับ กระจกสีใส ไปเลยค่ะ
บานเปิดสูงๆ ช่องใหญ่ๆ ใช้ระบบ Multi point lock จะทำให้บานล็อคได้แข็งแรง ปลอดภัยและเปิดได้ เบาแรงยิ่งขึ้นนะคะ
ช่องเปิดใต้บันได มีความอยากได้ฟิลลิ่งแบบนี้ค่ะ (ขอบคุณภาพจาก Pinterest ) แต่ว่า!! การมีความชื้นในอากาศสูง แอร์ฯ ก็จะทำงานหนักขึ้น ทำให้เปลืองไฟมากขึ้น
เราเลยพลักบ่อน้าให้อยู่นอกบ้าน โดยกั้นผนังกระจกใส แก้ปัญหาความชื้นแต่ยังได้สัมผัสบรรยากาศนั้น
ข้างบันไดใช้ประตูกระจกบานหมุน สามารถนั่งให้ให้อาหารปลา ยังมีกลิ่นอายความสดชื่นจากภายในบ้านได้ด้วยค่ะ
ช่องเปิดสำหรับประตูเข้าบ้าน ชอบอารมณ์ระแนงไม้ ตามแบบ (ขอบคุณภาพจาก Pinterest)
เราใช้บานหมุน เพราะบานประตูกว้างถึง 2.00 เมตร วัสดุเป็นระแนงไม้เต็ง ขัดเคลือบผิวด้วยสีย้อม ติดตั้งโช๊คอัพฝังพื้นแบบตั้งค้าง 90° แต่หมุนได้รอบ 360° ให้สะดวกต่อการใช้งานค่ะ
ภาพรวมดู Simply ได้ดั่งใจ แต่เวลาฝนตกจะทำยังไง? ก็เลยต้องเพิ่มกันสาด กระจกใสเทมเปอร์หนา 10 มม. โดยมีกรอบเฟรมรับทั้งสี่ด้าน
วงกบและช่องแสงติดตาย ส่วนมากจะเป็นผนังกระจก สูงๆ เลือกวงกบออกแนวสลิม 25 *100 มิติจะดูบางกว่า เส้นสายจะดู โล่งและโปร่งค่ะ ถ้าเราเลือกกล่องแบบมาตรฐาน 45*100 จะดูหนาเหมือนงานอาคารพาณิชย์ทั่วไป
ทิศเหนือ, ใต้, ออก, ตก กางแบบเดินตรวจดูรอบบ้าน ครบค่ะ!!
จบงานติอตั้งหน้าต่าง ก็จะเป็นงานปูพื้นไม้ค่ะ ชั้นสองจะเป็นไม้สักหน้า 8 ทั้งหมด ปูบนโครงสร้างพื้นที่เตรียมไว้แล้ว
ปูเสร็จก็ขัดหน้าไม้ ย้อมสีธรรมชาติ ชนิดผิวด้านจะดูเรียบหรู ดิบๆ หน่อย ให้ความรู้สึกผ่อนคลายเป็นธรรมชาติ
จากนั้นเก็บรายละเอียด ติดตั้งราวบันได เป็นงานเหล็กทาสีขาว ผสมราวจับไม้บนความเรียบง่ายสไตล์ญี่ปุ่น
ราวกันตกบนระเบียงชั้น 2 ก็ใช้วัสดุเดียวกันต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน ขึ้นมาเลยค่ะ
สายๆ วันอาทิตย์ จิบกาแฟเบาๆ เข้ามา Update ต่อกันนะคะ ^_^ ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาติชมด้วยนะคะ
ทุกความเห็น ทุกข้อความเราได้อ่านทั้งหมดค่ะ ข้อดีเก็บมาเป็นกำลังใจ คำแนะนำต่างๆ ล้วนมีความหมายเราจะเก็บมาพิจารณาเพื่อพัฒนา
"The Black Barn" บ้านหลังนี้ต่อไปนะคะ
มาว่ากันต่อในส่วนของงานไฟฟ้าค่ะ
ทั้งบ้านเราเลือกใช้อยู่ 5 ชนิดค่ะ จะเน้นรูปแบบเรียบง่าย อยู่ได้นาน เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สีดำ ดูสง่างาม มีความไฮเอนด์ค่ะ
ดวงโคมในบ้านใช้ดาวไลท์แบบฝังฝ้า หลอด LED แบบปรับองศาของหลอดได้ เมื่อตั้งเสร็จ หน้าโคมจะกลืนเรียบกับฝ้าเพดานค่ะ
