14 พ.ค. 2022 เวลา 03:20 • ข่าว
ทำไมพระภิกษุจะจับต้องตัวหญิง (มาตุคาม) ไม่ได้ ในเมื่อไม่มีจิตกำหนัด มีแต่เมตตา
พื้นที่สีเหลือง
แล้วแบบนี้แพทย์-พยาบาลสาว จะต้องตัวพระภิกษุเพื่อทำการรักษาพยาบาลได้หรือ?
คำถามนี้ เป็นข้อสงสัยของคนยุคนี้แน่นอน
ว่ากันตามธรรมชาติ หลักความเป็นจริง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีการวางแนวทางการพึงระวัง หรือการสำรวมระหว่างความเป็นภิกษุ กับมาตุคาม หรือผู้หญิงที่เป็นเพศหญิง โดยการเว้นระยะห่างกัน (โลกปัจจุบันต้องเน้นย้ำความชัดเจนเรื่องเพศสภาพด้วย)
ถึงขนาดกับมีการบัญญัติไว้ในพระวินัยปิฎกในเรื่อง “อาบัติจากการแตะต้องกาย หรือของเนื่องด้วยการสตรี (มหาวิภังค์)”
โดยมีการบัญญัติไว้ว่า “ภิกษุใดกำหนัดแล้ว จิตแปรปรวนแล้ว จึงเคล้าถึงด้วยกายกับมาตุคาม คือ จับมือก็ตาม จับช้องผมก็ตาม ลูบคำอวัยวะอันใดอันหนึ่งก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส”
คำว่า “มาตุคาม” คือ หญิงที่เป็นมนุษย์ ไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่ แม้เด็กหญิงแรกเกิดก็ถือเป็นหญิงในข้อความ
1
แต่หากหญิงนั้น เป็นหญิงยักษ์ หญิงเปรต สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ไม่ถือว่าเป็นหญิงในความหมายที่ต้องห้าม
กรณีตามข่าวที่เกิดขึ้นกับพระที่ต้องอาบัติไปถูกต้องเนื้อต้องตัวหญิงนั้น หากพิสูจน์ได้ว่าหญิงนั้นเป็นยักษ์ เปรต หรือสัตวดิรัจฉาน ก็ย่อมไม่อาบัติ
ว่าแต่ต้องพิสูจน์กันเลยว่า ว่าหญิงที่ปรากฏตามข่าวใช่หรือไม่ใช่หญิงก็ ทรวดทรงองเอวซะขนาดนั้น
คำว่า “เคล้าคลึงด้วยกาย” อย่าคิดว่าเป็นการเล้าโล้ม หรือการคลึงอวัยวะส่วนสำคัญ หรือจุดสำคัญในร่างกาย หากแต่การเคล้าคลึงอันเป็นความผิดในทางสงฆ์นั้น คือ ความประพฤติล่วงเกินด้วยมือตั้งแต่ข้อศอก ถึงปลายเล็บ
ขยายความลงไปอีก ถึงคำว่า “ลูบคลำ” ด้วยว่า คือ ถูก คลำ ลูบลง ลูบขึ้น ทับอุ้ม ฉุด ผลัก กด บีบ จับ ต้อง หากจับเฉย ๆ เรียกว่า “ต้อง” คือ เพียงต้องตัว
กรณีสงฆ์ต้องอาบัติ “สังฆาทิเสส” เป็นหน้าที่ของสงฆ์เท่านั้นที่จะต้องว่ากล่าวกันในเรื่องของปริวาสเพื่ออาบัติ ซึ่งกรณีของการอาบัติจากการแตะต้องกาย หรือของเนื่องด้วยกายของสตรีมีอาบัติสามอย่าง คือ สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย และอาบัติ ทุกกฎ
มีหลายคนตีความว่า หากไม่มีความกำหนด พระก็ย่อมถูกเนื้อต้องตัวหญิงได้ คำตอบ คือ การถูกต้องกายหญิงที่เป็นมารดา พี่สาว น้องสาว ไม่ถือเป็นอาบัติสังฆาทิเสส แต่เป็นอาบัติทุกกฎ ก็มีความหมายว่ายังเป็นข้อห้ามอยู่ดี
ในความเป็นข้อห้ามอันเกี่ยวกับอาบัติ ประเภท สังฆาทิเสสนั้น พระจะต้องกายสตรีด้วยกายของตนเอง หรือกายต่อเนื่องด้วยกาย ขอเนื่องด้วยกายต่อกาย ของเนื่องด้วยกายต่อเนื่องด้วยกาย ของที่โยนต่อกาย ของที่โยนต่อเนื่องด้วยกาย ของที่โยนต่อของที่โยน ส่วนจะอาบัติมาก อาบัติน้อยก็ว่ากันในรายละเอียด แต่ทั้งหมดเป็นข้อปฏิบัติที่ต้องการให้พระนั้นพึงสำรวม ทั้งกาย วาจา และใจ
คำว่า “อาบัติ” คือ โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ มี 7 อย่าง คือ
“ปาราชิก” คือ ผู้พ่ายแพ้ ขาดจากความเป็นภิกษุ
“สังฆาทิเสส” คือ ต้องอาศัยสงฆ์ในการออกจากอาบัติ
“ถุลลัจจัย” คือ อาบัติที่เกิดจากการกระทำที่หยาบคาย
“ปาจิตตีย์” คือ อาบัติที่ทำให้ความดีงามตกไป
“ปาฎีเทสนียะ” คือ อาบัติที่ต้องแสดงคืน
“ทุกกฎ” คือ อาบัติที่เกิดจากการกระทำที่ไม่ดีไม่เหมาะสม
“ทุพภาสิต” คือ อาบัติที่เกิดจากการทำที่ไม่ดีไม่เหมาะสม
คำว่า “อาบัติ” นั้น อาจแบ่งออกเป็นอาบัติอย่างหนัก กับอาบัติอย่างเบา
อาบัติอย่างหนัก คือ การขาดจากการเป็นพระ อย่างปาราชิก ซึ่งไม่ควรต้องลาสิกขาแล้ว เพราะความเป็นพระขาดไปตั้งแต่ละเมิดข้อปฏิบัติ
ส่วนอาบัติอย่างหนักอื่น ๆ เช่น สังฆาทิเสล เป็นอาบัติที่ยังสามารถแก้ไขได้ ซึ่งพระที่ต้องอาบัติต้องอยู่กรรม(ปริวาส หรือมานัต) โดยประพฤติวัตรอย่างหนักอย่างหนึ่ง เพื่อทรมานตน
อาบัตินอกจากนั้น เป็นอาบัติอย่างเบา ทำให้พระต้องประจานตนต่อหน้าพระด้วยกัน แล้วจึงพ้นโทษ
ในทางกลับกัน เมื่อพระมีข้อห้ามมากมายในการกระทำต่อตัวของหญิง งั้นให้หญิงเป็นฝ่ายกระทำต่อพระบ้าง เพราะพระไม่เกี่ยวข้อง ไม่ได้กำหนัด ไม่ได้มีเจตนาจะแตะเนื้องต้องตัวหญิงจะเป็นการผิดในข้อปฏิบัติหรือไม่
ไม่งั้นหมอ-พยาบาลที่เป็นหญิงก็จะทำการรักษาพยาบาลพระไม่ได้สิ เพราะต้องด้วยอาบัติ
ว่ากันตามพระวินัยบัญญัติ เมื่อพระอาพาธเจ็บป่วย อย่างแรกต้องรักษาตัวเอง อย่างที่สองต้องเป็นพระด้วยกัน
หากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งต้องสัมผัสและต้องกับสตรีที่เป็นแพทย์ หรือพยาบาล
ผู้ได้ชื่อว่าเป็นการประกอบวิชาชีพ มีจรรยาบรรณเป็นหลักยึด ทางบุคลากรแพทย์และพยาบาลเขาก็วางแนวทางในการปฏิบัติไว้แล้ว
ว่าแต่ว่าแล้วยังถือว่าละเมิดต่อข้อบัญญัติหรือไม่
คำตอบคือ ก็คงเป็นการละเมิดต่อข้อบัญญัติอยู่ดี เพียงแต่ว่าเป็นเรื่องของลหุโทษที่เรียกว่าทุกกฎเท่านั้น
ไม่ใช่ความผิดอันมีโทษสถานหนัก สามารถใช้กระบวนของของพระที่เรียกว่า “ปลงอาบัติ” คือ การแสดงความรับผิดต่อหมู่พระด้วยกันเองว่า ตนเองกระทำความผิดแล้ว และให้คำมั่นว่าต้องไปจะระมัดระวังไม่กระทำอีก
ส่วนแพทย์ หรือพยาบาลนั้น ทำตามหน้าที่ ไม่เป็นการกระทำที่เป็นกรรมชั่ว หรือทำบาปต่อพระแต่อย่างใด
ทีนี้มาขยายต่อถึงเรื่องปาราชิก คือ พระที่ละเมิดข้อบัญญัติร้ายราย และเป็นอาบัติอย่างหนัก ใน 4 เรื่อง
เรื่องแรก การเสพเมถุนหรือเสพสังวาส ไม่ว่ากับคน หรือสัตว์ กรณีนี้โทษสูงสุดแน่นอน
เรื่องที่สอง ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นเจ้าของ ไม่ว่าทรัพย์จากบ้าน หรือทรัพย์จากในป่า กรณีนี้ก็เป็นโทษขั้นปาราชิกจากการลักขโมย และถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นขอตน
เรื่องที่สาม การพรากกายมนุษย์ หรือแสดงหาศาตราอันจะนำไปสู่ความตายแก่ร่างกายมนุษย์
เรื่องที่สี่ กล่าวอวดอุตริมนุษยธรรม คือ โอ้อวดความสามารถของตัวเองจากสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ไม่ว่าในเรื่องของคุณวิเศษ หรือการบรรลุธรรมอย่างสูงที่เกินปกติมนุษย์ ทั้งในเรื่อง ฌานสมาบัติ มรรคผล สมาธิ ปัญญา โดยการอวดอ้างนั้น หากเป็นการอวดอ้างต่อพระด้วยกันถือเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส แต่ถ้าอวดอ้างต่อผู้ที่ไม่ใช่พระก็เบาบางลงมาหน่อยเป็นอาบัติปาจิตตีย์
