15 พ.ค. 2022 เวลา 11:00 • บันเทิง
เปิดเหตุผลที่ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ต้องนำ 6 อัลบั้มแรกในการเป็นศิลปินของเธอมาบันทึกเสียงใหม่ พร้อมห้อยท้าย “Taylor’s Version”
เปิดเหตุผลที่ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ต้องนำ 6 อัลบั้มแรกมาบันทึกเสียงใหม่
ในปี 2562 “เทย์เลอร์ สวิฟต์” นักร้อง นักแต่งเพลงชื่อดังขวัญใจคนทั้งโลก ประกาศรีเรคอร์ดอัลบั้ม 6 ชุดแรกของเธอที่จัดจำหน่ายภายใต้สังกัด “Big Machine” ได้แก่ Taylor Swift (2549) Fearless (2551) Speak Now (2553) Red (2555) 1989 (2557) Reputation (2560) โดยเธอได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “CBS Sunday Morning” ว่า
3
“สัญญาของฉันกับค่ายใหม่ (Republic Records) จะเริ่มขึ้นในเดือน พ.ย. (2562) ซึ่งฉันจะเริ่มรีเรคอร์ดอัลบั้มเก่า ๆ อีกครั้ง ฉันจะต้องวุ่นวายและยุ่งมากแน่ ๆ แต่ขณะเดียวกัน ฉันก็ตื่นเต้นที่จะได้ทำมันอีกครั้ง”
สวิฟต์ไม่ได้เพียงแค่อัดเพลงใหม่ 100 กว่าเพลง จาก 6 อัลบั้มเก่าเท่านั้น แต่ในแต่ละอัลบั้ม เธอตั้งใจที่จะใส่เพลงที่ยังไม่ได้ปล่อยมาก่อน หรือที่เรียกว่า “From The Vault” บรรจุลงอัลบั้มแต่ละชุดอีกด้วย
จนถึงปัจจุบัน สวิฟต์ได้ปล่อยอัลบั้มฉบับรีเรคอร์ด ซึ่งมี “Taylor’s Version” ต่อท้ายชื่ออัลบั้ม มาแล้ว 2 อัลบั้ม คือ “Fearless (Taylor’s Version)” และ “Red (Taylor’s Version)” พร้อมอีก 2 ซิงเกิลจากอัลบั้ม 1989 ได้แก่ “Wildest Dream (Taylor’s Version)” และ “This Love (Taylor’s Version)” ที่พึ่งปล่อยเมื่อวันศุกร์ที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา
1
แล้วทำไมสวิฟต์ต้องลำบากลงแรงมาอัดเพลงของตัวเองใหม่? เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุทั้งหมดต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ในเดือน มิ.ย. 2548 ที่เธอได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลง Big Machine
3
เทย์เลอร์ สวิฟต์ เซ็นสัญญากับค่าย Big Machine ของ “สก็อตต์ บอร์เชตตา” (​​Scott Borchetta) ในเดือน มิ.ย. 2548 ที่ข้อสัญญาระบุว่า เธอจะต้องมอบ “สิ่งบันทึก” (Master) นั่นคือเพลงที่เธอแต่งทั้งหมด รวมถึงรูปภาพอัลบั้มและมิวสิควิดีโอต่าง ๆ ในอัลบั้มให้เป็นลิขสิทธิ์ของค่ายเพลง
เพื่อแลกกับการได้เดบิวต์เข้าสู่วงการเพลงและค่ายเป็นผู้ผลักดันเธออย่างเต็มที่ แน่นอนว่าสวิฟต์ในขณะนั้นไม่มีทางเลือก จึงยอมเซ็นสัญญาเพื่อได้เป็นศิลปินตามความฝัน
นั่นหมายความว่า ค่ายเพลงสามารถอนุญาตให้ใครนำเพลงของเธอไปใช้ก็ได้ หรือแม้แต่ขายลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเหล่านี้ไปได้ โดยที่เธอไม่มีสิทธิ์ในการร่วมตัดสินใจใด ๆ
ในปี 2561 สวิฟต์ตัดสินใจย้ายค่ายไปอยู่กับ Republic Records ภายใต้การดูแลของ “ยูนิเวอร์แซล มิวสิค กรุ๊ป” (Universal Music Group: UMG) ซึ่งแน่นอนว่าลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกทั้ง 6 อัลบั้มของเธอไม่ได้ตามมาด้วย เพราะลิขสิทธิ์สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นของเธอตามที่เธอได้เซ็นสัญญาไว้กับ Big Machine
แต่แล้วในปี 2562 “สกูเตอร์ บรอน” (Scooter Braun) ผู้จัดการของ “จัสติน บีเบอร์” และ “อารีอานา กรานเด” รวมถึงเป็นคนสนิทของ “คานเย่ เวสต์” ผู้ที่มีเรื่องมีราวกับสวิฟต์มาตลอด จนทำให้สวิฟต์ถูกหาว่าเป็น “นางงูพิษ” ไปพักหนึ่ง ได้เข้ามาซื้อค่าย Big Machine ด้วยมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแน่นอนว่าลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกทั้ง 6 อัลบั้มของสวิฟต์ ต้องตกไปอยู่ในมือของคนที่เธอไม่ชอบ
ทุกครั้งที่มีคนฟังเพลง หรือซื้ออัลบั้มรายได้ก็จะเข้ายังกระเป๋าของบรอน และทิ้งส่วนแบ่งอันน้อยนิดให้กับสวิฟต์ในฐานะศิลปินเท่านั้น
เรื่องนี้ทำให้สวิฟต์ไม่พอใจเป็นอย่างมากที่บรอนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานของเธอ จนต้องออกแถลงการณ์ในบัญชี Tumblr อย่างเป็นทางการ ระบุว่า เธอไม่ทราบมาก่อนว่าใครจะมาซื้อลิขสิทธิ์ในสิ่งบันทึกของเธอ
“เมื่อฉันต้องทิ้งอัลบั้มของฉันไว้ให้สก็อตต์ ฉันพยายามทำใจให้สงบเพราะรู้ว่าในวันหนึ่งเขาต้องขายมัน แต่ฉันไม่คิดว่าเขาจะขายมันให้กับสกูเตอร์ ทุกครั้งที่สก็อตต์ได้ยินชื่อของ ‘สกูเตอร์ บรอน’ หลุดลอดออกมาจากริมฝีปากฉัน มันเป็นตอนที่ฉันกำลังร้องไห้ หรือพยายามจะไม่ร้องไห้ พวกเขารู้ว่าพวกเขากำลังทำอะไร เขาพยายามควบคุมผู้หญิงที่ไม่อยากจะยุ่งกับเขาตลอดไป
โชคดีที่ตอนนี้ฉันเซ็นสัญญากับค่ายเพลงที่เชื่อว่าฉันควรเป็นเจ้าของทุกอย่างที่ฉันสร้างขึ้น โชคดีที่ฉันทิ้งเพียงอดีตไว้ในมือของสก็อตต์ ไม่ใช่อนาคตของฉัน และหวังว่าศิลปินรุ่นใหม่หรือเด็ก ๆ ที่มีความฝันที่จะเป็นศิลปินจะอ่านเรื่องนี้ และเอาเรื่องของฉันเป็นบทเรียนในการเจรจาต่อรองก่อนเซ็นสัญญา พวกคุณสมควรที่จะเป็นเจ้าของงานที่คุณสร้าง”
ประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์กลายเป็นปัญหาอีกครั้ง หลังจากที่สวิฟต์ทวีตผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า Big Machine ไม่อนุญาตให้เธอใช้เพลงเก่า ๆ ทั้ง 6 อัลบั้มในการแสดงสำหรับการประกาศรางวัล “American Music Awards” ที่เธอได้รับรางวัล “ศิลปินแห่งทศวรรษ” (Artist of the Decade) แต่สุดท้ายเรื่องก็จบด้วยดี เมื่อเธอสามารถทำเพลงฮิตของเธอจากอัลบั้มเก่ามาใช้ในการแสดงได้
1
ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาที่ทำให้สวิฟต์ตัดสินใจรีเรคอร์ดอัลบั้มเก่าทั้ง 6 อัลบั้ม เพื่อที่เธอจะได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานเก่า ๆ เพียงผู้เดียว ในอัลบั้มที่เป็น Taylor’s Version แต่สำหรับเวอร์ชันเก่านั้นยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของค่ายเพลงเหมือนเดิม
ซึ่งแน่นอนว่าเมื่ออัลบั้มที่เป็นเวอร์ชันของสวิฟต์ออกมา สวิฟตี้ เหล่าแฟนคลับของสวิฟต์ รวมถึงผู้ฟังส่วนใหญ่ย่อมจะต้องหันมาฟังและซื้ออัลบั้มใหม่ นอกจากนี้ สถานีวิทยุหลายคลื่น รวมถึง “iHeartRadio” คลื่นวิทยุยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ ประกาศว่าจะเปิดแต่เพลงที่เป็นเวอร์ชันของสวิฟต์เท่านั้น
หลังจากการประกาศการรีเรคอร์ดอัลบั้มไม่นาน ลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกของสวิฟต์ได้ถูกเปลี่ยนมืออีกครั้ง บรอนได้ขายลิขสิทธิ์ให้กับ Shamrock Holding บริษัทโฮลดิ้งสัญชาติอเมริกัน ก่อนหน้านี้ บรอนบอกว่า พยายามจะขายลิขสิทธิ์คืนให้สวิฟต์ โดยสวิฟต์จะต้องเซ็นสัญญาปกปิดข้อมูล (Non-Disclosure Agreement: NDA) ซึ่งสวิฟต์ได้ปฏิเสธไป
รวมถึงปฏิเสธข้อเสนอจาก Shamrock ที่ขอร่วมเป็นหุ้นส่วนในงานลิขสิทธิ์ เนื่องจากเห็นว่า บรอนและบริษัท “Ithaca Holdings LLC” ของเขายังคงได้ผลประโยชน์ในงานของเธอ