โคมไฟติดผนังภายในบ้าน ทรงกระบอกเหลี่ยมสีดำ แบบไฟส่อง บน- ล่าง
โคมไฟติดผนังภายนอกบ้าน ทรงกระบอกเหลี่ยมสีดำ ใช้หลอด 2 ดวง แบบไฟส่อง บน- ล่าง เช่นกันค่ะ
ไฟฝังพื้น ( Up light) สำหรับสร้างมิติ ภายนอกอาคาร
ปลั๊ก, สวิตซ์, หน้ากาก ขอใช้สีดำทั้งหมด
ปลั๊กฝังพื้น จำเป็นสำหรับบ้านเรา เพราะจัดแบบ Open Space ไม่อยากเสียบปลั๊กที่ผนังแล้วต้องลากมาใช้งานไกลๆ เลยฝังพื้นตามตำแหน่งที่เหมาะสมไปเลยค่ะ
ดเสร็จก็เทสไฟกันเลยค่ะ แสงไฟตามจุดต่างๆ จะช่วยเพิ่มเสน่ห์และสีสันให้บ้าน ไม่อย่างนั้นคงเป็นเพียงสิ่งก่อสร้างแข็งทื่อ ขาดชีวิตชีวาค้าาา
เนื่องจากบริบทโดยรอบ"มืดสนิท"ก็อย่างที่ทุกคนเห็นกำพืดของ พี่"Black Barn"กันมาตั้งแต่ต้นเรื่อง...แม่เริ่มจากศูนย์จริงจริ๊งงง พอเปิดไฟในบ้านจึงเด่นจรัสแสงมาก กลบแสงดาวแสงเดือนไปหมดเลยค่ะ
หลังบ้าน แสงไฟที่วางถูกที่ถูกทาง ก็เปลี่ยนบรรยากาศให้ดูมีมิติ จากหน้ามือเป็นหลังมือได้เหมือนกันนะคะ
การจัดวางแสงสร้างบรรยากาศได้ ด้วยการใช้แสงสะท้อนไปยังวัตถุหรือกำแพง ทำให้มีมิติน่าสนใจยิ่งขึ้น นี่คือเหตุผลที่เราเลือกใช้ แบบปรับองศาของหลอดได้ค่ะ
ส่วนโถงจากพื้นชั้นล่างถึงเพดาน 12 เมตร ในอนาคตเราจะติดโคมแขวน ต้องมีขนาดใหญ่มาก และนํ้าหนักเบาคิดไว้ว่าจะดีไซน์เองค่ะ
สรุปไฟภายนอกโอเคค่ะ แต่ภายในบ้านดูภาพรวมแล้วยังไม่ผ่านค่ะ
จะพูดยังไงให้ทุกท่านเห็นภาพคะเนี่ย? ลองนึกถึงภาพห้องพิเศษในโรงพยาบาล เวลาเราไปเฝ้าผู้ป่วยนะคะ มันจะสลัวๆ ไม่สมดุลกับพื้นที่ภายในบ้านค่ะ ซึ่ง ณ ตอนนี้ที่บ้านเราเป็นไฟระบบไฟฟ้า 1 เฟส งานเข้า..ต้องไปขอระบบไฟฟ้า 3 เฟสที่การไฟฟ้าฯ อี๊ก!!
ลองปรึกษาคุณพี่ข้างบ้าน"ค่าตู้ไฟ ตู้คอนโทรล วางงบไว้ครับหลักแสน ไม่รวมการขอขยายเขตนะ อย่างบ้านเราไกลมากก็++ไปครับ" ฟังแล้ว เอิ่ม....นะ
วันจันทร์เช้า เข้าไปที่การไฟฟ้าฯ เจ้าหน้าที่บอก "ไม่ถึงแสนครับ แถวนั้นมีเสาไฟฟ้าต้นใหญ่ 3 เฟส ดึงไปได้ ค่าใช้จ่ายเป็นหลักหมื่นต้นๆ ครับ"
แอบยิ้มในใจ สวรรค์มีตา ^_^ จัดไปจ้าาาา
ผ่านไปประมาณ 2 อาทิตย์ เอกสารจากการไฟฟ้าฯ แจ้งมาที่บ้าน เบาๆ 98,800 บาท!!! (ขอบคุณ) ก็ตามนั้นค่ะ
ลืมตาดูโลกแล้วจ้าาาา..."The Black Barn House"...ชื่อเค้าค่ะคุณ #น้ำตาจิไหล#
สำหรับ FC อาจจะมีขัดใจไปบ้าง เพราะบางสิ่งบางอย่างไม่ได้เป็นไปตามดีไซน์ซะทั้งหมด...แปรผันไปตามงบประมาณจ้า^_^
บ้านที่มีเส้นสาย เรียบง่าย เเฝงไปด้วยความทันสมัย ชัดเจนในสไตล์ ผสมผสานความมีเสน่ห์ในรูปลักษณ์กับประโยชน์ใช้สอยที่ไม่ยุ่งยาก มีความสวยงามและมั่นคงแข็งแรง ตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยค่ะ
