13 พ.ค. 2022 เวลา 08:22 • ท่องเที่ยว
พระตำหนักใหญ่ วังปากคลองผดุงกรุงเกษม .. Deva Manor
พระตำหนักใหญ่ วังปากคลองผดุงกรุงเกษม .. เดิมอยู่ในอาณาบริเวณพื้นที่ 18 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ตรงปากคลองผดุงกรุงเกษมที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
วังแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ด้วยเป็นวังที่ประทับของพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ต้นราชสกุล กิติยากร) พระราชโอรสลำดับที่ 12 ซึ่งประสูติจากเจ้าจอมมารดาอ่วม ธิดาของพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์
.. ซึ่งประสูติเมื่อวันจันทร์ เดือน 7 ปีจอ ตรงกับวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2417 ในพระบรมมหาราชวัง พระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากร วรลักษณ์
เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ .. พระองค์มักจะถูกล้อเลียนเป็นประจำว่า ‘วันจันทร์ เดือนเจ็ด ลูกเจ้า หลานเจ๊ก’ เนื่องจากพระองค์ประสูติ ‘วันจันทร์ เดือนเจ็ด ปีจอ ลูกพระจุลฯ หลานพระจอมฯ ตัวเป็นเจ้า ตาเป็นเจ๊ก (เนื่องจากเจ้าจอมมารดาอ่วมเป็นลูกจีน)’
คุณแซม หรือ พ.อ. เฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา ผู้ดูแลวังในปัจจุบัน เคยเล่าเอาไว้ว่า .. “น้อยคนนักที่จะมีครบ 7 จ. เหมือนพระองค์ท่าน นอกจากนี้ยังทรงเป็น 1 ใน 4 พระโอรสคณะแรกที่ถูกส่งไปทรงศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ เรียกว่าเป็นยุคบุกเบิกเลย
ระหว่างที่พระองค์ยังประทับอยู่ในอังกฤษ พระชนกโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักแห่งนี้พระราชทาน ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2439 ทรงเป็นพระองค์เจ้าเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับพระราชทานพระตำหนักใหญ่ขนาดนี้”
พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ซื้อที่ดินจากข้าราชการและ เอกชน ๑๗ ราย ด้วยเงินพระคลังข้างที่
.. ตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจนมาถึงบริเวณถนนกรุงเกษมเพื่อสร้าง เป็นตำหนักพระราชทานพระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ครั้นยังทรงดำรงตำแหน่ง เป็นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ ซึ่งมีกำหนดจะเสด็จนิวัติพระนครภายหลังจากที่ ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษในปี พ.ศ.2438
การสร้างตำหนักที่ประทับและอาคารที่เกี่ยวข้อง แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2439 และพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี เพื่อมาทำการขึ้นพระตำหนักใหม่ของพระโอรส พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (ต้นตระกูล กิติยากร) ในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2439
พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรี นฤนาถ ได้ทรงประทับที่วังนี้จนตลอดพระชนมายุ
ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภายหลังเปลี่ยนแปลง การปกครองใน พ.ศ. 2475 แล้ว .. ทายาทของพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ได้แบ่งขายที่ดินตำหนักใหญ่ตั้งแต่ริมถนนกรุงเกษมจนถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้กับ พระยาอนิรุทธเทวา
…ซึ่ง พระยาอนิรุทธเทวา ก็ได้ขาย “บ้านบรรทมสินธุ์” หรือ “บ้านพิษณุโลก” ให้กับรัฐบาล แล้วย้ายเข้ามาอยู่ ณ พระตำหนักแห่งนี้
ทำให้ในปัจจุบันพื้นที่ภายในวังเทเวศร์ ได้แบ่งออกได้เป็นสามส่วนใหญ่ๆ
ตำหนักในวังเทเวศร์ ประกอบด้วย
๑.บริเวณ พระตำหนักของพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ หรือ ตำหนักใหญ่ ส่วนนี้มีพื้นที่ทางด้านเหนือตั้งแต่ถนนกรุงเกษม ด้านใต้จรดตำหนัก หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ด้านตะวันออกจรดกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และด้าน ตะวันตกจรดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันพื้นที่ส่วนนี้อยู่ในการดูแลของทายาทตระกูลอนิรุทธเทวา
๒.บริเวณตำหนักหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ส่วนนี้มีพื้นที่ทางด้านเหนือตั้งแต่ ถนนกรุงเกษม ด้านใต้จรดวังเทวะเวสม์ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ด้านตะวันออกจรดกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และด้านตะวันตกจรดริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นอาคารทรงปั้นหยาก่ออิฐถือปูนสองชั้น ด้านหน้าอาคาร เป็นมุขโค้ง (อาคารหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา) ซึ่งได้รับอิทธิพลการก่อสร้างมาจากศิลปกรรมในการก่อสร้าง อาคารในแถบประเทศเยอรมนี และออสเตรีย
ตำหนักหลังนี้หม่อมเจ้าอัปสรสมาน กิติยากร พระมารดา ทรงสร้างประทานแก่หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร และหม่อมหลวงบัว กิติยากร
… ตำหนักแห่งนี้สมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาประทับตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ปัจจุบันเป็นที่พำนักของทายาท ราชสกุลกิติยากร
๓.บริเวณตำหนักพันตรี หม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณ กิติยากร ส่วนนี้มีพื้นที่ทางด้านเหนือตั้งแต่ ถนนกรุงเกษม ด้านใต้จรดวังเทวะเวสม์ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ด้านตะวันออกจรดวัดนรนาถสุนทริการาม และด้านตะวันตกจรดบริเวณตำหนักใหญ่ ปัจจุบันพื้นที่ส่วนนี้อยู่ในการดูแลของกรมส่งเสริมสหกรณ์และ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นอาคารทรงปั้นหยาก่ออิฐถือปูนสามชั้น (รวมห้องใต้หลังคา) ลักษณะงดงามกะทัดรัก ซึ่งได้รับอิทธิพลการก่อสร้างมาจากศิลปกรรมในการก่อสร้างอาคาร แถบประเทศเยอรมนี และออสเตรียเช่นเดียวกัน
วันนี้เราจะมาชม พระตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ หรือ ‘พระตำหนักใหญ่ แห่งวังเทเวศร์’ ที่งดงามข้ามกาลเวลา
‘พระตำหนักใหญ่ แห่งวังเทเวศร์’
พระตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ .. ว่ากันว่า .. ตำหนักแห่งนี้ออกแบบโดย Carlo Allegri สถาปนิกชาวอิตาเลียน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ที่ได้รับอิทธิพลการก่อสร้างมาจากศิลปกรรมตะวันตกแบบ โคโลเนียลสไตล์ ตัวตำหนักหันหน้าเข้าสู่ถนนกรุงเกษม มีมุขทางเข้าทั้งทางด้านหน้าและด้านหลังของอาคาร .. เป็นอาคารที่มีการผสมระหว่างศิลปะไทยและอิตาเลียน
มุขด้านหน้าอาคารชั้นบนเป็นเฉลียงกว้าง ผนังชั้นบนตกแต่งด้วยซุ้มโค้งสลับกับเสาประดับเซาะร่อง ภายในซุ้มโค้งติดกรอบหน้าต่าง ส่วนซุ้มโค้งครึ่งวงกลมมีช่องแสงลายรัศมีแฉกประดับกระจกสี
เหนือซุ้มโค้ง มีเส้นแบ่งเหนือเส้นแบ่ง เหนือเส้นแบ่งนั้นทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าสลับกับสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผนังชั้นล่างตกแต่งผนังซุ้มโค้งภายในติดกรอบหน้าต่างสลับกับลายเซาะร่อง
.. เฉลียงชั้นสองของมุขหน้าเป็นเฉลียงกว้าง บนเสาของราวลูกกรงตั้งกระถางหล่อปลูกต้นไม้
.. เสาเหลี่ยมรับเฉียงประกอบด้วยซุ้มโค้งกลม ตัวอาคารมีเฉลียงเล็กทุกด้าน
2
.. ผนังประกอบด้วยเสาอิงแบบดอริกและไอโอนิก ผนังชั้นล่างสลักเป็นลายอิฐ ผนังส่วนใต้หลังคาเจาะช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า สลักปูนเป็นกรอบและมีหูช้างสลักลายประดับใต้ชายคา ช่องลมเหนือประตูตกแต่งด้วยลายไม้ฉลุลายละเอียด
.. บริเวณสนามวงกลมด้านหน้าตั้งตุ๊กตาปูนปั้นแบบกรีก ซึ่งเดิมตุ๊กตาปูนปั้นแบบกรีกมีทั้งหมดรวม 12 ชิ้นงาน แต่ยังคงเหลืออยู่ในสภาพดี 3 ชิ้นงาน
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงประทับอยู่ที่ตำหนักนี้ตลอดพระชนม์ชีพ .. ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) ได้ขาย “บ้านบรรทมสินธุ์” ที่ถนนพิษณุโลกให้รัฐบาล และได้ซื้อตำหนักนี้เป็นที่อยู่ของตระกูลอนิรุธเทวา
เจ้าคุณอนิรุทธเทวาย้ายครอบครัวพร้อมทั้งเครื่องเรือนจากบ้านนารายณ์บรรทมสินธุ์ มายังพระตำหนักใหญ่ .. ในช่วงแรกพระตำหนักใหญ่ถูกปิด ท่านเจ้าคุณพักอาศัยในตำหนักบริวาร จนกระทั่ง พ.ศ. 2494 เมื่อเจ้าคุณอนิรุทธเทวาถึงแก่กรรม ต่อมาคุณหญิงเฉลา อนิรุทธเทวา ผู้เป็นภริยาก็ถึงแก่กรรม รวมถึงทายาทรุ่นที่ 2 คือพล.อ. เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา ถึงแก่กรรม
ทายาทรุ่นที่สาม ได้เข้ามาพักอาศัย แต่พี่ๆของผู้ดูแลปัจจุบัน ซึ่งคือ พ.อ. เฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา หรือ คุณแซม อยู่ไม่ได้ ต้องย้ายออกไป
ดังนั้น.. แม้อาคารเดิมจะเป็นของราชสกุลกิติยากร แต่เมื่อเปลี่ยนมาอยู่ในความครอบครองของตระกูลอนิรุทธเทวา ก็มีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นแบบของ อนิรุทธเทวา
คุณแซมเคยเล่าเอาไว้ว่า ..