Shamrock ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการซื้อลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกของสวิฟต์ว่า “เราทำการลงทุนนี้เพราะเราเชื่อในคุณค่าและโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่มาพร้อมกับงานของสวิฟต์ เราเคารพและสนับสนุนการตัดสินใจของเธออย่างเต็มที่ เราหวังว่าจะเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน เราก็ทราบดีว่า การรีเรคอร์ดอัลบั้มของเธออาจเป็นความเสี่ยงของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้คาดการณ์ไว้แล้ว”
ปี 2564 เทย์เลอร์ สวิฟต์ ได้ปล่อยอัลบั้มรีเรคอร์ด 2 อัลบั้ม คือ Fearless (Taylor’s Version) และ Red (Taylor’s Version) ซึ่งทั้ง 2 อัลบั้มถือว่าเป็นอัลบั้มมาสเตอร์พีซของเทย์เลอร์ และยังมีการเพิ่มเพลงใหม่ จนทำให้อัลบั้มมีเพลงทั้งสิ้นกว่า 30 แทร็ก ซึ่งประสบความสำเร็จทั้ง 2 อัลบั้ม
ตามข้อมูลของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ (IFPI) พบว่า ทั้ง 2 อัลบั้มสามารถทำยอดขายติด 10 อันดับอัลบั้มที่ทำยอดขายสูงสุดทั่วโลกประจำปี 2564 โดย Red (Taylor’s Version) อยู่ที่อันดับ 7 ด้วยยอดขาย 1,140,000 แผ่น ส่วน Fearless (Taylor’s Version) ทำยอดขายไป 980,000 แผ่น ติดอันดับที่ 10
ส่วนเพลงที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจากอัลบั้มรีเรคอร์ดคงจะหนีไม่พ้น เพลง "All Too Well (10 Minute Version) (Taylor's Version) (From the Vault)" ที่สวิฟต์บรรจุลงในอัลบั้ม Red (Taylor’s Version) ซึ่งเดิมทีเพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงที่แฟนคลับชื่นชอบอยู่แล้ว
2
เวอร์ชันใหม่นี้มีความยาวถึง 10 นาที 13 วินาที สร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนเพลงเป็นอย่างมาก และเพลงนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นเพลงที่ยาวที่สุดที่สามารถขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ต Billboard Hot 100
ขณะที่เพลง "Wildest Dreams (Taylor's Version)" ได้กลายเป็นกระแสไวรัลในแอปพลิเคชัน TikTok และมียอดสตรีมบน Spotify มากกว่าเวอร์ชันเก่า หลังจากปล่อยเพลงเวอร์ชันของสวิฟต์ออกมาเพียงไม่กี่วัน
ไม่เพียงแค่ประสบความสำเร็จในแง่ยอดขายเท่านั้น แต่ทั้ง 2 อัลบั้มยังได้รับคำวิจารณ์ในระดับดีเยี่ยม แม้ว่าฟังเผิน ๆ อาจจะรู้สึกไม่แตกต่างจากเวอร์ชันเก่า เพราะไม่ได้มีการเรียบเรียงดนตรีใหม่ (ก็ของมันดีอยู่แล้ว) แต่เสียงร้องของสวิฟต์นั้นดีขึ้นมาก ในส่วนของดนตรีก็แน่นและไพเราะยิ่งขึ้น
เบ็น ซิซาริโอ (Ben Sisario) จากหนังสือพิมพ์ “The New York Times” ให้ความเห็นว่าอัลบั้มรีเรคอร์ดของสวิฟต์ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ยอดขาย คำวิจารณ์ และอีกเป้าหมายคือการฝังอัลบั้มเวอร์ชันเก่า”
ยังเหลืออีก 4 อัลบั้มรีเรคอร์ดที่เทย์เลอร์ สวิฟต์ยังไม่ได้ปล่อยออกมา ซึ่งแฟน ๆ ต่างรอคอยและคาดเดากันว่าคิวต่อไปจะเป็นอัลบั้มใด ต้องรอดูกันว่าอัลบั้มที่เหลือจะประสบความสำเร็จแบบ 2 อัลบั้มก่อนหน้าหรือไม่
2
แต่ที่แน่ ๆ สิ่งหนึ่งที่เธอทำสำเร็จแล้วก็คือ การสร้างความตระหนักถึงเรื่องลิขสิทธิ์และสัญญาของศิลปิน เพื่อไม่ให้มีศิลปินคนใดต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับเธออีก
โฆษณา