ตัวบ้านสีขาวตัดกับพื้นที่บานกระจกที่มีโครงเหล็กสีดำเป็นรูปเเบบของความทันสมัย ที่จะสวยไปอีกนาน เเน่นอนว่าเป็นช่องทางที่ให้เเสงธรรมชาติเข้าถึงได้ดีอีกด้วยค่ะ
ผนังกระจกหน้าบ้าน ทำให้มุมนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ธรรมชาติรอบบ้านได้อย่างเต็มตา ดีไซน์ facade เป็นกรอบหน้าต่างขนาดใหญ่บรรจบกับระเบียงด้านหน้า ผสานวัสดุธรรมชาติผิวสัมผัสแลงโก้ กับ วัสดุโมเดิร์นอย่างกระจกได้อย่างเหมาะเจาะ
การตกเเต่งผนังภายนอกด้วย ซีมเลท เรียงตัวกันในเเนวตั้งช่วยให้ฟอร์มบ้านดูสูงสง่า ในทุกมุมมอง
มาๆ ไม่ต้องถอดรองเท้า เข้ามาข้างในกันค่ะ ^_^
ช่วงนี้กำลังดำเนินการตกแต่งภายใน และ ปรับภูมิทัศน์ภายนอก ไปพร้อม ๆ กันค่ะ...เอามาให้ชมเบา ๆ เป็นน้ำจิ้มกันก่อนนะคะ
ดีไซน์ภายใน สัมผัสธรรมชาติได้ทุกมุมมอง แค่กระจกกั้นพื้นที่ความเป็นส่วนตัวเท่านั้น ตกแต่งแบบเรียบง่าย ไม่เน้นเฟอร์ฯ หรูหราเพราะเรารู้สึกว่าอยู่ได้นาน แต่โชว์ศักยภาพของตัววัสดุ ความสวยชัดของลายไม้ สกีมสีที่เลือกใช้ ทุกพื้นต้องมี
“จุดโฟกัส” ที่สามารถดึงดูดสายตาของคนที่เข้ามาในบ้าน และสามารถกำหนดฟีลลื่งของห้องนั้นได้ ซึ่งคงไม่สามารถปฏิเสธว่า "งานศิลปะ" เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการทำหน้าที่นี้ ในบ้านหลังนี้ค่ะ
โถงทางเข้านอกจาก Wall Art ที่เป็นจุดดึงสายตาแล้ว เฟอร์ฯ สีสันเพิ่มความซุกซนให้กับบรรยากาศภายในได้ดีงามสุดๆ
หน้างานขอปรับตามเทสนิดหนึ่งนะคะ เลือกใช้สีขาวและไม้อัดแอชเพราะลายไม้จะเส้นลึก ทำสีโชว์ลายไม้จะสวยมาก ประกอบเข้ากับฝีมือช่างที่ประณีต ก็ทำให้บ้านดูมีมูลค่าได้อีก
ดีไซน์โถงกลาง ทำพื้นที่บางส่วนให้เป็นดับเบิ้ลสเปซ มีข้อได้เปรียบเรื่องการถ่ายเทอากาศได้ดี และคงคอนเซ็ปต์แบบ"บาร์นเฮาส์"ไว้
หน้างานก็เร่งมือเป็นขั้น เป็นตอน ไปค่ะ
พื้นที่ใช้สอยส่วนรวมในชั้นล่าง จัดแบบ open plan รวมครัวฝรั่ง รับประทานอาหาร นั่งเล่น และพื้นที่ทำกิจกรรมที่ยืดหยุ่นเข้าไว้ด้วยกันด้านหลัง จะเป็นห้องเก็บของ ซักรีด และห้องน้ำแขกค่ะ
ตกแต่งแนวฝ้าเพดานด้วยกล่องไม้ทำเป็นซี่ระแนง ช่วยให้บรรยากาศของห้องอบอุ่นในสไตล์บาร์นเฮาส์
ประตูบานเปิดคู่ ด้านหลังชั้นโชว์นี้ เป็นสตูดิโอสำหรับทำงานเล็กๆ ของพวกเราค่ะ ซึ่งจะแยกทางเข้าคนละส่วนกับตัวบ้านหลัก
จากมุมนี้ เราจะเห็นความโปร่งของบ้าน นอกจากพื้นที่แบบดับเบิ้ลสเปซ ยังเปิดช่องลมแนว เหนือ- ใต้ อยู่ด้านตรงข้ามกัน ให้อากาศสามารถไหลเวียนได้ทั่วทั้งห้อง หน้าร้อน> ลมจะพัดผ่านทางใต้, หน้าหนาว> ลมจะพัดผ่านมาจากทางเหนือลงใต้, หน้าฝน> อากาศจะแปรปรวน ลมจะพัดมาได้แทบทุกทิศ แล้วแต่สภาพอากาศตอนนั้นค่ะ
