13 พ.ค. 2022 เวลา 06:32 • สุขภาพ
อัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติเพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์ทุกคน แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง
รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ
การสะสมของเบต้า-อะไมลอยด์
การสะสมของเบต้า-อะไมลอยด์ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อยๆ ลดลง เริ่มจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ที่มีบทบาทสำคัญในการจดจำข้อมูลใหม่ๆ เมื่อเซลล์สมองส่วนนี้ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำโดยเฉพาะความจำระยะสั้น จากนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแพร่กระจายไปสู่สมองส่วนอื่นๆ และส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรม
สาเหตุโรคอัลไซเมอร์
อายุ จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น เพราะ สถิติในปัจจุบันพบว่ากลุ่มที่มีอายุราว 65 ปี พบผู้ป่วยอัลไซเมอร์ประมาณร้อยละ 5  กลุ่มผู้ที่มีอายุราว 75 ปี
พบผู้ป่วยอัลไซเมอร์ประมาณร้อยละ 15 และกลุ่มผู้ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป พบผู้ป่วยอัลไซเมอร์มากถึงร้อยละ 40 ฉะนั้น จำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคนเรามีอายุที่ยืนยาวขึ้น
นอกจากนี้ โรคอัลไซเมอร์ยังสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้แต่พบเป็นส่วนน้อย คือประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการให้เห็นตั้งแต่อายุ 50-60 ปี
สาเหตุสำคัญของภาวะสมองเสื่อมชนิดที่ไม่สามารถรักษาได้ในผู้สูงอายุ เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ถึงร้อยละ 60-80 โดยส่วนใหญ่ อาการของโรคจะปรากฏหลังอายุ 60-65 ปีไปแล้ว เว้นแต่ในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่พบได้ไม่บ่อยนัก
อาการโรคอัลไซเมอร์
อาการแรกเริ่มที่สำคัญของผู้ป่วยอัลไซเมอร์คือการสูญเสียความจำระยะสั้น ซึ่งเป็นอาการที่ใกล้เคียงกับภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ป่วยร้อยละ 80-90 จะมีอาการทางพฤติกรรมหรือทางจิตเวชร่วมด้วย ซึ่งอาการทางพฤติกรรมนี่เองที่ทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะรายที่มีอาการก้าวร้าว
อาการทั่วไปของโรคอัลไซเมอร์
อาจแบ่งคร่าวๆ ได้เป็นสามระยะ ได้แก่
  • ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอยจนตัวเองรู้สึกได้ ชอบถามซ้ำ พูดซ้ำๆ เรื่องเดิม สับสนทิศทาง เริ่มเครียด อารมณ์เสียง่ายและซึมเศร้า แต่ยังสื่อสารและทำกิจวัตรประจำวันได้ ระยะนี้เป็นระยะที่คนรอบข้างยังสามารถดูแลได้
  • ระยะกลาง ผู้ป่วยมีอาการชัดเจนขึ้น ความจำแย่ลงอีก เดินออกจากบ้านไปโดยไม่มีจุดหมาย พฤติกรรมเปลี่ยนไปมาก เช่น จากที่เป็นคนใจเย็นก็กลายเป็นหงุดหงิดฉุนเฉียว ก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย หรือจากที่เป็นคนอารมณ์ร้อนก็กลับกลายเป็นเงียบขรึม และเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน
​เช่น ชงกาแฟไม่ได้ ใช้รีโมททีวีหรือโทรศัพท์มือถือไม่ได้ คิดอะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่อยู่ในโลกของความจริง เช่น คิดว่าจะมีคนมาฆ่า มาขโมยของ คิดว่าคู่สมรสนอกใจ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอาการที่ยากต่อการดูแลและเข้าสังคม
  • ระยะท้าย ผู้ป่วยอาการแย่ลง ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง รับประทานได้น้อยลง การเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สมองเสื่อมเป็นวงกว้าง ไม่พูดจา ภูมิคุ้มกันอ่อนแอซึ่งมักนำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด โดยระยะเวลาทั้งหมดตั้งแต่แรกวินิจฉัยจนเสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 8-10 ปี
การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์
เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการหลงลืม ขั้นตอนแรกของการวินิจฉัยโรคคือดูว่าผู้ป่วยเข้าข่ายมีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่โดยแพทย์จะซักประวัติจากผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับความสามารถในชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมอง
พร้อมทั้งให้ผู้ป่วยเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพของสมองโดยการตอบคำถามเกี่ยวกับความจำ สมาธิ การตัดสินใจ ทิศทาง การใช้ภาษา และการคำนวณ เป็นต้น
จากนั้นจึงเป็นการตรวจคัดกรองหาสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมว่ามาจากโรคที่รักษาได้หรือไม่ โดยการเจาะเลือดตรวจ และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (MRI) หากไม่พบสาเหตุอื่นประกอบกับผู้ป่วยมีอาการและการทดสอบทางสมองเข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคอัลไซเมอร์ จึงจะวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์
นอกจากนี้แพทย์ยังสามารถระบุแยกย่อยออกไปได้อีกว่า ผู้ป่วยเป็นโรคภาวะสมองเสื่อมอื่นๆ ที่รักษาไม่หายขาดนอกเหนือจากอัลไซเมอร์หรือไม่ ซึ่งโรคเหล่านี้มีอาการแตกต่างกัน แต่การรักษาไม่ต่างกัน เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลเตรียมตัวได้ว่าจะต้องเจอกับอาการอย่างใดบ้าง
การรักษาโรคอัลไซเมอร์
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด สมองจะค่อยๆ เสื่อมลงไปโดยไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้ แต่การนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นจะช่วยยืดระยะเวลาการดำเนินโรค เพิ่มคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายหลักของการรักษาโรคอัลไซเมอร์
สำหรับวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยมี 2 รูปแบบ คือ
1. การรักษาด้วยการใช้ยา โดยเป็นยาที่ช่วยควบคุมอาการต่างๆ ให้น้อยลงชั่วคราวแต่อาจไม่ช่วยในเรื่องของความจำมากนัก ยาดังกล่าวจะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ที่มาทำลายสารสื่อประสาทอะซีติลโคลีน เพื่อเพิ่มหรือปรับระดับของสารแอซิติลโคลีนไม่ให้ลดลงมากจนเกินไป ผู้ป่วยจึงสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ มีความสุขสดชื่นขึ้น ขณะเดียวกันผู้ดูแลก็ดูแลได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทางพฤติกรรมที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น ก้าวร้าวมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ยาทางจิตเวชควบคู่กันไปด้วย
2. การรักษาโดยไม่ใช้ยา เป็นการดูแลสมองและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย อาทิ
  • จัดให้ผู้ป่วยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (cardio exercise) ที่เน้นการเสริมสร้างความแข็งแรงของหัวใจและปอด เช่น การเดิน วันละ 20 นาที 4 วันต่อสัปดาห์จะช่วยให้สมองสดชื่นและยืดระยะเวลาการดำเนินโรคได้
  • มีกิจกรรมให้ผู้ป่วยได้ออกไปนอกบ้านเป็นระยะๆ เพื่อพบปะผู้คน พูดคุยกับเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องคนอื่นๆ นอกเหนือจากสมาชิกในบ้าน
  • ดูแลให้ผู้ป่วยได้นอนหลับอย่างมีคุณภาพตามสุขลักษณะการนอน เช่น ไม่ดื่มสารคาเฟอีนในช่วงเย็นหรือก่อนนอน ไม่ออกกำลังกายใกล้กับเวลานอน เข้านอนและตื่นนอนตรงเวลา ปรับความสว่างในห้องนอนให้มืดพอดี เพราะหากวงจรการนอนไม่ดีจะส่งผลต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย ความดันโลหิต น้ำหนัก และรวมถึงความจำด้วย
  • ดื่มน้ำให้พอเพียง เพื่อป้องกันภาวะเลือดหนืดหรือเลือดข้นซึ่งทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก สมองไม่สดชื่น หากไม่มีข้อห้าม เช่น มีโรคหัวใจหรือโรคไต ควรดื่มน้ำวันละ 2 ลิตรเป็นอย่างน้อย
โฆษณา