“ตอนที่ผมย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ๆ ผมก็ไม่ค่อยกล้า เพราะได้ยินคำร่ำลือโน่นนี่นั่น ผมเลือกที่จะนอนในห้องเล็กๆ และอยู่แบบหัวถึงหมอนหลับและพอตื่นก็ไปเลย เพราะยังไม่รู้ว่าอยู่ได้หรือไม่ได้ เป็นแบบนี้อยู่นานหนึ่งปี ถึงเริ่มชินว่าไม่มีอะไร
จนขึ้นปีที่สอง ราวๆ พ.ศ. 2550 – 51 วันหนึ่งก็มีนิมิต ระหว่างที่ผมหลับอยู่ตอนตีสอง รู้สึกว่าท่านทรงเครื่องยกกระบัติดิ้นทองเสด็จมาเลย แต่ผมไม่กล้าเงยหน้าขึ้นไปมอง ผมจำได้ว่าท่านรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษกับผมว่า ‘If possible, can you bring life back to this house?’ ข้อที่น่าตกใจมากที่สุดก็คือผมดันตอบว่า Yes โอ้โห…พอตื่นเช้ามา เหงื่อผมแตกทั้งตัวเลย
“เนื่องจากวันแรกที่เข้ามา ผมมีพระรูปท่านไว้กราบไหว้บูชามาตลอดอยู่แล้ว ผมก็เลยจุดธูปไหว้และกราบทูลท่านว่า ‘If this is the case, please lead me the way.’ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาซ่อมแซม
แม้ว่าผมจะตกปากรับคำท่านไปแล้ว วันนี้ผมเจอลูกหลานท่านไม่ว่าจะเป็นราชสกุลกิติยากร หรือวรวรรณ ทุกท่านก็ยืนยันว่าเสด็จทวดโปรดที่จะตรัสภาษาอังกฤษ เพราะทรงใช้ชีวิตในอังกฤษเป็นสิบปี ผมจึงถึงบางอ้อว่าเพราะอะไรท่านถึงรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษ และแน่ใจว่าต้องเป็นท่านแน่ๆ”
นับจากวันที่เจ้าคุณปู่สิ้นจนถึงวันที่ผู้พันแซมย้ายเข้ามานั้น พระตำหนักใหญ่ได้ถูกปิดตายไป 50 ปี คุณแซมใช้เวลานาน 12 ปีในการซ่อมแซมและวางระบบน้ำไฟภายในพระตำหนัก ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความพยายามทุ่มเทชนิดถวายหัวใจให้เลย โดยเริ่มจากชั้นบนลงชั้นล่าง จากภายในสู่ภายนอกพระตำหนัก
“ที่ต้องใช้เวลานานก็ด้วยเหตุว่า ปีไหนสตางค์ผมเหลือเยอะก็ทำเยอะ ปีไหนสตางค์ผมเหลือน้อยก็ทำน้อย กับอีกข้อคือ การจะบูรณะวังเก่าให้สมพระเกียรติ ต้องใช้เวลา รีบไม่ได้ คนที่มาช่วยผมปรับปรุง เคยทำบ้านหลังอื่นให้ผมมาก่อน ก็จะมาดีเบตกันว่าตรงนี้ควรทำยังไง
ตรงไหนผมคิดไม่ออกก็หยุดไว้ก่อน แต่ผมพูดได้เลยว่า นโยบายผมคือห้ามเปลี่ยน ยกเว้นสภาพไม่ได้จริงๆ แปดสิบเปอร์เซ็นต์ของพระตำหนักใหญ่จึงเป็นไม้สักทองของเก่าโดยที่ผมพยายามทำให้ใกล้เคียงกับตอนที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้เสด็จในกรมพระจันทบุรีนฤนาทเมื่อ พ.ศ. 2439”
เราจะเข้าไปชมภายในวังแห่งนี้กันนะคะ
ป้าย Deva Manor .. Deva มาจากคำว่า อนิรุทธเทวา อันเป็นตระกูลของท่านเจ้าของบ้านนี้ในปัจจุบัน ส่วนคำว่า Manor เป็นคำในภาษาฝรั่งเศส ซึงมีคำแปลว่า คฤหาสน์ของขุนนาง
ชั้นล่าง เมื่อเดินเข้าด้านใน .. ส่วนแรกปัจจุบันได้รับการดัดแปลงให้เป็นพื้นที่ของร้านกาแฟ และอาหาร ที่ทุกคนสามารถเข้ามานั่งดื่มเครื่องดื่ม หรือรับประทานอาหารได้ พร้อมกับชื่นชมความงามด้านนอกของพระตำหนัก และบรรยากาศชั้นล่าง และระลึกถึงพระบารมีของเสด็จในกรมที่เป็นเจ้าของดั้งเดิม
ส่วนที่เป็นร้านกาแฟเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10:00 – 18:00
ชั้นที่สอง : เป็นพื้นที่ Exclusive คือไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม
ตรงโถงบันไดทางขึ้นสู่ชั้นบน .. ปูด้วยพรมสีน้ำเงิน ผนังด้านซ้ายมือประดับด้วยรูปภาพของ พระนครในส่วนอันเป็นที่ตั้งของพระตำหนัก และยังมีรูปของวังเทเวศน์ในสมัยก่อน
รูปล่างสุดเป็นรูปของพระองค์เจ้ากิติกรวรลักษณ์ หรือพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าจันทบุรีนฤนาถ ทรงฉายกับครอบครัวเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์
ในบริเวณเดียวกันยังมีรูปพระองค์เต็มในฉลองพระองค์เต็มยศ ของพระบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ และรูปที่ทรงฉายกับพระองค์เจ้าอัปสรสมานพระชายา (นามสกุลเดิม เทวกุล)
รูปปั้นของท่านเจ้าคุณอนิรุทรเทวา ซึ่งเป็นปู่ของท่านเจ้าของพระตำหนักปัจจุบัน .. ท่านเป็นมหาดเล็กคนโปรดของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6
รูปปั้นของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 และภาพดั้งเดิมที่พระองค์ท่านพระราชทานแก่พระยาอนิรุทธเทวา เป็นการส่วนพระองค์ เขียนด้วยลายพระหัตถ์ว่า .. ให้ฟื้น เป็นเครื่องหมายแห่งความรักของพ่อ .. ปี พ.ศ.2463 พร้อมลงลายพระหัตถ์ไว้
ชั้นที่สอง : ตรงกลางเป็นโถง ด้านในวางโซฟา ความพิเศษของโถงนี้อยู่ที่แผงกระจกสี ซึ่งเป็นของดั้งเดิมของบ้านมากว่าร้อนยี่สิบปี มีแค่ส่วนกระจกใสที่ได้รับการซ่อมแซมใหม่
คันฉ่อง .. เป็นของเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ซึ่งมีสัญลักษณ์ของท่านปรากฏอยู่ขนาบด้านข้างทั้ง 2 ด้าน
ผู้เขียนชอบบานประตูส่วนบนสุด ซึ่งจะเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ฉลุ
ลวดลายสวยงามมาก .. ราจะไปชมความสวยงามมหัศจรรย์ของแต่ละห้องกันต่อคะ
ห้องสีชมพู : บูรณะให้เป็นเกียรติและเป็นที่ระลึกแด่ ท่านเจ้าคุณอนิรุทรเทวา เนื่องจากท่านแสดงเป็นพระลักษณ์ ในการแสดงละครนอกละครในถวายรัชกาลที่ 6 ซึ่งสีตัวแทนของพระลักษณ์ คือสีชมพู อีกทั้งท่านยังเกิดวันอังคารอีกด้วย
.. เราจึงจะเห็นเครื่องเรือน ของใช้ที่นี่เป็นสีชมพูเป็นส่วนใหญ่
... เครื่องใช้และเครื่องแก้วส่วนใหญ่ จะมีรูปประจำตระกูลอนิรุทธเทวาสลักหรือพิม์ติดอยู่ คือภาพเทวดาถือกระโถน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6
ด้านหนึ่งของผนังห้อง ตรงกลางประดับด้วยรูปของพระนมทัด มารดาของพระยาอนิรุทธเทวา และเป็นพระนมของรัชกาลที่ 6 ด้วย
… จึงกล่าวได้ว่า ตระกูลอนิรุทธเทวา ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยจากรัชกาลที่ 6 มาก
เฉลียงด้านหลัง : เป็น Hall way โถงหลังคาสูงด้านนอกตัวอาคาร ปัจจุบันมีประตูหน้าต่างกระจกใส ทำให้มีลมเย็นๆพัดผ่านเข้ามาในยามที่เปิดหน้าต่าง
หากยืนอยู่ในบริเวณนี้ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ด้านนอกที่สวยมากของสะพานพระราม 8 .. ว่ากันว่าท่านเจ้าของบ้านปัจจุบัน จะจัดวางซิการ์และบรั่นดีถวายพระองค์ท่านเจ้าของบ้านดั้งเดิมทุกวันด้วย
พื้นที่ส่วนนี้มีเสาประดับแบบกรีก ที่ด้านบนชมวดม้วนเป็นก้นหอย ที่เรยกกันว่า เสาแบบไอโอนิก ..
มองออกไปจากเฉลียงจะเห็นบันได ศิลปะอิตาเลียนสวยงาม เพิ่มความงามสง่าให้กับอาคาร
ห้องพักแขกแปดเหลี่ยม : อดีตเป็นบรรทมใหญ่ ปัจจุบันเป็นห้องสำหรับแขกที่สามารถมองเห็นวิวของสะพานพระราม 8
.. และที่พิเศษเป็นไฮไลท์ของห้องนี้ คือสามารถมองเห็นส่วนหนึ่งของพระตำหนักหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร อันเป็นสถานเจริญพระชันษาของ หม่อมเจ้า สิริกิต์ กิติยากร และปัจจุบันเป็นทีประทับของราชสกุลกิติยากร
ทางเดินเชื่อมระหว่างห้อง .. ประดับด้วยไม้แกะสลักม้าสำหรับเด็ก เข้าใจว่า ท่านเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน เป็นเทรนเนอร์การขี่ม้าด้วย
ห้องพักสำหรับแขก : อีกห้องหนึ่ง
ห้องสีเหลือง : หรือห้องบรรทมใหญ่ การเลือกลงสีเหลือง ก็เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่ เสด็จในกรม ซึ่งมีฉายาว่า 7 จ. ดังกล่าวมาแล้ว .. หนึ่งในนั้นคือ พระองค์ท่านเกิดวันจันทร์
ห้องสีเขียว : ในอดีตเรียกว่า ห้องทรงพระสำราญ ซึ่งเสด็จในกรมใช้เลี้ยงรับรองแขกในโอกาสต่างๆ ปัจจุบันเป็นห้องสำหรับจัดเลี้ยง
การเลือกสีเขียวของห้องนี้มีที่มา คือ พระยาอนิรุทธเทวา มีพี่ชายคนโต คือ เจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งแสดงเป็นพระราม มีกายสีเขียว ในละครนอกละครในถวายรัชกาลที่ 6 .. การใช้สีเขียวจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นให้เกียรติ และการระลึกถึงเจ้าพระยารามราฆพ
ห้องนี้สวยงามด้วย ไฟแชนดาเลียประดับกลางห้อง มีโต๊ะยาวขนาดใหญ่ ซึ่งว่ากันว่า โต๊ะเครื่องเรือนตัวนี้ไม่ได้ใช้ตะปูในการประกอบเลย หากแต่ใช้วิธีการลงสลักอย่างเดียวแทน
เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร .. จัดแสดงด้วยเครื่องถ้วยชาม ถ้วยกาแฟ ชอน ช่อม มีด ที่เคยใช้ในบ้านแห่งนี้จริงๆในอดีต
ซึ่งแต่ละชิ้นจะมีสัญลักษณ์เทวดาถือกะโถน อันเป็นตราประจำตระกูลอนิรุทธเทวา .. ทราบมาว่าจานที่เราเห็นเป็นการสั่งทำเฉพาะมาจากประเทศอังกฤษ
Deva Manor .. จึงเป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบสำหรับทุกคนที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมสวยๆ สง่างาม ทรงคุณค่าจากอดีต ที่ควรจะหาโอกาสจะมาเยือนสถานที่แห่งนี้สักครั้ง
โฆษณา