โดยมีบานเลื่อนกระจกขนาดใหญ่ช่วยนำแสงเข้ามาและเชื่อมพื้นที่บ้านกับส่วนใช้ชีวิตกลางแจ้งเข้าด้วยกันอย่างต่อเนื่องลื่นไหลค่ะ
ขาว เทากลาง ไม้อัดแอช ให้ความรู้สึก สงบ สบายตา เรียบง่ายแต่อบอุ่น ผ่อนคลาย พื้นสีเทากลางยังทำให้บ้านของดูหรูและโมเดิร์นมากขึ้นอีกด้วย
มุมมองระเบียงชั้นสอง ส่วนคานติดไฟติดผนัง ช่วยสร้างจังหวะและเพิ่มแสงสว่างในพื้นที่ดับเบิ้ลเสปซด้วยค่ะ
ทิศตะวันตก จั่วภายนอกต้องการโชว์ผนังกระจกสูงเต็มพื้นที่ ภายในจึงแสงแดดช่วงบ่ายเต็ม ๆ เราก่อผนังสูงเต็มพื้นที่เพื่อกันความร้อนเข้ามาในบ้าน แบ่งสเปซสำหรับโยคะช่วงเช้าและนั่งสมาธิช่วงหัวคํ่า
เดินมาอีกฝั่ง เข้าสู่ห้องนอนหลักค่ะ
ห้องนอนหลัก อยู่ในโซนที่ทิศทางของแสง เดินทางผ่านได้ทั้งวันโดยไม่ทำให้ร้อน และยังซึมซับธรรมชาติได้เต็มที่
โดดเด่นสะดุดตา กับ Glass roof บริเวณนี้ ทุกคืน...ฉันจะนอนนับดาว...ฟินนนน
ฺBay Window ตั้งใจทำเป็นพิเศษ เจาะเป็นช่องขนาดใหญ่ สำหรับนั่งอ่านหนังสือหรือน่าจะนอนกลางวันได้สบายๆ เลยค่ะ
มุมนั่งเล่นแบบเกิร์ลๆ จะจัดยังไงให้สวยอบอุ่นเน้นความเรียบง่ายแต่ดูดีมีราคา ค่อยมาติดตาม ตอนต่อไปกันนะคะ
จากโซนพักผ่อน เชื่อมต่อไปยังพื้นที่แต่งตัว เน้นใช้งานง่ายใช้ประโยชน์ได้เต็มพื้นที่ โดยสีที่ใช้เป็นสีในโทนเดียวกับชั้นล่าง เน้นความงามของลายไม้ที่ใช้ตกแต่งเช่นกันค่ะ
หันไปอีกด้าน เปิดประตูเข้าห้องนํ้า ต่อเนื่องอยู่ในห้องเดียวกันค่ะ
ดีไซน์ในห้องนอน 2 > ให้ความรู้สึกกลมกลืนกับธรรมชาติ ตั้งแต่พื้น และฝ้าเพดานไม้ สร้างมิติให้กับสเปซของห้อง ช่องแสงขนาดใหญ่เชื่อมต่อกับธรรมชาติภายนอก สร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน
ดีไซน์ในห้องนอน 3 > จากพื้นใช้ไม้โทนสีเข้มและผนังโทนสีอ่อน บิ้วท์อินอบอุ่นจากไม้แอช ล้อขึ้นไปตามแนวฝ้าเป็นหนึ่งเดียว
กันค่ะ
หน้างาน...กำลังจะดำเนินการตกแต่งอยู่นะคะ
ห้องนอนชั้นล่าง สีเทา + สีขาว เป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัวสำหรับคนที่รักความเรียบง่าย ที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ตกแต่งมากมาย ด้วยโทนสีดูมีความเป็นศิลป์อยู่แล้ว
ถ้าวางเฟอร์นิเจอร์ และ ของตกแต่งแล้ว แต่ละห้อง จะออกมารูปแบบไหน? อะไร? ยังไง? จะมา Update กันเรื่อย ๆ นะค้าาา
การเงิน
ข่าวรอบโลก
เรื่องเล่า
1 บันทึก
6
2
2
1
6
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย