13 พ.ค. 2022 เวลา 09:01 • ประวัติศาสตร์
[ตอนที่ 65] ถอดเนื้อหาการบรรยาย “วัฒนธรรมโปรตุเกส ผ่านพิพิธภัณฑ์กุฎีจีน”
เนื้อหาในบล็อกตอนนี้ จะเป็นเนื้อหาที่ “หนุ่มมาเก๊า” ถอดมาจากการบรรยาย “วัฒนธรรมโปรตุเกส ผ่านพิพิธภัณฑ์กุฎีจีน” ของสาขาวิชาภาษาโปรตุเกส ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ.2022 ที่ผ่านมาครับ
โบสถ์ซางตาครูส โบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่เป็นศูนย์กลางชุมชนคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่ย่านกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี [ภาพถ่ายโดย “หนุ่มมาเก๊า”]
สำหรับเนื้อหาที่ถอดจากการบรรยาย ผมจะแยกเนื้อหาที่ผมออกเป็นประเด็นหลัก ๆ ดังนี้ครับ
1) แนะนำชุมชนกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี (บริเวณใกล้เชิงสะพานพุทธฯ)
2) กว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน : แรงบันดาลใจในการก่อตั้ง การหาข้อมูล เรื่องราวและข้าวของที่นำเสนอ
3) หลังก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน : ผลกระทบต่อชุมชน การท่องเที่ยว และความสนใจต่อวัฒนธรรมโปรตุเกส
4) อนาคตของพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน
5) พิพิธภัณฑ์ในชุมชนคนเชื้อสายโปรตุเกสแถบโบสถ์คอนเซ็ปชัญ สามเสน
6) อาหารของชุมชนคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสในบางกอก : อิทธิพลจากโปรตุเกสและอาหารตามเทศกาล
7) ธรรมเนียมประเพณีในวันสำคัญทางศาสนาของชุมชนคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสในบางกอก เทียบกับที่โปรตุเกส
8) วัฒนธรรมด้านอาหารของคนโปรตุเกส
9) ตัวอย่างชุมชนคนเชื้อสายโปรตุเกสตามท้องถิ่นอื่นในภูมิภาคเอเชีย
เนื้อหาในตอนนี้จึงเหมาะกับคนที่สนใจเรื่องของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับชาติตะวันตกอย่างโปรตุเกส วัฒนธรรมโปรตุเกส และการท่องเที่ยวแบบเยี่ยมชมชุมชน
หากพร้อมแล้ว…เชิญอ่านได้เลยครับ
1) แนะนำชุมชนกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี (บริเวณใกล้เชิงสะพานพุทธฯ)
 
- ชุมชนกุฎีจีนที่มีโบสถ์ซางตาครูซเป็นหนึ่งในชุมชนคนเชื้อสายโปรตุเกสในบางกอก ซึ่งชุมชนคนเชื้อสายโปรตุเกสเหล่านี้มักมีโบสถ์คริสต์นิกายคาทอลิกเป็นศูนย์กลาง ร่วมกับบ้านโปรตุเกสสามเสน (ชุมชนคอนเซ็ปชัญ) มีโบสถ์คอนเซ็ปชัญเป็นศูนย์กลาง และชุมชนตลาดน้อยที่มีโบสถ์กาลหว่าร์เป็นศูนย์กลาง อยู่แถวบางรักและใกล้สถานทูตโปรตุเกส
แผนที่บริเวณตัวเมืองธนบุรีเดิม (จากปากคลองบางกอกน้อยลงใต้ไล่ไปถึงปากคลองบางกอกใหญ่) และเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ปักหมุดแสดงตำแหน่งโบสถ์ซางตาครูส [ที่มาของแผนที่ : Google Map]
- โบสถ์ซางตาครูซในชุมชนกุฎีจีน เป็นศูนย์กลาง แหล่งรวมตัวและจัดกิจกรรมตามเทศกาลของคนเชื้อสายโปรตุเกสในชุมชน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1768 (สมัยกรุงธนบุรี) และยังมีโรงเรียนสำหรับชุมชนตั้งอยู่บริเวณโบสถ์ (ทำนองเดียวกับโรงเรียนวัด)
 
- รูปไก่ที่เป็นสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน มาจากรูปไก่สัญลักษณ์ของประเทศโปรตุเกส ตามตำนาน “ไก่แห่งเมืองเบอร์เซลุช” ของประเทศนี้
**สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำนาน “ไก่แห่งเมืองเบอร์เซลุช” ของโปรตุเกส ได้ในบล็อก “หนุ่มมาเก๊า” เช่นเดียวกันที่ https://www.blockdit.com/posts/61bed80d75d9d30caa3acdb1
- งานศิลปะที่เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของโปรตุเกสอีกอย่างที่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือ “กระเบื้องเออซูเลฌุ” (Azulejo) กระเบื้องพื้นสีขาววาดลายสีฟ้า ที่วาดรูปเรือซึ่งเชื่อมโยงถึงประวัติศาสตร์การออกเรือสำรวจโลกของโปรตุเกส
“กระเบื้องเออซูเลฌู” (Azulejo) กระเบื้องพื้นสีขาววาดลายสีฟ้า ที่วาดรูปเรือซึ่งเชื่อมโยงถึงประวัติศาสตร์การออกเรือสำรวจโลกของโปรตุเกส ประดับอยู่ตรงด้านบนทางเข้าพิพิธภัณฑ์ [ภาพถ่ายโดย “หนุ่มมาเก๊า”]
- ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีนมี 3 ชั้น แบ่งออกเป็นร้านอาหาร-กาแฟ (ชั้น 1) พื้นที่จัดแสดงเรื่องประวัติความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-โปรตุเกส กับคนไทยเชื้อสายโปรตุเกส (ชั้น 2) และห้องจำลองวิถีชีวิตคนผ่านข้าวของเครื่องใช้ กับพื้นที่เปิดเพื่อชมบรรยากาศบ้านเรือนของชุมชนกุฎีจีน (ชั้น 3)
บริเวณร้านอาหาร-กาแฟชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์ [Credit ภาพ : FB Page “Baan Kudichin Museum”]
นิทรรศการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส ที่ชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์ [Credit ภาพ : FB Page “Baan Kudichin Museum”]
ห้องจำลองวิถีชีวิตคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสสมัยก่อนผ่านข้าวของเครื่องใช้ ที่ชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์ [Credit ภาพ : FB Page “Baan Kudichin Museum”]
ทิวทัศน์บริเวณชุมชนกุฎีจีนจากชั้นบนสุดของพิพิธภัณฑ์ [ภาพถ่ายโดย “หนุ่มมาเก๊า”]
- “ขนมฝรั่งกุฎีจีน” หรือ “ขนมฝรั่ง” เป็นของฝากที่มีชื่อเสียงของชุมชนคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสแห่งนี้ เป็นขนมที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกส เช่นเดียวกับขนมเฉพาะตัวจากคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสอย่างอื่น เช่น ขนมก๊วยตั๊ด ขนมกุสลัง และขนมหน้านวล
ขนมฝรั่งกุฎีจีน [ภาพถ่ายโดย “หนุ่มมาเก๊า”]
- อาหารตามแบบชุมชนคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสแห่งนี้ ได้แก่ เนื้อซัลโม ต้มมะฝ่า และขนมจีนไก่คั่ว
- ตัวอย่างพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในโบสถ์ซางตาครูซ ได้แก่ “พิธีถอดพระ” พิธีสำคัญของชุมชนที่ถอดรูปพระเยซูลงมาห่มด้วยผืนถักจากดอกรัก
ผ้าห่มสำหรับรูปพระเยซูที่ถักจากดอกรักของโบสถ์คาทอลิกในชุมชนกุฎีจีน [Credit ภาพ : FB Page “Baan Kudichin Museum”]
- สำหรับคนในชุมชนกุฎีจีนที่มีหลักฐานสืบย้อนว่ามีบรรพบุรุษเป็นคนโปรตุเกสอย่างแน่ชัด มีประมาณ 17 ครอบครัว แต่นามสกุลที่ใช้ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเป็นแบบไทยหมดแล้ว และคนเชื้อสายโปรตุเกสในชุมชมรุ่นปัจจุบัน จะเป็นรุ่นที่ 5-6 นอกจากนี้ ยังมีการประสมกับคนเชื้อสายจีนและไทย
2) กว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน : แรงบันดาลใจในการก่อตั้ง การหาข้อมูล เรื่องราวและข้าวของที่นำเสนอ
- 2.1 แรงบันดาลของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีนเป็นอย่างไร?
มีคนในชุมชนที่ชอบของโบราณอยู่แล้ว ขณะที่ชุมชนกุฎีจีนก็มีอาจารย์ วิทยากร หรือนักวิจัยลงพื้นที่ทำวิจัยด้านมนุษยศาสตร์อยู่ และช่วงหลังเริ่มมีการท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตชุมชน และคนในชุมชนเห็นว่าอาจารย์เหล่านี้รู้เรื่องเกี่ยวกับชุมชนในเชิงวิชาการมากกว่าคนในชุมชนเอง
คนในชุมชนจึงร่วมกับองค์กรภายนอก (เช่น ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) และสถานทูตโปรตุเกส) ผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมและจัดแสดงเรื่องราวของชุมชนคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้กลับไป
ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน [Credit ภาพ : FB Page “Baan Kudichin Museum”]
- 2.2 ทางพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีนมีวิธีการหาข้อมูลและเลือกเรื่องราวนำเสนอ (โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมโปรตุเกส) อย่างไร?
ทางพิพิธภัณฑ์หาข้อมูลตามตำรา ปรึกษาผู้รู้ ส่วนของที่จัดแสดงจะเลือกจากข้าวของเครื่องใช้เก่า ๆ ของคนในชุมชนรุ่นก่อนหน้าที่มีอยู่แล้ว โดยจัดให้สอดคล้องตามลำดับเนื้อหาในการจัดแสดง รวมถึงการดูแนวทางตัวอย่างจากพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ ทั้งในต่างจังหวัดและบางกอก เช่น พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนังราชวรวิหาร เขตจอมทอง ฝั่งธนบุรี
- 2.3 ข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีนชิ้นใด ที่มีคุณค่าทางจิตใจต่อเจ้าของพิพิธภัณฑ์มากที่สุด?
ผ้าคลุมไหล่สีดำของคุณยายของเจ้าของพิพิธภัณฑ์ใส่เวลาไปโบสถ์ สีดำดูสวยและดูเป็นบรรยากาศที่ให้เกียรติกัน แต่ตอนหลังพบว่าเป็นธรรมเนียมจากชาวตะวันตก
ผ้าคลุมแบบที่สตรีคริสตศาสนิกชนนิกายคาทอลิกส่วนเวลาเข้าโบสถ์ [Credit ภาพ : Pray Tell]
วัฒนธรรมของคนในชุมชนกุฎีจีนจะผสมปนเประหว่างวัฒนธรรมจีน (อย่างคุณยายของเจ้าของพิพิธภัณฑ์ที่แต่งงานกับคนจีนในชุมชน) วัฒนธรรมไทย กับวัฒนธรรมโปรตุเกสไปด้วย อย่างผ้าคลุมไหล่สีดำที่ใช้สวมตอนเข้าโบสถ์จะใช้ผ้าแพรปังลิ้นของจีน และมีการอบร่ำอบเครื่องหอม-จับจีบเหมือนผ้าสไบของไทย
เจ้าของพิพิธภัณฑ์จึงรู้สึกว่าผ้าคลุมไหล่ผืนดังกล่าวเป็นการผสมผสาน 3 วัฒนธรรมที่เห็นมาตั้งแต่ยังเด็ก นำเสนอทั้งเรื่องราวทางครอบครัวและวัฒนธรรม
3) หลังก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน : ผลกระทบต่อชุมชน การท่องเที่ยว และความสนใจต่อวัฒนธรรมโปรตุเกส
- 3.1 หลังก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงในชุมชนกุฎีจีนไหม?
มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมในแบบการท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น ทั้งจากนักท่องเที่ยวคนไทยที่มาก่อนหน้าหรือนักศึกษาที่มาทำงานศึกษาต่าง ๆ ในชุมชน แล้วแนะนำบอกต่อกันหรือลงผ่านสื่อโซเชียลออนไลน์ การเข้ามาของนักท่องเที่ยวในชุมชนนั้นไม่ค่อยรบกวนวิถีชีวิตในชุมชนเท่าไหร่นัก แต่เรื่องการรองรับนักท่องเที่ยวเข้ามาต้องมีการสื่อสารเพื่อประสานความร่วมมือกันระหว่างชุมชน-โบสถ์-โรงเรียน
คนในชุมชนเลยพยายามประดับตกแต่งหน้าบ้านให้สวย ดูมีชีวิตชีวา และมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น ซึ่งคนในชุมชนนิยมตกแต่งประตูบ้านมาตั้งแต่สมัยก่อนอยู่แล้ว จึงตกแต่งด้วยรูปกันสิ่งชั่วร้าย อย่างรูปแม่พระบ้างหรือรูปเทวดามิคาเอล นอกจากนี้ ทาง กทม. และนักการเมืองท้องถิ่นก็มาดูแลมากขึ้น
บรรยากาศในชุมชนจากหน้าพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน [Credit ภาพ : FB Page “Baan Kudichin Museum”]
นอกจากนี้ ปกติแล้วคนในชุมชนกุฎีจีนก็มีทั้งที่ทำงานราชการ งานเอกชน หรืองานส่วนตัว (อย่างการค้าขาย) พอมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็มีรายได้เพิ่มขึ้น คนรุ่นใหม่ในชุมชนส่วนหนึ่งจึงทำกิจการร้านค้าที่บ้านเอง
- 3.2 นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมชุมชนกุฎีจีนเป็นกลุ่มใดบ้าง?
ก่อนหน้านี้ นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมชุมชนจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวขี่จักรยานหรือสกูตเตอร์ที่พาคนต่างชาติมา สายทัวร์เดิน แต่ตอนหลังด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวน้อยลง และเมื่อทำสถิติแล้ว นักท่องเที่ยวคนต่างชาติที่มาเยี่ยมชมมากที่สุดกลับเป็นคนฝรั่งเศสหรือจากกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาสเปน แต่ก็มีนักท่องเที่ยวคนโปรตุเกสไปมากขึ้นภายหลัง
ประเด็นที่นักท่องเที่ยวคนฝรั่งเศสหรือจากกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาสเปน (เช่น สเปน เม็กซิโก) นิยมเยี่ยมชมชุมชนกุฎีจีน มีผู้เข้าฟังการเสวนาและวิทยากรให้ความเห็นว่ามีหลายสาเหตุ เช่น...
- อาจเพราะมีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงระหว่างตะวันออกกับตะวันตก (อย่างการเข้ามาของบาทหลวงคนฝรั่งเศสกับโปรตุเกสในสยามสมัยก่อน)
- เคยมีกรณีคนฝรั่งเศสที่สนใจเพราะอยากเข้าถึงวัฒนธรรมในระดับชุมชนเล็ก ๆ หรือไม่ได้พบเห็นทั่วไป ซึ่งชุมชนกุฎีจีนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม (ไทย-จีน-โปรตุเกส) และศาสนา
- สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยลงข้อมูลสำหรับหนังสือหรือเอกสารนำเที่ยวบางกอกแก่นักท่องเที่ยวคนฝรั่งเศส
นักท่องเที่ยวโปรตุเกสบางคนก็ชอบในแง่มีร่องรอยของประเทศตนในดินแดนห่างไกล อย่างสวนเล็ก ๆ หลังอาคารพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน สอดคล้องกับบ้านคนโปรตุเกสตามต่างจังหวัดที่เอาสวนไว้หลังบ้านเพื่อความเป็นส่วนตัว สำหรับนั่งเล่นหรือจัดงานสังสรรค์
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เริ่มมีนักท่องเที่ยวคนโปรตุเกสเข้ามาเยี่ยมชมกุฎีจีน ก็มีหลายสาเหตุเช่นกัน ได้แก่...
- สื่อโปรตุเกส (ทั้งจากโปรตุเกสและมาเก๊า) เขียนแนะนำชุมชนกุฎีจีนในเอกสารนำเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวคนโปรตุเกส
- ทางสถานทูตโปรตุเกสในบางกอกให้ข้อมูลแนะนำมา
- นักเขียนร่วมสมัยคนโปรตุเกสที่หลงใหลในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนกุฎีจีนและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นลงหนังสือ
หน้าปกบทความเรื่อง “Kudeejeen, Uma Comunidade Portuguesa em Bangkok” (ภาษาโปรตุเกส : กุฎีจีน - ชุมชนโปรตุเกสในบางกอก) บนบล็อก Eduardo & Mônica [https://www.eduardo-monica.com/new-blog/kudeejeen-comunidade-portuguesa-bangkok-roteiro]
3.3 การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน มีส่วนช่วยให้คนสนใจวัฒนธรรมโปรตุเกสมากขึ้นไหม?
ก็มีส่วนทำให้คนไทยสนใจวัฒนธรรมโปรตุเกสมากขึ้น ขณะที่คนเยี่ยมชมชาวต่างชาติจะเป็นแง่มุมประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับโปรตุเกสที่มีมานานเกิน 500 ปี
4) อนาคตของพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน
- 4.1 ทางพิพิธภัณฑ์มีแผนที่จะขยายพิพิธภัณฑ์ หรือจัดกิจกรรมอะไรในอนาคตหรือไม่?
ทางเจ้าของพิพิธภัณฑ์เองก็อยากขยาย ซึ่งตอนแรกคิดว่าตัวอาคารคงมีพื้นที่เหลือเฟือกับข้าวของที่จัดแสดง แต่พอทำนิทรรศการจัดแสดงจริง พบว่ามีพื้นที่ไม่พอ ยังมีข้าวของที่รอจัดแสดงอีก แต่ก็พยายามทำรายละเอียดเนื้อหาจัดแสดงให้เพิ่มขึ้น เช่น เรื่องยาในสมัยก่อน เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของชุมชน
เนื้อหาที่ทางพิพิธภัณฑ์อยากทำ คือ เรื่อง “ชุมชนคนเชื้อสายโปรตุเกสในภูมิภาคเอเชีย” เพื่อให้เห็นภาพว่าชุมชนคนเชื้อสายโปรตุเกสในแต่ละท้องถิ่นมีวัฒนธรรม อาหาร ภาษา วิถีชีวิต เหมือนทางฝั่งโปรตุเกสหรือแตกต่างออกไปอย่างไร แต่จากแนวโน้มแล้ว ขอเน้นเนื้อหาจัดแสดงในปัจจุบันก่อน
5) พิพิธภัณฑ์ในชุมชนคนเชื้อสายโปรตุเกสแถบโบสถ์คอนเซ็ปชัญ สามเสน
โบสถ์คอนเซ็ปชัญ สามเสน [Credit ภาพ : FB Page “340 ปีคอนเซ็ปชัญ หมู่บ้านหลากวัฒนธรรมหนึ่งศรัทธา”]
ที่หลังโบสถ์คอนเซ็ปชัญ จะมีอาคารโบสถ์เก่าหลังเล็กที่คนในชุมชนเรียกว่า “วัดน้อย” ที่ปฏิสังขรณ์ในปี ค.ศ.2011 (ในโอกาสครบรอบครบรอบ 500 ปี ความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส) ปัจจุบันเป็น “พิพิธภัณฑ์วัดแม่พระฯ” เปิดให้ชมเฉพาะกรณีมีการนัดหมายกับทางโบสถ์ (ติดต่อผ่านประธานสภาภิบาลของโบสถ์) หรือในงานฉลองโบสถ์ ซึ่งทางโบสถ์ยังไม่มีนโยบายเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโดยเฉพาะ
อาคารวัดน้อย หลังโบสถ์คอนเซ็ปชัญ สามเสน [Credit ภาพ : FB Page “340 ปีคอนเซ็ปชัญ หมู่บ้านหลากวัฒนธรรมหนึ่งศรัทธา”]
ข้างในจัดแสดงข้างของที่ใช้ในโบสถ์ เช่น รูปแม่พระทำจากไม้ สิ่งของประกอบพิธีมิสซา แผ่นไม้จากโลงศพสำหรับบรรจุศพบาทหลวงซึ่งเคยฝังอยู่ใต้โบสถ์คอนเซ็ปชัญ โลงศพเก่าแบบเขมร เสื้อผ้าเก่าของบาทหลวง
คนในชุมชนเริ่มเห็นด้วยที่จะรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ชุมชน เนื่องจากใกล้การครบรอบ 350 ปีวัดคอนเซ็ปชัญ ในปี ค.ศ.2024 ทางสภาโบสถ์กำลังระดมความคิดว่าจะทำอะไรในงานเฉลิมฉลอง
6) อาหารของชุมชนคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสในบางกอก : อิทธิพลจากโปรตุเกสและอาหารตามเทศกาล
- 6.1 นอกจากขนมฝรั่งกุฎีจีนแล้ว อยากให้เพิ่มเติมถึงอาหารในชุมชนกุฎีจีนอย่างอื่นที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกส และคนในชุมชนมองว่าเมนูดังกล่าวเป็นอาหารไทยหรืออาหารโปรตุเกส?
สำหรับขนมแล้ว ชุมชนกุฎีจีนเคยมีโรงทำขนมไทยที่ได้รับมาจากโปรตุเกสแบบครบชุด (อย่างทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง หม้อแกง ลูกชุบ) แต่รุ่นหลานไม่ได้ทำโรงทำขนมต่อ อีกทั้งขนมไทยที่ได้รับจากโปรตุเกสแบบอื่นพวกนี้ก็มีการทำขายกันจากที่อื่นอยู่แล้ว แต่ขนมในแบบเฉพาะของชุมชน (ขนมฝรั่งกุฎีจีน ขนมหน้านวล ขนมก๊วยตั๊ด) และขนมที่ทำเฉพาะช่วงเทศกาล (ขนมกุสรัง จะทำช่วงคริสต์มาส-ปีใหม่) ยังคงทำอยู่
นอกจากนี้ ขนมก๊วยตั๊ดในชุมชนกุฎีจีนยังมีความคล้ายคลึงกับขนมในชุมชนคนเชื้อสายโปรตุเกสที่เมืองมะละกาในมาเลเซีย (ซึ่งเมืองมะละกาเคยเป็นอาณานิคมโปรตุเกสในอดีต) จึงอาจมาจากคนโปรตุเกสฝั่งมะละกา
สำหรับอาหารคาวพวกกับข้าวนั้น ตอนแรกคนในชุมชนไม่ได้ทำขายจริงจังเท่าขนม เพราะเก็บได้ยากกว่า แต่ตอนหลัง เมื่อการท่องเที่ยวชมวีถีชีวิตชุมชนเริ่มเป็นที่นิยมขึ้น ถึงมีนักท่องเที่ยวถามถึงและรู้จักพวกกับข้าวเหล่านี้มากขึ้น
ขนมก๊วยตั๊ดของชุมชนกุฎีจีน (ฝั่งขวา) ที่คล้ายคลึงกับขนมในชุมชนคนเชื้อสายโปรตุเกสที่เมืองมะละกาในมาเลเซีย (ฝั่งซ้าย) [Credit ภาพ : FB Page “Baan Kudichin Museum”]
“ต้มมะฝ่า” ชื่อเมนูนี้มาจากคำ “ต้ม” ในภาษาไทยและ “มะฝ่า” มาจากคำ abafado ซึ่งเป็นรูป Past participle ของกริยา abafar ในภาษาโปรตุเกส หมายถึงการต้มใช้ใช้น้ำน้อยและใช้ไฟอ่อน เรียงลำดับผักในภาชนะต้ม ให้น้ำคั้นที่ออกมาจับกับผักเอง
ตอนทำเมนูนี้จะเป็นการเรียงอาหารจากพวกที่สุกยาก แล้วเอาพวกที่สุกเร็วไว้ด้านบน แล้วเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ ให้น้ำคั้นจากผักจากเนื้อออกมา แล้วใส่เครื่องเทศ (อย่างขมิ้น) ใช้วัตถุดิบเหมือนต้มจับฉ่ายในอาหารจีนแต่รสชาติต่างกัน เมนูต้มมะฝ่าใช้เวลาทำนาน จึงเป็นอาหารแนว “ทำวันนี้ ได้ทานพรุ่งนี้”
อาหารจำลองของเมนู “ต้มมะฝ่า” ในพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน [ภาพถ่ายโดย “หนุ่มมาเก๊า”]
“สตูลิ้นวัว” นอกจากจะมีในชุมชนคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่กุฎีจีน พบที่มาเก๊าเช่นกัน
อาหารจำลองของเมนู “สตูลิ้นวัว” ในพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน [ภาพถ่ายโดย “หนุ่มมาเก๊า”]
“เนื้อซัลโม” ที่ต้องใช้เนื้อวัวอย่างเดียว (คนในชุมชนเคยลองใช้เนื้อหมูแต่ไม่อร่อย)
“เนื้อซัลโม” จากร้านอาหารบ้านสกุลทองในชุมชนกุฎีจีน [Credit ภาพ : FB Page “อาหารบ้านสกุลทอง - กุฎีจีน”]
“ต้มเค็มโปรตุเกส” ถือเป็นอาหารพื้นถิ่นของชุมชนกุฎีจีน มีลักษณะของอาหารจีนปนเข้ามา โดยปรุงรสด้วยซีอิ๊วเล็กน้อย ใส่รากผักชี กระเทียม พริกไทย และใส่วัตถุดิบตามแบบอาหารโปรตุเกส คือ มะเขือเทศกับมันฝรั่ง
อาหารจำลองของเมนู “ต้มเค็มโปรตุเกส” ในพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน [ภาพถ่ายโดย “หนุ่มมาเก๊า”]
“ขนมจีนแกงไก่คั่ว” เป็นอาหารพื้นถิ่นของชุมชนกุฎีจีน แต่ไม่ใชอาหารโปรตุเกส ซึ่งชุมชนกุฎีจีนรับมาจากอาหารกัมพูชา (อาจเป็น “นุมบัญจก” (Num banhchok) ขนมจีนแบบที่มีในกัมพูชา) ผ่านชุมชนคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่วัดคอนเซ็ปชัญ สามเสน ซึ่งมีชุมชนบ้านเขมรอยู่แถวนั้น บางทีปรุงรสให้เผ็ดขึ้นด้วยพริกเหลืองตำที่ผัดกับกะทิ
อาหารจำลองของเมนู “ขนมจีนแกงไก่คั่ว” ในพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน [ภาพถ่ายโดย “หนุ่มมาเก๊า”]
“สัพแหยก” ซึ่งผู้มาเยือนชุมชนที่เป็นคนสเปนบอกว่าคล้ายกับอาหารสเปนมาก ซึ่งโปรตุเกสกับสเปนก็เป็นดินแดนเพื่อนบ้านกัน วิทยากรจึงไม่ทราบว่าเมนูนี้มาจากส่วนใดของโปรตุเกส เมนูนี้เป็นเมนูที่ไว้โปะลงบนขนมปัง แต่ก็เป็นไปได้ว่าเมนูนี้ทางโปรตุเกสอาจรับมาจากอาหารอินเดีย ตรงที่มีการใช้เครื่องเทศผสม
อาหารจำลองของเมนู “สัพแหยก” ในพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน [ภาพถ่ายโดย “หนุ่มมาเก๊า”]
“หมูอบมันฝรั่ง” ซึ่งมีการฉีกเนื้อหอยผัดลงกับมันหมูกรอบ (แต่เดิมเป็นเนื้อวัว) รสชาติเข้ากับข้าวเหนียว ที่บราซิลก็มีเมนูแบบเดียวกันแต่ยังคงทำด้วยเนื้อวัว
อาหารจำลองของเมนู “หมูอบมันฝรั่ง” ในพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน [ภาพถ่ายโดย “หนุ่มมาเก๊า”]
อาหารพวกต้มมะฝ่า-สตู จะกินเป็นกับข้าวคู่กับข้าวสวย เหมือนกับข้าวอื่นในอาหารไทย แต่มีเนื้อซัลโม-หมูอบมันฝรั่ง-สัพแหยกจะต้องกินกับขนมปัง (จะปิ้งขนมปังหรือไม่ก็ได้)
- 6.2 อาหารตามวันสำคัญหรือเทศกาลทางศาสนาคริสต์
ในชุมชนคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสสมัยก่อน (ทั้งกุฎีจีนและวัดคอนเซ็ปชัญ สามเสน) จะมีธรรมเนียมลดการกินอาหาร งดเนื้อสัตว์ใหญ่และสัตว์ปีกในช่วงวันพุธรับเถ้า (วันพุธของอาทิตย์แรกของเทศกาลมหาพรต เทศกาลที่ระลึกถึงพระทรมานและการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์) ไปจนถึงวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (วันระลึกถึงการตรึงพระเยซูบนไม้กางเขน) ซึ่งอยู่ก่อนช่วงวันอีสเตอร์
ดังนั้น ในช่วงนี้จึงมีเมนูที่ใช้เนื้อสัตว์น้ำอย่างแกงเหงาหงอด (แกงใส่เนื้อปลามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีที่มาจากซุปของโปรตุเกส) ยำทวาย ทอดมัน ขณะที่ทั้งสองชุมชนอยู่ติดแม่น้ำ อุดมไปด้วยปลาแขยงหรือปลาสังกะวาด ในช่วงแรกจึงใช้ปลาแบบนี้ทำแกงเหงาหงอด
ส่วนในช่วงหลัง เนื้อปลาที่ใช้ทำแกงเหงาหงอดจะเป็นเนื้อปลาที่ดีขึ้น อย่างปลากะพง และอาหารทะเลหายาก มีราคาแพงขึ้น เมนูแบบใช้เนื้อสัตว์น้ำที่กินช่วงวันพุธรับเถ้าถึงวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมเนียมสมัยก่อนจึงทำน้อยลง
แกงเหงาหงอด [Credit ภาพ : กรุงเทพธุรกิจ]
ยำทวาย [Credit ภาพ : ไทยรัฐ]
ส่วนในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ คนโปรตุเกสที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกก็จำกัดอาหารและงดทานเนื้อสัตว์ใหญ่เช่นกัน จึงทำอาหารจากพวกเนื้อสัตว์ทะเล (ปลา หรือหอยแมลงภู่) แทน พอถึงวันอาทิตย์ที่เป็นวันอีสเตอร์ก็จะกินอาหารเฉพาะเทศกาลอีสเตอร์พวกที่ทำจากเนื้อแกะ อย่างเนื้อแกะอบ
7) ธรรมเนียมประเพณีในวันสำคัญทางศาสนาของชุมชนคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสในบางกอก เทียบกับที่โปรตุเกส
- 7.1 ธรรมเนียมใน “วันอาทิตย์ใบลาน” (วันอาทิตย์ก่อนวันอีสเตอร์ เพื่อรำลึกถึงพระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเลมก่อนรับพระทรมาน) ของโบสถ์คริสต์คาทอลิกในชุมชนกุฎีจีนมีพิธีการเป็นอย่างไร? ของชุมชนวัดคอนเซ็ปชัญ สามเสนเป็นอย่างไร? เพื่อเปรียบเทียบกับธรรมเนียมทางฝั่งโปรตุเกส
--> ที่โบสถ์ซางตาครูซ ชุมชนกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี : ในวันอาทิตย์ใบลาน จะมีการเสกใบลานอยู่หน้าโบสถ์ ผู้คนจะรับใบลานมาแล้วแห่แหนเดินตามกางเขนเข้าโบสถ์ จากนั้นจะมีการเคาะประตูโบสถ์ให้เปิดพร้อมการสวด สื่อถึงการเปิดประตูเมืองรับพระเยซู แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้พิธีนี้ไม่ได้จัดกันใหญ่เท่าเมื่อก่อน
--> ที่โบสถ์คอนเซ็ปชัญ สามเสน : กล่าวถึงในวันอีสเตอร์ ที่คริสตศาสนิกชนเชื้อสายโปรตุเกสในชุมชนจะเข้าโบสถ์เพื่อเฉลิมฉลองการกลับฟื้นคืนชีพของพระเยซู เมื่อพิธีมิสซาเสร็จ คุณพ่อบาทหลวงจะแจกไข่อีสเตอร์ (สื่อถึงการเกิดใหม่) เป็นไข่ต้มให้คนนำไปทานรับประทานเพื่อรับพระพรจากที่โบสถ์ ส่วนตลาดนัดในชุมชน ในวันเสาร์อาทิตย์ช่วงนั้น จะมีบางบ้านจะทำมัสมั่นเนื้อหรือขนมฝรั่งมาขายด้วย
นอกจากนี้ ในทุกวันที่ 24 กันยายน จะมีการฉลองแม่พระไถ่ทาส ซึ่งเป็นรูปแม่พระที่นำมาจากกัมพูชาจากชาวเขมรที่ลี้ภัยเข้ามา และมีการทานขนมจีนไก่คั่ว เมนูอาหารคนเชื้อสายเขมรกันในชุมชนวัดคอนเซ็ปชัญ และการฉลองแม่พระปฏิสนธินิรมล จัดขึ้นทุกวันที่ 8 ธันวาคม มีลักษณะคล้ายกันคือ คริสต์ศาสนิกชนในชุมชนเข้าร่วมพิธีและไปทานอาหารร่วมกัน
ส่วนพิธีถอดพระ จะจัดในโรงเรียนแถบโบสถ์ จัดฉาก แสง สี เสียง ใช้คนจริงแสดงแทนรูปพระเยซูเพื่อจำลองภาพพระเยซูถูกตรึงไม้กางเขน
--> ที่โปรตุเกส :
ในวันอาทิตย์ใบลาน – เนื่องจากโปรตุเกสไม่มีใบปาล์มมาใช้ทำใบลาน ที่หน้าโบสถ์จะนำกิ่งมะกอกหรือกิ่งโรสแมรีแทนใบลาน ให้คนเข้าร่วมพิธีหยิบติดตัวเข้าไปในโบสถ์เพื่อที่จะเสกโดยพระสงฆ์คาทอลิกแล้วให้นำกลับบ้าน แล้วจะแขวนกิ่งมะกอกหรือโรสแมรีที่ผ่านการเสกแขวนตามประตูหรือหน้าต่างเพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคล
ขบวนแห่รูปพระเยซูในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ที่โปรตุเกส [Credit ภาพ : Portugal Realty]
ในวันอีสเตอร์ – โปรตุเกสก็มีไข่อีสเตอร์เหมือนกัน โดยพ่อทูนหัว-แม่ทูนหัวจะแจกไข่อีสเตอร์ให้ลูกทูนหัว ซึ่งไข่อีสเตอร์ในภาษาโปรตุเกสจะเรียกว่า “มิมุฌ” (mimos) เมื่อก่อนจะใช้ขนมปังที่มีไข่ต้มข้างใน แต่ตอนหลังเปลี่ยนเป็นอัลมอนด์เคลือบช็อกโกแลตหรือน้ำตาล
8) วัฒนธรรมด้านอาหารของคนโปรตุเกส
- 8.1 การกินเนื้อสัตว์ในวัฒนธรรมอาหารของคนโปรตุเกสกับคนเชื้อสายโปรตุเกสในเอเชีย
อาหารของชุมชนคนเชื้อสายโปรตุเกสในเอเชีย อย่าง กัวในอินเดีย มะละกาในมาเลเซีย บางกอก มาเก๊า ข้อจำกัดด้านอาหารทางศาสนาในท้องถิ่นโดยรอบจะส่งผล แม้ว่าคนเชื้อสายโปรตุเกสจะนับถือศาสนาคริสต์ก็ตาม
เช่น อาหารของชุมชนโปรตุเกสในกัวจะไม่มีเนื้อวัว ตามอินเดียที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู (อาหารของคนเชื้อสายโปรตุเกสในกัวยังใช้น้ำส้มสายชูปรุงรสตามคนอินเดียแทนที่เหล้าองุ่นด้วย) อาหารของชุมชนโปรตุเกสในมะละกาจะไม่มีเนื้อหมู ตามมาเลเซียที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
วัฒนธรรมการกินเนื้อหมูมีในโปรตุเกสอยู่แล้ว ชาวโปรตุเกสใช้ประโยชน์จากหมูทำอาหารแทบทุกส่วน ในโปรตุเกสมีภูมิภาคที่คนท้องถิ่นทานเนื้อหมูมากเป็นพิเศษ คือ ภูมิภาคเออเล็งเตฌุ (Alentejo) ทางตอนใต้ของประเทศ ที่ใช้ทั้งเลือด เนื้อ และมันหมู อย่างมันหมูใช้ประกอบการทำขนมหวานเพื่อเพิ่มความมันวาวให้เนื้อขนม หรือใช้เจียวเป็นน้ำมัน ส่วนการเอามันหมูมาแทรกในเนื้อก็เป็นเคล็ดลับหนึ่งในการทำอาหารของภูมิภาคเออเล็งเตฌุ
เมนู Carne de porco à alentejana (เนื้อหมูเคี่ยวกับเนื้อหอยในแบบภูมิภาคเออเล็งเตฌุ) [Credit ภาพ : Rui Ornelas]
9) ตัวอย่างชุมชนคนเชื้อสายโปรตุเกสตามท้องถิ่นอื่นในภูมิภาคเอเชีย
- 9.1 ชุมชนคนเชื้อสายโปรตุเกสในเมียนมา
ชุมชนคนเชื้อสายโปรตุเกสในเมียนมาจะมีประชากรในหลักไม่กี่พันคน (ใกล้เคียงกับประชากรคนไทยเชื้อสายโปรตุเกส) สืบเชื้อสายจากทหารรับจ้างคนโปรตุเกส ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 คนกลุ่มนี้เรียกว่า “บะยินจี” (Bayingyi / ဘရင်ဂျီ) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตซะไกง์ ทางเหนือของเมียนมา
โบสถ์คริสต์นิกายคาทอลิกศูนย์กลางชุมชนคนพม่าเชื้อสายโปรตุเกส ในเขตซะไกง์ [Credit ภาพ : Teza Hlaing / Frontier Myanmar]
- 9.2 คนเชื้อสายโปรตุเกสในสิงคโปร์
กลุ่มคนเชื้อสายโปรตุเกสในสิงคโปร์ จะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มชนยูเรเชียน (Eurasian) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบรรพบุรุษจากคนเอเชียและคนยุโรป ชาวยูเรเชียนเชื้อสายโปรตุเกสในสิงคโปร์จะมีวิธีการปรุงเนื้อแบบเดียวกับเนื้อซัลโมในชุมชนกุฎีจีน
จากเนื้อหาที่ผมถอดจากการบรรยาย “วัฒนธรรมโปรตุเกส ผ่านพิพิธภัณฑ์กุฎีจีน” ของสาขาวิชาภาษาโปรตุเกส ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของชุมชนคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสในบางกอก (โดยเฉพาะชุมชนกุฎีจีนและชุมชนวัดคอนเซ็ปชัญ สามเสน) พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน อาหารและธรรมเนียมในวันสำคัญทางศาสนาของคนไทยเชื้อสายโปรตุเกส ไปจนถึงประเด็นอื่น ๆ อย่างเกร็ดวัฒนธรรมทางอาหารของคนโปรตุเกส และคนเชื้อสายโปรตุเกสในชาติเอเชียแห่งอื่นครับ
ทาง “หนุ่มมาเก๊า” จะพยายามถอดหรือสรุปเนื้อหาจากการเสวนาวิชาการทางด้านภาษาและวัฒนธรรมในประเด็นอื่น ๆ ที่สนใจมาลงบล็อกแห่งนี้ หากใครสนใจหรือชอบการถอดหรือสรุปเนื้อหาการเสวนาเหล่านี้ สามารถกดติดตามบล็อกแห่งนี้บน
แล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไปครับ
โฆษณา