ดังนั้น เรื่องราวที่เกิดขึ้นในวงการสงฆ์วันนี้ จึงเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นตรง ๆ ตรงตามข้อบัญญัติ และเป็นโทษในทางพระอย่างชัดเจนทั้ง ปาราชิก ปาจิตตีย์ หรือทุกกฎ กับเรื่องราวที่คนรอบข้าง หรือตัวเองกระทำแบบอ้อม ๆ ไม่ทำโดยตรง ปล่อยให้ลูกศิษย์ คนรอบข้างแสดงแทน ทั้งการอวดอ้างคุณวิเศษ หรือการยกย่องอวดอ้างการบรรลุธรรม
แล้วบุคคลเหล่านี้ก็ยกเอากฎแห่งกรรม ในเรื่องของการพูดใส่ร้ายป้ายสีพระว่าตกนรกอเวจีมาเป็นข้ออ้างในการปิดปากห้ามวิจารณ์
เรียกว่า เป็นกรรมหนัก โดยเฉพาะการใส่ร้ายพระอริยเจ้า ซึ่งเป็นเรื่องที่กำหนดในพยสนสูตรว่า ภิกษุใดด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย กล่าวโทษพระอริยะ ภิกษุนั้นจะไม่พึงถึงความฉิบหายสิบอย่าง
1
ซึ่งข้อบัญญัติอันเป็นกรรมหนักนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับหมู่สงฆ์ด้วยกัน
ดังนั้น ความพยายามของพระบางรูป บางองค์ พยายามยกเอากรรมหนักมาปิดปากคนที่ไม่ใช่พระ จึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้สังคมของพระในเวลาปั่นป่วน และชักนำให้เกิดความเสื่อมถอยในศรัทธาต่อภาพรวมของพระอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
กล่าวมาถึงตอนท้ายของบทความนี้ เราก็อาจสรุปเอาจากกฎของพระ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ว่า
พระไม่ควรใกล้ชิดสตรี ต้องเว้นระยะห่าง ไม่สัมผัสด้วยร่างกายโดยตรง หรือใช้อย่างอื่นเพื่อสัมผัส เป็นเรื่องที่พึงระวังสูงสุด รวมทั้งสตรีทั้งหลายก็มิควรเข้าใกล้พระในทุกกรณี
พระเลิกการอวดอ้างคุณวิเศษ จะด้วยการแสดงของตนเอง หรือคนรอบข้าง
คนรอบข้างควรเลิก งดเว้นการกระทำ ในลักษณะของการกล่าวยกย่อง หรืออวดอ้างการบรรลุธรรมของพระที่เราเคารพนับถือ เพราะจะทำให้ท่านต้องพลอยมัวหมอง ต้องอาบัติไปเปล่า ๆ
การบรรลุธรรม หรือการเป็นพระที่มีความเป็นคุณวิเศษ มีได้ มีจริง แต่ไม่ใช่ตัวพระเอง หรือตัวคนรอบข้างจะยกเอาเรื่องนี้ มาโฆษณาชวนเชื่อ สร้างกระแสการเป็นมวลหมู่ จนทำให้สิ่งที่ผิด กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
เพราะความวิบัติต่อวิกฤติศรัทธามิใช่เกิดเพียงเฉพาะตัวบุคคลที่เป็นพระ แต่กระทบต่อภาพรวมของการเป็นพุทธศาสนา
โดยความเสื่อมศรัทธาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ อย่าโทษพระเพียงด้านเดียว อย่าโทษโยมเพียงฝ่ายเดียว แต่ทั้งสองฝ่ายพึงสำรวมในกาย วาจา ใจ และยึดมั่นในคำสอน มากกว่ายึดมั่นในการบรรลุธรรม หรือความเป็นผู้มีคุณวิเศษ
ส่งท้าย ก็ขอฝากไปยังอิสสตรีทั้งหลาย จงสำรวมตนในการเข้าใกล้พระ เพราะพระก็คือคนที่มีจิต มีความกำหนัด หากท่านอ่อนต่อโลก อ่อนต่อข้อวัตรปฏิบัติ หรือย่อหย่อนต่อข้อบัญญัติ ความเสียหายจะเกิดต่อพระศาสนา ไม่ใช่จบแค่พระรูปใดรูปหนึ่ง หรือสตรีนางใดนางหนึ่ง
โฆษณา